การพัฒนาเมืองไม่เคยยุติธรรมกับคนจน 

PUSH กับการทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี

“คุณว่าคนเราต้องการอะไรบ้าง เพื่อจะมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี แน่นอนว่าการได้มีบ้านที่ดี บ้านราคาไม่แพงคือหนึ่งในนั้น”

‘เลลานี ฟาร์ฮา’ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านที่อยู่อาศัย กล่าวไว้ในหนังสารคดี เรื่อง PUSH

หนังสารคดีเรื่องนี้ตอกย้ำและฉายภาพการพัฒนาเมืองที่เบียดขับและบีบบังคับให้ผู้ที่เป็นพลเมืองโลก แต่เป็นคนชนชั้นล่างสุดของประเทศนั้น จะต้องปากกัดตีนถีบ ซึ่งการขยายตัวของเมืองเช่นนี้ นักวิชาการผังเมืองและการพัฒนาเมืองเรียกว่า ‘Gentrification’ หรือ การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น หรือที่ รศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิยามคำนี้ว่าคือ การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย หนังชี้ให้เห็นว่าเมืองถูกเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้คนถูกผลักออกไปอย่างไร หรือกระทั่งการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกแปลงให้เป็นเมืองผู้ดี

The Active ชวนถอดองค์ของหนังสารคดีเรื่องนี้ ผ่านมุมมองของนักวิชาการ ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านหลายครั้ง อย่าง ‘รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง’ และ ‘นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์’ อีกหนึ่งนักเคลื่อนไหวเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม สองมุมมองจากสองคน แต่มีจุดร่วมเดียวคือการผลักดันเรื่องของสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของพลเมืองในประเทศ

บางช่วงของหนังฉายภาพประชาชนใน โทรอนโต ประเทศแคนาดา ประท้วงเรื่องการขึ้นค่าเช่า โดยตัวละครหญิง เล่าว่า เธอและสามีพบปัญหาเรื่องหนูและแมลงสาป โดยคาดว่าเกิดจากเจ้าของตึกหยุดให้บริการการซ่อมบำรุงด้านต่าง ๆ ซึ่งมีนัยว่าเป็นการบีบบังคับให้ผู้เช่าย้ายออก 

“พวกเขาปล่อยให้เราเจอปัญหาซ้ำ ๆ ทำให้เราท้อ เบื่อแบบสุด ๆ จนเราอยากออก แต่เราจะไปไหนได้ ทั่วโทรอนโตมีปัญหาค่าเช่าเหมือนกันหมด พวกเขากำลังบีบบังคับให้เราย้ายออกนั่นแหละ” หนึ่งในตัวละครที่ปรากฏในหนังเอ่ย 

หรือกระทั่งการส่งหนังสือแจ้งว่าผู้เช่ากระทำผิดกฎหมายขั้นร้ายแรง อย่างการครอบครองอาวุธปืนและยุ่งเกี่ยวยาเสพติด หรือบางเมืองมีการสร้างสถานการณ์ไฟไหม้ให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้หากมองกลับมาที่ประเทศไทยก็อาจเปรียบได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนแออัดหลายแห่ง นั่นเพราะการกล่าวหาหรือสร้างสถานการณ์เหล่านี้ เมื่อถูกบอกเล่าและสื่อสารออกไปจะทำให้สังคมภายนอกมองกลับมาที่ชุมชน แล้วเห็นด้วยว่าพื้นที่เหล่านี้ควรถูกจัดการและไล่รื้อจัดระเบียบให้ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นวิธีการที่ง่าย การถูกไฟเผาให้มอดไหม้ ควานหาหลักฐานไม่ได้ เหตุผลส่วนมากที่ัได้ยินหลังสถานการณ์ คือ ไฟฟ้าลัดวงจร ก็จะวนกลับไปที่ชุมชนว่า ไม่มีการจัดการที่ดี สุดท้ายคนในชุมชนเหล่านี้ก็ตกเป็นจำเลยของเรื่องเสมอ 

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ให้ความเห็นว่า ชุมชนแออัดมักถูกมองว่ามีอาชญากรรม เนื่องจากมีซอกหลืบเยอะ นักพัฒนาเมืองทั้งหลายจึงมองว่า Gentrification ทำให้แหล่งอาชญากรรมเหล่านี้หายไป เมืองสะอาด มีถนนหนทาง เป็นระเบียบมากขึ้น  

นอกจากการฉายภาพวิธีการไล่รื้อที่เกิดขึ้นในหนังแล้ว เลลานี ฟาร์ฮา ยังกล่าวถึงการขยายตัวของเมือง ที่สวนทางกับค่าจ้างที่หยุดนิ่งและราคาบ้านที่สูงเกินไปในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนี่กำลังทำให้เห็นว่ามีคนจนที่กำลังลำบากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน

อีกทั้งพบข้อมูลว่า ในเขตมหานครโทรอนโต ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 425 % ขณะที่ในช่วง 30 ปีเดียวกันนั้น รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 133 %

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรากฏนี้ ไม่ได้มีผลกระทบกับแค่ คนจน แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีชนชั้นกลางที่ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้  

“ฉันไม่อยากใช้คำว่าวิกฤตบ่อยเกินไป แต่นี่มันวิกฤตจริง ๆ มันทำให้เราเกิดคำถามว่า แล้วใครจะอยู่ในเมืองกันหละ เมืองมีไว้เพื่อใครกันแน่?”

เลลานี ฟาร์ฮา ตัวเอกในหนังสะท้อนภาพการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศให้รับรองเรื่องสิทธิของที่อยู่อาศัย และใช้สนธิสัญญานี้เพื่อไปกดดันให้รัฐบาลจะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือนโยบายสาธารณะให้มีเรื่องของสิทธิที่อยู่อาศัยซึ่งมองว่าเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้

“มันไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากอะไรเลย คุณว่าคนเราต้องการอะไรบ้างเพื่อจะมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี แน่นอนว่าการได้มีบ้านที่ดี บ้านราคาไม่แพงคือหนึ่งในนั้น ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็รับรองเรื่องนี้”

บทสนทนาที่หนังสารคดีเรื่องนี้นำมาร้อยเรียงในเวลากว่า 90 นาที มันชัดเจนว่า ‘Gentrification’ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก การกว้านซื้อที่ดิน การบังคับให้คนจนย้ายออก และการก่อสร้างห้องหรูซึ่งไม่ได้มีไว้เพื่อคนชุมชนนั้นจริง ๆ มองกลับมาที่ไทยย่านเก่าแก่ต่าง ๆ ในใจกลางเมืองก็กำลังถูกแปลงให้เป็นตึกหรู ห้างสวยเกือบหมดแล้ว 

การแปลงเมือง เปลี่ยนชนชั้น เป็นเมืองเป็นย่านผู้ดีในประเทศไทย 

กระบวนการทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างแรก คือ การขับและถีบคนซึ่งเคยอยู่อาศัยเดิมมายาวนานในชุมชน แล้วก็พัฒนาธุรกิจเพื่อคนที่เข้ามาให้เป็นคนชนชั้นใหม่ และชนชั้นใหม่ที่ว่าก็ต้องเป็นคนมีเงินที่สามารถซื้อและสามารถสู้ราคาที่อยู่อาศัยย่านนั้นได้

รศ.ประภาส กล่าวว่า เมืองที่ถูกพัฒนาจากคนอยู่เดิม ซึ่งนักลงทุนมักมองว่าไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างชุมชนแออัด หรือคนจน ที่อยู่ในตลาดน้อย ตามซอกซอย ซึ่งไม่ได้มีมูลค่าอะไรมาก ห้องเช่าก็ราคาแค่ 2 – 3 พันบาท กระบวนการเปลี่ยนแปลงคือเปลี่ยนจากพื้นที่เหล่านี้ให้มีการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี มีการเปลี่ยนหลายมิติ

หากมองหาข้อดี ก็จะเห็นเรื่องของการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่เมือง ด้านธุรกิจการค้า การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ การสร้างรายได้ และการเก็บภาษี, การเปลี่ยนแปลงและการแปรสภาพของอาคารให้มีลักษณะที่ทันสมัยมากกว่าอาคารที่มีอยู่เดิม, การพัฒนาและการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมในชุมชน ทำให้ย่านอาชญากรรมหายไป อาชญากรรมลดลง รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ระบบขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอื่น ๆ ฯลฯ 

แต่หากมองอีกด้านจะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังผลักไส ถีบ ไล่รื้อผู้คนออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม และเป็นการการสะสมทุน สะสมความมั่นคงในเมือง ด้วยการปลดเปลื้อง การถือครองของผู้อื่น (Accumulation by Dispossession) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยม เชิงนิเวศวิทยาผ่านกระบวนการผลักดัน ขับไสคนจนเมือง และเกิดกระบวนการทำลายเพื่อสร้างสิ่งที่งดงาม ผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่การทำมาหากินแหล่งสร้างรายได้และอาชีพ 

“ที่สำคัญ มันมีมีติของการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่เดิม จะต้องมาเป็นวิถีชีวิตของคนชนชั้นกลาง เป็นนักธุรกิจ เรื่องของวัฒนธรรม อาชีพ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น มันจึงมีลักษณะที่เชื่อมโยงกันไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ วิถีชีวิต วัฒนธรรม” 

แล้วอะไรที่อยู่เบื้องหลังรากเหง้าของ Gentrification? รศ.ประภาส ย่อยออกมาให้เห็นเป็นข้อว่า

  • หนึ่ง เมืองถูกทำให้เป็นสินค้า เพื่อที่จะสร้างกำไรสุงสุด เปลี่ยนสิ่งที่นักลงทุนมองว่าไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงอย่างการทำให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ 
  • สอง กระบวนการปลดเปลื้องการถือครองของผู้อื่น 
  • สาม กระบวนการสร้างภาคการผลิตที่เป็นทางการ และการทำลายภาคผลิตที่ไม่เป็นทางการ

เมื่อไรที่คุณไม่มีเงินมากพอ คุณก็คือผู้พ่ายแพ้โดยปริยายในกลไกทุนนิยมของโลกใบนี้

“ไผ่” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) พูดถึงสถานการณ์ที่อยู่ในหนังเรื่องนี้และเทียบกับประเทสไทย โดยอ้างหนึ่งในบางช่วงของหนังที่กล่าวว่า 

“การขับไล่คน เกิดจากการเกร็งกำไร การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชั้น ทุนใหญ่ เปลี่ยนเสมือนฝูงแร้งที่บินอยู่เหนือเมืองเรา เพื่อกอบโกยประโยชน์สูงสุดจากความต้องการพื้นฐานของเรา”

PUSH 

นิติรัตน์ เห็นว่าประเด็นเรื่องเมืองขยายตัว ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ หนังเรื่องนี้มีความพยายามพูดเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เขามองว่า สิทธิมนุษยชนตามไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการที่บริษัททางการเงินที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์มากกว่า GDP (Gross Domestic Product) ของทั้งโลกด้วยซ้ำ

เขาบอกอีกว่าสิ่งสำคัญที่ปรากฏอยู่คือความเหลื่อมล้ำเรื่องที่อยู่อาศัย การเบียดขับคนออกจากเมืองโดยทุนและรัฐ และในประเทศไทยมีทั้งทุนและรัฐ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มคนรายได้ปานกลาง รายได้น้อย และอยู่ในชุมชนแออัดประมาณ 6 แสนกว่าคนในประเทศ เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ อันนี้คือเรื่องสำคัญ 

“เวลาพูดเรื่องนี้ วิธีคิดของหน่วยราชการเวลาจะสร้างที่อยู่อาศัย เขาบอกว่าเขามีหน้าที่สร้างให้คนจน และเมื่อบอกว่าสร้างบ้านเพื่อคนจนที่ไม่ใช่เพื่อทุกคน มันทำให้เพดานของการทำสวัสดิการมันกดทับอยู่แค่คนจน”

อธิบายกันอย่างให้เห็นภาพ หมายความว่าคุณภาพของบ้านหรือสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะถูกจัดสรรตามฐานะ ชนชั้นนั้น ๆ สวัสดิการแบบสงเคราะห์เกิดขึ้นจากรัฐส่วนกลางที่มองคนไม่เท่ากัน แบ่งคนและเลือกปฏิบัติกับพลเมืองตามฐานะทางเศรษฐกิจ  

หน่วยงานที่จะทำหน้าที่สร้างบ้าน(คนจน)อย่างการเคหะแห่งชาติ พบว่า มันไม่เพียงพอต่อความต้องการและรวมศูนย์อยู่กับการเคหะฯ ไม่ถูกกระจายไปกับท้องถิ่น นี่ยังไม่นับรวมว่าประสิทธิภาพต่ำ

ทำไมคนชนชั้นกลางต้องกังวลกับ Gentrification?

