Easy e-Receipt แลกสูญภาษีหมื่นล้าน
ดึงภาคธุรกิจไทยเข้า E-Tax อาจยังไปไม่ถึงฝัน
ไม่เพียงหวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงต้นปี แต่ยังหวังจูงใจภาคธุรกิจให้เข้าสู่ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นด้วย สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษี “Easy e-Receipt” โดยรัฐยอมแลกกับการสูญเสียรายได้ไปถึง 10,000 ล้านบาท จะคุ้มค่าหรือไม่ยังเป็นคำถาม เพราะไม่ใช่ทุกร้านค้าที่สามารถขอใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ได้
แต่ห้างใหญ่อย่างเดอะมอลล์ “วรลักษณ์ ตุลาภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งเข้าร่วมโครงการ บอกว่า คาดหวังให้มาตรการ Easy e-Receipt ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ 20-30% ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของโครงการฯ ที่จะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 2567 จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่ากระตุ้นกำลังซื้อจริงไหม เพราะเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังรอเงินโบนัส หรือแต๊ะเอียช่วงตรุษจีน เพื่อนำมาใช้จ่าย
ขณะที่เสียงสะท้อนจาก “ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ส่วนหนึ่งยังมองว่า โครงการฯ มีความซับซ้อน ต้องซื้อสินค้าในห้างใหญ่เท่านั้น และยังไม่มีความเข้าใจในตัวโครงการ Easy e-Receipt ที่มากพอ
ไม่ใช่ครั้งแรก ที่รัฐมีมาตรการลดหย่อนภาษีลักษณะนี้ออกมา “รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงให้ฟังว่าตั้งแต่ช็อปช่วยชาติ ช็อปดีมีคืน จนมาถึง Easy e-Receipt ในปัจจุบัน นั้นตอบวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงธุรกิจเข้าสู่ระบบ
อย่างแรก เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ปีนี้ภาพเปลี่ยนไปเพราะร้านค้าที่เข้าร่วมต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในโปรแกรม E-Tax เท่านั้น ดั้งนั้น วัตถุประสงค์เรื่องการดึงธุรกิจเข้าระบบเลยชัดเจนกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีข้อจำกัดที่ร้านเข้าร่วม E-Tax มีไม่เยอะ คนที่จะใช้ได้ก็น้อยลงไปด้วย ส่วนการดึงธุรกิจเข้าสู่ระบบ จะตอบโจทย์รัฐบาลหรือไม่ ก็ต้องดูว่าร้านค้าธุรกิจที่เข้าร่วม E-Tax มีมากน้อยขนาดไหน พฤติกรรมในตลาดเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ก่อนรัฐบาลจะประกาศ Easy e-Receipt อย่างเป็นทางการ มีธุรกิจที่อยู่ในระบบ E-Tax อยู่ประมาณ 4,000 บริษัท ในช่วงตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ถึงเดือน ม.ค. 2567 จำนวนธุรกิจที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500 บริษัท รวมเป็นราว 7,500 บริษัท ในเวลาเดือนกว่า ๆ ถือว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ถ้ามองภาพรวม ธุรกิจในประเทศไทย มี 5 แสนกว่าบริษัท แต่มีคนเข้าร่วมเพียง 7,500 บริษัท เมื่อเทียบแล้วยังดูน้อยมาก
คำถามคือว่าทำไมเขาถึงไม่เข้าร่วม? ผู้ประกอบการภาคธุรกิจคงต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจมองว่าการร่วม E-Tax เป็นการปรับระบบบัญชีของบริษัททั้งหมดให้สามารถส่งใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สรรพากรและลูกค้าด้วยพร้อมกัน แน่นอนย่อมมีต้นทุนเกิดขึ้น ขณะที่โครงการ Easy e-Receipt มีถึง 15 ก.พ. 2567 ดังนั้น ธุรกิจก็ต้องระมัดระวัง และก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวลาเราซื้อของ ก็จะเห็นร้านค้าที่ไม่เข้าร่วมเยอะพอสมควร
ในทางกลับกัน รศ.อธิภัทร ย้ำว่ามาตรการลดหย่อนภาษี ก็มีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากรายได้ภาษีที่หายไปเช่นกัน เพื่อแลกกับภาคธุรกิจเข้า E-Tax มากขึ้น ปฏิบัติตามกฎระเบียบภาษีมากขึ้น หลบเลี่ยงภาษีได้น้อยลง รัฐบาลเก็บเงินภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น แต่ถ้ามาดูการปฏิบัติจริง ๆ ของภาคธุรกิจ ก็มีข้อกังวลว่ามันอาจจะไม่เป็นไปตามนั้น 100%
“ตอนนี้ถ้าธุรกิจเข้า E-Tax เขาก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะออกใบกำกับภาษีเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อมูลไปถึงสรรพากรทันทีเลย หรือว่าจะเป็นแบบกระดาษเหมือนเดิม อาจจะเป็นไปได้ว่า ลูกค้าคนไหนขอ E-Tax ธุรกิจก็ออก E-Tax ให้ แต่ถ้าไม่ขอก็ทำเหมือนเดิม หลังโครงการจบไปแล้ว ธุรกิจก็อาจจะกลับไปออกใบกำกับภาษีเป็นกระดาษก็ได้ ถ้ามันไม่มีแรงจูงใจอะไรต่อเนื่องให้เขาเห็น”
มาตรการลดหย่อนภาษียังจำเป็นไหม
ต้องยอมรับว่า มาตรการทางภาษี เป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐที่ถูกใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จูงใจให้เกิดการออม รวมไปถึงปรับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการด้วย แต่การลดหย่อนภาษีที่มีหลายรายการ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ขณะที่รัฐเองก็มีแผนใช้เงินไปกับสวัสดิการหลายด้าน
จำนวนรายการลดหย่อนและยกเว้นภาษีหลังการหักค่าใช้จ่ายบนหน้าแบบ ภ.ง.ด.90 91 เพิ่มขึ้นจาก 10 รายการในปี 2548 เป็น 20 รายการในปี 2563 ซึ่งถือว่ารายการลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นมาเท่าตัว โดยประเทศไทยมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% อันดับหนึ่งขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ในอันดับ 3 แต่มีบทบาทค่อนข้างจำกัดในฐานะแหล่งรายได้ของรัฐ
โดยทั่วไป ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถพึ่งพารายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อย่างเต็มที่นัก และสัดส่วนจากแหล่งรายได้นี้ของประเทศกำลังพัฒนาจะต่ำกว่าสัดส่วนของประเทศพัฒนาแล้วเป็นอย่างมาก แต่ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.8% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าสัดส่วนของมาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่ 2.6% และ 2.5% ของ GDP ตามลำดับ
ขณะที่สัดส่วนรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อยู่ในระดับราว 5-12% ของ GDP
มาตรการลดหย่อนภาษียังจำเป็นไหม หากไทยต้องการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสัดส่วนของ GDP มากขึ้น? เป็นคำถามที่ต้องหาจุดสมดุล และถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนดูมาตรการลดหย่อนที่ไม่คุ้มค่า เช่น รัฐบาลอยากส่งเสริมให้คนรายได้น้อย – ปานกลางมีเงินออมหลังเกษียณ จึงลดหย่อนภาษีผ่านการซื้อกองทุนเพื่อการออม แต่ในทางกลับกัน คนได้ประโยชน์กลับเป็นคนรายได้สูงที่มีกำลังสูงในการซื้อกองทุนมาก ๆ เพื่อลดหย่อนภาษีที่ต้องเสียตามขั้นบันใดรายได้
และอีกตัวอย่างคือ Easy e-Receipt ที่รัฐยอมสูญเสียรายได้หมื่นล้านเพื่อต้องการดึงภาคธุรกิจให้เข้าร่วมระบบ E-Tax แต่กลับมาภาคธุรกิจน้อยรายที่เข้าร่วม เป็นต้น
“ต่อไปเราก็จะเห็นว่าการลดหย่อนเพิ่มมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าเรามาทบทวนตัวไหนที่ยังมีความจำเป็นอยู่ รัฐบาลก็จะเลือกวัตถุประสงค์เพื่อการลดหย่อนภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
แต่หากรัฐบาลยกเลิกการลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็น รัฐบาลจะสามารถลดอัตราภาษีทั้งโครงสร้างลงมาได้ 2% โดยไม่ทำให้รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง จะทำให้ระบบภาษีง่ายและเป็นธรรมมากขึ้น
ศักยภาพการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญในการดึงประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ความท้าทายสำคัญของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย คือฐานภาษีที่แคบมากเนื่องจากการลดหย่อนและการยกเว้นต่าง ๆ
รศ.อธิภัทร จึงเสนอว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควรมีความเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน และมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในการเป็นแหล่งรายได้เพื่อพัฒนาประเทศ