“ห้องเรียนสู้ฝุ่น” นั่งเรียนห้องนี้ ไม่ต้องมีแมสก์

รู้จัก “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” แบบฉบับ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร จ.ลำพูน

เมื่อสถานการณ์ฝุ่นในบ้านเรายังน่าเป็นห่วง หลายจังหวัดในไทยยังมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเขตภาคกลางและตะวันตก และกรุงเทพมหานคร

แม้ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่าในอีก 7 วันข้างหน้า สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ยังคงผันผวน

ขณะที่ข่าวการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทำให้ประชาชนเริ่มมีความหวัง แต่หลายประเด็นที่ปรากฏแต่ละร่างฯ ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงแนวคิดและแนวทางแก้ปัญหา ก่อนนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายฉบับจริง 

แต่กว่าจะถึงวันนั้น การดูแลตัวเองยังเป็นหน้าที่ของประชาชน ภาคประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มเคลื่อนไหว ดูแล ป้องกันตนเองจากภัยของฝุ่น การเริ่มต้นในพื้นที่เล็ก ๆ อย่างโรงเรียนและชุมชน จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที และมีคนทำให้เห็นแล้ว

The Active  คุยกับ จีรพงษ์ สนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน โรงเรียนนำร่องที่มองเห็นปัญหาภัยฝุ่นพิษที่กำลังคุกคามชีวิตเด็ก ๆ และชาวบ้านในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ภายในชุมชนแห่งนี้ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สามารถขยายผลจนกลายเป็นโรงเรียนนำร่องที่กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่า 2 ปี

ห้องเรียนสู้ฝุ่น

“ฝุ่นเป็นปัญหาที่สะสมในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ทุกต้นปีจะกลายเป็นฤดูฝุ่น เด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรงจะเริ่มล้มป่วย พอฝุ่นสะสมในร่างกายระยะยาวก็นำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจ โรงเรียนเราเคยมีคุณครูท่านหนึ่ง สอนที่นี่มานานกว่า 31 ปี ท่านหายใจเอาฝุ่นเข้าไปทุกวัน จนตอนนี้เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคมะเร็ง”

ผอ.จีรพงษ์ เล่า
จีรพงษ์ สนิท 
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน

โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ท่ามกลางป่าและภูเขาสูงล้อมรอบทุกทิศทาง เมื่อมีไฟป่า ควันไฟทั้งหมดจะถูกขังอยู่ในบริเวณนั้นไม่ออกไปไหน ยามกลางวัน ควันไฟจะลอยสูง เมื่อตกดึก ความกดอากาศลดลงทำให้ฝุ่นละอองลอยคละคลุ้งไปในอากาศ

ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน และไม่เคยจางหายไปไหน ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนและกลุ่มเปราะบาง

“ก่อนหน้านี้ เราแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เด็ก ๆ โดยขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เขาจะอึดอัด ไม่มีสมาธิ และยังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองด้วย หรือบางครั้ง หน้ากากอนามัยที่ผู้ปกครองหาซื้อมาก็ไม่มีประสิทธิภาพพอจะป้องกันฝุ่นได้มากนัก”

จากการเล็งเห็นถึงปัญหา ทางโรงเรียนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อดูแลเด็กนักเรียนจนกระทั่งก้าวมาสู่การสร้าง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และกลายเป็น 1 ในโรงเรียนต้นแบบ

จากห้องเรียนทั้งหมด 11 ห้อง โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร มีห้องปลอดฝุ่นตามมาตรฐานแล้ว 2 ห้อง ในระดับชั้นอนุบาล 2-3 โดยได้ความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาติดตั้งให้

“อีก 9 ห้องที่เหลือ เราใช้การรับบริจาคผ่านชมรมศิษย์เก่า แล้วนำองค์ความรู้ที่มีมาประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อ Smartboard เพื่อปิดช่องลม หรือซื้อเครื่องฟอกอากาศตามงบประมาณที่มี แม้จะยังไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้”

“และในอนาคต หากเรามีงบประมาณเพียงพอ เราจะสร้างทุกห้องเรียนให้มีอุปกรณ์ตามมาตรฐานให้ได้ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบทุกวันนี้”

ผอ.จีรพงษ์ เล่าเพิ่มเติมว่าอยากให้ห้องเรียนกลายเป็น Safe Zone สำหรับเด็ก ๆ เพราะรอบตัวเด็กมีแต่ฝุ่นพิษแม้กระทั่งในบ้าน ห้องเรียนแห่งนี้จึงเป็นห้องเรียนปลอดภัย และสร้างความสบายใจให้ทั้งกับครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองด้วย

“เด็กบางคน บ้านมีฐานะดี ที่บ้านก็จะมีเครื่องฟอกอากาศ แต่เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราคิดว่าคงจะดีกว่าหากเด็กทุกคนได้อยู่ในที่ที่มีอากาศสะอาด แม้จะเป็นเพียงแค่ในช่วงหนึ่งของวันก็ยังดี และเราอยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่นั้นสำหรับพวกเขา และยังทำให้ผู้ปกครองสบายใจด้วยว่าเมื่อลูกหลานเขามาโรงเรียน ที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”

ปลูกฝังระดับจิตสำนึก เมื่ออากาศสะอาดเป็นสิทธิของเราทุกคน

โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร เชื่อว่าการให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็ก ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ข้อมูลที่เด็กได้ยิน-ได้ฟังทุกวัน จะนำไปสู่การตระหนักถึงพิษภัย ตลอดจนการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง

“ชาวบ้านที่นี่เคยชินกับการอยู่ในอากาศแบบนี้มานานหลายชั่วอายุคน ทุกคนรู้ว่ามันเป็นอันตราย แต่ในเมื่อยังไม่เห็นผลเสียทันตา ก็ได้แต่ต้องทนอยู่ไปในสภาพแบบนี้ต่อไป เราจึงอยากปลูกฝังเรื่องนี้ให้ชาวบ้านตั้งแต่ยังเด็ก”

ผอ.จีรพงษ์ บอกว่า ที่โรงเรียนจะมีคณะกรรมการนักเรียนทำหน้าที่จดบันทึกค่าฝุ่นทุกวัน มีการแสดงสัญลักษณ์ด้วยสีธงหน้าโรงเรียนตามค่าฝุ่นที่วัดได้ในแต่ละวัน ที่เป็นเหมือนการแจ้งเตือน เพื่อให้ทั้งเด็กนักเรียนและชาวบ้านในพื้นที่รับรู้สถานการณ์ร่วมกันเพื่อจะได้เตรียมตัว วางแผน ออกแบบกิจกรรมในแต่ละวันได้ถูกต้อง

“นอกจากสีธงแล้ว เราจะใส่ความรู้เรื่องค่าฝุ่นไว้บนปกสมุดนักเรียนคู่ไปกับสูตรคูณหรืออาขยาน เพื่อให้เขาซึมซับ และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงพิษภัยใกล้ตัวเช่นนี้ เป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ต้องใช้เวลาไม่น้อย แต่เป็นเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะหากรอให้ถึงวัยผู้ใหญ่ อาจสายเกินไปเสียแล้วที่จะเปลี่ยนแปลง

เรื่องราวของโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อาจเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาฝุ่นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่มีใครควรจะอยู่กับมันด้วยความเคยชินอีกต่อไป ในวันที่รัฐยังไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ภาคประชาชนเองก็สามารถลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ รอบตัวเรา

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist