เพราะอินเทอร์เน็ต คือสิทธิขั้นพื้นฐานบนเส้นทางการศึกษา | ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ผมนับถือท่านรัฐมนตรี ‘ตรีนุช’ นะ ที่พยายามจะทำความเข้าใจปัญหา แต่ว่าสายป่านท่านอยู่ไกลจากโรงเรียนมาก

‘อ.ฮูก’ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล พูดประโยคนี้ขึ้นมาตอนท้ายการสนทนาถึงความสูญเสียด้านการศึกษา ซึ่งไม่ค่อยน้อยหน้าความสูญเสียด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่ชะงักงัน

“เหมือนทุกคนวิ่งมาราธอนมาปีกว่า และต้องวิ่งมาราธอนไปอีกถึงปลายปีแน่ ๆ 
เดือนนี้เพิ่งเดือน 7 เอง อย่างน้อย ๆ ไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ที่ต้องช่วยกันออนไลน์ไป 
ถ้ากระทรวงศึกษาฯ ไม่คิดเชิกรุก เด็กช้ำหมด ครูก็หมดพลังงาน”

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่สร้างนิวไฮเฉียดหมื่นต่อวัน เป็นสัญญาณที่รู้กันแบบไม่ต้องประกาศก็รู้ ว่าครูกับเด็กในพื้นที่ระบาดต้องตีตัวออกห่างกันไป ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันในโรงเรียน

The Active ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ ‘ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล’ ถึงสิ่งที่ผู้ได้รับผลกระทบด้านการศึกษาอยากพึ่งพิงไม่ใช่พาดพิง ในห้วงเวลาที่เด็กกับครูถูกมัดมือชกให้เรียนออนไลน์

เมื่อโรงเรียนเป็น 1 ในชุมชนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ บางที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เราพบว่าถ้าครูส่งใบงานให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองก็ไม่ปลอดภัย เรียนออนไลน์กลายเป็นช่องทางเดียวที่เด็ก ๆ จะมีโอกาสพบครู

การระบาดระลอกนี้ ต่างจากระลอกแรกที่เริ่มทดลองระบบเรียนออนไลน์ รอบแรกโชคดีไม่ได้ยื้อยาว และไม่ได้จริงจังเรื่องวัดประเมินผล พอระลอกสองมันหนักขึ้น ธันวาคม 2563 ถึง มกราคม 2564 เกิดขึ้นระหว่างภาคเรียนครูสอน ๆ กันอยู่ 3 สัปดาห์ ก็ต้องกลายมาเป็นออนไลน์ประมาณ 5 สัปดาห์ ตอนนั้นมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือได้ทดลองระบบมาแล้ว ครูพอนึกออกว่าจะทำอะไร 

แต่ครั้งนี้ไม่เหมือน 2 ครั้งแรกเลย มันเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมถึงตอนนี้ ดูเหมือนสัญญาณจะยาวถึงปลายปี ผมว่าไม่ใช่แค่เทอมนี้ อาจจะถึงเทอมหน้าด้วย ความยากก็คือจะปล่อยให้เรียนแค่ประคับประคองไม่ได้แล้วไง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ที่ติดล็อกกันมาตั้งแต่เปิดเทอม ยิ่งยาวนานคือสมุทรสาครเจอแจ็คพอตมาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว

“สองครั้งแรกโรงเรียนยอมลดเพดานตัวเองลงมาเพื่อประคับประคองให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่รอบนี้ยังไม่เห็นปลายทางเลยว่าจะจบตรงไหน ถ้าเอาตามที่นายกฯ บอกว่าภายใน 120 วันถึงตุลาคม ก็คือจบเทอมนี้แหละแต่ดูจากสัญญาณการฉีดวัคซีนตอนนี้ มันไม่น่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในปลายปีนี้ได้” 

การที่กระทรวงศึกษาฯ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้รับสถานการณ์โรคระบาดไว้ 5 รูปแบบ ก็ดูมีความยืดหยุ่นและให้อิสระ แต่ในมุมสนับสนุนต้นทุนเพื่อการเรียนรู้จัดเต็มแค่ไหน

สัญญาณหนึ่งที่ผมชื่นชมกระทรวงศึกษาฯ ก็คือพยายามจะไม่บังคับว่าต้องทำอะไรในเชิงนโยบาย จากรัฐมนตรี ‘ตรีนุช เทียนทอง’ เช่น บอกว่าให้โรงเรียนยืดหยุ่นได้ แต่ตอนนี้มันมีล็อกหลาย ๆ อย่างที่ต้องทำให้ชัดเจน

ผมคิดว่าผลกระทบด้านการศึกษารอบนี้ เรื่องใหญ่คือต้นทุนเราปีนี้กับปีที่แล้วไม่เหมือนกัน ความพร้อมทางจิตใจ เศรษฐกิจต่าง ๆ มันพังไปหมดแล้ว เด็กช้ำมาทั้งปี เหมือนถูกมัดมือชกให้เรียนออนไลน์ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม หรือในพื้นที่ครัสเตอร์ เช่น คลองเตย สัญญาณมันชัดว่าจะต้องลากยาวไปถึงปิดเทอม

เราเห็นปรากฏการณ์เด็ก ๆ เรียนออนไลน์อยู่แล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุด มีครูคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า มีเด็กคนหนึ่งเรียนออนไลน์ที่เขาสอนผ่านแอปพลิเคชัน Line Call ปกติเด็กคนนี้ไม่เคยเปิดกล้องหรอก เพราะที่บ้านไม่ค่อยมีสตางค์ อินเทอร์เน็ตที่ใช้ก็มีจำกัดอยู่ แต่เขาพยายามส่งเสียงตอบครูบ่อย ๆ นะ จนครูก็จำได้ว่ามีเด็กคนนี้อยู่ในคลาส

วันดีคืนดี เรียน ๆ อยู่ เด็กคนนี้หลุดหายไปไม่กลับเข้ามาเลยครึ่งวัน หายยาวไปอีกวันหนึ่ง ครูเขาก็งงเพราะเห็นว่านักเรียนคนนี้เป็นเด็กดี ไม่เคยขาดเรียน กลับเข้ามาเรียนพร้อมคำขอโทษขอโพยว่าวันก่อนอินเทอร์เน็ตหมดแม่ไม่มีตังค์เติมให้บอกเขาว่าแม่ไปขายของก่อน ถ้ามีตังค์จะเติมอินเทอร์เน็ตให้ 20 บาท ทุกคนที่ได้ฟังเรื่องนี้ก็สะเทือนกันหมด 20 บาทของเราซื้อกาแฟแก้วหนึ่งยังไม่ได้กันเลย แต่เด็กใช้เรียนได้วันถึงสองวัน

“คนไม่เข้าใจก็จะบอกว่า ทำไมไม่ซื้ออินเทอร์เน็ตเหมาไปเลย 200 บาท เพราะไม่เข้าใจว่า 200 บาทสำหรับเด็กครอบครัวยากจนระดับล่าง มันคือค่ากินค่าอยู่ 2 วันซะด้วยซ้ำ มันเป็นการมองจากคนที่ไม่เข้าใจบริบทปัญหา ก็เลยตีโจทย์ไม่แตก ผมแนะนำว่าให้ฟังโรงเรียนและคุณครูเยอะ ๆ ครับ แล้วก็ฟังพ่อแม่ว่าตอนนี้เขาเจอปัญหาแบบไหน จะช่วยให้เราเข้าอกเข้าใจได้มากขึ้น”

ผมนับถือท่านรัฐมนตรี ‘ตรีนุช’ นะ ที่พยายามจะทำความเข้าใจปัญหา แต่ว่าสายป่านท่านอยู่ไกลจากโรงเรียนมาก ถ้าท่านอยากรู้ว่าเรียนออนไลน์เป็นอย่างไร แนะนำให้เข้าไปสังเกตการณ์ห้องเรียนออนไลน์หลาย ๆ แบบ ผมเชื่อว่าในความเป็นแม่ของท่าน ความเป็นผู้นำของท่าน จะไม่นิ่งดูดายหรอก แต่ถ้าตราบใดที่คนในกระทรวงฯ จัดวางให้ท่านไปดูเฉพาะโรงเรียนที่สอนได้ดี เด็กมีความพร้อมแล้ว ท่านก็จะไม่เห็นปัญหาต่อไป แล้วปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ รัฐบาลประกาศเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มต่าง ๆ ในกลุ่มผู้รับผลกระทบด้านการศึกษา ได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง

เงื่อนไขสำคัญของการจะหลุดหรือไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่ตรงนี้แหละ เด็กกับครูจะเรียนออนไลน์ได้หรือไม่ได้ อยู่ที่เครื่องมือสื่อสารและสัญญานอินเทอร์เน็ต มีโจทย์ที่ต้องการแรงส่งจากนโยบายชัด ๆ เลยก็คือเอาเงินตรงไหนซื้อซิมอินเทอร์เน็ตได้บ้าง เพราะเข้าใจว่าซื้อสมาร์ตโฟนจะยากกว่า เป็นครุภัณฑ์ถ้าซื้อต้องมีระบบจัดซื้อจัดจ้างและซื้อของมือสองไม่ได้ ระเบียบการใช้งบประมาณต่าง ๆ ของโรงเรียน ตอนนี้เข้มงวดไปหมดเลย

เทอมนี้ถ้าไม่ได้เปิดโรงเรียนจริง ๆ งบประมาณบางส่วนก็ต้องเหลือแน่ มันเลยไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ใช้เงินข้ามหมวดบ้าง เช่น ส่วนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน หาก​ ศธ. ระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าสถานศึกษาสามารถนำเงินส่วนนี้ไปซื้อซิมอินเทอร์เน็ตช่วยให้​นักเรียนเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้​ โรงเรียนจะได้เดินหน้าช่วยเหลือนักเรียนได้​ทันท่วงที ถ้าเกิดว่าครอบครัวเด็กเริ่มแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวแล้ว

“ต้องยอมรับว่าแต่ละโรงเรียนมีฐานะทางการเงินไม่เท่ากัน ซูเปอร์ดีลจากกระทรวงศึกษาฯ กับ Internet provider คุณไปคุยเลยจะดีลกับใครทั้ง DTAC AIS TRUE TOT หรือระดมทั้งหมดว่าคิดเรทราคาอย่างไร แล้วให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนดีลไหม เพราะเราจะซื้อเยอะ ตอนนี้เจอปัญหาว่าโรงเรียนดีลกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอง เขามีนักเรียนแค่ 200 คน ราคาที่ซื้อก็จะได้เรทปกติ ถ้าหากซื้อพันชิ้นจะถูกลงได้ แต่โรงเรียนอาจไม่สามารถรวมบิล 5 โรงได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่เขต”

ทีนี้ก็ต้องระวังถ้าให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนทำก็จะอุ้ยอ้ายไม่คล่องตัว ผมว่าเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดระหว่างกระทรวงเยอะมาก ผมเชียร์ให้กระทรวงศึกษาฯ ต้องตั้งวอร์รูมได้แล้ว ตั้งโต๊ะกลางระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษาที่พร้อมสนับสนุน 

เพราะคุณต้องวิ่งมาราธอนไปถึงปลายปีแน่ ๆ เดือนนี้เพิ่งเดือน 7 เอง อย่างน้อย ๆ ไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ที่ต้องช่วยกันออนไลน์ไป ถ้ากระทรวงศึกษาฯ ไม่คิดเชิกรุก เด็กช้ำหมด ครูก็หมดพลังงาน

ในสถานการณ์โรคระบาด เด็ก ๆ ที่เรียนออนไลน์จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตกันเท่าไร

อยู่ที่ว่าครูใช้โปรแกรม หรือแอปพลิเคชันอะไรในการสอน ถ้าคุณให้เด็กเข้าโปรแกรม Zoom บ่อย ๆ ให้เด็กดูคลิปยูทูบบ่อย ๆ เน็ตก็จะไปเร็ว การเรียนการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ Active learning มีเกมให้เด็ก ๆ เล่น พวกเขาก็ต้องมีอินเทอร์เน็ต อย่างเด็ก ป.5 ป.6 จะสอนแห้ง ๆ อย่างเดียวไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีสไลด์ให้ดู ส่วนจะใช้เน็ตเยอะแค่ไหนอยู่ที่รูปแบบการเรียนการสอน แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กแน่นอนว่าไม่แนะนำให้เรียนออนไลน์

ตอนนี้ต้องคิดเรื่องให้เด็กมีอินเทอร์เน็ตอันลิมิเต็ดแบบไม่ลดสปีด ไม่จำกัดปริมาณได้แล้ว ถ้าคิดว่าอย่างน้อย 3-4 เดือนนี้ กรกฎาคม ถึง ตุลาคม ต้องเรียนออนไลน์ ก็จะต้องให้เด็กมีเน็ตใช้

มีคุณครูลองสำรวจมา พบว่ามีแพกเกจอินเทอร์เน็ตแบบอันลิมิเต็ด 4 เดือน ราคาประมาณ 300-400 บาท ถ้าซื้อซิมอย่างน้อย 1 พันชิ้น ก็จะตกซิมละ 200 กว่าบาท ได้ความเร็วสูงสุด 4 Mbps.

เห็นอาจารย์เป็นที่ปรึกษาให้น้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ ทำแคมเปญ #น้องฉันต้องได้เรียน ชวนสังคมส่งต่อสมาร์ทโฟนไม่ใช้แล้วช่วยเด็กยากจนได้เรียนออนไลน์

ผมทำงานมาไม่ค่อยซื้อไอเดียเรื่องการบริจาคนะ แต่งานนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นไฟต์บังคับเพราะตอนนี้ไม่มีใครขับเคลื่อน มันเริ่มจากที่ผมรับรู้ว่าโรงเรียนที่ผมนิเทศก์อยู่มีนักเรียนขาดสมาร์ตโฟนเรียนออนไลน์ 2 เครื่อง ผมประกาศบนเฟซบุ๊กตูมเดียวมีคนหลังไมค์จะส่งสมาร์ตโฟนมาให้ 10 กว่าคน เราเห็นความหวังดีกันและกันเยอะ ก็คิดว่าเฮ้ย ถ้ามันมีคนพร้อมให้อุปกรณ์มาถึงมือเด็กที่ต้องการ มันต้องมีคนกลางในการจัดการ 

“ผมชวนน้อง ๆ อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มาทำ เพราะอยากให้นิสิตเห็นว่าคุณทำอะไรได้มากกว่าการประคองตัวเองรอด อยากชวนให้เขาเข้ามามีส่วนเฉลี่ยทุกข์สุขกับน้อง ๆ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจน้องแน่ ๆ เพราะเขาเรียนออนไลน์มาเหมือนกัน เขาเป็นเด็กโตยังล้มลุกคลุกคลาน”

ณ เวลานี้ ไม่ต่างจากสมัยสึนามิ พลังอาสาสมัครสำคัญมาก ๆ แต่ต้องไม่ใช่อาสาสมัครที่ไปแย่งงานรัฐมาทำจนรัฐไม่ทำอะไร แต่เราต้องทำให้เห็นว่าทำแบบนี้ได้ มันเห็นตัวละคร 

น้อง ๆ อบจ. เขาก็ไปทำงานต่อกับเครือข่ายทางสังคมชื่อคณะใกล้เที่ยงคืน พวกเขาเห็นชุมชนรอบจุฬาฯ มีความบอบช้ำเรื่องโควิด-19 มาก แล้วพอสัญญาณจากโรงเรียนสะท้อนชัดว่าหนักหน่วง ครอบครัวเด็กนักเรียนมีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว แม่ใช้ขายของ ลูกใช้เรียนสองคนสลับกัน แบบนี้มันไม่ได้แล้วไง แล้วโรงเรียนก็ไม่ได้อยู่ในสถานะสามารถซื้อสมาร์ตโฟนเครื่องละ 2-3 พันให้เด็กได้

นิสิตเราก็เลยเข้ามาช่วยเติมเต็ม ด้วยการเปิดแคมเปญ น้องฉันต้องได้เรียน” ชวนสังคมมาช่วยทำภารกิจส่งต่อมือถือที่ไม่ใช้แล้ว ให้น้อง ๆ มีโอกาสเรียนดีกว่าเก็บอยู่ในลิ้นชักบ้าน ก็จะลองทำกันก่อน 1 เดือน นำไปให้น้อง ๆ ในชุมชนรอบจุฬาฯ 13 โรงเรียน ที่เราทำงานด้วยกันอยู่ แล้วค่อยมาคุยกันว่าจะเดินต่อกันอย่างไรในโจทย์ต่อไป

“ตอนนี้เราทำระบบให้ยืม ส่งสมาร์ตโฟนไปที่โรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดคำถามว่า เอาไปขายต่อหรือไม่ หรือเอาไปใช้เล่นพร่ำเพรื่อหรือเปล่า ก็ต้องมีข้อตกลงว่าหมดโควิด-19 ต้องเอากลับมาเป็นกองกลาง เผื่อเอาไว้ใช้ในการระบาดระลอกใหม่ ที่คิดระบบนี้ เพราะมองว่าการเปิดบริจาคเงิน หรือบริจาคของเข้าโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้มันอันตรายเกินไป ต้องช่วยเขาคิดเรื่องระบบแบบนี้ด้วย”

อย่างที่รู้ เด็กพื้นที่เสี่ยงทั้งระบบมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเครื่องมือสื่อสารพร้อมเรียนออนไลน์ จะสามารถต่อยอดจาก “น้องฉันต้องได้เรียน” อย่างไรได้บ้าง

ผมเชียร์ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งลุกมาทำแบบนี้ เพราะอุปกรณ์มือสองมีอยู่แน่ ๆ ในท้องตลาดที่คนไม่ใช้แล้วพร้อมช่วยกัน บริษัทต่าง ๆ บางทีเขานึกไม่ออกว่าโรงเรียนมีความต้องการอะไร เราอยู่ตรงนี้เรามองเห็นก็ช่วยบอกโดยเปิดโจทย์นี้ว่า มีโรงเรียนต้องการใช้ คุณก็แค่สำรวจว่าแต่ละเขตต้องการเท่าไร อย่าให้พร่ำเพรื่อสำรวจความต้องการจริง ๆ 

โจทย์ต่อไปถ้า Stakeholder ไม่นิ่งเฉย บางทีอาจจะมีพลังมาหนุนนักศึกษาให้มีพลังต่อรองได้

“ตอนนี้เราต้องการล็อบบี้ยิสต์อย่าง กสศ. จัดโต๊ะคุยว่าจะทำเรื่องนี้อย่างไร กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงดิจิทัลฯ อปท. กทม. จริง ๆ ผมไม่ได้ต้องการให้เกิดการระดมเงินจากประชาชน งบฯ ที่โรงเรียนมี แต่ปัญหาคือมันใช้ไม่ได้ในระเบียบ”

ผมว่าถ้าพวกเขาลุกมาทำหน้าที่นี้เราอาจไม่จำเป็นต้องดึงภาคสังคมลุกขึ้นมาผลัก 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด แต่เรากำลังทำให้กลไกที่ยังไม่ขยับ มีน้ำมันหล่อลื่นในการขยับให้ไปต่อได้ ผมเคารพในฟังก์ชันพวกท่าน และเชื่อในพลังการทำงานของพวกท่าน ถ้าเห็นว่าตรงนี้เป็นโจทย์ที่สามารถ Take action ออกมาได้ ชวนมาทำครับจะได้มีบทบาทในการร่วมทุกข์ร่วมสุขในครั้งนี้ด้วย 

สุดท้ายนี้ ถ้าว่ากันตามรัฐธรรมนูญ การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรมีใครถูกตัดสิทธิ์ออกไปจากความไม่พร้อม และไม่ควรต้องมีใครออกมาทวงสิทธิเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ

ในภาวะโควิด-19 มีเด็กที่ตกหล่นเยอะมาก เด็กในเงาเยอะมาก คนที่รู้ดีที่สุดตอนนี้ก็คือครูที่ดูแลพวกเขานั่นแหละ ถ้าในข้อมูลการออกสำรวจปีที่แล้ว ครูมีการออกไปเยี่ยมบ้านเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงศึกษาฯ เอาข้อมูลมาทำอะไรหรือยัง ปีที่แล้วครูเขาจริงจังมาก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงการระบาด เขายัง Walk in เข้าไปเยี่ยมเด็ก ความเป็นครูมันไม่ใช่แค่เรื่องคำสั่ง แต่ 1 ปีผ่านไปข้อมูลเหล่านั้นแทบไม่ได้เอามาใช้อะไรกับโรงเรียนเลย 

“ตอนนี้ผมคิดว่าหน่วยงานต้นสังกัด ต้องเห็นอกเห็นใจครูเยอะ ๆ เพราะครูใช้เงินส่วนตัวกับเด็ก ๆ เยอะมหาศาลมาก เวลาส่วนตัวไม่ต้องพูดถึงหมดไปเลย แล้วผมคิดว่าตอนนี้พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มไม่ไหวกันแล้ว ฝั่งการเลี้ยงชีพก็เรื่องใหญ่ เรื่องเรียนทางไกลก็ไม่เล็กแล้ว”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์