รับฟังด้วยหัวใจ: จากความร่วมมือประชาชน สู่ทางรอดชุมชนในวิกฤตโควิด-19

ต้นโพธิ์ใหญ่ แผ่กิ่งก้านปกคลุมทางเดินแคบ ๆ 

เมื่อเดินตามตรอกนี้เข้าไป จะพบบ้านปลูกติด ๆ กัน มี 400 ชีวิต ทั้งคนสูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และคนหาเช้ากินค่ำ ที่กำลังตกงาน อาศัยอยู่…

สิทธิชัย แสงนาค ประธานชุมชนเศรษฐกิจวรวีย์ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ บอกว่าคนที่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้ค่าแรงรายวัน เมื่อกรุงเทพฯ เกิดการระบาดหนัก ต้องปิดเมือง การทำมาหากินของพวกเขาก็ชะงักทันที

ทุกครอบครัวตกที่นั่งเดียวกัน ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน หนำซ้ำ ยังติดเชื้อโควิด-19 

“ทุกคนลำบากมาก ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ได้ดูข่าวช่องไทยพีบีเอส เห็นโครงการ ชุมชนเมืองต้องรอดปากท้องต้องอิ่ม ให้ลงทะเบียน เราก็ประสานไป รออยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ก็มีคนมาพร้อมข้าวสาร แมสก์ เจลแอลกอฮอล์จำนวนมาก เราแบ่งแต่ละครัวเรือนได้ 101 ครัวเรือน ประทังชีวิตได้อี 10 กว่าวัน ชาวบ้านดีใจมากเพราะเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่เข้ามาช่วยและให้กำลังใจ ทุกคนมีความสุขที่ได้รับการช่วยเหลือ ขอบคุณมาก ๆ”

ยังมีชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกจำนวนมาก ที่ มูลนิธิไทยพีบีเอส เข้าไปช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันนี้ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน มากกว่า 340 ครั้ง ทั้งชุมชนไทยพุทธและมุสลิม แคมป์คนงานก่อสร้าง

การนำสิ่งของไปมอบให้ชุมชนแต่ละครั้ง ต้องครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทุกวัย และคำนึงถึงบริบทของชุมชน 4 เดือนของการลงพื้นต่อเนื่อง ได้เห็นถึงความลำบากของกลุ่มคนเปราะบางที่อาศัยในชุมชนแออัดทั้งที่เป็นชุมชนจัดตั้งและไม่ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ จึงพยายามถอดบทเรียนทุกครั้งเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นมากกว่าการมอบอาหารเพื่อประทังชีวิตไปวัน ๆ

ไขแสง ศักดา ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอส เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า ต้องออกแบบการช่วยเหลือให้ครอบคลุมการป้องกันโรคและมิติของคุณภาพชีวิต ต้องรู้จักชุมชนและศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมทุกมิติ ที่สำคัญคือการทำงานประสานกับพันธมิตร หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ซึ่งมีต้นทุนเดิมและทำงานประสานกันมาตลอด พร้อมออกแบบการประสานงานช่วยเหลือกัน

“มีครอบครัวหนึ่งพ่อแม่ติดเชื้อ ลูก 6 คน ถูกแยกออกมากักตัว พี่คนโตอายุแค่ 12 ขวบเท่านั้น เราลงไปเจอเราก็ประสานไปยังกรมสุขภาพจิต และศูนย์พิทักษ์และคุ้มครองสิทธิเด็ก เพื่อปรึกษาว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวนี้ได้อย่างไร เราทำงานประสานส่งต่อสหวิชาชีพ เพื่อให้การช่วยเหลือไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องแต่ครอบคลุมมิติสังคมและสุขภาวะด้วย”

มูลนิธิไทยพีบีเอส ยังช่วยเหลือด้านอุปกณ์ด้านการแพทย์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอส่งตัว ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอสเล่าถึงกรณีของยายวัย 77 ปี ว่า มีอาสาสมัครชุมชนโทรเข้ามาศูนย์ประสานฉุกเฉิน ไทยพีบีเอสสู้โควิด-19 เวลาหกโมงเย็น แจ้งว่าต้องการเครื่องผลิตออกซิเจนด่วนที่สุด ยายอาการไม่ค่อยดี ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ  

“เราปรึกษาทีมแพทย์อาสารีบประเมินอาการและพบว่าอาการหนักมากแล้ว ไม่สามารถใช้เครื่องได้ ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลทันที เราก็ช่วยประสานส่งต่อผู้ป่วยจนได้ การทำงานของเราคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือและพยายามกระจายส่งต่อความช่วยเหลือออกไป”

นอกจากนี้ ยังได้สร้างงานให้กับกลุ่มคนตกงานหรือถูกเลิกจ้างได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย สร้างเครือข่ายแท็กซี่จิตอาสาให้มีรายได้ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรถให้พร้อมและปลอดภัยในการรับส่ง แม้จะเป็นกลุ่มอาสาเล็ก ๆ แต่ก็เป็นความพยายามที่จะออกแบบการช่วยเหลือให้ยั่งยืนที่สุด รวมถึงการหนุนเสริมบทบาทชุมชนในการสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยภายในชุมชนหรือ Community Isolation และ Home Isolation 

ชุมชนริมด่วนบางนา แขวงบางนาเหนือ เขตบางนา กรุงเทพฯ เป็นอีกชุมชนที่ไม่ได้รับการจัดตั้ง ชุมชนลักษณะนี้การเข้าถึงกลไกการช่วยเหลือ การควบคุมการระบาด หรือแม้แต่การส่งผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบ ค่อนข้างมีความยากลำบาก 

จำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายภาคประชาชนและคณะทำงานประสานในชุมชนบอกว่า เริ่มแรกที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 และไม่มีที่ไป ชุมชนจึงประสานไปยังไทยพีบีเอสซึ่งเป็นองค์กรที่มีการทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากันในหลายประเด็นอยู่แล้ว เราได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือด้วยดีตลอดมา โดยเฉพาะการนำเรื่องราว ความยากลำบากของพี่น้องไปนำเสนอข่าว ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และมีมูลนิธิไทยพีบีเอสที่เข้ามาสนับสนุนถุงยังชีพและอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลรักษากันเองในบ้านด้วย

“พี่น้องหลายคนเข้าร่วมโครงการดูแลรักษาตัวในชุมชน หายป่วยหลายคน โดยเรามียา มีการดูแลจากทีมแพทย์อาสาที่ได้รับการสนับสนุนจากไทยพีบีเอสและหลายหน่วยงาน”

ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอส แลกเปลี่ยนกรณีนี้ว่า ตอนนั้นการทำ Hi และ Ci ยังไม่ได้รับการยอมรับหรือมีการประกาศในระดับนโยบายเหมือนในเวลานี้ เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับชุมชน และไทยพีบีเอสเองก็พยายามที่จะต่อยอดการช่วยเหลืออยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์เริ่มวิกฤต ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล หาเตียงไม่ได้ ก็ปรึกษากับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อทำคู่มือขึ้นมาสำหรับชุมชน เป็นแนวทางให้เขามีความรู้นำไปใช้โดยแยกกลุ่ม อายุ อาการของคนติดเชื้อ อย่างละเอียด และสนับสนุนอุปกรณ์ที่จะทำให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร ชุด PPE และตอนนี้ยังจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit อีกด้วย

“ช่วงแรกการรับผู้ป่วยเข้ามาไว้ใน HI/CI ด้วยกลไกของภาครัฐจำเป็นต้องใช้เวลา กว่าจะหาอุปกรณ์ได้ต้องรอ เช่น เตียงกระดาษ ที่ตรวจวัดออกซิเจน ยา  แต่เวลานั้นมีผู้ป่วยถูกส่งมาแล้ว เราก็จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์ รวมถึงอาหาร ไปสนับสนุนชุมชน สถาบันทางการศึกษา โรงพยาบาลสนามหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อให้ระบบเดินหน้ารองรับผู้ป่วยได้ทันท่วงที” 

การที่มูลนิธิไทยพีบีเอส สามารถดำเนินการตรงจุดนี้ได้ เป็นเพราะการได้รับเงินบริจาคจากประชาชน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 จนถึง 24 สิงหาคม 2564 เงินบริจาคโครงการชุมชนเมืองต้องรอดฯ ทั้งหมด 8,031,190.97 บาทจัดซื้อของบริจาคแล้ว 7,800,141.00 บาท  ยอดเงินคงเหลือ 231,049.97 บาท

“สถานการณ์ตอนนี้เราต้องใช้เงินบริจาคนับล้านบาท เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นที่ต้องรักษาตัวอยู่ในระบบ HI/CI เงินต้องใช้เพิ่มเป็นสองเท่า แต่เรามีหลักแสน เราก็จะทำเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส