โอกาส ‘เปลี่ยน’ กรุงเทพฯ หลังเลือกตั้ง

เมื่อ ‘ชัชชาติ-พิธา’ ชนหมัดลุยแก้ปัญหา กทม.

ภาพการชนหมัดกัน ระหว่าง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ และ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เมื่อสัปดาห์ก่อน กลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับคนกรุงไม่น้อย เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่เคยมีภาพจำว่ามักเป็นไม้เบื่อไม้เมาหรือขั้วตรงข้ามกับ “รัฐบาล” อยู่เสมอ หันมาจับมือร่วมกันทำงาน เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณบวกว่า การทำงานแบบไร้รอยต่อ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้การรับรอง ส.ส. ตามการรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ 151 คน และมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ 32 คน จากทั้งหมด 33 เขต ยังไม่นับว่าหากการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลร่วมกับอีก 7 พรรคสามารถทำได้สำเร็จ นี่จะเป็นเสียงที่มีเอกภาพในสภา หาก ส.ส. ประสานความร่วมมือกัน

ในวาระครบรอบ 1 ปี การทำงานของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” กับการให้คะแนนตัวเองเพียง 5 เต็ม 10 จากอุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องงบประมาณและอำนาจหน้าที่บางอย่างที่ทำให้ไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ ๆ การพบกันครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ที่อยู่เหนืออำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้

กรุงเทพฯ

เมื่อ ‘ชัชชาติ’ ชนหมัด ‘พิธา’

การประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และพรรคก้าวไกล นำโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วยว่าที่ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล จำนวน 29 คน ที่มาร่วมประชุม ‘ชัชชาติ’ นำเสนอ 21 ข้อ เรื่อง “Empower Bangkok” ฝากให้พรรคก้าวไกลช่วยผลักดัน เพราะเป็นเรื่องที่ กทม. ทำเองไม่ได้ ต้องอาศัยอำนาจรัฐส่วนกลาง

  1. การใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน
  2. ร่วมผลักดันโครงการตามวาระแห่งชาติ เรื่องฝุ่น PM2.5
  3. ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
  4. ร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาจราจร
  5. ศึกษาแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำทะเลขึ้นสูง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน
  6. หาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความเป็นจริง
  7. นำสายสื่อสารลงดิน โดย กสทช. กทม. กฟน. และผู้ประกอบการ
  8. หาข้อสรุปร่วมกันสำหรับโครงการรถไฟฟ้า
  9. สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารร่วม รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ให้เป็นระบบเดียว
  10. ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง
  11. พัฒนา Open Bangkok โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐ
  12. ส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมือง
  13. ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
  14. แก้ พ.ร.บ. กทม. ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
  15. เร่งรัดโครงการค้างอยู่ที่ต้องอาศัยเงินจากรัฐบาล
  16. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
  17. ส่งเสริมกลไกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงพยาบาล Bangkok Health Zones
  18. ยกระดับระบบการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการบริหารเรื่องฉุกเฉินตั้งแต่การเผชิญเหตุไปจนถึงการชดเชยค่าเสียหาย
  19. ทบทวนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขและสาธารณภัย
  20. ทบทวนแนวทางการจัดทำความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของเมืองให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น
  21. ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่ผ่านมา แม้ กทม. จะพยายามหาวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาของเมือง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโจทย์ยากของผู้ว่าฯ กทม. คือ โครงสร้างการบริหารและกฎกติกาของ กทม. หลายส่วนยังผูกขาดอำนาจไว้ที่รัฐบาลและราชการส่วนกลาง ในขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารงานพื้นฐานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ โดยตรง ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมา กทม. อาจจะเห็นข้อจำกัด ดังนั้น เมื่อมีโอกาสทำงานร่วม ทั้ง 21 ข้อเสนอจึงถูกสื่อสาร

สอดคล้องกับ ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ที่มองว่า อำนาจการบริหารที่มี มีข้อจำกัด จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลาง

“กทม. แม้จะเป็นท้องถิ่นพิเศษ แต่ไม่ได้มีอำนาจพิเศษมากเท่าที่ควร ภายใต้เงื่อนไขการกระจายอำนาจของเมืองไทย ก็ไม่ได้ให้อำนาจเต็มมือ ทำได้ก็ในเรื่องการประสานงาน เชื่อมต่อการทำงานกับรัฐส่วนการ ดังนั้น ทิศทางทางการเมืองและแนวนโยบายของรัฐส่วนกลางจึงมีผลมากต่อการเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อน กทม.”

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล 

ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง กับดักการพัฒนาเมือง

โครงสร้างอำนาจและการบริหารจัดการ ของกรุงเทพมหานคร จำกัดขนาดไหน ยกตัวอย่างเรื่องถนนหนทาง ไม่ว่าจะเป็น การกำกับควบคุมการใช้รถใช้ถนน ที่ต้องใช้อำนาจตำรวจจราจร โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, การเดินรถโดยสารประจำทาง เป็นอำนาจของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), ไฟฟ้า ประปา ก็ต้องใช้วิธีการประสานงานกับหน่วยงานอย่างการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการบริหารจัดการของ กทม.​ ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ทำให้นักวิชาการมองว่ามีปัญหาในตัวเอง แม้ว่าจะเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่อำนาจของผู้ว่าฯ ไม่พิเศษ

ขณะที่ปัญหาเรื่องงบประมาณก็สำคัญ เห็นได้จากงบประมานปี 2565 ทั้งหมดกว่า 9 หมื่นล้าน แต่เกือบ 70% ของงบฯ ทั้งหมด ‘ถูกล็อก’ ไว้ใช้จ่ายตามภารกิจที่ส่วนกลางกำหนด และเหลือให้ผู้ว่าฯ กทม. บริหารได้จริงแค่ 23,249 ล้านบาทเท่านั้น กับภารกิจที่มีมากมาย

ยกตัวอย่างเฉพาะการดูแลเส้นทางสายต่าง ๆ มีทั้งถนนสายหลัก ถนนสายรอง และถนนโครงข่ายจราจร กินระยะทางรวมมากกว่า 3,760 กิโลเมตร โดยเป็นอุโมงค์ทางลอดรถยนต์และคนเดินกว่า 3.3 กิโลเมตร ทางต่างระดับ 7.5 กิโลเมตร และสะพานข้ามทางแยก 37.3 กิโลเมตร ตลอดจนหน้าที่ดูแลคู คลอง ลำราง ลำกระโดง คิดเป็นระยะทางรวม 2,741 กิโลเมตร 

ยังไม่รวมกับภารกิจอื่น ๆ เช่น โรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง มีนักเรียนรวม 261,160 คน ปริมาณขยะที่ต้องจัดการต่อวันมากถึง 10,000 ตัน โรงพยาบาลในสังกัด 12 โรงพยาบาล 2,600 เตียง 5.4 ล้านคน ในทะเบียนบ้าน ประชากรนอกทะเบียน 10 ล้านคน

ที่มา : 101PUB

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของโครงสร้างที่มีปัญหา เพราะ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแค่กรอบหลักการ แต่ในรายละเอียดหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยังติดอยู่กับ พ.ร.บ. ที่กำกับตัวเองอยู่ จะทำอะไรต้องอิงกับข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่มี ทำให้ติดข้อจำกัดเยอะมาก แต่ กทม. เองก็พยายามจะก้าวข้าม อย่างการไฟฟ้าหรือประปา ก็ไม่สามารถไปสั่งเขาได้ กทม. ทำได้เพียงสร้างความร่วมมือกัน เพื่อแชร์ข้อมูลบูรณาการทำงานหรือในเรื่องสาธารณสุข

“บางครั้งก็ยอมรับว่าล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรที่มีจำกัด กับความต้องการที่เกินกว่า เรื่องนี้ต้องหารือกับรัฐส่วนกลางต่อไปว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขข้อจำกัดในเชิงโครงสร้างผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่เดิม”

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สิ่งที่ กทม. พยายามทำที่ผ่านมา คือนโยบายเส้นเลือดฝอย และการทดลองเปลี่ยนเมืองด้วยแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) รศ.ทวิดา อธิบายว่า กทม. ใช้กลยุทธ์การทำแซนด์บ็อกซ์หรือพื้นที่ทดลอง เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้ กทม. ได้เคลื่อนไหวเรื่องใหม่ ๆ แก้ปัญหาเรื่องย่อย ๆ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยตัวอย่างพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เช่น BMA feeder หรือรถบัสไฟฟ้าให้บริการ โดย สำนักการจราจรและขนส่ง ให้บริการรถรับส่งนักเรียนบนถนนสามเสน เพื่อแก้ปัญหารถติดจากกรณีปิดเส้นทางการจราจรบางส่วนเพื่อดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง และเปิดโอกาสของการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนให้โรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียนของตัวเอง

การขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวย่านพระโขนง-บางนา โดยทดลองนำร่องนโยบายพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ด้วยแนวทางการออกแบบสวน 15 นาทีในย่านพระโขนง-บางนา ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง นำร่อง 3 พื้นที่ คือ 1) พื้นที่วชิรธรรมสาธิต 35 2) พื้นที่หน้าสำนักงานขนส่ง กทม. พื้นที่ 3 หรือสวนเพลินพระโขนง และ 3) พื้นที่ท่าน้ำสรรพาวุธ บางนา โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้าง ในกรรมสิทธิ์ที่มีเจ้าของแตกต่างกัน

Hack Bkk แก้ปัญหา กทม.​ ด้วยเทคโนโลยี โดยยกตัวอย่างหนึ่งในกิจกรรมช่วง เทศกาล “บางกอกวิทยา” ให้ประชาชนและข้าราชการได้มีส่วนร่วมในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเมืองและขับเคลือนนโยบายให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมสตาร์ทอัพไทย

รวมถึง แซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพ กทม. เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมืองครบวงจร ที่เริ่มต้นนำร่องทดลองใน 2 พื้นที่ คือ ราชพิพัฒน์โมเดล และ ดุสิตโมเดล ที่เตรียมทำให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ด้วยการแบ่งโซนสุขภาพออกเป็น 7 โซน หรือที่เรียกว่า Bangkok Health Zoning ในการพัฒนาระบบปฐมภูมิ หรือหน่วยการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้ง่ายขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ด้าน พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจะก้าวให้ไกลต้องก้าวด้วยกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่ทางพรรคก้าวไกลคิดมาโดยตลอดในการทำงานอย่างไร้รอยต่อ ปัญหาหลาย ๆ เรื่องในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเก่าที่มีมานานหรือปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ระดับนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานคร ทั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ กฎหมาย หรือแม้แต่การประสานงานกัน ก็สามารถที่จะทำให้ กทม. ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

“วันนี้ได้มารับข้อเสนอจากผู้ว่าฯ ทั้งหมด 21 ข้อ ซึ่งท่านทำคนเดียวไม่ได้ ท่านต้องประสานงานกับเรา เพื่อที่จะให้เรา ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. 32 คน ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี หรือที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ก็ดี ในการผ่านกฎหมายให้ท่านผู้ว่าฯ ทำงานได้ เช่น การแก้ไขปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเดินทางของรถยนต์ ถ้าเป็นรถขนาดต่ำกว่า 4 ล้อ กทม. มีอำนาจในการตรวจ แต่หากขนาดมากกว่า 4 ล้อ จะเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อ หรือที่เรียกว่า Seamless Bangkok ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้”

‘ก้าวไกล’ เตรียมเสนอกฎหมาย 45 ฉบับ ดัน ‘เลือกตั้งผู้อำนวยการเขต’

พิธา กล่าวในที่ประชุมอีกว่า ประเด็นที่ 2 คือ กฎหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลต้องการจะนำเสนอ และเป็นกฎหมายที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ที่ กทม. นั่นคือการเสนอพระราชบัญญัติกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต

ด้าน ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Active ก่อนหน้านี้ว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เป็นปัญหา เพราะในช่วงการบริหารประเทศโดยรัฐบาล คสช. มีผลพวงต่อการทำรัฐประหารสำคัญในพื้นที่ คือการตรวจสอบการทำงานระดับเขต นั่นคือ สภาเขต ที่มีสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ทำให้ไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างคนในเขตกับตำแหน่งผู้อำนวยการเขต

“ตัวผู้อำนวยการเขตไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น อาจจะมาจากการแต่งตั้งก็ได้ แต่ความสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การตรวจสอบ หากเลือกตั้งมาแล้วตรวจสอบไม่ได้ก็ไม่มีประโยช์ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละเขตในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนอาศัยอยู่มหาศาล ไม่มีระบบสภาของตัวเอง ไม่มีระบบที่จะเอื้อให้เกิดการปรึกษาหารือของคนในเขตของตัวเองเลย เพราะปัจจุบันมีผู้แทนเขตเพียง 1 คน คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีผู้อำนวยการเขตที่ถูกส่งมาจากผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีสภาเขต เหมือนก่อนหน้านี้ และไม่มีเครือข่ายในพื้นที่ ที่จะสามารถนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้ของคนแต่ละเขต”

ผศ.พิชญ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า หากให้ ส.ข. กลับมามีที่ทางในโครงสร้าง กทม. ​ก็ต้องไม่เหมือนเดิม กล่าวคือ ในระบบตัวแทนของแต่ละเขตอาจจะต้องออกแบบใหม่ อาจจะเลือกเป็นเขตย่อย หรืออาจจะแบ่งเลือกตามลักษณะของชุมชน พร้อมย้ำว่า ตอนนี้เราไม่มีสภาอะไรเลยที่จะคอยตรวจสอบผู้อำนวยการเขต ไม่มีโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ให้สามารถตรวจสอบการทำงานของผู้อำนวยการเขตและตัวเขตของ กทม.​ ทั้งหมดเลย ทั้งที่เขตรับนโยบายจากสำนักต่าง ๆ ลงมาทำงาน แต่ไม่มีการตรวจสอบในระดับเขต

คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพฯ-ก้าวไกล

ประเด็นที่ 3 คือการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่าง กทม. กับพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลได้นำเสนอ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธานทางฝั่งของพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการซึ่งมาจากฝั่งของพรรคก้าวไกล ในส่วนของ กทม. มอบหมายให้ ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานฝั่ง กทม. เพื่อให้เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่ออย่างเป็นรูปธรรม หลังจากนี้ จะกำหนดประเด็นพิจารณาและจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ต่อไป

“ตอนนี้ได้ให้ประธานทั้ง 2 ฝั่ง ไปกำหนดหารือเป็นเรื่อง ๆ ไป รวมถึงจะเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีความรู้ในแต่ละเรื่องเข้ามาร่วมพูดคุย และแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานกัน ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ว่าฯ เรื่องที่ 1 คือ การบริหารน้ำท่วม และการป้องกันน้ำทะเลหนุน เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของคมนาคม ปัญหารถติด การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไข การให้ระบบ Feeder เพื่อให้การเดินทางไร้รอยต่อ ลดการใช้พาหนะส่วนบุคคล เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งการทำงานเป็นเชิงมหภาค บางเรื่องเป็นระดับภูมิภาค และบางเรื่องเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทั้ง 3 เรื่องนี้ ทำให้ต้องมีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ.อากาศสะอาด รวมถึงการทำงานของกระทรวงต่างประเทศ การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องของการประสานงานกันภายในพื้นที่ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ด้าน พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ เปิดเผยกับ The Active ว่า พรรคก้าวไกลได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยในเนื้อหามีรายละเอียดหลายเรื่อง เช่น เรื่องการเลือกตั้งผู้บริหารระดับเขต หรือแม้แต่การแบ่งเขตพื้นที่ของสำนักงานเขต เพราะปัจจุบันหลายพื้นที่มีความหนาแน่นของประชากรแตกต่างกันมาก รวมถึงการทำประชามติในกรุงเทพฯ เรื่องขอบข่ายอำนาจ งบประมาณ ด้วยหวังว่า กทม. สามารถผลักดันประเด็นต่าง ๆ โดยก้าวข้าวข้อจำกัดที่มีอยู่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จะต้องมาหารือกับทางผู้ว่าฯ ผู้บริหาร กทม. อย่างต่อเนื่องถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสม ซึ่งข้อเสนอทั้ง 21 ข้อที่ได้รับในเบื้องต้นก็จะต้องกลับไปพิจารณาด้วย กับทีมงานฝ่ายต่าง ๆ ที่ดูแลในแต่ละประเด็น เช่น เรื่อง Open Bangkok สอดรับกับนโยบาย Open Goverment ของพรรคก้าวไกล ก็ให้ฝ่ายดิจิทัลของพรรค รับช่วงดูแลในรายละเอียดต่อไป

“หลังจากนี้จะเป็นการคุยกันหลังบ้านระหว่าง กทม. และก้าวไกล เพื่อปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. ให้ได้มติที่เห็นชอบระหว่างกัน เพราะถ้าเรารอสภาเปิดแล้วยื่นไปเลย สุดท้ายก็ต้องให้ กทม.​ เข้าไปร่วมพิจารณาอยู่ดี จะเป็นการล่าช้า ก็ใช้ช่วงเวลาตอนนี้ที่มีดำเนินการไปก่อน ในรายละเอียดต้องหารือกัน เช่น ถ้าจะแก้ไขเรื่องการเลือกตั้ง ผอ.​เขต จะหมายถึงกี่เขต และต้องเปลี่ยนเขตการปกครองไหมเพราะบางเขตมีประชากรหลักหมื่น บางเขตหลักแสนคน หรือถ้าจะมี สภาเขตด้วยจะต้องมี ส.ข. กี่คน”

ทั้งนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ระหว่างที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาลนั้น ส.ส.ก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งใน กทม. ทั้ง 32 คนได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมาก นับพันเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องเป็นบทบาทของ กทม. ที่แก้ไขได้ จึงต้องมีการหารือถึงแนวทางกับทีมบริหาร กทม. ​ด้วย และยังก็เตรียมจะทำช่องทางการสื่อสารเพื่อตอบคำถามกับประชาชนต่อไป

การผนึกกำลังของผู้ว่าฯ กทม. ที่มีฉายาว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ฮอตติดกระแสที่สุดในเวลานี้ น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีพลังอย่างมาก เพื่อทำให้ระบบการบริหาร กทม. ที่ใคร ๆ ก็ว่ามีปัญหา ข้อจำกัด สามารถแก้ไขและก้าวผ่านไปได้ ด้วยเสียงที่มีเอกภาพในสภา และยิ่งถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลด้วยแล้ว คงจะต้องหอบความหวังของคนกรุงเต็มไม้เต็มมือกันเลยทีเดียว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้