ปี 2021 เชียงใหม่มีอากาศดีแค่ 62 วันเท่านั้น คุณภาพอากาศที่แย่แค่เพียงหายใจเฉย ๆ ก็เท่ากับสูบบุหรี่มากถึง 1,379 มวน ชวนอ่านข้อมูลศึกษาของ Rocket Media Lab วิเคราะห์เปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการสูบบุหรี่
Rocket Media Lab อ้างอิงข้อมูลสถิติจาก เว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ โดยพบว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 36 วัน คิดเป็น 9.86% ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 60 วัน คิดเป็น 16.44% ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 207 วัน คิดเป็น 56.71% และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 62 วัน คิดเป็น 16.99%
“เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดของปี และสูงสุดในวันที่ 11 มีนาคม 2021 มีปริมาณฝุ่นมากถึง 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเกินจากระดับปกติ 4 เท่าตัว”
แม้จะดูเหมือนแย่ แต่ก็ยังดีกว่าที่ผ่านมา
ข้อมูลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ปีที่เชียงใหม่อากาศเลวร้ายมากที่สุดไม่ใช่ปี 2020 แต่คือปี 2019 ซึ่งมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ถึง 8 วัน โดยในวันที่ 23 มีนาคม 2019 ปริมาณฝุ่นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่เฉลี่ย 282 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ปี 2020 ก็พบว่าเชียงใหม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมาก ถึง 7 วัน สูงสุดในวันที่ 19 มีนาคม 2020 วัดค่า PM2.5 ได้ 242 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ปี 2018 มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง 1 วัน ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2018 วัดค่า PM2.5 ได้ 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เช่นเดียวกันกับปี 2016 ที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง 1 วัน คือวันที่ 18 เมษายน 2016 วัดค่า PM2.5 ได้ 203 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ในขณะที่ปี 2017 ปี 2021 และ ปีนี้ 2022 (ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน) ไม่พบวันที่ปริมาณฝุ่นเข้าเกณฑ์สีม่วง หรือมีผลกระทบมาก แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถจะชี้ชัดได้ว่านี่คือแนวโน้มที่ดีขึ้นของเชียงใหม่
กรุงเทพฯ Vs เชียงใหม่ ที่ไหนคุณภาพอากาศแย่กว่ากัน?
เมื่อนำข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 ในปี 2021 ของเชียงใหม่มาเปรียบเทียบกับของกรุงเทพฯ จะพบว่า กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี อยู่ในเกณฑ์สีเขียวมากกว่าเชียงใหม่ ถึง 32 วัน ในขณะที่วันที่อากาศถือว่าอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเกณฑ์สีแดง เชียงใหม่ก็มีสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 24 วัน
ซึ่งหากเปรียบเทียบเฉพาะวันที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในปี 2021 เชียงใหม่ก็มีค่าฝุ่นสูงกว่ากรุงเทพฯ โดยเชียงใหม่อยู่ที่ 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
“เมื่อย้อนดูข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ก็จะพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่นั้นสูงกว่ากรุงเทพฯ ทุกปี ทั้งวันที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดและค่าฝุ่นเฉลี่ยตลอดทั้งปี และชาวเชียงใหม่ก็ยังมีวันที่อากาศดี ๆ น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ อีกด้วย”
ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 ug/m3 = บุหรี่ 1 มวน ปี 2021 คนเชียงใหม่สูบบุหรี่ไปกี่มวน?
Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ คำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน เมื่อนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2021 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard Muller จะพบว่า
โดยรวมแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมาคนเชียงใหม่ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมด 1,379.05 มวน โดยในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นเดือนที่อากาศในเชียงใหม่เลวร้ายที่สุด พบว่าเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 227.32 มวน ในขณะที่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดคือเดือนกันยายน พบว่าเทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมด 66.91 มวน
หากดูข้อมูลย้อนหลังโดยเทียบการสูดดมค่าฝุ่น PM2.5 เป็นการสูบบุหรี่ กับข้อมูลปริมาณฝุ่นทั้งหมดที่บันทึกได้ จะพบว่า
- ปี 2016 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,529.27 มวน
- ปี 2017 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,459.86 มวน
- ปี 2018 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,487.68 มวน
- ปี 2019 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,557.41 มวน
- ปี 2020 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,232.64 มวน
“อย่างไรก็ตามนักวิชาการประเมินว่า ควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก”
ถามถึงแหล่งที่มา สาเหตุของฝุ่นเชียงใหม่
มีข้อสังเกตว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ของเชียงใหม่ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน 2021 อาจมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน โดยในปี 2021 เชียงใหม่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ขณะที่ค่าฝุ่น PM2.5 ก็เริ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม
หรือในปี 2020 เชียงใหม่เกิดเหตุไฟไหม้มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2020 ทั้งในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งนับเป็นไฟไหม้ป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในเชียงใหม่ และในช่วงเดือนเมษายนก็เกิดเหตุไฟไหม้ป่าอีกครั้งบริเวณด้านหลังศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งค่าฝุ่น PM2.5 ในเดือนมีนาคม 2020 นั้นก็สูงขึ้นอย่างมาก โดยอยู่ในเกณฑ์สีม่วงถึง 6 วัน และสีแดงอีก 16 วัน ในขณะที่เดือนเมษายนที่ยังเกิดไฟป่าเช่นกันก็มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง 1 วัน และสีแดง 16 วัน
เช่นเดียวกับในปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน โดยในเดือนมีนาคมที่เชียงใหม่เริ่มมีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น พบว่าบริเวณภาคเหนือตรวจพบจุดความร้อน หรือ Hotspot มากถึง 391 จุด ขณะที่ช่วงเดือนเมษายนนั้นเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บนยอดดอยหัวเสือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สาเหตุของฝุ่นควันภาคเหนือประกอบไปด้วยหลายปัจจัยทั้งเรื่องของภูมิศาสตร์ เนื่องจากภาคเหนือมีพื้นที่ป่ามากที่สุดของประเทศ อย่างแม่ฮ่องสอนมีป่า 86% เชียงใหม่ ลำปาง 70% น่าน 60% พะเยา แพร่ 40-50% และ 70% ของพื้นที่ป่าทั้งหมดเป็นป่าผลัดใบ เช่น เชียงใหม่ มีป่า 9 ล้านไร่ โดย 7 ล้านไร่ เป็นป่าผลัดใบ ที่ทิ้งใบทั้งปี รวมปริมาณใบไม้ที่ผลัดออกเกือบ 10 ตันต่อไร่ ทำให้เกิดปริมาณของชีวมวลสูงมาก
รวมถึงการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเผาถาง และอีกปัจจัยคือฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว และเมียนมา ซึ่งมีปริมาณมากสูงกว่าประเทศไทย 10 เท่า ฝุ่นเหล่านั้นจะลอยเข้ามาในเขตไทย ซึ่งลักษณะภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะ การระบายตัวของอากาศต่ำ ฝุ่นควันกดอยู่ติดพื้น
ในช่วงแรกภาครัฐมักใช้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือเมื่อเริ่มเกิดปัญหาฝุ่นควัน ก็มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาจัดการ ตามกฎหมายบรรเทาสาธารณภัย และมีอคติว่าชาวบ้านชาวเขาเผาป่า ส่งคำสั่งจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ ผู้ว่าฯ สั่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถแก้ไขโดยคำสั่งได้ ยิ่งห้ามยิ่งเผาหนัก ฝุ่นยิ่งเยอะ
ภาคประชาชนจึงเสนอว่าต้องปรับเปลี่ยนวิธี โดยต้องมีแผนระยะสั้น กลาง ยาว โดยไม่มองว่าเป็นอุบัติภัยเฉพาะหน้า ต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน ภาคประชาชนเชื่อมโยงข้อมูล ความรู้ โดยมีแผนบริหารจัดการ fire management เผาได้แบบควบคุมดูแล ต้องแจ้งรายงานก่อน วิธีนี้ทำมา 3 ปีแล้ว พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องอาศัยการพัฒนานโยบายต่าง ๆ เข้ามาจัดการประกอบด้วย ดังนี้
- อยากเห็นนโยบายพลังงานสะอาด พลังงานยั่งยืน เรื่องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ คมนาคมขนส่งที่ปลอดมลพิษ
- ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงดูแลระบบตลาดเกษตรใหม่
- เร่งรัดนโยบายสร้างความมั่นคงด้านที่ดินให้กับชาวบ้านที่อยู่ในป่า เพื่อให้สามารถปลูกพืชที่ยั่งยืนแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
- จัดให้มีระบบแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ดูแลป้องกันตัวเองเมื่อปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน
- จัดให้มีสวัสดิการและการรักษาเยียวยาสาธารณสุข เหตุที่เกิดขึ้นจากวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น การรักษาโรคจากฝุ่น อุปกรณ์ป้องกันตัว
- ให้มีการกระจายอำนาจให้ชุมชน ท้องถิ่นสามารถจัดการแก้ปัญหาโดยตัวเองได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ชุมชน-ท้องถิ่น-จังหวัด
- ให้มีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อให้มีกระบวนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ถึงปลายเหตุ และกระบวนการเยียวยาประชาชน
- มีแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเชิงรุก รวมถึงแผนการทำงานร่วมกับอาเซียนที่ชัดเจน
“จากประสบการณ์เชียงใหม่โมเดล เชียงใหม่คิดว่าจุดสำคัญที่ทำให้เกิดหลักคิดกระบวนการทำงานใหม่ เกิดจากภาคประชาชนลุกขึ้นมามีส่วมร่วมไม่ได้ปล่อยให้รัฐทำงานฝ่ายเดียว ทั้งหมดใช้พลังในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดรูปธรรมในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และเรารู้ว่าจัดการจังหวัดเดียวไม่ได้ ตอนนี้เราจึงมีสภาลมหายใจทำร่วมกับจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง 9 จังหวัด เพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาล ก่อนหน้าที่เราส่งเสียงถึงพรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว แต่ต่อจากนี้คงต้องนำเสนออย่างต่อเนื่องในโอกาสที่อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้าด้วย”
อ้างอิง
ปี 2021 คนเชียงใหม่ สูด PM2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,379 มวน
เนื้อหาเพิ่มเติม