“ข้อมูลสับสน” ทำไมการจัดการข้อมูลจึงสำคัญต่อการคุมระบาด | สุนิตย์ เชรษฐา

คำสั่งให้ตั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” หรือ ศูนย์ต่อต้าน Fake News ในทุกกระทรวง ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2564 เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลว่า ความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 หลายครั้ง มาจากผู้มีเจตนาไม่หวังดี ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

คำถามที่ตามมาก็คือ “ความเข้าใจผิดและความสันสน” ในข้อมูลข่าวสารนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไรในสายตาของประชาชนทั่วไป และชวนสงสัยว่า ผิดที่การสื่อสาร หรือเพราะข้อมูลที่สับสนกันแน่ ที่มีส่วนทำให้การสื่อสารและการจัดการโรคระบาด เกิดอาการ “รวน”

ตัวอย่างหนึ่งที่ชวนผู้คนสับสน คือ สารพัดแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และ LINE Official Account หรือ LINE OA เฉพาะแค่แอปฯ ตระกูล หมอ – ไทย – ชนะ ก็ชวนปวดหัว จดจำกันไม่หวาดไม่ไหว

ในมุมมองของประชาชนทั่วไป ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลวัคซีน ตอนนี้อาจจะรู้สึกค่อนข้างสับสน ไม่รู้ต้องเข้าตรงไหน อย่างไร ดูกระจัดกระจาย ต่างคน ต่างหน่วย ต่างทำ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะมีปัญหาเยอะในการจัดการวัคซีน เรื่องข้อมูลต่าง ๆ เลยค่อนข้างซับซ้อน สับสน แต่ตอนนี้ก็น่าจะพอลงตัวเป็นระบบบ้างแล้ว ทั้งการจอง การกระจาย การฉีด

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้ก่อตั้งองค์กร Change Fusion

นี่คือจุดเริ่มต้นบทสนทนากับ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้ก่อตั้ง Change Fusion หนึ่งในทีมงานทำระบบฐานข้อมูลในรูปแบบ “แชทบอท” (Chatbot – โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองบทสนทนาของมนุษย์) ตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดโควิด-19

The Active ชวนร่วมประมวลภาพรวมการจัดการข้อมูล โดยหยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจในการทำงานของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention)  ที่น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีในการจัดการกับความโกลาหลของข้อมูลในไทยได้

เราเหมือนจะมี App เยอะที่สุดในโลกแล้ว สำหรับเรื่องวัคซีน…

สุนิตย์ มองว่า ใจความสำคัญของ การจัดการข้อมูลวัคซีนสำหรับประชาชน คำถามหลัก คือ จะเลือกอย่างไร? วัคซีนแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียอย่างไร? ต้องไปสมัครจองที่ไหน? การฉีดมีเงื่อนไขอย่างไร? และต้องถามใครถึงจะได้คำตอบเหล่านี้?

เขามองว่าประเด็นทั้งหมดนี้ ควรจัดการได้เร็วและครบวงจร แม้จะมีการทำข้อมูลในลักษณะนี้กันมาแล้ว แต่ก็ยังกระจัดกระจาย โดยมองว่าน่าจะต้องเชื่อมโยงจัดการเนื้อหาใหม่ให้ดีกว่าเดิม มิเช่นนั้น ผู้คนจะสับสนว่า จะต้องติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันใด “ซึ่งเราเหมือนจะมีแอปฯ เยอะที่สุดในโลกแล้ว สำหรับเรื่องวัคซีน…” สุนิตย์กล่าว

ส่วนการให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก อย่าง ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของ ศบค. แม้มีข้อดีว่า ประชาชนเข้าถึงได้มาก สะดวกรวดเร็ว แต่ก็มีปัญหาใหญ่ ว่าการค้นหาสิ่งต่าง ๆ ทำได้ยาก ไม่สามารถแบ่งข้อมูลเป็นหมวดหมู่ได้ ซึ่งแม้มีลิงก์ไปยังเว็บไซต์หลักของกรมประชาสัมพันธ์ แต่ในตัวเว็บต่าง ๆ ของหน่วยงาน ก็อาจจะไม่ได้มีรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน ต้องไปตามหาในเว็บไซต์กรมควบคุมโรคอีกที เป็นต้น 

จึงควรจัดการข้อมูลในรูปแบบเว็บไซต์ ควบคู่ไปกับการใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไปพร้อมกัน ตามความเหมาะสมของรูปแบบลักษณะข้อมูล 

CDC : Centers for Disease Control and Prevention จุดแข็งที่ไทยควรเรียนรู้

ตัวอย่างที่น่าสนใจมีหลายประเทศ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อมูลอยู่สองส่วนใหญ่ ๆ คือ ข้อมูลสำหรับประชาชน และข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการฉีดและการกระจายสำหรับสื่อมวลชน หรือผู้สนใจกลุ่มอื่น ๆ 

ส่วนที่เป็นการจัดการข้อมูลให้ตรงกับความสนใจของประชาชน สุนิตย์ บอกว่าหากเข้าไปในเว็บไซต์ส่วนวัคซีนโควิด-19 ของเว็บไซต์ Vaccines for COVID-19 จะมีส่วนค้นหาสถานที่จองและฉีดวัคซีน ข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับทางเลือกของวัคซีน ความปลอดภัยและผลข้างเคียง

ส่วนการค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีน จะเชื่อมออกไปที่เว็บไซต์ Vaccines.gov ซึ่งสามารถค้นหาสถานที่ได้ตามรหัสไปรษณีย์ หร้อมกำหนดเงื่อนไขชนิดของวัคซีนที่ดี กำหนดรัศมีเป็นกิโลเมตรรอบพื้นที่เป้าหมายได้  ผลการค้นหาจะแจ้งสถานที่ พร้อมมีข้อมูลกำกับว่ามีวัคซีนในคลังหรือไม่ ซึ่งหมายถึงมีการเชื่อมโยงข้อมูลหลังบ้านเกี่ยวกับคลังวัคซีนที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่อย่างดี แล้วประชาชนผู้ใช้งานก็เชื่อมโยงไปสู่การจองในแต่ละสถานที่ได้เลย

นอกจากนี้ ยังมีแรงจูงใจให้ใช้บริการรถ Lyft และ Uber เพื่อเดินทางไปฉีดได้ฟรี มีการรวบรวมสิทธิและส่วนลดต่าง ๆ ของภาคเอกชนเพื่อพยายามสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนไปฉีดวัคซีนอีกด้วย เช่น บริการดูแลเด็กฟรีเพื่อให้ผู้ปกครองไปฉีดวัคซีนได้  หรือ Krispy Kreme แจกโดนัทฟรี ห้างสรรพสินค้า Target ให้ส่วนลด 5 ดอลลาร์  แอปฯ หาคู่ Tinder ให้สิทธิพิเศษ หรือพนักงานของ Amazon ได้ 80 เหรียญ หรือพนักงานของ Disney, Apple, LEGO, McDonald, Pepsi สามารถลาไปฉีดวัคซีน โดยบริษัทยังจ่ายค่าจ้างวันนั้นอยู่ เป็นต้น

เว็บไซต์ทั้งหมดสามารถเข้าผ่านได้ทางโทรศัพท์มือถือ ดูได้ตัวใหญ่สบายตา เหมาะกับหน้าจอมือถือรุ่นต่าง ๆ เพราะผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงข้อมูลผ่านมือถือเป็นหลัก 

นอกจากนั้น ข้อมูลเชิงสถิติสำหรับสื่อมวลชนหรือผู้สนใจ ก็มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งในภาพรวมของประเทศ หรือเจาะลงไปในระดับรัฐ มลรัฐ หรือท้องถิ่นได้โดยละเอียด นอกจากข้อมูลการฉีดวัคซีนทั่วไปแล้ว ก็ยังมีข้อมูลในมิติอื่น ๆ เช่น การกระจายวัคซีน มองจากประชากรผิวขาว ผิวสี ฮิสแปนิก หรือกลุ่มอื่น ๆ เป็นต้น และสามารถดึงข้อมูลเนื้อหาได้ ทั้งเป็นสื่อรูปสำเร็จ หรือเป็นข้อมูลที่นำไปประมวลผลต่อได้ (.CSV) ซึ่งทำให้ต้นทางของข้อมูล ที่สื่อเอาไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเข้าใจผิด หรือการเกิดขึ้นของข่าวปลอมข่าวลวงได้อีกทาง 

อีกประเทศหนึ่งที่มีรูปแบบการจัดการข้อมูลคล้ายกัน ผ่านเว็บไซต์กลางก็คือประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งมีเว็บไซต์กลางของ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น ที่อธิบายเรื่องวัคซีนในประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนสนใจ และสามารถค้นหาสถานที่จองและฉีดวัคซีนได้เลย

ความพิเศษของระบบญี่ปุ่น คือ มีการให้ข้อมูลว่าสถานที่นั้น ต้องจองก่อนหรือเดินเข้าไปได้เลย หรือไม่สามารถจองได้ หรือกำลังเตรียมการเปิดให้จองอยู่ เป็นต้น และมีการรวบรวมสถิติอย่างเป็นระบบให้สื่อมวลชนหรือผู้สนใจนำไปใช้ต่อในไฟล์รูปแบบที่ประมวลผลต่อได้เช่นเดียวกัน  (ภาพเดิมเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วใช้ google translate แบบอัตโนมัติ)

บทเรียนสำหรับเมืองไทยคืออะไร ? 

หากดูเฉพาะระบบการจัดการข้อมูลวัคซีนของสองประเทศ เพื่อการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย สุนิตย์ มองว่า ต้องมีหน้าเว็บไซต์กลางที่เป็นช่องทางหลักให้ประชาชนเข้าได้ พร้อมมีหมวดหมู่ข้อมูลสำคัญ ออกแบบให้สามารถใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือได้โดยง่าย แล้วค่อยเชื่อมโยงไปยังระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเว็บไซต์ ทั้งเพจเฟซบุ๊ก รวมถึงแอปฯ ต่าง ๆ อย่างเป็นเอกภาพ ไม่สับสน 

นอกจากนี้ ต้องจัดการเนื้อหาเพื่อตอบคำถามสำคัญของประชาชนในช่องทางหลักให้ได้ เช่น จะเลือกอะไร อย่างไร ระหว่างชนิดที่มี มีข้อดีข้อเสีย และความเสี่ยงอย่างไรของวัคซีนแต่ละชนิด ต้องไปสมัครจองที่ไหน ต้องไปฉีดที่ไหน มีเงื่อนไขอย่างไร หากมีคำถามจะต้องถามใครอย่างไร

จัดการให้หาที่จองและฉีดวัคซีนได้โดยง่าย เชื่อมต่อได้ทุกระบบ

เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ หลังบ้านของระบบต่าง ๆ เช่น คลังวัคซีนที่กระจายไปยังพื้นที่ หรือข้อมูลสำคัญอื่น ๆ หรือสถานะของพื้นที่จอง-ฉีดวัคซีน ให้สามารถเชื่อมโยงกัน ประชาชนสามารถเรียกดูจากช่องทางหลักได้โดยสะดวก

พัฒนามาตรฐานข้อมูลสถิติสำคัญแล้วเปิดในรูปแบบ Open Data เพื่อให้สื่อมวลชนและผู้สนใจต่าง ๆ สามารถนำไปใช้สื่อสาร วิเคราะห์ได้อย่างสะดวกและถูกต้อง ซึ่งในไทยก็มีผู้ที่ทดลองทำขึ้นมาบ้างแล้ว หน่วยงานอาจจะเชื่อมโยงหรือเอาเป็นตัวอย่างได้ เช่น ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน COVID-19 ในประเทศไทย จัดทำโดย The Researcher ซึ่งมีรายละเอียดทั้งส่วนข้อมูลและเครื่องมือที่ https://github.com/porames/the-researcher-covid-bot 

ทำไม Open Data ในไทย ยังไม่ฟังก์ชันต่อการควบคุมโรคระบาด

ปัญหาจริง ๆ คือ รัฐไทยไม่ได้เก่งดิจิทัล คนเก่ง ๆ ก็ออกมากันหมด เพราะโครงสร้างระบบราชการรวมศูนย์ และไม่เอื้อคนทำงาน รัฐไทยควรเรียนรู้การทำงานผ่านระบบ “หมอชนะ” “ไทยชนะ” ที่ก่อนหน้านี้ มีภาคประชาชนเข้ามาช่วยกันทำ แต่สุดท้ายก็แยกย้ายกันไปหมด

“บทเรียนสำคัญ คือ ไม่ควรมั่ว”

สุนิตย์มองว่าเหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถดึงความร่วมมือได้ เพราะวัฒนธรรมของระบบราชการที่ไม่ไว้ใจประชาชน เอกชน และอาสาสมัคร สิ่งนี้คือปัญหาของธรรมาภิบาลที่ไม่ดีของรัฐ ทำให้เกิดการตัดสินใจเป็นแบบรวมศูนย์… แต่อย่างน้อย การที่ไทยไม่เริ่มทำระบบข้อมูลเร็วเกินไป ก็มีข้อดี เพราะมีตัวอย่างดี ๆ จากหลายประเทศให้เราเรียนรู้ได้มากกว่า

เขายกตัวอย่างระบบข้อมูลของ CDC ในสหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงอยู่กับเว็บไซต์วัคซีน และบูรณาการข้อมูลองค์ความรู้ทางการแพทย์ จากองค์กรเอกชนอย่าง Boston Children’s Hospital ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนแพทย์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยิ่งไม่แปลกใจที่เว็บไซต์กลางอย่าง CDC จะมีระบบข้อมูลด้านการแพทย์ นวัตกรรมเชิงสุขภาพที่ครบครัน และมีประสิทธิภาพรวมอยู่ภายในเว็บไซต์เดียว

บทเรียนนี้สะท้อนชัดว่าการทำงานบนฐานข้อมูลหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องบูรณาการกับหน่วยงานเอกชน และภาคประชาชน ให้ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกันได้ในจุดเดียว ก่อนจะสื่อสารออกไปอย่างเป็นเอกภาพ

เขามองว่าข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ มี 2 ส่วนเท่านั้น

1. ข้อมูลเพื่อการบริการประชาชน ที่ผ่านมา หน่วยงานที่มีข้อมูลเชิงลึกอยู่แล้ว อย่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กทม. ฯลฯ กลับยังแยกส่วน และไม่ได้ถูกนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน ที่ผ่านมา ก็มักจะเห็นความขัดแย้งภายในระหว่างหน่วยงาน ส่งผลให้ประชาชนสับสนและไม่รู้จะเชื่อหน่วยงานไหน และเมื่อมีปัญหาก็ไม่รู้จะต้องติดต่อใคร

2. การเปิดเผยข้อมูลสถิติให้สื่อมวลชน หรือผู้สนใจ ใช้ข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่มีข้อมูลไปถึงขั้นว่า ประชาชนกลุ่มไหนที่ฉีด หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว โดยข้อมูลเชิงสถิติ กราฟิก ตัวเลข ก็ควรที่จะดาวน์โหลดให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปต่อยอดประมวลผลได้

เสนอ ศบค. ตั้งเว็บไซต์กลาง มีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นเลขาฯ

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเว็บไซต์กลางของ ศบค. ที่ดึงเอกชน และอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันทำได้ สุนิตย์ ย้ำว่าการจัดทำข้อมูล Open Data ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิค เพราะ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มี สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ที่ดูเรื่องรัฐบาลดิจิทัลอยู่แล้ว มีความสามารถทางเทคโนโลยีสูง ดังนั้น ทางเทคนิคไม่ใช่ปัญหา ถ้า ศบค. อนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูล

เขาเสนอให้รัฐไทยมีเว็บไซต์ลักษณะนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของ ศบค. โดยให้หน่วยงานที่มีศักยภาพอย่าง DGA เข้ามาเป็นเลขานุการร่วม เพื่อทำมาตรฐานข้อมูลของรัฐให้เป็น Open Data แต่ปัญหาสำคัญ คือ DGA ไม่มีอำนาจสั่งการ หรือ ลงโทษใครที่ไม่เปิดเผยข้อมูล เพราะไทยยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดเผยข้อมูล และเปิดช่องให้ DGA ใช้ศักยภาพในส่วนนี้มากนัก

ส่วนที่ยากมากกว่า คือ การเชื่อมโยงข้อมูลหลังบ้าน เช่น เว็บไซต์ของ CDC ของสหรัฐฯ ที่ระบุระบบจอง ระบบการฉีด เชื่อมโยงไปถึงสต็อกของวัคซีน แสดงว่า หลังบ้าน CDC จะต้องมีข้อมูลวันต่อวันว่ารัฐมีวัคซีนเท่าไร

คำถามคือ รัฐบาลมีข้อมูลตรงนี้แค่ไหน หรือ ศบค. มีอยู่แล้ว แต่จะเปิดเผยได้แค่ไหน รวมถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ก็น่าจะมีประกาศออกไป ให้เปิดการเชื่อมโยงข้อมูลหลังบ้านแบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า API เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของส่วนกลาง โรงพยาบาลต่าง ๆ และท้องถิ่น

ส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าเปิดเผยแล้วจะทะเลาะกับประชาชนเพียงครั้งเดียวที่เห็นข้อมูล จากนั้นก็จะไม่ได้ยินเสียงด่าอีก เพราะประชาชนเห็นข้อมูลทั้งหมดแล้ว ส่วนนี้ คือ การจัดการจัดการความหวังของประชาชน

ชั่งน้ำหนักตั้ง ศูนย์ต่อต้าน Fake News

สุนิตย์ มองว่า นโยบายการต่อต้านเฟกนิวส์ เป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่สำคัญ คือ จะต้องมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร ไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อน ส่วนตัวมองว่า นโยบายต่อต้านข่าวลวงต้องทำ แต่ต้นเหตุสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาเฟกนิวส์แบบเอาอยู่ คือ การจัดการระบบข้อมูลต้นทางให้เชื่อมโยง และเปิดเผยสิ่งที่ประโยชน์กับประชาชนให้ได้มากที่สุดเป็นอันดับแรก