เมื่อเงินที่ใช้ในแต่ละเดือนเริ่มไม่พอใช้ ค่าอาหารเริ่มสูงขึ้น ร้านกับข้าวที่เคยกินในราคาหลักสิบหายไป พื้นที่หาบเร่แผงลอยที่คนมักมองว่าเกะกะ แต่เมื่อพวกเขาหายไป ก็ทำให้อาหารของเราหายไปด้วย

รศ.ประภาส อ้างถึงงานวิชาการของ รศ.บุญเลิศ อีกครั้งว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มเลี้ยงเมือง เพราะนิเวศของผู้คนล้วนเกื้อหนุนกัน ชนชั้นกลางก็ต้องโหยหาของกินราคาถูก ไปกินจานละร้อยก็ลำบาก ฉะนั้น ชัดเจนว่าถ้าคนเหล่านี้ถูกขับออกไป ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งหมดด้วย 

พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่ Gentrification ในเมืองอย่างกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่ ทำให้เห็นว่าการแปลงเมืองเช่นนี้ไม่ได้ถีบแค่คนจนและคนด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ถีบคนชนชั้นกลางที่อยู่เดิมด้วย และอาจรวมไปถึงคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วยซ้ำ โดยเฉพาะย่านที่เป็นที่ดินเอกชน ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพราะพื้นที่ข้างต้น คือพื้นที่ที่ง่ายที่สุดที่จะบีบและถีบคนออกไป แล้วเอามาลงทุนเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด

“คนชนชั้นกลางก็ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีผู้ถือครองที่ดินที่เยอะสุดในประเทศไทยไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มกำไร และถ้าหากเราที่เป็นคนชนชั้นกลางไม่ตระหนักและต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องที่อยู่อาศัย เราก็จะถูกถีบออกไปเหมือนกัน”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักวิชาการที่ติดตามปัญหาที่ดินมาโดยตลอดอย่าง รศ.ประภาส กังวลว่า หากคนชนชั้นกลางยังไม่ลุกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันไปกระทบชีวิตผู้คน และยิ่งถ้าเรื่องที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องดูแล คนชนชั้นที่อำนาจอ่อนอย่างกลางและล่าง จะมีชะตากรรมเดียวกับคนจนคนด้อยโอกาสต่าง ๆ

รศ.ประภาส ยกตัวอย่างบทเรียนในอดีตสมัยที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดสรรให้คนจนออกไปอยู่นอกเมืองแล้วสร้างตึกแบบฝักข้าวโพด ซึ่งตอนนี้ร้างหมดแล้ว อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนคนชั้นกลางจะต้องกลับมาให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้และต้องถูกดูแล 

“ไม่ใช่ว่าเรื่องแบบนี้ประเทศไทยจะไม่เคยมีบทเรียน หรือบอกว่าให้ย้ายออกไปอยู่นอกเมือง ขณะที่งานยังกระจุกตัวอยู่ในเมือง ชาวบ้านก็จะมีต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะนอกเมืองทำมาหากินแทบไม่ได้”

ขณะที่ นิติรัตน์ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เวลาที่จะพูดถึงความเหลื่อมล้ำจะมีการพูดถึงความต่ำสูงของฐานะ ซึ่งแน่นอนว่ามันซ่อนวัฒนธรรมอำนาจอยู่ในนั้นด้วย มันไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องรายได้  และ นิติรัตน์ มองว่าคนชนชั้นกลางไทยไม่ได้มีอำนาจในการเข้าถึงอำนาจเท่าคนชนชั้นสูง เรื่องนี้มันจึงเป็นทุกข์ร่วมของชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ชนชั้นกลาง คือกลุ่มเสี่ยงที่พร้อมจะถูกนับรวมเป็นชนชั้นล่างในประเทศที่ไร้รัฐสวัสดิการ และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เผยตัวเลขชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในประเทศไทยว่าอยู่ที่ 70 % ส่วนอีก 30 % อยู่ใน 40 ครอบครัวที่รวยที่สุดในไทย ซึ่งหากวัดจากรายได้และโอกาสทางเศษรฐกิจ ชนชั้นกลางจะถูกเฉลี่ยอยู่ในชนชั้นล่างด้วย

“ตอนนี้ประเทศไทยมีอยู่ 67 ล้านคน และคนจนที่ถูกนิยามว่าอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ รายได้ 2,803 บาทต่อเดือน มีอยู่ประมาณ 4.4 – 4.8 ล้านคน แต่คนเกือบจนมีอยู่ 4 กว่าล้านคน สองส่วนนี้รวมกัน เกือบ 10 ล้านคนแล้ว”

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงชนชั้นกลางกับชนชั้นสูง สเกลมันต่างกันมากเรื่องรายได้ จึงมองว่าในสถานการณ์ที่มีการแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนแปลงชนชั้น เขาจึงได้รับผลกระทบโดยตรง 

นิติรัตน์ บอกอีก ชนชั้นกลางเป็นคนอาภัพ เพราะบัตรทองก็ไม่ใช้ บางครั้งเข้าคลินิก การเข้าถึงโรงเรียนก็เข้าถึงระดับกิฟเต็ด (Gifted) ซึ่งไม่ใช่การเรียนฟรี รวมถึงว่า ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ Gentrification เราต้องออกไปอยู่นอกเมือง มันก็ต้องมองไปที่การเข้าถึงการขนส่งสาธารณะ ราคาของบ้านกับราคาที่ต้องจ่ายในขนส่งสาธารณะ รวมถึงความปลอดภัยต่าง ๆ ตรงนี้เหมือนเป็นลูกโซ่ และแรงเหวี่ยงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

กระบวนการทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี เติบโตได้ในยุคการเมืองเผด็จการ ยุคอำนาจนิยม และการต่อสู้ภาคประชาชนเข้มข้นขึ้นในสังคมที่เหลื่อมล้ำ และไม่เคยยุติธรรมกับคนจน

ในภาพยนตร์ PUSH มีตัวอย่างของหลาย ๆ ประเทศ ทั้งเมืองโทรอนโต แคนาดา ซานฟรานซิสโก ลอนดอน เกาหลีใต้ ซึ่งแต่ละพื้นที่พบกับปัญหาห้องเช่าต่าง ๆ ราคาสูงขึ้น แต่ราคาค่าแรงยังต่ำ จนผู้เช่าหลายคนอยู่ไม่ไหว เกิดขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนจนเกิดเป็นสงครามชนชั้นขึ้น

นิติรัตน์ มองว่า การขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ยังไม่มีเจ้าภาพที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจัง แม้กระทั่งในมิติของการเมือง ถ้าเทียบนโยบายที่ดินและที่อยู่อาศัยแล้ว ส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัยแทบไม่มี จึงมีข้อเสนอว่า

  • หนึ่ง เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ในกรณีของคนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลควบคุมไม่ให้เกินร้อยละ 2 
  • สอง หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ควรที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชนเช่า 
  • สาม โครงสร้างราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยจะมีเกณฑ์อย่างไรที่จะควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป และให้มันสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในละพื้นที่
  • สี่ อุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัย 10 % ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน สำหรับคนอายุ 18 – 28 ปี 
  • ห้า ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าจัดเก็บรวมแปลง ภาษีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ (Vacancy tax) ย่านธุรกิจมักปลูกต้นไม้เพื่อเลี่ยงภาษี เช่น การปลูกกล้วยในย่านการค้า การทำธนาคารที่ดิน และการทำโฉนดชุมชน

ด้าน รศ.ประภาส กล่าวว่า ในประเทศไทยเราจะเห็นกระบวนการที่ประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองและขับเคลื่อนเรื่องประเด็นที่อยู่อาศัยกันมาก อย่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นขบวนการสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่มีการพัฒนาเมืองแบบรวดเร็ว ระบบรางเกิดขึ้นมากมาย เมืองเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

“Gentrification สำหรับประเทศเรามันจึงเข้มข้นหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองเป็นเผด็จการ ยุคอำนาจนิยม การรวมตัวกันต่อรองก็ยิ่งทำได้ยากในช่วงที่ผ่านมา”

ในหนังเรื่อง PUSH ตัวเอกเป็นเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ เธอขับเคลื่อนด้วยการลงไปสำรวจประเทศที่ร่วมลงนามอนุสัญญาเรื่องที่อยู่อาศัย ทวงถามเรื่องการลงนามอนุสัญญาของประเทศนั้น ๆ แต่พอเปรียบเทียบกับที่ประเทศไทยที่เป็นการเมืองแบบ ‘ล็อบบี้’ ซึ่ง รศ.ประภาส มองว่ายังใช้ไม่ได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยจึงต้องอาศัย “ตีน” ในการเดินขบวน ชุมนุมประท้วง

และในส่วนของทางออก มองว่าจะต้องผลักให้ประเทศไทยไปลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ให้มารับเรื่องสิทธิการอยู่อาศัย และใช้สนธิสัญญานี้กดดันให้รัฐบาลบรรจุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือนโยบายสาธารณะให้มีเรื่องของสิทธิที่อยู่อาศัยอยู่


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