เมื่อ “เด็กจัดม็อบ” ตั้งคำถามระบบการศึกษาไทย

การจัดชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “นักเรียนเลว” เมื่อ 21 พ.ย. 2563 นักเรียนจากหลายเครือข่าย ร่วมสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทย ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ ที่ให้ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และขึ้นปราศรัยบนเวทีอย่างเข้มข้น

สติกเกอร์หลากสี สะท้อนเสียงที่หลากหลาย

The Active ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อสะท้อนตัวอย่างของเสียงที่หลากหลายจากพื้นที่ชุมนุม รูปแบบกิจกรรมส่วนใหญ่ที่เครือข่ายเด็กนักเรียนเลือกใช้ เป็นการให้ผู้ชุมนุมได้ร่วมแสดงความเห็นด้วยการแปะสติกเกอร์ และการเขียนข้อความบนกระดาษโพสต์อิท พบว่าหลายข้อมูล (Data) เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

เริ่มจาก กลุ่ม “บอดินไม่เอาเผด็จการ” ชวนเด็ก ๆ เขียนอาชีพในฝันถ้าการเมืองดี ความจริง-แล้วโตขึ้น-อยากเป็น ซึ่งมีข้อความหลากหลายอาชีพที่น่าสนใจ และสะท้อนความไม่ติดกรอบคุณค่าดั้งเดิม เช่น นักพัฒนาการศึกษา บาริสต้า เจ้าของร้านหนังสือ ไปจนถึงอยากเป็นนักบินอวกาศ

กลุ่ม “DSNDA เทพศิรินทร์นนทบุรี ต่อต้านเผด็จการ” ชวนตอบคำถามว่า ใน 1 ปี ต้องจ่ายเงินให้ติวเตอร์ หรือโรงเรียนกวดวิชากี่บาท โดยมีราคาที่ให้ร่วมแปะสติกเกอร์แสดงข้อมูลค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 0 ถึงมากกว่า 1 แสนบาท

เด็กนักเรียนผู้จัดกิจกรรมบอกว่า ประเด็นที่พวกเขาต้องการสื่อสาร คือ ทำไมต้องเสียเงินให้ติวเตอร์อีก ในเมื่อมีโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งก็มาจากระบบการศึกษาที่มีปัญหาที่สอนในสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์สำหรับนักเรียน

กลุ่ม “กางกราฟ สาธิตไม่ประสานมิตรกับเผด็จการ” ชวนเด็ก ๆ เขียนจดหมายถึงตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อสะท้อนหนทางที่ยากลำบากของการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ด้วยการเขียนเล่าว่าบรรยากาศการเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร และความฝันที่อยากเห็นการเมืองในอีก 5 ปีของแต่ละคน คืออะไร โดยนับจากนี้อีก 5 ปี ผู้จัดจะส่งจดหมายคืนกลับไปให้คนเขียนทั้งทางอีเมลหรือไปรษณีย์

นอกจากคำถามต่อระบบการศึกษา เด็ก ๆ ยังมีคำถามที่ชวนคิดต่อประเด็นสิทธิและเสรีภาพ เช่น ชวนคนแปะสติกเกอร์ตอบคำถามว่า “ควรยกเลิกชุดนักเรียนหรือไม่” เพื่อสะท้อนปัญหาการถูกละเมิดทางเพศภายใต้ชุดนักเรียนที่สวมใส่ ซึ่งคำตอบที่พบจากบอร์ดที่แปะสติกเกอร์ก็คือ ควรยกเลิก รวมไปถึงคำถามจากกลุ่มนักเรียนจาก ร.ร.หญิงล้วนใน จ.ชลบุรี ที่นำแบบสำรวจความเห็นในการได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวกับเพศกำเนิดจากรัฐมากน้อยแค่ไหน มาให้ผู้ชุมร่วมแสดงความเห็นเพื่อสะท้อนปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐ โดยเฉพาะเพศหญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

อีกประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของคำว่า “สวย” ที่กดทับธรรมชาติของมนุษย์ที่หลากหลาย โดยน้อง ๆ กลุ่ม เกียมพัฒนาประชาธิปไตย จัดซุ้มให้ผู้ร่วมชุมนุม ได้ช่วยเขียนนิยามความหมายของ “ความสวย” ที่แตกต่างในมุมมองของแต่ละคน เพื่อสะท้อนถึงปัญหา Beauty privilege ที่สังคมมักนิยามความสวยผ่านรูปร่างหน้าตา หรือผิวพรรณ

