ปี 64 คนกรุงเทพฯ อยู่กับคุณภาพอากาศดี เพียง 90 วัน

พบ ฝุ่นพีคสุดช่วง ธ.ค. – ก.พ. ส่วนอีกมากกว่า 275 วัน มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากใช้เกณฑ์ค่ามาตรฐานสากลตามองค์การอนามัยโลก

ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้ในปีที่ผ่านมา (2564) จะถูกพูดถึงน้อยลงเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2564 กรุงเทพฯ ก็ยังติดอันดับที่ 11 ของโลกจากรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก ของเว็บไซต์ IQAir

อากาศ กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ และ PM2.5 ในปี 2564

Rocket Media Lab รายงานข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า ในปีที่ 2564 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 12 วัน คิดเป็น 3.29% ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน คิดเป็น 16.71% ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 202 วัน คิดเป็น 55.34% และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 90 วัน คิดเป็น 24.66%

จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2564 ยังคงเป็นเดือนมกราคมเช่นเดียวกันกับในปี 2563 โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 23 มกราคม 2564 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2563 สูงสุดเพียง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

และตลอดทั้งเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีจำนวน 11 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 13 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 7 วัน 

3 เดือนที่ค่าฝุ่นเลวร้ายที่สุด

เช่นเดียวกันกับในปี 2563 เดือนมกราคมที่ถึงแม้จะมีวันที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดของปี แต่ก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุด โดยเดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดก็คือเดือนกุมภาพันธ์เช่นเดียกวันกับในปี 2563 ซึ่งไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหมายถึงอากาศมีคุณภาพดี ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 4 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ มีจำนวน 21 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีจำนวน 3 วัน 

นอกจากเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์แล้ว เดือนที่มีอากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากเป็นอันดับสามของปี 2564 ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกันกับปี 2563 ก็คือเดือนธันวาคม ที่ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีจำนวน 14 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 15 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 2 วัน 

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีเพียง 3 เดือนเท่านั้นที่มีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งก็คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และธันวาคม 

อย่างไรก็ตามค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต 

สำหรับวันที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปี 2564 ในกรุงเทพฯ ก็คือ วันที่ 24 กันยายน ซึ่งมีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพียง 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ซึ่งช่วงเวลาใกล้เคียงกับในปี 2563 ที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปีในวันที่ 21 กันยายน ซึ่งมีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพียง 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) แต่ถึงอย่างนั้นเดือนกันยายนก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดของปี 2564 ของกรุงเทพฯ 

3 เดือนที่มีอากาศ ‘ดี’ ที่สุด

สำหรับเดือนที่มีจำนวนวันที่อากาศดีที่สุดในปี 2564 ของกรุงเทพฯ ก็คือเดือนกรกฎาคม (ในขณะที่ปี 2563 คือเดือนมิถุนายน) มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงคุณภาพดี มากถึง 22 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 9 วัน 

รองลงมาคือเดือนกันยายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว จำนวน 17 วัน และวันที่อากาศอยู่ในแถบสีเหลือง อีกจำนวน 13 วัน ซึ่งมีลำดับและจำนวนเท่ากับในปี 2563

และอันดับสามเดือนมิถุนายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว จำนวน 14 วัน และวันที่อากาศอยู่ในแถบสีเหลือง อีกจำนวน 16 วัน 

ข้อสังเกตเรื่องการเปรียบเทียบค่าฝุ่น PM2.5 และระดับคุณภาพอากาศ

ในรายงานนี้อ้างอิงระดับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อเสนอของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เสนอให้ใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 (PM2.5 Air Quality Index) โดยมีเกณฑ์ดังนี้ 0-50 คุณภาพอากาศดี  51-100 คุณภาพปานกลาง 101-150 มีผลต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 151-200 มีผลกระทบต่อสุขภาพ 201-300 มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก 301 อันตราย

โดยปกติแล้วการบอกระดับคุณภาพอากาศด้วยแถบสีและเกณฑ์การอธิบายว่าอากาศมีคุณภาพอย่างไร มักจะถูกใช้เทียบกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งรวมความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), คือ ฝุ่นละองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10), ก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NO2)

การใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เพื่อแสดงระดับคุณภาพอากาศนั้น จะมีเกณฑ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ตามแนวทางของ WHO มีการปรับแก้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงว่าไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มากกว่านั้นคือว่าระดับ PM2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในขณะที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสหรัฐอเมริกา และมาเลเซียกำหนดไว้ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสิงคโปร์กำหนดไว้ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนในการเทียบเคียงนั้นก็มีเกณฑ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกา ค่า AQI 0-50 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 0-12 ค่า AQI 51-100 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 12-35 ซึ่งก็ตรงกับเกณฑ์ของประเทศที่กำหนดไว้ว่าค่า PM2.5 ไม่ควรเกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนในประเทศไทยเอง จากข้อมูลของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ค่า AQI 0-25 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 0-25 ค่า AQI 26-50 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 26-37 ค่า AQI 51-100 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 38-50 ค่า AQI 101-200 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 51-90 และ ค่า AQI มากกว่า 200 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 91 ขึ้นไป นั่นก็เท่ากับว่า ในไทยค่า AQI 101 ขึ้นไป หรือ PM2.5 51 ขึ้นไปจึงถือได้ว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ AQI มากกว่า 200 หรือ PM2.5 91 ขึ้นไป จึงถือว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ”

ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการกำหนดค่าของไทยนั้นนอกจากจะไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว ยังเป็นการกำหนดค่าที่สูงกว่าในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้แม้ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงแต่การให้ความหมายถึงระดับคุณภาพอากาศยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active