กลางเดือนธันวาคม 2563 การตรวจพบหญิงไทยเจ้าของกิจการที่ตลาดกลางอาหารทะเลในมหาชัย จ.สมุทรสาคร ติดโควิด-19 มีการสอบสวนโรคและค้นหาเชิงรุกทำให้พบว่า มีแรงงานเมียนมาเกือบครึ่งหนึ่งจากประมาณ 4,000 คน มีการติดเชื้อ รัฐต้องปิดล้อมตลาดกลางกุ้ง และประกาศให้ จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่ต้องควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สะท้อนว่ามีการระบาดอย่างกว้างในชุมชน และแพร่ระบาดวงกว้างสัมพันธ์กับผู้ป่วยกลุ่มก้อนนี้อีก 43 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เดินทางมาประกอบธุรกิจค้าขายในบริเวณตลาดมหาชัยและกลับไปตรวจพบการติดเชื้อที่จังหวัดของตนเอง
ปัจจุบันแม้ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันเริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งมากกว่า 15,000 คน ในช่วงเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา จากการประเมินของแพทย์ระบาดวิทยากลุ่มหนึ่งที่ร่วมวางแผนการตรวจหาเชื้อเชิงรุก คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาถึง 8 เดือน หรือ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 จะสามารถควบคุมการระบาดใน จ.สมุทรสาคร ได้ โดยมีการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกินหลักสิบคนต่อวัน และสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปที่อื่น ๆ
The Active ได้รับ ‘ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาโควิดในแรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาคร’ โดย 12 นายแพทย์ และ 2 นักวิชาการทีดีอาร์ไอ นำโดย นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ และ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ซึ่งยังไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน
ข้อเสนอดังกล่าวยังต้องการสร้างต้นแบบระบบจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการควบคุมโรคระบาดสาหรับพื้นที่อื่น ๆ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ
โดยมี 10 องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยตัดวงจรระบาด จ.สมุทรสาคร ทั้งการขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งหมด, สำรวจทางระบาดวิทยาอย่างรวดเร็ว, คัดกรองผู้ติดเชื้อทุก 2 สัปดาห์, จัดหาที่แยกผู้ติดเชื้อให้รองรับได้ 10,000 คน, ขยายอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.), ดูแลเรื่องรายได้และการบรรเทาความเดือดร้อนทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติออกนอก จ.สมุทรสาคร, ควบคุมการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวด, จัดระบบเฝ้าระวัง โดยมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อในชุมชนสำคัญทั้ง 40 แห่ง, จัดระบบการสื่อสารสร้างความร่วมมือและความรู้
แต่หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การจัดหาวัคซีนและฉีดให้ครอบคลุมแรงงานทุกคน
คณะจัดทำข้อเสนอให้เหตุผลว่า เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.สมุทรสาครอยู่กันอย่างแออัด ทำให้หลักการ Social distancing มีข้อจำกัด ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ การใช้วัคซีนเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่พึงทำได้ แม้ว่าจะช้าไปบ้างแต่ก็ยังได้ประโยชน์ รัฐควรใช้เงินประกันสังคมที่เก็บได้จากแรงงานข้ามชาติ ซื้อวัคซีนประมาณ 2 ล้านโดสครอบคลุมประมาณ 1 ล้านคน เพื่อฉีดให้กับแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติทุกคนเพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยวัคซีนนี้มาจากการซื้อเพิ่มเติมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ไม่ได้แบ่งมาจากจำนวนที่รัฐบาลซื้อให้คนไทยตามแผนเดิม อาจใช้งบประมาณ 1,000 บาทต่อคนหรือรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท หากดำเนินการอย่างรวดเร็ว น่าจะได้วัคซีนมาฉีดในช่วงต้นเดือนมีนาคมและฉีดให้แล้วเสร็จทั้ง 2 เข็มภายในเดือนเมษายน
ตัวอย่างความสำเร็จประเทศสิงคโปร์
กลางปี 2563 สิงคโปร์เคยประสบปัญหาในลักษณะเดียวกับไทยมาก่อน มีการระบาดใหญ่ ระลอก 2 เริ่มจากการพบว่ามีคนงานต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ศรีลังกา ที่อยู่อาศัยตามหอพักอย่างแออัดติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน และแพร่กระจายไปในชุมชนของแรงงานต่างชาติที่มีประมาณ 300,000 คนอย่างรวดเร็ว (ประเทศไทย เฉพาะ จ.สมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 230,000 คน และที่ผิดกฎหมายอีกเท่าตัว หรือประมาณ 500,000 คน) คาดประมาณว่ามีแรงงานติดเชื้อในช่วงนั้นประมาณ 100,000 คนเศษ และมีชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน พลอยติดเชื้อไปด้วยแม้จะไม่มาก ทางการสิงคโปร์ให้ความสำคัญสูงกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะไม่สามารถเดินได้ หากเกิดโรคระบาดร้ายแรงในแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญ และการเปิดประเทศก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ
สิงคโปร์ใช้หลักการตรวจคนงานทุกคน ทุก 2 สัปดาห์ แยกคนไม่ติดเชื้อไปอยู่ที่พักใหม่ที่ดัดแปลงจากเรือสำราญจำนวนมากที่ต้องจอดหยุดอยู่โดย ไม่ได้ใช้งาน ส่วนคนติดเชื้อให้แยกอยู่ที่หอพัก ระหว่างนั้นมีการเจราให้แรงงานอยู่ในบริเวณชุมชนที่กำหนด รวมใช้เวลา 3 เดือน จึงสามารถลดการติดเชื้อจากวันละ 1,000 กว่าคน เหลือเพียงหลักต่ำกว่า 100 จนควบคุมได้ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ซึ่งอาศัยความจริงจังของรัฐ การร่วมมือของเอกชน และสังคม บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลและการศึกษาวิจัยที่คู่ขนานไป
สำหรับมุมมองเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น สิงคโปร์เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ให้กับประชาชนตั้งแต่ต้นปี 2564 รัฐบาลยืนยันจะฉีดฟรีสำหรับทุกคนที่อยู่ในสิงคโปร์ รวมถึงจะปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อพลเมือง และมีการจัดลำดับความสำคัญของแรงงานที่อยู่ในกลุ่มงาน หรือสถานที่ทำงานที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แพร่กระจายขั้นสูง เช่น ภาคการก่อสร้าง ประมง ผลิตปิโตรเคมี
ดูเหมือนว่าสิงคโปร์ ขยายคำจำกัดความกลุ่มเสี่ยงทางการแพทย์ครอบคลุมไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและขยายความกลุ่มเสี่ยง ในแง่ประโยชน์ของวัคซีนป้องกันโรคจาก “เสี่ยงตาย” ให้ครอบคลุมไปถึง “เสี่ยงติด” ในกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการควบคุมโรค
ความคุ้มค่าของการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับมาตรการควบคุมโรคอื่น ๆ
การแก้ปัญหาพื้นที่ระบาดสีแดงเข้มใน จ.สมุทรสาคร มีข้อเสนอจากนักวิชาการบางส่วน ให้จัดลำดับความสำคัญของการกระจายวัคซีนโควิด-19 มาที่นี่เป็นแห่งแรก เพราะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างราคาวัคซีนที่ต้องจ่าย กับค่าตรวจเชื้อเชิงรุกโควิด-19 พบว่าราคาวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา อยู่ที่ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทย 150 บาท เมื่อต้องฉีดคนละ 2 โดสจะตกอยู่ที่คนละ 300 บาท
จ.สมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติ เอาเฉพาะที่ถูกกฎหมายประมาณกว่า 233, 000 คน หากฉีดวัคซีนแบบปูพรมทั้งหมด ต้องใช้เงินประมาณ 69 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อเชิงรุก อ้างอิงจาก ค่าตรวจ โควิด-19 ที่แรงงานข้ามชาติต้องตรวจเพื่อลงทะเบียนออนไลน์เดิมอยู่ที่ 3,000 บาท จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงสูงกว่าการฉีดวัคซีนถึง 10 เท่า คือประมาณ 690 ล้านบาท
นั่นหมายความว่าการฉีดวัคซีนนั้น มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตรวจหาเชื้อเชิงรุก และป้องกันโรคในรูปแบบอื่น ๆ นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงพยาบาลสนามและบุคลากรทางการแพทย์ หากใช้เกณฑ์ของสถานกักกันโรคมาใช้ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลสนาม ก็จะตกอยู่ที่หัวละไม่ต่ำกว่า 500 บาท
ข้อจำกัดวัคซีนแรงงานข้ามชาติ
The Active สอบถาม นพ.โสภณ เมฆธน ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้วัคซีนยังมีจำกัด ต้องให้ลำดับความสำคัญทั้งพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงไปพร้อมกัน ไม่สามารถทุ่มไปที่สมุทรสาครได้ทั้งหมด
“ทางวิชาการอธิบายว่าไม่ควร เพราะวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ช่วยลดการแพร่โรค แต่ก็อาจมีแนวคิดจากทั้งนักวิชาการที่เห็นด้วยก็น่าจะมีผลระงับการระบาด เนื่องจากมุ่งเน้นที่แหล่งเกิดโรคของประเทศไทย อันนี้ก็ขึ้นกับว่าใครจะเชื่อทางไหน แต่ทั้งนี้ถ้าวัคซีนมาจำนวนมากก็ดำเนินการได้ แต่ในขณะที่วัคซีนมาน้อย ต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญ ถ้าเกิดทุ่มหมดที่สมุทรสาคร เกิดโรงพยาบาลอื่นที่รักษาคนไข้อยู่ในกทม. นี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะฉะนั้น, เราจึงต้องดูทั้งกลุ่มเสี่ยงคนที่ได้รับการปกป้อง แล้วอีกปัจจัยคือพื้นที่ เพราะถ้าวัคซีนมาน้อยไปทุ่มที่สมุทรสาครทั้งหมด คนซึ่งดูแลคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำอย่างไร จะตอบเขาอย่างไร”
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาที่สมุทรสาครขณะนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงมาบัญชาการเอง โรงพยาบาลสนามยังจำเป็น และต้องมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พร้อมกับแยกกันกันคนที่ป่วยออกมา นี่คือยุทธศาสตร์ ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็น เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้เรื่องนี้ “หากมีช่องทางใดให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนก็เห็นด้วย เพื่อทำให้คนไทยทั้งประเทศปลอดภัยด้วยกันทั้งหมด ส่วนจะใช้เงินจากส่วนไหนไปจัดซื้อวัคซีนให้เฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด และกลุ่มนายจ้างจะสามารถช่วยส่วนนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ”
นายจ้างพร้อมลงทุนฉีดวัคซีน ห่วงแรงงานข้ามชาตินอกระบบเข้าไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้หารือถึงแผนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศไทย รวมถึงแรงงานข้ามชาติสัญชาติต่าง ๆ ด้วย แต่งบประมาณที่จะใช้นั้น คนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพตามสิทธิอยู่แล้ว ขณะที่ แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมีงบประมาณจากกองทุนประกันสังคม และประกันสุขภาพรองรับอยู่ แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ซึ่งกรมควบคุมโรคต้องดูแล และอาจต้องของบประมาณเพิ่มเติม แต่หลายฝ่ายก็มองว่า เรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างหรือผู้ประกอบการหรือไม่
อำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เวลานี้ทางภาคเอกชนในพื้นที่พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ยอมลงทุนซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับแรงงานและพนักงานของตนเอง เพื่อที่จะทำให้การป้องกันควบคุมโรคทำได้รวดเร็วที่สุด และจะมีการทำหนังสือถึงรัฐบาลในเรื่องของการช่วยเหลืออุดหนุนภาคเอกชน หากจะมีการลงทุนในเรื่องของการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของตนเอง
วัคซีน บริษัท แอสตราเซเนกา เจ้าเดียวที่ผ่าน อย. ไทย
แม้ว่าผู้ประกอบการใน จ.สมุทรสาคร จะมีความพร้อมในการลงทุนซื้อวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้กับแรงงานของตนเอง แต่ปัญหา ณ ปัจจุบัน จำนวนวัคซีนยังมีจำกัด และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามีเพียง 3 บริษัทวัคซีนที่มาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนฉุกเฉินโควิด-19 และมีเพียงบริษัทเดียว คือ แอสตราเซเนกา ที่ ผ่านการรับรองในขณะนี้ ขณะที่อีก 2 บริษัทคือซิโนแวค กับ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังอยู่ระหว่าทยอยส่งเอกสาร
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่ารัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ขัดขวางการจัดหาวัคซีน ของหน่วยงานต่าง ๆ แต่การขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้น บริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้นำเข้าจะต้องมายื่นขอจดทะเบียนเอง เชื่อว่าวัคซีนจะมีเพียงพอและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
เสนอใช้ จ.สมุทรสาคร สนามทดสอบวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อหรือไม่?
จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีผลงานทางวิชาการที่รองรับว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ทุกบริษัทพัฒนาขึ้นนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับ 1 การวัคซีนที่ทุกคนคาดหวัง วัคซีนที่ออกสู่ท้องตลาด ณ ปัจจุบัน ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพว่า ป้องกันการป่วย เมื่อติดเชื้อจะลดความรุนแรงของโรค ไม่ให้เสียชีวิต เรื่องนี้ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เขียนบทความวิชาการโดยตอนหนึ่งเสนอว่า ควรใช้พื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทดลองวัคซีนที่ซื้อมาทำวิจัยให้ได้ข้อสรุปว่าวัคซีนตัดวงจรการแพร่โรคได้หรือไม่ เพื่อเอาคำตอบมาเปิดประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานหรือประเทศใดทำวิจัยวัคซีนประเด็นนี้ โดยอาจต้องแบ่งวัคซีนไว้สำหรับการวิจัยให้เพียงพอ ไม่ปล่อยให้เอาไปฉีดหาเสียงจนหมด เพราะอันนี้เป็นเรื่องของการวิจัยที่ประเทศไทยทำได้ในช่วงนี้ และควรทำอย่างยิ่ง
“ไทยเราจะได้คำตอบให้แก่โลกด้วยว่า การฉีดวัคซีนช่วยตัดวงจรแพร่กระจายได้หรือไม่ ถ้าได้ดีจริง ทั้งโลกก็อาจจะมีความหวังว่าวัคซีนคือคำตอบในการปิดล้อมการระบาดของโควิด-19 ระดมฉีดกลุ่มแพร่เชื้อจนเชื้อแพร่ไม่ได้ เราก็จะปลอดภัยกันทั้งโลก”
บทส่งท้าย: “เราจะปลอดภัย เมื่อทุกคนปลอดภัย”
เมื่อวัคซีนโควิด-19 ที่ยังคงมีจำกัด และแผนการจัดซื้อวัคซีนล็อตแรกของประเทศไทยล่าช้าออกไป ทำให้ทางเลือกที่จะใช้วัคซีนแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ยังไม่มีความเป็นไปได้ในช่วงเวลานี้ แต่หากเวลาล่วงไปถึงกลางปี 2564 หลายบริษัทวัคซีนทยอยขึ้นทะเบียนกับ อย. สำเร็จ และปริมาณของวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการ เวลานั้นวัคซีนอาจเป็นทางออกของ จ.สมุทรสาคร อย่างไรก็ตาม แม้วงการแพทย์ระบุว่าวัคซีน โควิด-19 ที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ เพียงแต่ป้องกันไม่ให้อาการป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต แต่วัคซีนก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่น และเป็นตัวเร่งให้ภาวะปกติกลับคืนสู่สังคมโดยเร็วที่สุด ทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้