อีกซุ้มที่น่าสนใจคือ กลุ่ม “กรมท่าฟ้าเพื่อประชาธิปไตย” ชวนคนฉีดสีจากสเปรย์กระป๋องบนต้นคริสต์มาสเล็ก ๆ เพื่อสะท้อนเสียงแทนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกโจมตีหลังการชุมนุมสาดสีบริเวณด้านหน้า สตช. เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา อยากให้เข้าใจความโกรธที่เกิดจากการถูกสลายชุมนุมที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา ทั้งที่ประชาชนมีเพียงมือเปล่า และยังสะท้อนปัญหาการควบคุมสื่อของภาครัฐ รวมไปถึงบางสื่อเองที่ก็เลือกนำเสนอแค่บางกลุ่มแต่ไม่นำเสนอบางกลุ่ม

นอกจากเครือข่ายเด็กนักเรียน ยังมีผู้ใหญ่อย่าง “คณะราษฎร์บอมบ์” ยึดเสาปูนใหญ่ริมถนนชวนคนเขียนข้อความถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงปัญหาการศึกษาไทย โดยมีผู้สนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมเขียนข้อความหลากหลาย ทั้งที่เป็นการสะท้อนปัญหาการศึกษา และปัญหาการเมืองไทย เช่น “เมื่อไหร่ครูจะเลิก Make Fun กับ Bully shame นักเรียน” “เลิกใช้เกรดวัดความเก่ง” รวมถึง “ยกเลิก 112”

รวมทั้ง “ผิง” แอดมินเพจ “เนิร์ดข้างบ้าน” ที่ก่อนหน้านี้ทำการสำรวจช่วงอายุคนเข้าร่วมม็อบ ครั้งนี้ก็มาชวนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มาชุมนุมร่วมแปะสติกเกอร์ตอบคำถาม “พ่อ-แม่ คิดยังไงกับการมาม็อบ” และ “ใครมาม็อบนักเรียนเลว”

ชี้ เบื้องหลังม็อบ คือ รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน

ขณะที่บนเวทีปราศรัยก็เข้มข้นไม่แพ้กัน “เพกา” จากกลุ่ม KIDSCON ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก ชวนฟังคำตอบว่า “ใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังม็อบ?” จากที่ก่อนหน้านี้ ณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยอภิปรายกลางที่ประชุมรัฐสภาว่า ม็อบนักเรียนมีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะนักเรียนขับรถห้องน้ำเข้ามาเองไม่ได้

เพกา กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์เด็กและเยาวชนไทย หลักสูตรการศึกษาไทยมีปัญหา และพยายามจะยัดเยียดอะไรมากมายให้เด็ก ๆ เพื่อให้เด็กไม่ต้องใช้สมอง รวมทั้งพยายามคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรให้เด็กไปเป็นหุ่นยนต์ เห็นได้ชัดจากการพยายามให้เด็กท่องค่านิยม 12 ประการมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

“เขาคิดว่าเราไม่มีสมอง เขาคิดว่าเราเป็นเครื่องจักร จะยัดอะไรก็ได้แล้วก็จะโตไปตามนั้น คิดว่าคนจะคิดไม่ได้ แต่ถามว่าได้ผลไหม เพราะถ้าได้ผล ไม่มีเราในวันนี้”

เพกา บอกด้วยว่า เด็กรุ่นนี้ต้องแบกภาระหน้าที่บางอย่างที่ผู้ใหญ่คาดหวังจะให้เด็กเป็น และมหาวิทยาลัยที่อยากให้เด็กสอบติด แต่พอคาดหวังว่าเด็กจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ก็กลายเป็นโรงเรียนพึ่งพาไม่ได้ เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนครบ 8 ชั่วโมง เพราะครูมีงานอื่น ๆ เช่น การประเมิน ครูก็จะให้เด็กอ่านหนังสือไปเอง สุดท้ายเด็กก็ต้องไปเรียนพิเศษ

“ตอนแรกก็แค่มัธยม ต่อมาลดมาเป็นประถมติวสอบเข้า ม.1 ยังไม่พอ เด็กอนุบาล 3 ต้องสอบเข้า ป.1 เม็ดเงินที่ไหลเข้าโรงเรียนกวดวิชาเยอะมาก ติวเตอร์มีเงินขนาดซื้อตึกได้เอง”

เพกา ชี้ว่ายังมีเด็กยากจนอีกมากถึง 65% ที่ไม่สามารถไปเรียนได้เพราะไม่มีเงินค่ารถ เด็กยากจนจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษา ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บอกว่าการศึกษาไม่ใช่สิทธิที่เด็กจะได้รับการศึกษา 12 ปี แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดให้เด็กมีการศึกษาฟรี 12 ปี แต่กลับเริ่มนับจากอนุบาล ถึง ม.3 ขณะที่ผู้มีอำนาจในโรงเรียน ก็กำหนดว่า เด็กต้องตัดผมหรือแต่งตัวแบบไหน ถ้าไม่ทำตามก็ถูกลงโทษ

“นี่คือปัญหาที่อยู่เบื้องหลังม็อบ คือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน และเมื่อประชาชนเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปตามกติกา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัดตกร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน จึงทำให้ประชาชนต้องออกมาแสดงพลัง และหนึ่งที่ลงมติไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคือ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ”

ระบบการศึกษาไทยที่ขาดความหลากหลาย

“มีมี่” เด็กสาวจากกลุ่ม “เฟมทวิต” ปราศรัยว่าทุกคนเกิดบนความหลากหลายและมีคุณค่าในตัวเอง แต่ระบบการศึกษากลับเอาไม้บรรทัดแท่งเดียวมาเป็นมาตรฐาน

“เครื่องแต่งกาย เป็นเรื่องที่เราถกกันมาไม่รู้จบ ชุดนักเรียนชาย มีไว้ให้เพศกำเนิดชายใส่กางเกง ส่วนชุดนักเรียนหญิง มีไว้ให้เพศนักเรียนหญิงใส่กระโปรง แล้วคนที่เป็น LGBTQ คนที่เป็น Intersex เขาจะไปอยู่ตรงไหน”

มีมี่เห็นว่า การบังคับให้ใส่ชุดนักเรียน ไม่ใช่เพื่อความเป็นระเบียบ แต่กลับเป็นสิ่งที่กดความหลากหลาย กดความเป็นตัวของตัวเอง และไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีเงินซื้อชุดนักเรียน เธอบอกด้วยว่า ถ้าเห็นเยาวชนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัวที่ป่วย นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยินดีและซาบซึ้งใจว่าเป็นเด็กกตัญญู แต่ให้ลองคิดว่าทำไมเขาถึงต้องดิ้นรน

“การศึกษา ควรจะเข้าถึงทุกคน การที่เขาไม่ได้รับในสิ่งที่พวกเราได้รับ แปลว่ามันคือความบกพร่องและความผิดพลาดของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไข”

มีมี่กล่าวด้วยว่า การใส่ชุดนักเรียนยังมีโอกาสที่จะโดนคุกคามทางเพศมากขึ้น เพราะสังคมไม่ตีตราว่าการมีรสนิยมชอบเยาวชนที่ใส่ชุดนักเรียน แล้วไปหื่นกระหายใส่เขานั้น เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ถูกต้อง สิ่งนี้กำลังทำให้เด็กที่ใส่ชุดนักเรียนไม่ปลอดภัย จึงไม่ควรเห็นด้วยเมื่อมีคนมองเด็กนักเรียนด้วยสายตาแทะโลม

“เครื่องแบบนักเรียนเป็นสิ่งกดความหลากหลายและมีนัยยะล้าสมัย ควรที่จะถูกยกเลิก เพื่อลดค่าใช้จ่าย และให้เด็กแต่งตัวในแบบที่เขาอยากจะแต่ง โรงเรียนทำให้เด็กกลัว กลัวว่าตัวเองจะมีสิทธิในร่างกายตัวเองไหม ถ้าแค่นี้ยังกลัว แล้วมันจะไปปลอดภัยได้อย่างไร และเรารู้สึกว่าโรงเรียนกำลังกดตัวตนของเด็ก”

มีมี่ บอกด้วยว่า การศึกษาและวิชาในโรงเรียน ไม่โอบอุ้มความหลากหลาย เช่น วิชาพละศึกษา ที่มุ่งเน้นสมรรถนะทางร่างกาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีร่างกายที่เหมาะสมและทำให้ได้คะแนนน้อยมาตลอด แต่โรงเรียนมองไม่เห็นความแตกต่างนี้ และใช้เกณฑ์เดียวในการวัด ทั้ง ๆ ที่ลักษณะทางกายภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน ไม่เหมือนกัน หรือวิชาสุขศึกษา ก็บอกแค่ว่าเพศหญิงต้องทำอะไร เพศชายต้องทำอะไร แล้วคนที่ไม่อยู่ในกรอบที่โรงเรียนตั้ง เขาจะไปอยู่ตรงไหน ทั้งที่เขาก็มีตัวตนเหมือนกัน

ปัญหาหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอีกประเด็นที่มีมี่ตั้งคำถาม เพราะมันกลายเป็นแค่หนังสือที่เอาไว้อ่านสอบ เนื้อหาวิชาภาษาไทยหลายเรื่องที่ปลูกฝังปิตาธิปไตย (patriarchy หรือ ระบบสังคมที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจหลักและมีบทบาทในด้านผู้นำการเมือง อำนาจหน้าที่ทางศีลธรรม เอกสิทธิ์ทางสังคม และการควบคุมทรัพย์สิน) แต่ก็ให้เด็กอ่าน และพยายามเหยียบฝังความจริงไว้ในดิน สอนให้ผู้บริสุทธิ์เป็นคนผิด ลบเรื่องราวความเป็นจริงที่เกิดในอดีต เธอตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ทุกคนก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หนังสือเรียนเคยสอนหรือเปล่า การศึกษาที่ไม่โอบอุ้มความรู้และวิธีการเรียนที่หลากหลาย ก็กำลังทำให้เด็ก กศน. อาชีวะ หรือโฮมสคูล ถูกทอดทิ้ง

“โรงเรียนควรเป็นที่สอนนักเรียนตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เด็กตามโลกใหม่ได้ทัน ไม่ใช่เอาไดโนเสาร์มาสอน บังคับให้เด็กอยู่ภายใต้กฎ โดยใช้ความรุนแรง ตีเขา ด่าเขา ทำให้เขาเกิดบาดแผลในใจ นี่คือสิ่งที่ถูกต้องหรือ”

มีมี่ทิ้งท้ายว่า ความหลากหลากไม่ใช่ศัตรู การเคารพความหลากหลาย คือหนทางไปสู่อนาคตที่สดใส ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ หรือความคิดเห็นทางการเมืองที่เราสามารถคิดไม่เหมือนกันได้ แต่เราควรอยู่ร่วมกันได้โดยไม่โดนคุกคาม เพราะคิดไม่เหมือนกัน นี่คือความสงบเรียบร้อยที่แท้จริง

“อาชีวะ” การศึกษาที่ถูกรัฐทอดทิ้ง

สองเยาวชนหนุ่มสาวตัวแทนกลุ่มอาชีวะ เริ่มต้นการปราศรัยว่า ทุกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มีอาชีวะอยู่ในทุกหน้าประวัติศาสตร์ แต่อาชีวะกลับเป็นกลุ่มสุดท้ายที่สังคมนึกถึงและยอมรับ และเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่รัฐให้ความสำคัญ และเมื่อมีการสลายการชุมนุม กลุ่มการ์ดอาชีวะกลับเป็นกลุ่มแรกที่โดน ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นเยาวชนและไม่สมควรโดนแบบนี้

“รัฐบาลมองเด็กมัธยมเป็นอนาคตของชาติ แต่กลับมองอาชีวะเป็นแค่แรงงานราคาถูก ปวช. มีรายได้เพียง 9,000 บาท ปวส. มีรายได้เพียง 11,000 บาท”

พวกเขาสะท้อนว่า รัฐและสังคม ยังคงมีแต่ภาพจำว่า อาชีวะต้องเป็นผู้ชาย จะต้องรุนแรง แต่ที่จริงแล้วสังคมของอาชีวะก็เหมือนสังคมทั่วไป มีทั้งเพศหญิง มี LGBTQ มีความหลากหลายทางเพศและแนวคิด พวกเขาอยากให้รัฐและสังคมมองภาพอาชีวะใหม่ มองเห็นภาพที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา ไม่มีแค่ภาพการใช้ความรุนแรง ไม่มีแค่แผนกก่อสร้างหรือช่างกล แต่ยังมีแผนกศิลปะ

“ในฐานะนักเรียนศิลปะ เราอยากให้รัฐให้ค่ากับงานศิลปะมากกว่านี้ ถ้าการเมืองดีจริง คนต่างจังหวัดที่ก็เสียภาษีจาก vat 7% เท่าคนกรุงเทพฯ แต่ทำไมเขาไม่มีหอศิลป์”

นอกจากการตั้งคำถามตรง ๆ ต่อระบบการศึกษาไทย ตัวแทนเครือข่ายเด็กและเยาวชนอีกหลายคน ยังขึ้นเวทีปราศรัยนำเสนอคำถามและความคิดเห็นของพวกเขาที่มีต่อระบบในปัจจุบัน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำในการขนส่งมวลชนและการจัดผังเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเกณฑ์ทหาร ปัญหาความไม่เท่าเทียมของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก ปัญหาการปิดกั้นพื้นที่การแสดงออกของเด็ก ไปจนถึงปัญหาสังคมที่มาจากความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว