“ฟ้องร้อง” ไม่ใช่แข่งขัน แต่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่ง “อนาคตของการศึกษา”

“ผู้เรียนคือคนสำคัญ” นโยบายชวนฝันช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อาจกำลังถูกทดสอบจากการออกมาใช้สิทธิ์ขอเลื่อนสอบ TCAS หรือ ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ที่มีชื่อเต็มว่า Thai University Center Admission System ของเด็กวัยเรียน

“เพื่อนบางคนรู้สึกแย่ แต่บางคนพร้อมสู้ต่อ เราทำได้เพียงให้กำลังใจกันและกัน ให้สู้ ๆ ขอให้ทำข้อสอบให้เต็มที่”

คำสะท้อนไม่เต็มเสียงของ ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ เด็กนักเรียนวัย 18 ปี ผู้ฟ้องคดีลำดับสองของการร้องศาลปกครองกลาง ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อยุติการจัดสอบ TCAS ปีการศึกษา 2564 ไว้ก่อนชั่วคราว ตอบสาย The Active ที่โทรศัพท์เข้าไปเช็กอิน หลังศาลฯ มีคำสั่ง “ยกคำร้อง” เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564

ไม่มีเหตุให้เราต้องเอ่ยถามถึงความผิดหวัง เพียงแต่อยากรู้ถึงพลังว่าเหลือไว้ใช้สอบ GAT-PAT ในอีกไม่ถึง 20 ชั่วโมง มากน้อยแค่ไหน

“โอเคอยู่ครับ ก็ต้องอ่านหนังสือต่อไป ถ้าถามว่าเผื่อใจไว้ก่อนไหม ก็เผื่อใจไว้แล้วตั้งแต่ไปยื่นฟ้อง เพราะในขั้นตอนการไต่สวนได้ยินศาลฯ บอกว่า ถ้าเลื่อนสอบแล้วจะไปกระทบการทำงานของภาครัฐหรือไม่ เราจะสามารถเลื่อนได้ก็ต่อเมื่อไม่กระทบกับภาครัฐ เขาพูดกับเราไว้แล้ว”

ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ และเพื่อน ๆ ที่ร่วมฟ้องศาลปกครองขอเลื่อนสอบ TCAS

แม้นเผื่อใจไว้บ้าง แต่ย่อมแอบมีหวังอยู่ลึก ๆ เพราะการปันพลังที่ใช้อ่านหนังสือ เป็นออกไปยื่นหนังสือก็ต้องมีเป้าหมาย แต่เมื่อสุดท้ายได้คำตอบมาผิดโจทย์ ความเหนื่อยย่อมมีบ้างตามธรรมชาติ

“ทนายความเข้าไปในศาลฯ ตั้ง 5 ชั่วโมง เราก็คิดว่าจะได้อะไรกลับมา ยอมรับว่ารู้สึกเหนื่อย แต่ไม่ถึงกับรู้สึกว่าตัวเองหนื่อยเปล่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่งเราก็ได้เป็นรากฐานให้น้อง ๆ dek65 ว่าถ้าพบระบบการศึกษามีปัญหาอะไรก็ต้องรีบคุย เผื่อจำเป็นต้องฟ้องจะได้ไม่กระชั้นชิด เพราะที่พวกเราออกมาทำมันกระชั้นมาก ศาลฯ ท่านก็เลื่อนให้ไม่ได้ น้อง ๆ รุ่นต่อไปจะได้มีบทเรียน ได้รู้สิทธิเสรีภาพของตัวเอง”

บททดสอบ “ผู้เรียนคนสำคัญ” ถ้าผู้ใหญ่ไม่ฟังก็พังยกแผง

การออกมาปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเองบนข้อขัดแย้ง “เลื่อนสอบ หรือ ไม่เลื่อน” ในภาวะโรคระบาดที่มีปัญหาเชิงระบบ ทำให้แนวคิดเรื่อง “เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”ถูกตั้งคำถามดัง ๆ ว่าแนวคิดที่ถูกใช้ในการกำหนดนโยบาย และถูกกำกับไว้ในรัฐธรรมนูญมาตลอด มีความจริงจังและจริงใจแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเด็ก ๆ รู้สึกว่าไม่เคยมีใครฟังเสียงของพวกเขาจริง ๆ

ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Active Talk 18 มี.ค. 64

ย้อนไปช่วงเวลารอศาลปกครองกลางตัดสิน ภูมภัสส์ ได้ออกมาพูดใน Active Talk ว่าหากวงประชุมขององค์กรการศึกษา มีเก้าอี้นั่งคุยให้เด็ก ๆ บ้าง ศาลฯ คงไม่เหนื่อยเพราะตน

“เราไม่ได้อยากเอาชนะ แต่อยากเปิดพื้นที่คุยโดยให้ศาลฯ ช่วยเป็นคนกลาง เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นน้ำเงินเราเป็นแดง มาต่อยกันแล้วใครชนะ แต่ว่าเราต้องการคุยกับองค์กรการศึกษาทั้ง 5 องค์กร ต้องการพูดให้รู้ว่าเรามีข้อจำกัดอะไร เขามีข้อจำกัดอะไร แล้วข้อจำกัดไหนเราสามารถมาคุยกันได้ มาเจรจากันได้ แล้วจะขยับข้อจำกัดนั้นได้ไหม”

ว่าที่น้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย อยากให้รัฐบาลและองค์กรที่ทำงานการศึกษา มีมุมมองต่อพวกเขาในฐานะกรณีตัวอย่าง หากต่อไปจะมีเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้ผู้เรียนรับผลกระทบ ตัวระบบต้องยืดหยุ่นและเห็นผู้เรียนเป็นคนสำคัญจริง ๆ

“การประชุมหรือการพิจารณาบางอย่างที่ ทปอ. และ สทศ. จัดขึ้น อย่างน้อยขอนักเรียนสัก 2-3 คน ได้เข้าไปนั่งในที่ตรงนั้นได้ไหม เขาพูดถึงปัญหาของเขา แล้วเราก็ได้แบ่งปันปัญหาของเราของเพื่อน ๆ ให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ว่าตัวเราเองก็มีข้อจำกัดไม่ต่างจากคุณเหมือนกัน”

ท้ายสุด ในมุมของนักเรียนที่ชื่อ ภูมภัสส์ มองการศึกษาไทยไม่มีใครไม่เก่ง แต่ที่มันดูแย่ก็แค่มีเด็กอยากพูดอยากมีส่วนร่วมออกแบบระบบให้เห็นคุณค่าของ “ผู้เรียนที่มีความต่าง” ซึ่งวัดไม่ได้ด้วยการสอบ แต่น่าจะประเมินได้จากความสุข

“ผมคิดว่าการเปิดรับฟังเด็ก มันจะทำให้การศึกษาเดินไปข้างหน้า และทัดเทียมกับนานาชาติได้ดีขึ้นมาก ๆ ผมอยากบอกว่าทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ทุกคนอาจจะเก่งในแบบของตัวเอง สุดท้ายแล้วถ้าการศึกษาทำร้ายเรามาก ๆ ก็อยากให้กลับมาสู้ ๆ ต่อให้จะเลื่อนสอบ หรือ ไม่เลื่อน อย่างไรเราก็ต้องสอบอยู่ดี”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม