“ดีใจมากที่มีหมอเข้ามาตรวจ เพราะให้ต่อแถวรอตามจุดที่เขาตั้งไว้คงไม่ได้ตรวจ ขนาดออกไปรอตี 4 ตี 5 ยังไม่ได้ตรวจเลย คนเต็มไปหมด”
เสียงสะท้อนหนึ่งจากชาวชุมชนวัดสิงห์ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร หลังได้มีโอกาสตรวจโควิด-19 เป็นครั้งแรก จากการลงพื้นที่ตรวจเชื้อเชิงรุกของ “กลุ่มแพทย์ชนบท” ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญตั้งแต่วันที่ 14-16 ก.ค. 2564
“ชุมชนวัดสิงห์” เป็น 1 ใน 30 ชุมชนกรุงเทพมหานคร ที่ทีมแพทย์ชนบทเลือกเข้าไปทำภารกิจครั้งนี้ จากการตั้งหลักเกณฑ์ว่า ควรเป็นชุมชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการตรวจเชื้อเชิงรุก ประชากรหนาแน่น อยู่รวมกันแออัด และที่สำคัญ คือ มีผู้ติดเชื้อตกหล่นในชุมชนก่อนหน้านี้แล้ว
ใน 30 ชุมชนนี้ ยังรวมถึง “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ด้วย ที่แม้จะถูกปิดจากคำสั่งของ ศบค. ในการควบคุมโรคมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 แต่ภายในแคมป์ก็ยังมีผู้ติดเชื้อตกหล่น หรือยังไม่รับการตรวจ คนกลุ่มนี้มีทั้งคนไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วยิ่งซับซ้อนและขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข
“แพทย์ชนบท” แบ่งทีมทำงานเป็น 6 ทีม กระจายไปตามจุดต่าง ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนใน 3 วัน เพื่อให้ครบ 30 ชุมชน ตั้งเป้าตรวจให้ได้ประมาณ 2-3 หมื่นคน
เฉพาะจุดตรวจโควิด-19 วัดสิงห์ เขตจอมทอง เจ้าหน้าที่ประจำจุดนี้เพียงครึ่งวัน สามารถตรวจคัดกรองเชิงรุกได้ประมาณ 1,000 คน ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) ที่รู้ผลภายใน 30 นาที ซึ่งเบื้องต้น พบ 30 คนมีผลเป็นบวก
การจัดการหลังพบผลบวกเบื้องต้น คือ แยกคนกลุ่มนี้ออกมาเพื่อรอตรวจ Swab RT-PCR อีกครั้ง หากผลยืนยันติดเชื้อ ก็จะแยกผู้ติดเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยชุมชน หรือ Community Isolation (CI) โดยชุมชนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะใช้วัดสิงห์เป็นโรงพยาบาลสนาม หลังการตรวจคัดกรองเสร็จสิ้นลง
การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากการประสานผ่านตัวแทนชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่
ศบค. กทม. ล้มเหลวจัดการโควิด-19
แม้ภารกิจของกลุ่มแพทย์ชนบทจะได้รับความร่วมมือจากชุมชน และมาในฐานะตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ในนาทีวิกฤตและฉุกเฉิน ไม่มีใครคิดว่าต้องเผชิญกับเส้นแบ่งของสังกัดหน่วยงาน แต่เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นที่ “ชุมชนคลองสามวา”
ชุมชนแห่งนี้ ต้องใช้สถานที่บริเวณข้างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นลานเล็กและแคบสำหรับให้ทีมแพทย์ชนบทเข้าตรวจเชื้อในช่วงครึ่งวันเช้า จากผู้ที่ขอเข้ารับการตรวจถึง 650 คน เราจึงเห็นภาพของผู้คนจำนวนมากที่ต้องตากแดดรอการตรวจหาเชื้อ บ้างก็ใช้เงาจากเสาไฟฟ้าเพื่อบังแดด ทำให้การตรวจคัดกรองในจุดนี้เป็นไปอย่างทุลักทุเล
“ชำนาญ รัตนพันธ์” ประธานเครือข่ายชุมชนคลองสามวา บอกกับ The Active ถึงปัญหาที่ผ่านมาว่า ชุมชนเคยประสานขอตรวจเชิงรุกไปยังหน่วยงานของ กทม. และผู้อำนวยการเขตในฐานะ ผอ.ศบค.เขต ตามโครงสร้างที่ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ศบค. กทม. ที่ประกาศออกมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดในภาวะฉุกเฉิน
แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ตลอดช่วง 3 เดือนหลังเกิดการระบาดรอบที่ 3
ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างในชุมชน 3 ราย และยังไม่เคยมีการตรวจเชิงรุก
หลังจากที่เขารู้ข่าวว่า สปสช. จับมือกับแพทย์ชนบท จะตรวจหาเชื้อให้กับชุมชนในกรุงเทพฯจึงพยายามประสาน จนได้รับการตรวจในที่สุด แต่เมื่อทำเรื่องขอใช้สถานที่ ลานกีฬาภายในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตคลองสามวา กลับได้รับการปฏิเสธจากผู้อำนวยการเขต และผู้อำนวยการโรงเรียน แม้จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอไปแล้ว
“นี่สะท้อนระบบราชการที่ล่าช้า ไม่ทันกับสถานการณ์วิกฤต ความเป็นความตายของประชาชน รู้สึกเจ็บใจ ปวดใจ ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของพื้นที่ จนต้องรอให้หมอจากต่างจังหวัดเข้ามาช่วย”
โควิด-10 กรุงเทพฯ สะท้อนความเหลื่อมล้ำสังคม – สาธารณสุข
The Active พูดคุยกับ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่นำทีมบุกกรุง เพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ตลอด 3 วัน และได้สะท้อนว่า พบระบบบริหารจัดการในภาวะวิกฤต โควิด-19 ของกรุงเทพมหานครที่ยังวุ่นวายพอสมควร โดยเฉพาะขั้นตอนการรักษา เมื่อสามารถแยกผู้ป่วยตามกลุ่มสีอาการออกได้แล้ว จะส่งต่อไปที่ไหน
“นพ.สุภัทร” ยังบอกอีกว่า ในวันสุดท้ายที่จบภารกิจว่าตัวเลขเฉลี่ยของวันแรก (14 ก.ค.) พบผลบวกถึง 19% จากที่ตรวจ 5,000 กว่าคน ยังรอผลของการตรวจในวันที่สอง (15 ก.ค.) ซึ่งตรวจไป 7-8 พัน คน และวันสุดท้าย (16 ก.ค.) เบื้องต้นคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 5-10% ซึ่งถือว่าสูงมาก
“ไม่แปลกที่จะเกิดการสัมผัสติดเชื้อสูง แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงโอกาส ทั้งโอกาสในการตรวจ เข้าถึงการสอบสวนโรค เข้าถึงโรงพยาบาลสนาม หรือเข้าถึงบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ทุกคนยังมีความทุกข์อยู่พอสมควร”
นพ.สุภัทร ยอมรับว่า ภารกิจครั้งนี้ของทีมแพทย์ชนบท ค่อนข้างฉุกละหุก เพราะไม่รู้พื้นที่ ขับรถไปไหน ก็ไม่ถูก จึงต้องอาศัยการประสานกับทีมโควิดชุมชน ซึ่งเป็นภาคประชาชนในกรุงเทพฯ ทีมโควิดชุมชนเป็นคนจัดพื้นที่ให้ ประสานงานให้ทั้งหมด
เขาชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการนำทีมแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งนี้ ด้านหนึ่งต้องการสื่อสาร ว่าวิกฤตครั้งนี้หนักหน่วงและรุนแรง ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ชุมชน คนตัวเล็ก ตัวน้อย แม้แพทย์ชนบทจะช่วยได้เพียงเล็กน้อย แต่นี่คือคำร้องขอไปยังทุกองค์กร ให้ลงมือปฏิบัติในโลกแห่งความจริง เพื่อช่วยกันก้าวข้ามโควิด-19 และสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำให้น้อยลง
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสัมผัสความจริง เห็นความจริง ความจริงที่ไม่อาจรับรู้จากการอ่านเฟซบุ๊ก ไม่อาจรับรู้จากการฟังเพื่อนเล่า แต่เป็นความจริงที่สัมผัสเห็นผู้คนที่ลำบากจริง ๆ ยอมมานั่งรอตรวจและอยากตรวจ แล้วรู้สึกว่ามีความเสี่ยง มีความกังวล ครอบครัวมีคนติดเชื้อ และเข้าไม่ถึงการตรวจ ไปรอคิวตีสามตีสี่ คิวเต็มหมด แล้วไปหลายรอบก็ไม่ไหว”
สิ่งนี้ทำให้รู้ว่า คงต้องไม่ใช่แค่การเข้าช่วยเป็นครั้งคราว
แต่ต้องพยายามผลักดันในเชิงนโยบาย
และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบด้วย
แพทย์ชนบทเสนอปฏิรูประบบสาธารณสุข กทม.
นอกจากหวังจะให้คนที่ตกหล่น สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว การบุกกรุงของทีมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ บอกอะไรกับสังคม? เมื่อหมอหลายคนดั้นด้นจากหลายพื้นที่ ไกลสุดมาจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
บางคนอาจตั้งคำถามว่า หมอจากนราธิวาส นครศรีธรรมราช ขอนแก่น น่านหรือ กาญจนบุรี เพียงไม่กี่คน จะมาช่วยทำให้การตรวจเชิงรุกดีขึ้นแค่ไหน?
แต่นี่คือการแสดงออกเพื่อสื่อสารและไปถึงหลายฝ่าย รวมถึง ระบบสาธารณสุขในเมืองหลวงอย่าง กทม. ที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งอุปกรณ์ บุคลากร แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากเมืองใหญ่แห่งนี้ คือ บทบาทของการ “แพทย์ปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ชนบทเห็นว่าเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขที่สำคัญที่สุด
“การแพทย์ปฐมภูมิ” หรือ Primary care รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับประชาชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ ในลักษณะผสมผสาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดแบบองค์รวม ให้แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยมีระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งประสานกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาความรู้ของประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล
นี่คือสิ่งที่ “นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และประธานที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า หากเป็นต่างจังหวัดซึ่งมีความเข้มแข็งด้านการแพทย์ปฐมภูมิ จะสามารถตามผู้เสี่ยงสูงมาตรวจ เพื่อหาผู้ติดเชื้อได้ไม่ยาก แต่กรุงเทพฯ ระบบการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง ทำไม่ไหวเพราะประชากรมาก ผลก็คือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่รู้ว่าตนมีเชื้อ แม้จะลดการเดินทางแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสแพร่ระบาดให้กับคนในครอบครัว
วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อาจเป็นบทเรียน ให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในกรุงเทพฯ ที่แยกส่วน แม้จะมีโรงพยาบาลจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ และตติยภูมิ ขณะที่ความสำคัญของการแพทย์ปฐมภูมิ จะช่วยอย่างยิ่งในการควบคุมโรค
สอดคล้องกับ “นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าการแก้ไขเฉพาะหน้าในเวลานี้คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันบูรณาการงานข้ามสังกัด เพราะเหลือเวลาไม่มากนัก มาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถทำได้เป็นระยะเวลานาน
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจเชื้อให้เร็ว รักษาชีวิตให้ทัน และเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน ซึ่งภาระหน้าที่อาจเหนือกว่าศักยภาพของกรุงเทพมหานครจะรับมือได้เพียงหน่วยงานเดียว
แพทย์ปฐมภูมิหายไปจาก กทม. จริงหรือ?
จะว่าไปแล้ว กรุงเทพมหานคร ก็มี “ศูนย์บริการสาธารณสุข” สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กระจายอยู่ตามเขตต่าง ๆ ถึง 68 ศูนย์ แต่ศูนย์บริการสาธารณสุขเหล่านั้น จะถูกเรียกว่าเป็นระบบการแพทย์ขั้นปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับว่า “ประชาชน” รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของศูนย์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
มักมีคำกล่าวตลอดมาว่า “คนกรุงเทพฯ น่าสงสาร หากเจ็บป่วยเล็กน้อยจะต้องไปรักษาที่ไหน” ขณะที่คนต่างจังหวัดสามารถเดินเข้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ขยับขึ้นไปเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัด ที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ แต่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งบริการสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึง 70% ในพื้นที่
ขณะเดียวกัน เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ก็ไม่เข้มแข็งเท่าต่างจังหวัด ด้วยลักษณะสังคมเมือง มีความต่างคนต่างอยู่ ทำให้การแพทย์ปฐมภูมิค่อย ๆ เลือนหายไปจากพื้นที่
จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนหนึ่งมาจากขาดการแพทย์ปฐมภูมิมาตั้งแต่ต้น ทำให้การตรวจเชื้อเชิงรุก และการสอบสวนโรค ซึ่งเป็นงานถนัดของ “แพทย์ชนบท” เป็นไปอย่างยากลำบากในกรุงเทพมหานคร สะท้อนผ่านผลลัพธ์การควบคุมโรค ของ กทม. ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว
แต่อาจไม่ยุติธรรมนัก หากโทษ กทม. ฝ่ายเดียว เพราะวิกฤตครั้งนี้นับว่าใหญ่เกินความสามารถของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
“พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าไม่ขัดข้องที่หลายหน่วยงานระดมส่งต่อความช่วยเหลือมายังกรุงเทพมหานคร และพร้อมประสานงานอำนวยความสะดวก โดยในส่วนของ กทม. เอง ก็มีความพยายามอย่างเต็มที่เช่นกันในการจัดการโรคระบาดเท่าที่ทรัพยากรของตนเองมีอยู่
การจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแล้ว 24 ศูนย์ ในพื้นที่ 23 เขต (เขตจตุจักร 2 ศูนย์) เปิดบริการรับผู้ป่วยแล้ว 14 ศูนย์ จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 5 ศูนย์ ภายเร็ว ๆ นี้ และอยู่ระหว่างตรวจสอบความพร้อมอีก 5 ศูนย์ ก็เป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยตกค้าง รวมทั้งป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
จากนี้ กทม. จึงจะจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ตามโครงการ 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย โดยได้เชิญผู้อำนวยการเขต 27 เขต ที่ยังไม่ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในพื้นที่ ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์ฯ ต่อไป…
บทส่งท้าย
วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางที่เต็มไปด้วยบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือ จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ถูกตั้งคำถาม…
และกำลังรอคำตอบว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปตามมาหรือไม่ เพราะโควิด-19 คงไม่ใช่โจทย์ท้าทายสุดท้ายของระบบสาธารณสุขในเมืองหลวงแห่งนี้