เขาอธิบายการทำงานของศูนย์ต่อต้าน Fake News ว่ามีหลัก ๆ 3 ระบบ

  1. เก็บข้อมูลคัดกรอง Fake news
  2. การตรวจสอบ Fake news
  3. การส่งกลับ Fake news

แม้จะเห็นด้วยว่า แต่ละกระทรวง ควรมีการตรวจสอบข่าวลวง แต่ไม่ถึงขั้นต้องตั้ง ศูนย์ต่อต้าน Fake News ประจำทุกกระทรวง เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องความทับซ้อนของหน้าที่ จึงเสนอให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานหลัก ในการเก็บและคัดกรองข้อมูล เพราะเป็นงานถนัด

ถัดมา คือ การตรวจสอบเฟกนิวส์ จึงค่อยเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานตรวจสอบและส่งกลับมายังต้นทาง และให้หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่สื่อสาร อย่างสื่อมวลชน หรือกรมประชาสัมพันธ์ช่วยกันสื่อสารให้ถึงประชาชนทุกช่องทาง ตัวอย่าง เช่น โคแฟค (Collaborative Fact Checking) ที่ใช้ความร่วมมือกับวิทยุชุมชน ตรวจสอบเฟกนิวส์ และใช้ประโยชน์จากเสียงตามสายสื่อสารเป็นภาษาถิ่นให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่ตรงกัน

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในอนาคต คือ การประกาศนโยบายร่วมที่ใช้ต่อต้านเฟกนิวส์ เพราะไทยเองก็มีงานวิจัยที่สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เสนอไว้มากมาย ซึ่งจะเห็นภาพรวมอยู่แล้วว่ามีหน่วยงานไหนที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว และแต่ละกระทรวงมีบทบาททำอะไร

ส่วนตัวมองว่า ตอนนี้รัฐควรเร่งทำข้อมูลให้ประชาชน “เข้าถึง” ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่อง “วัคซีน” ให้มีประสิทธิภาพ ก่อนจะคิดตั้ง ศูนย์ต่อต้าน Fake News เพราะการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน จะเป็นตัวช่วยลดเฟกนิวส์ และความสับสนของประชาชนได้ดีที่สุด

“ปัญหาโควิด-19 ตอนนี้ค่อนข้างซ้ำซ้อน มีหลายเจ้านาย มีความขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงาน เฟกนิวส์ ก็คือ ปัญหาการเมือง เมื่อเกิดแล้วจัดการยาก ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้น คือ การเชื่อมโยงข้อมูลวัคซีนภาพรวมให้ประชาชนไม่สับสน เฟกนิวส์ ก็จะลดลงได้เกินครึ่ง”

สุนิตย์ ทิ้งท้ายว่า ไม่อาจบอกได้ว่า การทำระบบข้อมูลตอนนี้ช้าไปหรือไม่ เพราะเป็นคำตอบที่ไม่ได้ช่วยดับทุกข์ให้ใคร แต่อยากจะฝากไว้ว่า เมืองไทยคนเก่งด้านเทคโนโลยีเยอะมาก มีอาสาสมัครที่พร้อมจะเข้ามาช่วยจัดระบบข้อมูล ที่ผ่านมาเราเห็นบทเรียนจากความร่วมมือการทำแอปพลิเคชันหมอชนะ ฯลฯ ที่สะท้อนว่าสุดท้ายความไม่ไว้วางใจการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เป็นจุดอ่อนของการบูรณาการข้อมูลของรัฐ

แต่ข้อดีของการเริ่มทำข้อมูลทีหลัง คือ ไทยจะได้เรียนรู้บทเรียนจากหลายประเทศ และเราอาจจะทำได้ดีกว่าด้วย ติดอยู่ตรงที่ว่า รัฐเองจะวางระบบ และให้ความสำคัญกับการประกาศนโยบายเรื่องนี้แค่ไหน

ในเชิงเทคนิคไม่มีอะไรยากเลย ยกเว้นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ว่าจะปลดล็อกเรื่องนี้ได้แค่ไหน…จะจัดการข้อมูลกันอย่างไร ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ตนเองสนใจได้อย่างสะดวก ไม่สับสน ชัดเจน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ไว้ที่เดียวได้ ทำให้คนเกิดความมั่นใจและสบายใจขึ้นได้บ้าง ในสภาวะวิกฤตที่ต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้…


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“ข้อมูลโกลาหล” วิกฤตซ้อนวิกฤตโรคระบาด | สุภิญญา กลางณรงค์

Thailand Plus เช็กความพร้อม เปิดประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์