หลักสี่ย่านสีเขียว ฝันที่ไม่เกินจริง

“ย่านหลักสี่” ในความคิดของคุณเป็นแบบไหน? ใช่พื้นที่สีเขียว บรรยากาศดี ๆ หรือว่าพื้นที่การจราจรติดขัด แล้วถ้าถามอีกว่าหากพัฒนาหลักสี่ให้น่าอยู่ คุณคิดว่าควรเป็นแบบไหน? วันนี้ประชาคมหลักสี่ย่านสีเขียว โดยไทยพีบีเอส และ we!park ร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระดมภาคีภาคเอกชนและคนในพื้นที่ สร้างความร่วมมือพัฒนาพื้นที่สีเขียวในย่าน ให้มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในย่านให้ดีขึ้น มีไอเดียอะไรน่าสนใจ ลองดูกัน…

สวน 15 นาที ที่ไทยพีบีเอส : สื่อสาธารณะ กับการให้บริการพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่ด้านหน้าไทยพีบีเอส ปรับปรุงจุดจอดป้ายรถเมล์ มีป้ายแผนที่แสดงจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวสาธารณะโดยรอบที่สามารถไปใช้บริการได้ มีการปรับปรุงสวนบริเวณหลังป้ายรถเมล์ โดยเพิ่มต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีที่นั่งสำหรับพักผ่อนระหว่างรอรถประจำทาง ด้านในพื้นที่สำนักงานไทยพีบีเอสส่วนหน้า จัดเป็นสวน 15 นาที มีจุดจอดจักรยาน และล็อกเกอร์ใส่ของ สำหรับรองรับผู้ที่เดินทางมาออกกำลังกาย โซนแรกจัดเป็นจุดนั่งพัก มีร้านกาแฟให้บริการเครื่อมดื่ม และมีตู้กดน้ำฟรี โซนถัดไป ประกอบด้วยเครื่องออกกำลังกาย เครื่องเล่น สำหรับเด็ก เช่น สไลเดอร์ บาร์โหน กระบะก่อกองทราย และกีฬาสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ เช่น ลานเซิร์ฟสเกต ให้ทุกช่วงวัยสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด

พื้นที่ด้านหลังไทยพีบีเอส เน้นพัฒนาฟังก์ชันการใช้งานด้านกีฬา จุดที่เป็นสนามฟุตซอลเดิม มีข้อเสนอเรื่องการติดหลังคากันฝนแบบพับได้ เพิ่มการขึงตาข่ายกันลูกบอลออกจากสนาม จัดตั้งจุดให้บริการตู้กดน้ำ ปรับปรุงพื้นที่ทางเดินเชื่อมต่อสถานที่สนามกีฬาต่าง ๆ ตกแต่งด้วยสวนแนวตั้ง หลากสีสัน เป็นเส้นทางพาไปยังโซนกีฬาแห่งอื่น เช่น สนามเปตอง สนามบาส และจัดให้มีที่นั่งระหว่างทาง มีการตีเส้นพื้นที่จุดเล่นกีฬา และกำหนดเวลาการใช้งานตามความเหมาะสม กับการแชร์พื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น ที่จอดรถ ให้มีจุดเรียนรู้เรื่องการแยกขยะตามมาตรฐาน และมีเส้นทางวิ่งโดยรอบสถานี สำหรับบริเวณลานจอดรถ มีแผนที่แสดงจุดให้บริการต่าง ๆ ภายในไทยพีบีเอส และมีประตูเชื่อมต่อกับสโมสรตำรวจ

เชื่อมโยงพื้นที่สีเขียว สู่การเป็นย่านน่าอยู่ : หลักสี่ย่านสีเขียว

อดุลย์ พรชุมพล ผู้อำนวยการสำนักบริหาร ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ไทยพีบีเอสได้ร่วมกิจกรรมกับกรุงเทพมหานครในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ทั้งแคมเพนปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยไทยพีบีเอสได้ร่วมปลูก 1,000 ต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้มาร่วมปลูกที่ไทยพีบีเอสด้วย ในส่วนของพื้นที่สีเขียวของไทยพีบีเอสที่มีอยู่เดิม ก็ได้มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดที่จะดูแลรักษาต้นไม้อย่างยั่งยืน และเรายังได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตหลักสี่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้า ไทยพีบีเอส หลังป้ายรถเมล์ เพื่อปรับปรุงให้เป็นสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้มาใช้บริการ

ไทยพีบีเอสเองได้มีการจัดพื้นที่ภูมิทัศน์ให้เป็นกรีนออฟฟิศหรือสำนักงานสีเขียว เพื่อให้พนักงานเองได้มีพื้นที่สภาวะแวดล้อมในการทำงาน เพื่อส่งเสริมให้บรรยากาศการทำงานของพนักงานมีคุณภาพที่ดีขึ้น และไทยพีบีเอสเราก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงเกิดโครงการ Thai PBS Green Space ซึ่งในช่วงเริ่มต้นกระบวนการจัดการ เราจะเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตหลักสี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเราก่อน ได้ผลักดันและมีส่วนร่วมในฐานะของการเป็นสื่อสาธารณะ ให้มีการขับเคลื่อนและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ประจักษ์ได้จริง เราจึงได้มีการชวนภาคเอกชนที่มีความสนใจเข้ามาช่วยกันออกแนวความคิดวิเคราะห์

“การเวิร์กช็อปในวันนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้หลายคนหลายภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบ แม้ว่าจะเป็นสวนหน้าบ้านของไทยพีบีเอสเอง เราก็เปิดโอกาาสให้ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชนได้มีส่วนในการคิดเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน อยากจะชวนประชาชนทุกท่านไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่น ๆ เราอยากจะทำให้แนวคิดนี้ เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ตอนนี้เราต่างประสบปัญหาภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ซึ่งการที่มีพื้นที่สีเขียวช่วยทำให้เรามีอากาศบริสุทธิ์ได้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไทยพีบีเอสเองพยายามเป็นตัวกลาง ผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์”

คมพศิษฏ์ ประไพศิลป์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าโครงการนี้มีประโยชน์มากในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง เป็นต้นแบบของหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่สีเขียวในย่านหลักสี่ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและพื้นที่โดยรอบ ทำให้เมืองดูน่าอยู่และเป็นการลดมลพิษ ช่วยทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เป็นการรณรงค์ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับกระบวนการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีการเริ่มให้ข้อมูลตั้งแต่ศูนย์ หากไม่เข้าใจเรื่องนี้มาก่อนก็สามารถเรียนรู้ด้วยกันได้ ทำให้เห็นขั้นตอนการพัฒนา และให้คำตอบว่าถ้าทำแล้วแต่ละฝ่ายจะได้ประโยชน์อะไรและช่วยทำอะไรกันได้บ้าง โดยให้ความสำคัญของการออกแบบ และการมีส่วนร่วม สำหรับหน่วยงานราชการอย่างสำนักงานเขตหลักสี่ เห็นว่ามีประโยชน์มาก ก็จะร่วมผลักดันนโยบาย และสร้างการมีส่วนร่วม รณรงค์ให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือกัน ในการมาร่วมพัฒนาพื้นที่ด้วยกัน ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียวที่จะเพิ่มขึ้นต่อไป อยากให้โครงการแบบนี้มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ

“ชุมชนหลักสี่จะไม่มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ไม่มีพื้นที่ให้มาผ่อนคลายหลังเลิกงานมากนัก ในส่วนของสโมสรตำรวจก็มีพื้นที่ไม่เยอะแต่เราก็สามารถที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของเราได้ เพราะพื้นที่ของเราคอนกรีตเยอะ สวนหย่อมมีอยู่บ้างแต่ไม่ได้รับการปรับปรุงดูแลที่ดี จึงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งที่ออกกำลังกาย ที่เดิน วิ่ง ถ้าปรับปรุงได้และมาดูงานที่ไทยพีบีเอส น่าจะดีขึ้นค่ะ เรายังมีความคิดว่าจะทำทางเชื่อมระหว่างสโมสรตำรวจกับไทยพีบีเอสให้เดินถึงกันได้สะดวกมากขึ้น เป็นการเชื่อมย่านสีเขียว ต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชา และวางระบบรักษาความปลอดภัยต่อไป”

พ.ต.ท.หญิง ปวีณ์ริศา พลเยี่ยม รองผู้กำกับ ฝ่ายสโมสรและสันทนาการ สโมสรตำรวจ กล่าวว่า พอได้เข้ามาร่วมกิจกรรมทำให้เราได้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จากเคยทำงานอย่างเดียวก็ได้เข้ามาใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เราได้เรียนรู้วิธีการทำให้สิ่งแวดล้อมดี ๆ ที่เราเคยมีกลับคืนมา อย่างที่ทำงานเราก็อยู่แต่ในออฟฟิศ แต่ชีวิตจำเป็นต้องมีการผ่อนคลาย รับอากาศบริสุทธิ์จากธรรมชาติบ้าง อย่างของไทยพีบีเอส มีธรรมชาติสมบูรณ์ และมีระบบนิเวศที่ดี ทั้งต้นไม้ใหญ่ ที่หายากจากที่อื่น

“ชุมชนหลักสี่จะไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน พื้นที่ผ่อนคลายหลังเลิกงานมากนัก ถ้าในส่วนของสโมสรมีพื้นที่ไม่เยอะ แต่เราก็สามารถปรับปรุงภูมิทัศน์ของเราได้ จะนำเรียนผู้บังคับบัญชาให้พิจารณาเพื่อคืนธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันจะเป็นพื้นที่คอนกรีตส่วนใหญ่ พื้นที่สีเขียวส่วนน้อย และยังไม่มีการดูแลรักษาที่ดีพอ ต้องทำให้มากกว่านี้ แต่เรามีที่ออกกำลังกาย มีที่เดินวิ่งแล้ว อาจจะให้มาดูงานที่ไทยพีบีเอส เป็นตัวอย่างต้นแบบพัฒนา และในอนาคตก็อาจจะทำทางเชื่อมต่อให้เดินถึงกันสะดวกมากขึ้น”

ฐิติพงศ์ ปานบางพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กล่าวว่า โรมแรมรามาการ์เด้นท์ของเราตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หลักสี่ ซึ่งเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเขตหลายอย่าง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ลักษณะทางกายภาพที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งมองว่าเขตหลักสี่ของเรามีศักยภาพที่จะปรับปรุง ขณะที่คอนเซปต์ของเราคือโรงแรมกรีน หรือโรมแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว มีเป้าหมายให้บริการพร้อม ๆ กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนกรุงเทพฯ ดังนั้นเมื่อมีโครงการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในย่านจึงตอบสนองความตั้งใจของโรงแรม เรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ ในการปรับปรุงพื้นที่ให้ประชาชนเขตหลักสี่สามารถใช้พื้นที่สีเขียวได้เพิ่มเติมมากขึ้น

“พื้นที่โรมแรมของเราทั้งหมด 63 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียวแล้วประมาน 42 ไร่ ฉะนั้นลูกค้าที่มาพักโรงแรมก็จะได้รับโอโซนหรืออากาศบริสุทธิ์เต็มที่ ปัญหาที่ถนนวิภาวดีเจอ ทั้งเรื่องของเสียงและฝุ่นพิษ ถ้าเข้ามาในโรงแรมแล้วจะมีปัญหาเรื่องนี้เลย เราจึงตั้งใจจะปันพื้นที่ส่วนตรงนี้ให้เขตหลักสี่หรือประชาชนทั่วไปได้มาสัมผัสให้เห็นว่าจุดหนึ่งของพื้นที่สีเขียวคุณภาพของกรุงเทพฯ มีให้บริการอยู่จริง ๆ”

ในอนาคตถ้าเราจะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ จะสามารถเชื่อมพื้นที่ต่อเนื่องกับส่วนตรงไหนได้บ้างเพราะว่าต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวกคนที่จะมาใช้บริการด้านใน การจัดการเรื่องพื้นที่นโยบายและศักยภาพเรามีแล้ว อยู่ที่ว่าเขตหลักสี่จะว่าอย่างไร เรายินดีให้ความร่วมมือเต็มที่

“ถ้าโพรเจกนี้เกิดขึ้นรามาการ์เด้นท์ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพของคนชาวหลักสี่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งพื้นที่เอกชนในย่านวิภาวดีก็มีอีกหลายแห่งและเชื่อว่าหลายพื้นที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เชื่อว่าถ้าทุกพื้นที่ร่วมมือร่วมใจกัน จับมือกันเราจะสามารถพัฒนาเขตหลักสี่ให้เป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่ดีของกรุงเทพฯ ได้ครับ ฝากถึงทุกท่านไม่ว่าจะอยู่ในส่วนของราชการ เอกชน หรือแม้แต่ชุมชน ทุกวันนี้โลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน เมื่อก่อนเราเคยมีอากาศดี ๆ เย็น ๆ ที่กรุงเทพฯ วันนี้หายากมากแล้ว เนื่องจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นพื้นที่สีเขียวมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยทำให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้น อยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกัน”

อัครวัชร วงศ์แก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการกลาง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้รวบรวมคนจากหลายพื้นที่ในย่านหลักสี่เข้ามาร่วมกัน เพื่อเป็นศูนย์รวมในการประสานงาน ระดมความคิดเห็น ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในย่านร่วมกัน และเป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมด้วย สำหรับพื้นที่สีเขียวในส่วนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีหลายรูปแบบทั้งสวนหย่อมที่ให้บริการผู้ใช้บริการ ส่วนในอาการที่มีพื้นที่จำกัดก็จะเป็นรูปแบบพื้นที่สีเขียวในแนวตั้ง เพื่อให้สามารถที่จะร่วมปลูกต้นไม้ ทำกิจกรรมต่างๆ ในแนวราบได้ด้วย

“เราน่าจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในย่านหลักสี่วิภาวดีด้วย และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ยกตัวอย่าง ตอนนี้เรามีการประสานงานร่วมกันห้างสรรพสินค้าไอทีสแควร์ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเรา มีส่วนต่อเนื่องกันทั้งในจุดทางเดินเท้าริมถนน และสกายวอล์ก ซึ่งถ้าทำให้พื้นที่ส่วนเชื่อมต่อนี้มีความร่มรื่น มีต้นไม้ มีความปลอดภัย มีแสงสว่างเพียงพอให้สะดวกต่อการเดิน จะทำให้ส่วนของผู้รับบริการได้ใช้พื้นที่เดินทางไปมาระหว่างกันได้”

ถ้าในทุกพื้นที่ของย่านหลักสี่มีพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนประกอบด้วย เดินไปมาหาสู่กันได้ในระยะ 15 นาที หรือ 800 เมตร ก็จะสามารถทำให้คนที่อยากเดิน อยากออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมและทำให้มีโอกาสน้อยมากที่คนจะออกมาทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ทั้งการเดิน หรือแม้แต่การปั่นจักรยาน เพราะมันไม่ปลอดภัย

รุ่งรัตน์ สร้อยเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ ศูนย์การค้า IT Square ให้ความเห็นว่า เราเป็นผู้ประกอบการในย่านนี้อยู่แล้ว ความสำคัญที่ทำให้เราเล็งเห็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือเกิดขึ้นจากการอบรมเชิงปฏิบัติการระดมความเห็นไอเดียต่างๆ ที่จะนำไปพัฒนาในย่านในฐานะเอกชน ทำให้ย่านของเรามีควาามเป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ช่วยลดมลพิษ มลภาวะ สร้างความสวยงามให้เกิดขึ้นในย่านของเรา

หลังจากที่เราอบรมแล้ว ทำให้เรามองเห็นภาพร่วมกันมากขึ้น ทำให้เกิดไอเดียว่าเราจะนำไปต่อยอด เช่น ไอทีสแควร์ของเราเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กเล็ก ๆ ของย่าน เราจะนำความรู้ไปสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และผู้ใช้บริการ ทำให้ย่านของเราสวยงามมากขึ้น จากเดิมเรามีคอนเน็กชันกับหน่วยงานในย่าน ไอทีสแควร์ได้มีส่วนร่วมกับบ้านใกล้เรือนเคียง เริ่มวางแผนกับการพัฒนาย่านอย่างต่อเนื่อง พัฒนากายภาพร่วมกัน

“เราต้องการเพิ่ม พื้นที่สีเขียว เราก็จะมีการปลูกต้นไม้มากขึ้น ในริมทางเท้า ให้ร่มรื่น มีความปลอดภัย ในพื้นที่เชื่อมโยงถึงกัน หรือการนำพื้นที่รกร้างมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ถ้าไทยพีบีเอสอยากให้เรามาร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างไร ทั้งการออกแบบพื้นที่ หรือสื่อประชาสัมพันธ์เราก็ยินดี และเชื่อว่าพื้นที่ด้านหน้าจะสร้างประโยชน์ได้มากจริง ๆ”

อิชยะ ศิลา วิศวกร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สีเขียว และสิ่งแวดล้อมของเมือง เป็นนโยบายหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ ซึ่งเขตหลักสี่ก็เป็นพื้นที่ลงทุนของบริษัททั้งด้านพลังงานและการค้าปลีก จึงสนใจเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมด้วย เช่น ย่านที่มีร้านค้า และพื้นที่สีเขียวก็เป็นจุดดึงดูดลูกค้าได้อย่างแน่นอน เราจึงพยายามจัดสรรปันส่วนการพัฒนาให้ครบมิติ โดยจะต้องมีการประสานงาน ปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนในการพัฒนาไม่ให้กระทบกับโครงสร้างที่จำเป็น เช่น แนวท่อน้ำมัน จากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปได้

“การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ที่ดีมาก ซึ่งเรากำลังศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ เราอาจจะนำนโยบายหรือความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปต่อยอด เช่น เรื่องสวนลอยฟ้า สวนบนดาดฟ้า สถานีบริการน้ำมันเราปัจจุบันยังเป็นอาคาร 1 ชั้นอยู่ เราก็สนใจจะติดโซลาร์เซลล์ แต่ถ้าในอนาคตเรามีการทำอาหาร หรือพื้นที่ธุรกิจบนดาดฟ้า เราอาจจะนำคอนเซปต์การทำสวนดาดฟ้ามาประยุกต์ใช้เพิ่มเติม สำหรับการพัฒนาในระดับย่าน ทางเราก็มีนโยบาย SDG คือ Small เน้นการพัฒนากลุ่มคนตัวเล็ก Diversity ความหลากหลาย Green เน้นสิ่งแวดล้อม เราพยายามเข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด พัฒนาพื้นที่โดยรับฟังความคิดเห็นให้ได้มากที่สุด และสร้างสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยในย่านหลักสี่เราก็จะหาช่องทาง พื้นที่ และโอกาสในการเข้าร่วมการพัฒนา จะพยายามให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อให้ย่านหลักสี่สีเขียวของเราดีที่สุด”

สมจิตต์ สอนยศ รองผู้จัดการฝ่าย บริหารความปลอดภัย บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างมากเนื่องจาก จำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเพื่อทำให้เป้าหมายสามารถเกิดขึ้นได้ ในฐานะตัวแทนบริษัทรู้สึกยินที่ดีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง และจะให้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกับทุกหน่วยงาน เพื่อทำให้ย่านหลักสี่สีเขียวของเราสำเร็จจงได้

“แนวทางคงจะเริ่มจากพื้นที่บริษัทของเราก่อน ซึ่งจริง ๆ เรามีการแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม มีความพยายามที่จะไม่ทิ้งน้ำเสียไม่ทิ้งขยะ เป็นหนึ่งในแนวทางการลดมลพิษ เราพยายามทำให้บริษัทเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นกว่าเดิม จากที่มีอยู่แล้ว อาจจะมีการปรับกายภาพใหม่ ให้มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะมากขึ้น เพื่อเป็นปอดของพื้นที่หลักสี่ ให้มีแต่ความสดชื่นร่วมกัน ขอบคุณไทยพีบีเอสที่ให้เราร่วมกิจกรรม และหวังว่าจะเกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทั้งรัฐ เอกชน เพื่อทำให้เขตหลักสี่เป็นสีเขียวอย่างยั่งยืนและตลอดไป”

จุลย์ลดาย์ ชลยุทธ ผู้ประกอบการในย่านหลักสี่/แจ้งวัฒนะ และผู้ช่วยประธานฝ่ายกิจการและประชาสัมพันธ์ศูนย์การค้า IT Square กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวถูกกลืนกินไปด้วยตึกอาคารต่างๆ ย้ำความสำคัญว่าเราต้องใส่ใจช่วยกันปลูกต้นไม้ ช่วยกันเพิ่มอากาศที่ดีให้กับ กทม. แล้ว ส่วนตัวทั้งทำงานและอาศัยในย่านนี้ เห็นสถานการณ์ในย่านทั้งปัญหารถติด มลพิษทางอากาศ การเข้ามาสัมมนาในครั้งนี้ทำให้เห็นความสำคัญและโอกาสว่าเราจะทำอย่างไรที่ให้ย่านนี้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สำหรับพักผ่อน และคิดว่าความรู้ที่ได้จะนำไปต่อยอดให้กับชาวหลักสี่ได้มากทีเดียว ประชาชนโดยทั่วไป โดยตัวเราเอง สามารถนำที่ดินไม่ว่าจะมากหรือน้อย สามารถทำมาให้ กทม. ได้ทำเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนหรือเพื่อนบ้านเรา

“ส่วนตัวก็อยากทำพื้นที่ของตัวเองมาร่วมด้วย อยากพัฒนาเป็นสนามเด็กเล่น นำมาปลูกต้นไม้ในพื้นที่ จากที่เคยปล่อยพื้นที่ไว้เฉย ๆ หรือนำมาปลูกกล้วยเพื่อเลี่ยงภาษี เราก็สามารถร่วมมือกัน และเสนอการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ให้กับประชาชนได้ เพราะถ้าเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ทำกิจกรรม ได้ออกกำลังกาย ชีวิตเปลี่ยนไปแน่นอน จากเดิมทำงานแล้วกลับบ้าน ตอนนี้เราไปออกกำลังกายพักผ่อนหลังเลิกงานน่าจะมีประโยชน์มาก”

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park มองว่า ในย่านหลักสี่เราเห็นว่ายังมีที่ดินที่รอการพัฒนา ที่ดินที่อาจจะเป็นหน้าบ้าน หน้าสำนักงาน หน้าสถานที่ราชการที่สามารถเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวได้ และเมื่อได้พูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ แล้วก็คิดว่ามันน่าจะดีถ้าจะมีการเชื่อมต่อพื้นที่เป็นโครงข่าย เพราะถ้ามองเข้ามาในตัวย่านก็จะพบว่าสามารถทำให้เป็นตัวย่านที่เชื่อมโยงถึงกันได้จริง ๆ เราอาจจะไม่เคยเห็นศักยภาพเหล่านั้นมาก่อน เมื่อเราพบว่ามีภาคี ทั้งเอกชน ภาครัฐ​และสถาบันการศึกษาในย่าน เป็นฐานทรัพยากร องค์ความรู้ ที่พร้อมต่อการทำงานร่วมกัน

โอกาสในการเห็นย่านหลักสี่สีเขียวเกิดขึ้นไม่ยากอยู่ที่การออกแบบ โอกาส และวิธีการที่จะดำเนินการให้ตอบรับกับความสามารถ ความสะดวกของแต่ละพื้นที่ และภาคี บางคนอาจจะสะดวกในการมอบที่ดินให้รัฐดูแลเลย บางคนอาจจะไม่สะดวก ให้เปิดรั้ว สร้างกฎระเบียบการใช้งานร่วมกัน ภาคีอาจจะคิดว่าเป็นไปได้ง่ายกว่า หรือบางทีอาจจะไปผนวกร่วมกับโครงการที่เขากำลังจะทำอยู่แล้ว สมมติหน้าสรรพสินค้าที่กำลังจะมีการปรับปรุงอยู่แล้ว ให้คำนึงถึงเรื่องนี้สักนิดหนึ่ง ก็เพียงแค่ใช้สรรพยากรของแต่ละองค์กรมี มาปรับจูนกันให้มันสอดคล้องกันแค่นี้มันก็ทำได้ เพียงแค่ว่าที่ผ่านมามันไม่เคยมีพื้นที่ของการชวนคุยกันว่าใครจะทำอะไร แต่เมื่อทุกคนมาแสดงความต้องการ เจตจำนงค์เรื่องพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมก็ทำให้เห็นโอกาสในการเชื่อมโยงกัน ระดมความรู้ ทรัพยากร ทำงานไปด้วยกัน ทรัพยากรเท่าเดิม แต่พอมาเชื่อมโยงกัน อิมแพคมากกว่าเดิม

“อันดับแรกคือการเปิดตัวร่วมกัน เป็นไปได้มาก การจัดทำเส้นทาง ทางเท้าทางจักรยาน มีร่มเงา เป็นไปได้เพราะสำนักงานเขตก็มีความพร้อมอยู่แล้ว ชนิดพันธุ์ไม้ หลักเกณฑ์ของการออกแบบของแต่ละที่ ให้มีความปลอดภัย สภาพอากาศมลภาวะ หรือกิจกรรมที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เราอาจจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน ต่อเนื่อง ทำให้ภาพความเป็นไปได้ชัดขึ้น หลายๆ คนพูดถึงว่าจริง ๆ แล้วมีจุดที่น่าสนใจในย่านอยู่ แต่คนยังไม่รู้ แต่พอมีเส้นทางเดินก็จะนำพาไป สร้างชีวิตชีวิต ปฏิสัมพันธ์ กระตุ้นการทำกิจกรรมในเมือง ทำให้ย่านมีชีวิตมากกว่าเดิม จากที่เราอาจจะนึกไม่ถึงเลย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้