คุณคิดว่า “ไฟป่า” ในประเทศไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ธรรมชาติ ปากท้อง หรือว่าความขัดแย้ง?
นี่เป็นคำถามของบทสรุปจากสารคดี “ไฟป่าลามเมือง” ความจริงในโลกสมัยใหม่ สอนให้เรากล้าตั้งคำถามและเชื่อว่าความจริงไม่ควรถูกใครสถาปนาอยู่เพียงฝ่ายเดียว ทุกคำตอบ มีเหตุผลอธิบายในตัวของมันเสมอ
ปัญหา “ไฟป่า” จึงหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ป่าไม้แถบภาคเหนือ ร้อยละ 45 ของป่าทั้งหมดเป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ ช่วงหน้าแล้งตามธรรมชาติของป่าก็ย่อมผลัดใบเพื่อรักษาความสมดุล และอย่างที่เราเคยท่องจำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า การเสียดสีของกิ่งไม้ ประกอบกับองศาที่ร้อนระอุยามหน้าแล้ง อาจทำให้เกิดประกายไฟ ลุกลามกลายเป็นเปลวเพลิงทั่วผืนป่า หรือ “ไฟป่า” นั่นเอง
คุณคิดว่า “ไฟป่า” ลักษณะนี้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่ ในประเทศไทย
“ไฟป่าในบ้านเราเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เกิดจากฝีมือมนุษย์” นี่คือคำตอบที่กลั่นมาจากประสบการณ์ของ ดุลยฤทธิ์ ฤทัยอรุณรัตน์ อดีตผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า เขายังบอกอีกว่า ไฟป่าที่เกิดจากธรรมชาติในบ้านเรา แทบไม่มีอีกแล้ว! เพราะทุก ๆ ปี มีการจัดการเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า “ชิงเผา” นั่นเอง
ถ้าเกิดจากฝีมือมนุษย์ เกษตรกร คือ “มือเผา” ใช่หรือไม่ ?
มนุษย์ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะเรามีเหตุผลรองรับการกระทำของเผ่าพันธุ์เสมอ เป็นสังคมอุดมเหตุผล แต่หลายครั้งเรากลับไม่เปิดใจฟังเหตุผลของอีกฝ่าย อคติจึงทำให้ประตูทางออกลางเลือน? หรือแทบจะปิดตาย
เกษตรกรบนพื้นที่สูงถูกกล่าวโทษตัดสิน โดยไม่ทันได้ไต่สวน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชเชิงเดี่ยวที่ปลูกสุดลูกหูลูกตา ในพื้นที่การเกษตรทั้งที่ราบและที่สูงในแถบภาคเหนือ คือ จำเลยของเรื่องนี้
ที่มาของการขยายพื้นที่ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้หลักการ แต่เติบโตตามนโยบายของรัฐบาลที่หวังส่งเสริมพืชทนแล้งไร้น้ำ เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ให้กับเกษตรกร และขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2504
ฐิติพันธ์ พัฒนามงคล สรุปไว้ในบทความ เบื้องหลังไร่ข้าวโพด เบื้องลึกเขาหัวโล้นและไฟป่า ว่า “การทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสาเหตุสำคัญของการบุกรุกป่าต้นน้ำและปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ”
การจัดการวัชพืชในไร่เชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง วิธีที่ง่ายสะดวก ลดต้นทุน และเหมาะสม คือ การใช้ไฟ หลังฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง การทิ้งไร่ในเดือนพฤศจิการยน-ธันวาคม เพื่อให้วัชพืชแห้ง จากนั้นก็จะค่อย ๆ ทยอยเผา เกิดขึ้นแทบจะทุกพื้นที่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนหมดฤดูร้อน และต้องเผาให้เสร็จก่อนที่ฝนจะมา และเมื่อน้ำทิพย์จากฟ้ามาโปรด ฤดูแห่งการเพาะปลูกรอบใหม่ก็มาเยือน นี่คือวิถีของเกษตรผู้รอฟ้าฝน ไม่เปลี่ยนแปลงมาหนึ่งชั่วอายุคน มีเพียงป่าที่เปลี่ยนเป็นไร่ เงิน และสภาพอากาศที่มาผิดนัดทุกปี
ทองอิน ปินคำ เกษตรกรปลูกข้าวโพด ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เขาเล่าให้ฟังถึงเหตุผลของการบุกเบิกพื้นที่ป่าในอดีตสู่การเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
“ค่าใช้จ่ายสูง พ่อก็จำเป็น ชาวบ้านชุมชนก็จำเป็นหารายได้ให้มันพอกับค่าใช้จ่าย ลูกไปเรียนหนังสือ พอไม่มีเงินก็ไปยืม ได้มีเงินเหมือนเพื่อนบ้าน ก็เลยจำเป็นต้องขยายพื้นที่ ปลูกข้าวโพด มีตลาด มีที่ขาย มีตลาดรองรับ ได้เงินทันทีไม่มีการเชื่อ ไม่มีการเบี้ยวกันก็เลยปลูกข้าวโพด”
มีพืชอีกหลายชนิดที่ถูกปลูกในพื้นที่เกษตรบนพื้นที่สูง อย่างเช่น อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากข้าวโพด ชาวบ้านยังปลูกถั่วแดง ถั่วดำ พวกเขาบอกว่าพืชชนิดนี้ก็ต้องใช้วิธีการเผาไม่ต่างจากข้าวโพด แต่ว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องเผาทุกรอบ แต่ทุกครั้งที่จะทำการเผา ชาวบ้านจะทำแนวกันไฟ และเฝ้าไร่จนกว่าไฟจะดับ เพื่อป้องกันไฟลามเข้าป่าหรือพื้นที่อื่น เช่นเดียวกับการทำไร่หมุนเวียน ชาวบ้านก็มีการใช้ไฟ และยังเคารพเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ต่อลมหายใจในฤดูแล้วฤดูเล่า
“ไฟไร่” จึงเป็นไฟที่มีการควบคุม แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธว่า “การเผา“ ในพื้นที่เกษตร คือ ส่วนหนึ่งของปัญหาหมอกควันภาคเหนือ แต่ไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร ไม่ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ
ผลการวิเคราะห์พื้นที่เผาไหม้ 9 จังหวัดภาคเหนือ จากข้อมูลดาวเทียม Landsat-8 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2563 พบว่า มีพื้นที่เผาไหม้สะสมรวมทั้งสิ้น 8,615,470 ไร่ หากดูพื้นที่เผาไหม้แยกตามการใช้ประโยชน์ที่ดินพบว่า ป่าอนุรักษ์ 4,117,521 ไร่ เขต สปก. 257,761 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ 3,747,156 ไร่ พื้นที่ริมทางหลวง 7,764 ไร่ พื้นที่เกษตร 267,276 ไร่ ชุมชนและอื่น ๆ 217,993 ไร่ จากข้อมูลนี้จะเห็นว่า ไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า มีมากกว่าพื้นที่เกษตร ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มี เกิน 10 เท่า ส่วนไฟที่เกิดในพื้นที่ชุมชน และอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นไม่น้อย และต่างจากพื้นที่เกษตรราว 50,000 ไร่ เท่านั้น
กรมควบคุมมลพิษ อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลข้างต้นเป็นการรวมพื้นที่เกษตรในเขตป่าไว้ด้วย มีทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย จึงไม่สามารถที่จะระบุข้อมูลชัดเจนได้ว่ามีสัดส่วนเท่าไรที่ทำการเกษตรในเขตป่า และเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการที่เคยร่วมลงพื้นที่ สังเกตว่า พืชที่พบมากที่สุด คือ ข้าวโพด ข้อมูลนี้สอดคล้องกับที่ทีมสารคดีพบเห็นว่ามีการทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ป่าจริง บางจุดลึกและชัน ต้องใช้เวลาเดินเท้าเข้ามาหลายกิโลเมตร
แม้ว่ายังไม่มีตัวเลขที่ระบุได้ชัดเจนถึงจำนวนไร่ข้าวโพด หรือ การทำเกษตรในพื้นที่ป่า แต่หากดูจากจุดความร้อน ที่แยกพื้นที่เกษตรออกจากป่าแล้ว ก็ยังพบว่า ไฟในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ยังสูงที่สุด ข้อมูลจุดความร้อนสะสมจาก NASA FIRMS ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562- 31 กรกฏาคม 2563 พบว่า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบจุดความร้อนสะสม จำนวน 8 หมื่กว่าจุด ร้อยละ 90 พบในเขตป่า แบ่งเป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 82 ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า พบเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น
จากข้อมูลนี้ สรุปได้ว่า “หมอกควัน” มาจากไฟในพื้นที่ป่ามากที่สุด ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ ก็มีโอกาสปล่อยหมอกควันในระดับที่ไม่แตกต่างกัน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ทำเกษตรบนพื้นที่สูง เกษตรกรไร่เชิงเดี่ยว กลายเป็นจำเลยของสังคมแต่เพียงกลุ่มเดียวหรือไม่ การปรับตัว การรับมือ การแก้ไขปัญหา พวกเขาคือกลุ่มคนที่คอยเสียสละในมาตรการ “งดเผา” ยิ่งกว่านั้นชาวบ้านที่อยู่กับป่า ยังคือคนเดียวกันกับอาสาดับไฟ ที่เอาชีวิตไปเสี่ยง บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต
แล้วใคร “จุดไฟ” ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ
เซ็นเซอร์ดาวเทียม Suomi NPP ระบบVIRS รายงานจุดความร้อนเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ช่วงต้นฤดูไฟป่า มีจุดความร้อน 1,281 จุด การรายงานจุดความร้อน ในงานข่าวและในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มีการใช้ข้อมูลที่สับสนไม่น้อย
เจ้าหน้าที่จะใช้ข้อมูลจากระบบนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มไฟขนาดเล็ก สำหรับการเข้าถึงพื้นที่เพื่อสกัดไฟไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง และจุดความร้อนจากระบบนี้ จะไม่บันทึกในระบบ แต่จะใช้ข้อมูลจาก MODIS ควบคู่กับการดูพื้นที่เผาไหม้ ดังนั้น จุดความร้อนที่รายงานในระบบVIRS จะสูงกว่าระบบ MODIS
การรายงานจุดความร้อนที่ไทยใช้อยู่ ข้อมูลไม่ใช่แบบเรียลไทม์ แต่เป็นข้อมูลย้อนหลัง สมบัติ บุญงามอนงค์ ผอ.มูลนิธิกระจกเงา และยังเป็นกลุ่มคนอาสาดับไฟป่า เห็นว่า นี่เป็นข้อจำกัด และทำให้ไฟลุกลามไปมากแล้ว กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดับทัน
“ไฟป่าที่รายงานว่าเกิดจุดความร้อน 200 จุด คุณคิดว่า มีคนเผาทั้ง 200 จุดหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่ อาจมีคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่เผาเพียงแค่ 5 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดับไฟได้ทัน ข้อมูลรายงานตีสอง เจ้าหน้าที่ไปตอนเช้า มันก็ลาม และไฟป่ามันยกกำลังจาก 3 เป็น 5 เป็น 10 หากดับไม่ทัน มันก็กลายเป็นไฟป่าที่รุนแรง ถึงเวลานั้นใครก็ดับไม่ได้รอฝนอย่างเดียว”
จากประสบการณ์ของเขา ยังเล่าอีกว่า การดับไฟป่าทุกวันนี้ ใช้พลังงานทั้ง 100% แต่ 90% หมดไปกับการเดินหาไฟ พื้นที่ทั้งไกลและชัน มีแค่ 10% เท่านั้น ที่ใช้พลังงานในการดับไฟจริง ๆ ประสบการณ์ของเขาตรงกันกับทีมสารคดี “ไฟป่าลามเมือง” ทีมงานติดตามภารกิจการดับไฟของเหยี่วไฟ กรมป่าไม้ ใช้เวลาครึ่งวัน ถึงจะเข้าถึงเพลิงและกว่าจะถึง ก็มักพบว่า ไฟป่าได้ไหม้พื้นที่เป็นวงกว้างแล้ว บางจุดไฟอยู่ในเหว ชัน เกินกว่าที่จะเข้าถึงได้
“น่าสงสัยจริง ๆ ว่า หากมีคนเผาป่า พวกเขาก็ต้องเดินเท้ามาไกลและลึกเหมือนกัน และจะเผาป่าบริเวณนี้เพื่ออะไร”
หาของป่ายามหน้าแล้ง นี่คือคำตอบสุดคลาสสิก แต่เราไม่สงสัยหรือว่า ตอนนี้มีชาวบ้านกี่เปอร์เซ็นต์ ที่ยังใช้วิธีนี้อยู่ เห็ดเผาะ น้ำผึ้งป่า คือ ต้นเหตุของการเผาป่าจริงหรือ? ถ้าจริง สัดส่วนที่ป่าถูกเผา มันมากเกินกว่าที่จะรองรับด้วยเหตุผลนี้หรือไม่
“ไฟการเมือง” ยังมีไฟในมิตินี้อีก วรรณสิงห์ ประเสริฐ์กุล นักเขียนและผู้ผลิตรายการสารคดี ที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ บอกว่า “มีการกลั่นแกล้งกัน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น”
สมุดปกฟ้า อากาศสะอาด เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เคยอธิบายมิตินี้ไว้เช่นกันว่า “การเผาเพื่อให้ได้งบประมาณสนับสนุนการป้องกันไฟป่าในพื้นที่”
บทส่งท้าย
ไม่ว่าสาเหตุ “ไฟป่า” ต้นเหตุหมอกควัน จะเกิดขึ้นในมิติใดบ้าง การกล่าวโทษกันไปมาคงไม่ใช่ข้อสรุปที่เราต้องการคำตอบ และบางเรื่องคงไม่มีสูตรสำเร็จ
แต่จะดีกว่าไหม? หากเราคุยกันบนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง เพราะอย่างน้อย เราจะพบทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ต่างออกไป
หากคุณอ่านถึงบรรทัดนี้ คุณคิดว่า “ไฟป่า” เกิดจากอะไร ธรรมชาติ ปากท้อง ความขัดแย้ง
มุมมองใหม่อาจเป็นกุญแจนำพาเราสู่การแก้ปัญหา “หมอกควัน”
ชมสารคดี “ไฟป่าลามเมือง” (14 มี.ค. 64)