ผอ.เขตปทุมวัน เร่งช่วยเหลือครอบครัว ‘ปูแป้น’ จากสารคดีคนจนเมือง

ระยะยาวเตรียมสร้างอาชีพ จัดหาพื้นที่ทำกินอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ “แม่ปูแป้น” ตั้งเป้าสร้างรายได้ช่วงลอยกระทงสวนลุมพินี ปิดหนี้นอกระบบ ด้าน “นพ.วิรุฬ” หนุนสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขอุ้มคนจนป่วย 

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565  ภายหลังจากที่สารคดีคนจนเมือง ตอนแรก ความฝันของปูแป้น ได้ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเขตปทุมวันได้รับทราบถึงปัญหาของครอบครัวนี้ และได้ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น

สุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวว่า สิ่งที่กรุงเทพมหานครจะช่วยได้มีงบของฝ่ายพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม 3 ส่วน คือค่ารักษาพยาบาล, ค่าศึกษาเล่าเรียนบุตร และค่าประกอบอาชีพ ซึ่ง 1 ครอบครัวจะได้รับงบช่วยเหลือดังกล่าวปีละ 1 ครั้ง   

สุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน

ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน เห็นว่าการสงเคราะห์ดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ซึ่งไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง แต่การแก้ไขปัญหาระยะยาวคือการส่งเสริมอาชีพ จัดหาพื้นที่ทำกินให้เหมาะสมให้มีรายได้ โดยครอบครัวของปูแป้นยังนับว่าโชคดีกว่าครอบครัวคนจนคนอื่นที่ตนได้เคยไปช่วยเหลือ  ​ 

ทั้งนี้ แม่ของปูแป้น ได้ยื่นคำร้องขอค่ารักษาพยาบาลไปแล้วแต่ในส่วนของค่าศึกษาเล่าเรียนของปูแป้น และค่าประกอบอาชีพของครอบครัว จะให้ดำเนินการเขียนคำร้องและอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือในเบื้องต้นต่อไป 5,000 บาท ขณะเดียวกันวันนี้ได้นำถุงยังชีพซึ่งมีของใช้ที่จำเป็น จำพวกข้าวสารอาหารแห้งของใช้ส่วนตัวมามอบให้ 

ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน มองว่า การช่วยการสงเคราะห์เช่นนี้เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ​ และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยรายวันสูง และจัดหาพื้นที่ทำกินที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวนี้ ตั้งร้านหาบเร่แผงลอยอยู่บนทางเท้าหน้าสวนลุมพินีอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎอย่างเท่ากัน เพื่อไม่ให้มีกรณีอ้างความจน เข้ามาทำมาหากินบนพื้นที่ทางเท้าที่ไม่ใช่จุดผ่อนผัน แต่เพื่อความเป็นธรรมจึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้ครอบครัวของปูแป้น ไปขายบนพื้นบนจุดผ่อนปรนที่จัดไว้ให้ตามกฎหมายคือที่บริเวณประตู 4 และประตู 5 ของสวนลุมพินี 

“ครอบครัวของปูแป้นถือว่าโชคดีกว่าครอบครัวที่เป็นคนจนคนอื่นในกรุงเทพมหานคร ที่ได้เคยเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากลูกสาวและลูกชาย ยังได้เข้าระบบการศึกษาและทั้งสองคนก็มีงาน Part Time ทำเป็นประจำเป็นรายได้เสริมเพื่อจุนเจือครอบครัว ซึ่งก็จะเป็นเสาหลักของบ้านต่อไป” 

สุภาณี​ สมัครบุตร แม่ของปูแป้น (คนซ้าย)

ขณะที่ สุภาณี​ สมัครบุตร แม่ของปูแป้น กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจากรัฐมากที่สุดคือพื้นที่ทำกิน ที่เป็นทำเลที่จะมีผู้คนเดินผ่านไปมาและสามารถซื้อของจากร้านค้าหาบเร่ของตนจนมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว การไปขายยังจุดผ่อนปรนซึ่งมีผู้ค้าขายสินค้าชนิดเดียวกันจะทำให้ยอดขายลดลง

ทั้งนี้เธอยังมองเห็นโอกาสในช่วงเทศกาลลอยกระทง ที่จะสร้างรายได้ และมีกำไรจากการทำกระทงขาย ซึ่งมีต้นทุนถูกแต่ขายได้กำไรสูง ซึ่งคาดว่าจะมากพอที่จะนำมากลบหนี้นอกระบบ 

หนุนสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขอุ้มคนจนป่วย 

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ใครที่ได้ติดตามสารคดีคนจนเมือง ตอน ความฝันของปูแป้น ก็จะได้เห็นว่า แม่ของปูแป้นนั้นมีปัญหาสุขภาพ หลายโรครุมเร้า แม้จะเข้าถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาลด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ความเจ็บป่วยก็นำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่าย เช่นการเดินทาง และต้องซื้อแพมเพิสรายวัน รวมทั้งเข็มฉีดยาเบาหวาน ที่ต้องควักกระเป๋าตังค์จ่ายเอง ส่วนนี้ทำให้รายได้ของครอบครัวที่มีน้อยอยู่แล้วถูกหักไปกับค่าใช้จ่ายที่หากสุขภาพดีก็อาจจะประหยัดเงินส่วนนี้ไปได้อีก 

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ 

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ มองว่าเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข จะมีส่วนช่วยอย่างมาก ที่จะลดภาระค่าใช้จ่าย โดยการพิทักษ์สิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่นอกเหนือจากการรักษาอื่น ๆ และการมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็งอาจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจนเมืองเหล่านี้ให้ดีขึ้น 

โดยพวกเขามีความต้องการเฉพาะบางอย่างที่เราต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งมันอาจจะไม่ใช่ตัวระบบบริการที่จะต้องไปสร้างอะไรเพิ่มเติม แต่สิ่งที่เราต้องเพิ่มคือเครือข่ายการดูแล คนที่ไปพูดคุยกับเขาทำความเข้าใจเขา แล้วก็ให้ในสิ่งที่เขาควรจะได้ อย่างเช่นการเข้าถึงสิทธิ์บางอย่างที่เขาอาจจะไม่รู้ แต่ว่าเราสามารถจะระดมให้กับเขาได้

“บางทีเขาติดเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้นแนวทางอันหนึ่งที่ผมอยากจะให้มันมีความชัดเจนมากขึ้น ก็คือการพิทักษ์สิทธิ์คนไข้”

นพ.วิรุฬ อธิบายต่อว่า การพิทักษ์สิทธิ์ของคนไข้คนนั้นในต่างประเทศมีคนกลุ่มหนึ่งที่นำความต้องการของคนไข้มาคิดวิเคราะห์ว่าจะให้เข้าถึงได้อย่างไรซึ่งตรงนี่เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง และต้องใส่ใจ

เมื่อถามว่า คนจะมีเพียงพอหรือไม่ที่จะทำเช่นนั้น นพ.วิรุฬ บอกว่า ประชาชนทุกคนทำหน้าที่นี้ได้ จิตอาสามีพอ มองว่าปัญหาเป็นเรื่องของกำแพงระหว่างรัฐกับภาคประชาชนที่เราจะต้องหาทางเชื่อมโยงร่วมกันให้ได้ ระบบสาธารณสุขจะต้องขยายไปสู่การที่ทุกคนจะต้องเข้ามาร่วมกันได้ 

นพ.วิรุฬ กล่าวด้วยว่า ถ้าระบบสาธารณสุขเป็นระบบที่คนเข้าถึงได้ อันหนึ่งคือมันช่วยลดรายจ่าย อีกอันหนึ่งคือช่วยทำให้เขาหารายได้ได้ด้วยถ้าเขาไม่ต้องเจ็บป่วย หรือว่าถ้าเขาไม่ต้องไปตรวจตามนัดบ่อยมาก อย่างเช่นแม่ของปูแป้นเดี๋ยวก็หมอคนนี้นัด เดี๋ยวก็เจาะเลือด เขาเสียเวลาทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถจะทำงานร่วมกัน แล้วลองดูว่าไปโรงพยาบาลวันเดียว ตรวจทุกอย่างให้ตรวจภายในวันเดียว ถ้าเราทำแบบนั้นได้เราจะช่วยเขาได้อีกเยอะ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active