Thailand Plus เช็กความพร้อม เปิดประเทศ

“โครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ได้ผ่านการพิจารณาจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้ ศบค. และ ครม. อนุมัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ และจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป”

เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha 12 มิ.ย. 2564

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นี้ “ภูเก็ต” จะกลับมาเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง หลังต้องปิดพื้นที่ จำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวด้วยขั้นตอนเพื่อควบคุมโรคระบาด นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีกำหนดดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค. นี้ โดยจะเริ่มนำร่อง 10 จังหวัด ในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ เริ่มจากพื้นที่ภูเก็ต

พร้อมกำหนด 6 มาตรการ ทั้งกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา ต้องได้รับวัคซีนแล้ว 2 โดส มีเอกสารรับรองการฉีดจากประเทศต้นทาง พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ (Amazing Thailand Safety & Health Administration Plus) ในเวลา 14 คืน รวมทั้งมีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน

รู้จัก Thailand Plus ตัวช่วยคุมระบาด หลังเปิดประเทศ

ในส่วนของการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน ได้แก่ Thailand Plus ที่เริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่ปลายปี 2563 โดย สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตแอปฯ หมอชนะของกลุ่มช่วยกัน ได้เคยให้สัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า รูปแบบการใช้งานจะเป็นแบบเดียวกับหมอชนะ

โดยจะเชื่อมฐานข้อมูล หนังสือรับรอง Certificate of Entry หรือ COE ของชาวต่างชาติจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบและติดตามหลังจากพำนักในไทย และควบคุมการระบาดของโควิด-19 เพราะจะต้องกรอกข้อมูลการเดินทาง อุณหภูมิ ความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงมีระบบคล้ายกับจีพีเอสที่สามารถรู้จุดที่อยู่ หากพบว่ามีการติดเชื้อก็สามารถควบคุมไม่ให้กระจายในวงกว้าง

ถอดบทเรียน ไทยชนะ – หมอชนะ

แม้จะมีการวางแผนที่ดี แต่สำหรับ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion ผู้ที่เคยติดตามการใช้งานทั้ง ไทยชนะ และ หมอชนะ มองว่า เราอาจต้องถอดบทเรียนการใช้งานจากทั้ง 2 แอปฯ เพื่อให้ Thailand Plus สามารถใช้งานได้จริงและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

แฟ้มภาพ: สุนิตย์ เชรษฐา

สุนิตย์ กล่าวว่า บทเรียนแรกที่ควรจะต้องพิจารณา คือ การกำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้แอปฯ ใดเป็นหลัก ไม่ควรมีหลายเวอร์ชันหรือหลายแอปฯ เพราะจากบทเรียนที่มีการใช้ทั้งไทยชนะและหมอชนะ คือ ประชาชนเกิดความสับสนว่าควรใช้แอปฯ ใดกันแน่

ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเมืองไทย ก็ควรจะให้ใช้แค่แอปฯ เดียว (Single App) ตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งหาก Thailand Plus มีหลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ควรจะบูรณาการการทำงานร่วมกัน

“ถ้าถอดบทเรียนก่อนหน้านี้ ตอนนั้นไม่ได้มีแค่หมอชนะหรือไทยชนะ แต่มีอย่างอื่นด้วย ประเด็นคือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความสับสน และเชื่อมโยงข้อมูลกันเป็นข้อมูลเดียว และมีเป้าหมายชัดเจน”

เขากล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือ แอปฯ นี้ก็ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้ ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรมีแรงจูงใจเพิ่มเติม เช่น นอกจากจะติดตามแล้ว จะมีอะไรให้เขาได้ประโยชน์ด้วย เพราะถ้าตามอย่างเดียว นักท่องเที่ยวก็อาจจะไม่เปิดแอปฯ ตลอดเวลา

สุนิตย์ ยกตัวอย่างกรณีหากนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ก็ต้องมีช่องทางให้เขาติดต่อไปที่โรงพยาบาลที่พูดภาษาอังกฤษได้ หรือต่อไปที่ตำรวจท่องเที่ยวโดยตรงได้ ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลเฉพาะบางอย่างที่เขาควรจะเข้าถึงในสถานการณ์โควิด-19 ของเมืองไทย หรืออาจร่วมมือกับเอกชนหรือโรงแรมว่าถ้ามีแอปฯ นี้ อาจจะได้ส่วนลดหรือมีของแถม ไม่ใช่ควบคุมตรวจสอบอย่างเดียว

นอกจากนี้ อีกบทเรียนสำคัญจากแอปฯ หมอชนะ คือ ผู้ให้บริการแอปฯ ไม่สามารถให้ความมั่นใจต่อผู้ใช้งานได้ว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานที่ได้ให้ไปนั้น จะถูกรักษาความเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร ต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้ชัดว่า ความเป็นส่วนตัวจะถูกปกป้องอย่างชัดเจน และมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมารับรอง ซึ่งทั้งนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวยุโรปจะมีความอ่อนไหวในประเด็นนี้มาก

และสุดท้ายคือ ปัญหาในทางเทคนิค กรณีแอปฯ หมอชนะ พบปัญหาการใช้งานแบตเตอรี่เปลืองมาก และยังมีปัญหาระบบของแต่ละเครือข่ายมือถือก็ไม่ได้อนุญาตให้เข้าระบบได้เหมือนกัน

“คนออกแบบต้องรักษาสมดุลว่า เราจะรู้ข้อมูลทั้งหมด แต่มีความเสี่ยงเรื่องความส่วนตัวหรือการเปลืองแบต ที่จะมีผลให้คนตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้แอปฯ ก็ต้องไปออกแบบ ซึ่งตอนนี้มาตรฐานโลกมีแล้วพอสมควร”

สุนิตย์ ย้ำว่า เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากแอปฯ ออกแบบมาดี แม้จะต้องบังคับให้โหลด นักท่องเที่ยวก็อาจจะยอมใช้ และสำคัญที่สุดคือควรเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มคุณภาพในการบริการการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นในสภาวะวิกฤต


อ่านเพิ่ม

ทำไมคนภูเก็ตอยากฉีดวัคซีน? แชร์ประสบการณ์คนภูเก็ต หลังฉีดวัคซีนแล้วแสนโดส

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์