ดับ “ไฟป่า” ต้องพึ่งเทคโนโลยี ใช้ข้อมูลแม่นยำสกัดจุดความร้อน

ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ชี้ ใช้สรรพกำลังแค่ 10% ที่เหลือ คือ เดินหาตำแหน่งไฟ ภาคประชาสังคม เสนอใช้นวัตกรรมชี้พิกัดแม่นยำ ใช้ข้อมูลจุดความร้อนเรียลไทม์ ผนึกยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน

12 มี.ค. 2564 – Active Talk  เปิดพื้นที่ ฟังมุมมอง “ปัญหาไฟป่า”  ผ่านอาสาดับไฟ สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนและผู้ผลิตรายการสารคดี ผู้ผลักดันและเคลื่อนไหวทั้งการสื่อสารและระดมทุนสนับสนุนงานดับไฟ อุปกรณ์ การทำประกันชีวิต รวมถึงฟังข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดจาก ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และโมเดลสภาลมหายใจจังหวัด  งานขับเคลื่อนในนามภาคประชาชน เน้นยุทธศาสตร์เชิงป้องกันผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในพื้นที่ 

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่  บอกว่าสถานการณ์ปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนจุดความร้อนลดลงและดีกว่าปีที่แล้ว แต่ปริมาณค่าฝุ่นกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการทำงานเชิงป้องกันในระดับจังหวัดเข้มข้นและมีการทำงานมาต่อเนื่องก่อนถึงฤดูกาล แต่เนื่องจากภูมิประเทศเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะ เมื่อถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม การระบายตัวของอากาศ หรือ การยกตัวของอากาศไม่ดี ประกอบกับการได้รับฝุ่นจากจังหวัดอื่น ๆ ตามกระแสลม ฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่จึงสะสมตัวหนาแน่น จากข้อมูลดังกล่าว สภาลมหายใจฯ เห็นว่าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจากนี้ ต้องเน้นทำงานควบคู่กับจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีป่าจำนวนมาก และปัญหาฝุ่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากควบคุมได้เพียงแค่พื้นที่เดียว 

“ตอนนี้อยากทำงานเชิงพื้นที่ คุมพื้นที่ที่มีป่าเยอะก่อนอย่างแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก เชียงราย ถ้าคุมพื้นที่เหล่านี้ได้ หมอกควันจะลดลงและจุดความร้อนจะหายไปเกือบครึ่ง”

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนและผู้ผลิตรายการสารคดี ขณะนี้นอกจากจะลงพื้นที่พยายามดึงข้อมูลจากท้องถิ่นเพื่อสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจถึงที่มาของไฟป่าแล้ว ยังเปิดระดมทุนบริจาคเพื่อช่วยอาสาดับไฟป่าผ่านเพจเฟซบุ๊ก Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล)  เขามองสถานการณ์ปัญหาไฟป่าปีนี้ ผ่านจำนวนเงินบริจาค โดยเห็นว่าปีที่แล้วคนภายนอกตื่นตัวต่อปัญหานี้เป็นอย่างมาก มีการช่วยเหลือในช่วงเวลาที่รวดเร็วต่างจากปีนี้ แต่เข้าใจได้ว่าปีนี้สังคมเจอประเด็นปัญหามากมายรวมถึงเศรษฐกิจ ดังนั้น ปีนี้สิ่งที่เขาพยายามจะทำงานต่อ คือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจ และจะเน้นไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่อยู่ในกระแสข่าวทั้งที่ปริมาณค่าฝุ่นสูงที่สุด 

“เราจะพยายามให้ดีกว่านี้ สร้างความเข้าใจอันดีในสังคมว่าไฟมาจากไหนก่อน เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องเอกสารสิทธิ เรื่องเกษตรเชิงเดี่ยวหลายอย่าง เนื่องจากประเด็นทางสังคมเยอะต้องแบ่งทำทีละก้อน หวังว่าเราจะทำเนื้อหา ที่จะนำเสนอผู้คนได้ตลอดทั้งปี พอคนเข้าใจอยากช่วยมากขึ้น เกิดแรงกดดันทางสังคม ให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนขึ้น” 

