ปลดล็อกพื้นที่สีเขียว ข้ามกับดักการพัฒนาเมือง

วันที่ 9 เมษายน นี้ The Active Thai PBS we!park และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน Unlock City Potential แนวทางใหม่ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ไอเดียพัฒนาเมืองทั่วประเทศ ก่อนจะจัดทำข้อเสนอเป็นสมุดปกขาวเสนอต่อพรรคการเมือง และขยายผลไปทั่วประเทศ ชวนอ่านที่มาที่ไป ความสำคัญก่อนร่วมงาน กลัวใครจะพลาดกิจกรรมดี ๆ

ผศ.สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะผู้ร่วมจัด งาน ‘Unlocked City Potential’ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เป็นประเด็นร่วมสำคัญที่คนหลายภาคส่วนเล็งเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเปลี่ยนมุมมองในการจัดการพื้นที่สาธารณะ ซึ่งคำว่า ‘ล็อก’ เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องกลับมาพิจารณาว่า เราล็อกตัวเองหรือถูกใครล็อกอยู่ ?

อย่างแรกการที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะร่วมกัน ก็ควรจะทำให้เกิดการกระจายการจัดการภาครัฐ ออกไปให้เกิดกลไกการบริหารเชิงพื้นที่ เพราะรัฐอาจไม่ใช่คนจัดการพื้นที่สาธารณะแต่เพียงผู้เดียว เหมือนในอดีตที่หลายคนเคยเข้าใจ การทดลองเชิงปฏิบัติการ และกระบวนการเคลื่อนเมืองโดยภาคประชาชน ภาคประชาสังคมทำให้เห็นชัดเจนว่า เราก็จัดการตัวเองได้ แม้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ก็พัฒนาได้โดยการทำงานร่วมกัน ระหว่างเอกชน ภาคีการมีส่วนร่วม ฯลฯ

“ช่วงเวลาที่สังคมกำลังพูดถึงการทำนโยบายของรัฐ พรรคการเมือง เราก็อยากจะทดสอบความคิดนี้ ในบททดสอบว่า พรรคการเมือง หน่วยงานของรัฐ คิดเห็นอย่างไรต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเราใช้กระบวนการแบบนี้ดำเนินไปคู่ขนานกับเวทีพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งบ่อยครั้ง บางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็ปล่อยไป แต่ครั้งนี้ เราต้องการให้เป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็พยายามใส่เรื่องนี้เข้าไปเป็นประเด็นสาธารณะ ให้ภาครัฐ​พรรคการเมืองได้รับรู้”

สำหรับประสบการณ์การทำงานประเด็นพื้นที่สาธารณะในแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน ซึ่งเราได้เชิญคนทำงานขับเคลื่อนเมืองในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมาถอดบทเรียนร่วมกัน สรุป แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สังเคราะห์เพื่อที่จะทำให้เกิดข้อเสนอที่แหลมคมต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป เราก็เอาสิ่งที่เขาทำอยู่มาเรียบเรียงและพยายามทำให้เป็นระบบมากขึ้นในการนำเสนอ โดยรูปแบบมีทั้งการบอกเล่าเรื่องประสบการณ์ทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีการขมวดเป็น 4 ประเด็น คือ

  • ประเด็นพื้นที่สาธารณะ
  • ประเด็นกลไกการจัดการ
  • ประเด็นทางการเงิน
  • ประเด็นการสื่อสารสาธารณะ

ซึ่งจะเป็นกรอบใหญ่ให้แต่ละพื้นที่ เห็นภาพรวมการทำงาน และสรุปได้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

“เราจะมีการทำสมุดปกขาวเพื่อเสนอนโยบายด้วย เพราะท้ายที่สุดเราก็จะทำข้อเสนอเชิงบวกในการขับเคลื่อน เพราะทุกโอกาสของการนำเสนอนโยบาย นักขับเคลื่อนนโยบายจะต้องไม่สิ้นหวังแม้ว่ามันอาจจะถูกพับโครงการ หรือถูกทิ้งไว้ใต้โต๊ะไปทันทีเลยก็ได้แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้เห็นว่าเป็นการสื่อสารสาธารณะ มีการบันทึกเรื่องราวของการพูดคุย กระบวนการเหล่านี้ลงไปในบริบทของประเทศนี้ด้วย ว่ามันมีคนทำเรื่องนี้อยู่นะ แม้ว่าจะยากและต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากอีกหลายส่วนก็ตาม”

ตอนนี้สมุดปกขาวคงจะขมวดอยู่ในนามของขบวนเครือข่าย ซึ่งไม่ได้มีการเซ็ต เป็นออแกนิก เป็นเหมือนเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบหลวม ๆ แต่จะมีกลไกที่เราสามารถผลักดันเข้าไปเชื่อมโยงได้ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือ สช. ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะมาก่อน เราสามารถใช้ตรงนี้เป็นกรอบในการผลักดันต่อในอนาคต

นอกจากจะมีการเผยแพร่เนื้อหารายละเอียด โดยอาจจะเป็นในรูปแบบของเวทีสาธารณะ และส่งผ่านไปที่กลไกหน่วยงานที่เคยทำงานเรื่องนี้ และระดับนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง อาจจะเป็นวงที่จะขยายความคิดนี้ออกไปในแต่ละส่วน ทั้งในจังหวะเวลาของการเลือกตั้ง หรือหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วตามความเหมาะสม

“เราเชื่อว่าพื้นที่สาธารณะเป็นมากกว่าพื้นที่นันทนาการหรือพื้นที่ที่ถูกจัดการโดยรัฐ​ เพราะถ้าเราจัดการดี ๆ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดมิติของเศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้ในอนาคต และคิดว่าจะทำให้ทุกคนเข้ามาสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ เราเชื่อว่าจะทำให้เมืองมันดีขึ้น และเราอยากจะเชิญชวนให้คนมาช่วยกัน เพราะถ้าเราผลักภาระแล้วคิดว่าเป็นเรื่องของโครงสร้าง เป็นเรื่องของรัฐเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าเราคงจะต้องใช้เวลาอีกนานในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะดีๆ ที่ตอบโจทย์พวกเราเอง จึงอยากชวนทุกคนมาทำโปรแกรม D.I.Y. Urban space กันเถอะ มาออกแบบพื้นที่สาธารณะด้วยมือของพวกเรากันเถอะ ไม่ต้องรอชาติไหน ไม่ต้องพรรคไหน ไม่ต้องรอใครด้วย เรามาทำกันเลยดีกว่า”

รศ.พีรดร แก้วลาย อาจารย์ประจำ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมจัดงาน ‘Unlock City Potential’ มองว่า เราเห็นเมืองน่าอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก และสงสัยว่าทำไมหลายเมืองของเขาทำหลายอย่างได้ ที่เมืองเราทำไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า locked หรือ unlocked ในการจัดงานนี้ เพราะคิดว่าจริง ๆ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด จากรายชื่อของคนที่เชิญมา ทุกคนจะแสดงให้เห็นได้ว่า แม้จะเป็นคนเล็ก ๆ แต่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเมืองได้ และสร้างสิ่งที่เป็นไปได้มากมาย แต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีการระดมความคิดเห็น ซึ่งครั้งนี้เชิญตัวแทนมาจากทั้ง 4 ภาคของประเทศ เพื่อมาแสดงความคิดที่จะขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงของเมือง หรือในแง่ของหน่วยงานภาครัฐ​อาจจะมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่บางอย่างอาจจะยืดหยุ่นได้ บางอย่างอาจจะใช้การตีความใหม่และทำให้เกิดความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นของเมืองได้

“ผมคิดว่างานนี้จะช่วยเปิดมุมมองและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับเมืองและจะทำให้เห็นว่าทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองได้ แม้ว่าคุณจะคิดว่าคุณไม่มีบทบาทหรือหน้าที่ที่เกี่ยวกับเมืองชัดเจน แต่คุณสามารถลุกขึ้นมาพัฒนาพื้นที่บ้านของคุณได้”

เช่น ที่ภูเก็ต เขาก็ลุกขึ้นมาทำข้อมูลเมือง ภาครัฐแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมานก็ตาม แต่ภาคประชาชนก็ร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นได้ หลายตัวอย่างที่จะมาพูดมีความน่าสนใจมาก ๆ อย่างกรุงเทพมหานครเอง เราจะเห็นว่าการจัดการพื้นที่สาธารณะ แต่เดิมกฎระเบียบอาจจะไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการออกกำลังกาย แต่วันนี้ก็มีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการเล่นดนตรี ซึ่ง กทม. ก็พยายามปลดล็อกพื้นที่เหล่านี้ หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะอื่น ๆ จะส่งเสริมเรื่องการเกิดเศรษฐกิจได้อย่างไร เช่น ดนตรีเปิดหมวก

“อย่างเช่น ประเทศอังกฤษมีการกำหนดพื้นที่ให้นักดนตรีหรือศิลปินมีพื้นที่ที่จะหารายได้ อาจจะกำหนดเป็นโซนการแสดง และจัดให้มีการลงทะเบียนกับรัฐ ช่วยสร้างรายได้ให้กับคน และทำให้เห็นว่าทุกอณูของเมืองสามารถที่จะสร้างเศรษฐกิจได้ หรือแม้แต่พื้นที่สีเขียวที่ว่าเราขาดอยู่ จริง ๆ เรามีพื้นที่สีเขียวเยอะมากที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่หากว่าเจ้าของพื้นที่เล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นก็อาจจะอยากมีส่วนร่วม ก็จะมีภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยทำให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่เข้าใช้งานได้ในระดับชุมชน ทำให้เห็นว่าเมืองสามารถที่จะขับเคลื่อนได้ด้วยพลังของประชาชนทุกคน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาเลือกตั้ง เพราะเรื่องเมืองเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับเราทุกคน โดยเฉพาะนโยบายมีส่วนสำคัญกับเราทุกคน ในการทำให้สภาพแวดล้อมดีต่อสุขภาพของเรา ทั้งเรื่องของอากาศ ชัดเจนมากว่าใครจะไปคิดว่าอากาศที่สูดเข้าไปจะเป็นอุปสรรคข้อจำกัดที่ทำให้เราป่วย เราไม่สามารถออกจากบ้านเราไปได้ เพราะเมืองเต็มไปด้วยฝุ่น ระดับนโยบายสามารถที่จะทำได้ หลายพรรคก็มีการเสนอเรื่องนี้ว่าต้องมีการพูดคุยกันในระดับประเทศ​ และพื้นที่สาธารณะก็จะเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐ และรัฐบาลจะต้องมีส่วนสำคัญในการกำนดนโยบายที่จะปลดล็อกพื้นที่เหล่านี้ และให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้

หรือพื้นที่ของหน่วยงานราชการเองก็ตาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกดูแลและบริหารด้วยภาษีของประชาชน แต่จะทำอย่างไรที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์พื้นที่เหล่านั้นได้ เช่น นอกเวลาราชการ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ออกกำลังกาย เข้าใจว่าหน่วยงานราชการหลายแห่งก็พยายามปลดล็อกตรงนี้ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เปิดพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้ทุกคนไม่มีข้อห้าม ซึ่งถ้าพื้นที่ภาครัฐทั่วประเทศทั้งหมดบอกว่า พื้นที่สีเขียวของหน่วยงานภาครัฐประชาชนใช้ได้ อัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอาจจะไม่น้อยเลยนะ เพราะว่ามันเยอะมาก เรื่องเหล่านี้เราจะมีโอกาสมาคุยกันในงานครั้งนี้

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ระดับนโยบายไม่ว่าจะพรรคการเมืองหรือรัฐบาล จะต้องเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง และต้องคิดว่าเราจะช่วยทำให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร แล้วมันจะขยับไปได้อีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางขนส่ง คุณภาพอากาศสะอาด เรื่องพื้นที่สาธารณะ ถ้าประชาชนเป็นศูนย์กลางของนโยบายคิดว่าทุกอย่างจะวิ่งมาเจอเราเอง ดังนั้นจึงคิดว่าทุกภาคส่วน พรรคการเมือง ภาครัฐ​ถ้าเอาคุณภาพชีวิตของคนเป็นศูนย์กลาง หรือแม้แต่ตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าตัวเขาเองว่าอยากมีชีวิตที่ดีแบบไหน ก็น่าจะง่ายขึ้น”

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park และผู้ร่วมจัดงาน ‘Unlock City Potential’ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนเรื่องเมืองทั่วประเทศ และอยู่ในความสนใจของผู้คน ด้วยความท้าทายเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ซึ่งหลายพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เชิญหลายคนที่ทำงานเรื่องเมือง มีประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองหลายพื้นที่มาถอดบทเรียนร่วมกัน และแลกเปลี่ยนกัน เพื่อตอบคำถามว่าถ้าจะพัฒนาเมืองสมัยใหม่ หรือแนวทางการพัฒนาเมืองหลักเลือกตั้ง ควรจะมีแนวทางอย่างไร

“การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเป็นการปลดล็อกศักยภาพการพัฒนาเมืองในหลายด้าน ทั้งเรื่องเงื่อนไขเชิงภาษีที่จะเปลี่ยนพื้นที่รกร้างมาเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือสวน 15 นาทีได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยพื้นที่ทางอาหาร และตัวอย่างของหลายพื้นที่ที่ทำได้สำเร็จ จึงคิดว่างานในวันนี้จะเป็นโอกาสที่จะพูดคุยเรื่องกลยุทธ์ว่าจะทำอย่างไรให้เมืองพัฒนามากขึ้น”

แม้ว่าเราจะพยายามขับเคลือนเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ยังพบว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคคือกลไกของหน่วยงานภาครัฐ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบาย และทรัพยากรที่ดูแลอยู่ ซึ่งที่ผ่านมามันไม่ได้เอื้อต่อการทำให้เกิดการมีส่วนร่วม หรือยกระดับศักยภาพของเมือง หรือมีผู้เล่นอื่น ๆ ที่เปิดโอกาสให้เมืองมากกว่าที่ควรจะเป็น อีกเรื่องคือบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมือง และวิชาชีพต่าง ๆ ที่ร่วมพัฒนาเมืองได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดหมุดหมายที่ชัดเจนร่วมกันถึงแผนการและเป้าหมายปลายทาง ทำให้การทำงานไม่ได้เดินหน้าอย่างเต็มศักยภาพ สุดท้ายคือการสร้างการรับรู้ของสังคม ถ้าทุกคนเห็นเป้าหมายและขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อมกัน ก็น่าจะทำได้โดยตอบโจทย์กับทุกคน และรองรับความท้าทายต่างๆ ของเมืองได้มากขึ้น

“งานในครั้งนี้รวมผู้คนทำงานขับเคลื่อนเมืองทั่วประเทศ​ ซึ่งจะทำให้เห็นตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่บางทีอาจจะไม่เคยนึกถึงหรือไม่เคยเห็นมากก่อน และช่วยทำให้ทุกคนได้ unlocked วิธีคิด และเราได้เชิญตัวแทนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งก็จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองของกันและกัน สำหรับเครือข่ายที่เชิญมากก็มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกัน หรือจะผลักดันนโยบาย สร้างแรงขับเคลื่อนระดับชาติ ก็อาจจะมีแรงที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น กว่าการทำงานอย่างโดดเดี่ยว คิดว่าจะสร้างอินเนอร์ให้เกิดการทำงานอย่างมีเอกภาพร่วมกัน”

การพัฒนาเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างสุขภาวะ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเราในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การลงทุน และสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งหากเรายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อที่ทุกคนจะได้ทำเรื่องนี้อย่างเต็มศักยภาพ เวลาที่ล่วงเลยไปก็จะทำให้เราเสียโอกาสไปเรื่อย ๆ และหากว่ารัฐ หรือแม้แต่พรรคการเมืองต่าง ๆ

“ยังไม่มีนโยบายที่พูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อไม่ได้มุ่งเป้าสู่การพัฒนาเมือง ก็จะกลับมาเป็นผลเสียที่ทำให้เราขาดโอกาสพัฒนา ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกลับมาคิดถึงวิธีการทำงาน หรือการตั้งตัวชี้วัดใหม่ ๆ ในการทำงาน สู่เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้คน เข้ามากำกับด้วย รวมทั้งต้องมีการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม”

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้ เชื่อว่างานนี้จะทำให้เราเห็นกำลังของภาคีมากมายที่เป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งน่าจะทำงานร่วมกันกับภาครัฐ​และรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตได้ ดังนั้น จึงอยากให้เสียเหล่านี้ได้ยิน มีการเชื่อมเครือข่ายการทำงานร่วมกัน กำหนดนโยบาย หรือการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีมกับรัฐบาล เพราะจะทำให้การทำงานตอบโจทย์ นโยบายระดับพื้นที่ และดีกว่าที่ต่างคนต่างทำ โดยไม่เป็นเนื้อเดียวกัน”

ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นกลุ่มก้อนของคนเล็ก ๆ ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นแค่โพรเจกส์ หรือพื้นที่ตัวอย่างของการพัฒนา แต่ต้องขยับเป็นเครือข่ายและผนึกกำลัง เพื่อทำงานเรื่องเมือง เพื่อศักยภาพการพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น นี่จะเป็นหมุดหมายสำคัญ​ และอยากให้ภาคส่วนต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน

สำหรับกิจกรรม Unlock City Potential แนวทางใหม่ต่อกรขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายนนี้ เวลา 13.30-18.00 น. ณ โกดังเก่าลานกีฬา สวนป่าเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร ช่วงที่ 1 เวลา 14.00-14.20 น. กล่าวเปิดกิจกรรม ที่มา ข้อเสนอไปสู่สมุดปกขาว และการขยายผลไปทั่วประเทศ ช่วงที่ 2 เวลา 14.20-16.20 น. บอกเล่าประสบการณ์ ข้อเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างทั่วประเทศ นำไปสู่ไอเดียในการ Unlock ที่สำคัญ ช่วงที่ 3 เวลา 16.20-17.00 น. เราจะ Unlock ได้อย่างไร เพื่อใคร และเกิดโอกาสอะไรบ้าง ช่วงที่ 4 เวลา 17.00-18.00 น.​ สรุปกิจกรรม รวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบาย

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถลงทะเบียนได้ที่ แบบฟอร์มเข้าร่วมงาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้