ไฟยกกำลัง ดับไวไม่ขยาย

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เปิดระดมอาสาดับไฟป่าผ่านเพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิกระจกเงา”  เล่าถึงการทำงานและปัจจัยของความสำเร็จในการดับไฟป่าว่า  พลังงานของการดับไฟเป็นเพียง 10%  ของพลังงานที่ใส่ลงไปทั้งหมด อีก 90 % คือพลังงานที่ต้องเดินทาง เดินเท้า เพื่อไปหาจุดไฟ ดังนั้น หากเราสามารถแก้โจทย์นี้ได้ในเชิงหลักการ จะทำให้พลังงานของเราเต็มประสิทธิภาพ  เรื่องจุดความร้อนเรื่องนี้สำคัญ การมีโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ก็สำคัญ เจ้าหน้าที่ถือพิกัดดาวเทียมตอนตีสอง เป็นตำแหน่งไฟทำงานในตอนเช้า แต่ไฟไม่อยู่ ลามไปไหนต่อไหนแล้ว และกำลังคนของเจ้าหน้าที่ก็ไม่เพียงพอ

“เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า 1 หน่วย ต้องคุม 28 ตำบล ทั้งหน่วยมี 9 คน 2 คนต้องอยู่ออฟฟิศ 7 คน ไปดับไฟ คุณคิดว่าจะดับไฟได้ไหม แล้วถือตำแหน่งพิกัดจุดความร้อนที่ผ่านมาแล้ว 6-7 ชั่วโมง มันทำไม่ได้ ดังนั้นต้องมีโดรน ต้องมีวอร์รูมในจังหวัดใหญ่ ๆ  มีเรียลไทม์ฮอตสปอต บินขึ้นเป็น UAV บินขึ้นไปสั่งการตำแหน่งที่ถูกต้อง”

สมบัติ ยังบอกอีกว่าการขยายตัวของไฟเป็นการขยายตัวแบบยกกำลัง จำนวนจุดความร้อนที่พบหลายร้อยจุด ส่วนใหญ่เกิดจากไฟที่ดับไม่ได้ ซึ่งอาจจะมีคนจุดเพียงไม่กี่คน เราจะทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงต้นเพลิงได้เร็วและใช้สรรพกำลังให้ได้เต็มที่ในการดับไฟ ขณะนี้ มี 2 จังหวัด ที่กดจุดความร้อนอยู่แค่หลักหน่วยเท่านั้น คือ เชียงราย และน่าน  หน่วยงานที่เหลือจะเข้าตีไฟทันทีทันใด เลยทำให้ไฟไม่ถึงหลักร้อย ดังนั้น มิติของคนดับไฟ ต้องลงทุนลงแรงสรรพกำลังในช่วงที่ไฟมันเริ่มต้น ไม่ให้มันขึ้นร้อย ขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีทางดับได้ ตอนนี้ชาวบ้านตื่นตัวเรื่องนี้มาก จิตสำนึกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเรื่อย ๆ 

“เชียงใหม่ เกิดจุดความร้อน  200 กว่าจุด เราคิดว่ามีคนจุดไฟ 200 เหรอ ความจริงมีแค่ 5 คนที่จุด ส่วนที่เหลืออีกร้อยกว่าจุด เกิดจากที่เราดับไม่ได้ พอเราดับไม่ได้มันจะยกกำลังเป็น 3 เป็น 5  ผ่านไป 3 วัน อาทิตย์หนึ่ง มันจึงเกิดขึ้นมหาศาล และมันจะดับไม่ได้แล้ว จะดับได้ก็ตอนต้นเดือนพฤษภาคม คือฝนมา” 

ชัชวาลย์ เสนอเพิ่มเติมว่า อยากให้การระดมสรรพกำลังดับไฟป่า เป็นงานเชิงยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน ไม่ให้เกิดไฟทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ใช้ยุทธศาสตร์แบบโควิด-19 และทำงานขับเคลื่อนก่อนถึงฤดูไฟป่า เสนอแนวทางการดูแลป่า เปลี่ยนจากพืชใช้ไฟ ข้าวโพดเชิงเดี่ยว ให้เป็นพืชที่ไม่ใช้ไฟได้อย่างไร มีกองทุนสำหรับชุมชนที่จะดูแลตลอดทั้งปีได้อย่างไร และนโยบายของรัฐต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจน มีแผนยุทธศาสตร์ทำต่อเนื่องเป็นภาพรวมท้งระบบ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส