The Active ไทยพีบีเอส คว้าชมเชย ข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม 2566

จากผลงาน “สูงวัยไร้ญาติขาดมิตร แก่ไปใครดูแล” สะท้อนทางเลือกการเข้าถึงบริการทางสังคม เมื่อผู้สูงอายุไทย มีแนวโน้มอยู่ในชีวิตบั้นปลายอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น

วันนี้ (30 พ.ย. 2566) ที่ห้องมรกต ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงานประกาศรางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยมประจำปี 2566 ให้กับผลงานจากสำนักข่าวออนไลน์

โดย The Active (ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส) คว้ารางวัลชมเชย ข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม จากผลงาน “สูงวัยไร้ญาติขาดมิตร แก่ไปใครดูแล” ชวนหาทางเลือกเพื่อการเข้าถึงบริการทางสังคม เมื่อผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มอยู่ตามลำพังมากขึ้น พร้อมนำเสนอข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย เพื่อสะท้อนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง

นอกจากนี้ยังมีสำนักข่าวออนไลน์อื่น ๆ ที่คว้ารางวัลจากงานประกาศรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วย

  • ข่าวหรือสารคดีออนไลน์เชิงข่าวเชิงสืบสวนยอดเยี่ยม ได้แก่ “ทวงคืนที่ดินเขากระโดงตระกุลชิดชอบ” จาก สถาบันอิศรา
    • รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ “ทำไมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงกลายเป็นถังขยะของโลก” จาก Workpoint TODAY และ “น้ำท่วมกรุงเทพฯ สัญญาณเตือนจากโลก” จาก The Standard
  • ข่าวออนไลน์จากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ยอดเยี่ยม ได้แก่ “งมเอกสาร อยู่ยามโรงเรียน สอนอ่านเขียนควบชั้น : เปิดชีวิตครูไทยที่ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ”
    • รางวัลชมเชย 2 รางวัล คือ “เปิดแผนประทุษกรรมจากปลายสาย หลอกลูกบังคับแม่พร้อมไขคำตอบ“ ทำไมตำรวจไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่หมดสิ้น จาก TNN News และ เสาไฟ ไม่ถึง 1,000 ทำยังไง ? “ไฟสุ่มไก่” กับนายกฯ ปากจัด เปลี่ยนมุมมืดให้สว่างทั้งตำบล จาก TNN
  • ข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม ได้แก่ “รับมือยุคสมัยแห่งความเดียวดาย : เมื่อเราต้องอยู่อย่างเหงาเหงาในคอนโดเก่าไปจนแก่ ? จาก The 101.World
    • รางวัลชมเชย 2 รางวัล คือ “สูงวัยไร้ญาติขาดมิตร แก่ไปใครดูแล” จาก The Active และ “ชีวิตผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนโซ่ตรวน 1 ปีที่ต้องผูกลูกน้อยอยู่ในเรือนจำ” จาก ไทยรัฐ ออนไลน์
  • ข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอยอดเยี่ยม ได้แก่ “นะหน้าทอง” ศรัทธาหรืองมงาย จาก Mono 29
    • รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ “Diving With Ability จาก Bangkok Post และ ทำไม “ครู” ถึงเปิด 24 ชม. “ครูกลางทะเล” ตามเด็กมาเรียน ทุนการศึกษาข้ามแผ่นดิน จาก TNN
  • ข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกยอดเยี่ยม ได้แก่ คือเมนส์มาแล้ว เลือกอันไหนดี ? DATA ผ้าอนามัย ยี่ห้อไหนเป็นตัวมัม ตัวมารดา ตัวสูติที่สุด! จาก The MATTER
    • รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ คนกรุงสูดฝุ่น PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน จาก Spring  News และ เปิดทรัพย์สิน พิธา จาก Thairath Plus
  • ภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยม ได้แก่ 8 พรรคร่วมหารือ หลังเพื่อไทยรับไม้ต่อจัดตั้งรัฐบาล มีข้อสรุปเร่งหาเสียง ส.ว.-เปิดทางคุยพรรคอื่น จาก The MATTER
    • รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ครูกายแก้ว กระแสแห่งศรัทธา จาก TNN และ “ซ้อมเหตุกราดยิง” โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ร่วมกับตำรวจ จำลองสถานการณ์-ฝึกทักษะเอาตัวรอด ถอดบทเรียน หนองบัวลำภู จาก The Standard

ขณะที่ เวทีเสวนาเรื่อง AI ในงานข่าว จุดยืนของนักข่าวมืออาชีพอยู่ตรงไหน? กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS มองว่า ความท้าทายของคนทำงานสื่อ เมื่อ AI เข้ามาในระบบการทำงาน ความยากในเรื่องเทคโนโลยี คือเข้าใจการตลาด แต่ยังไม่เข้าใจเทคโนโลยี ในการทำงานร่วมกันของ 2 ระบบ และทักษะเกี่ยวกับดิจิทัลนั้นไม่ได้ยากเท่ากับเรื่อง Mindset ของคน ที่จะยอมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่หรือไม่

ทุกงานโดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้หมด ขึ้นอยู่กับจะนำไปปรับใช้กับสิ่งที่มีอยู่อย่างไร และทรัพยากร กองกำลังของคนทำงานสื่อจะสามารถมองแนวทางต่อไปอย่างไร

“จุดยืนของสื่อ ต้องทำแนวทางการทำงาน เพื่อคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ เครื่องมือที่สร้างภูมิคุ้มกัน แต่ละแพลตฟอร์มเริ่มแบรนด์กลุ่ม AI ที่ปลอมแปลงตัวตนเข้ามาใช้งาน ในมุมของกลุ่มผู้ที่ไม่ใช่คนผลิต ต้องสร้างภูมิคุ้มกันการรับข้อมูล ในสิ่งที่จำเป็นเสมอสำหรับนักข่าว คือ 1. ต้องมีความน่าเชื่อ 2. สร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ 3. คำนึงถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อผู้รับสาร 4. ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในผลงาน และ 5. มีจริยธรรม”

วิโรจน์ ฐานไพศาลกิจ Production Business Director, MBCS Thailand มองว่า คนรุ่นใหม่เห็นภาพที่เป็นจินตนาการมากขึ้น อยากใส่อะไรที่เป็นตัวเองลงไปในงาน AI เลยเลือกเจาะไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ และงานอื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับโจทย์ของลูกค้าว่ามีความต้องการแบบไหน แล้วจะสามารถนำ AI ไปปรับใช้กับงานได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนจุดยืนของนักข่าวมืออาชีพ วิโรจน์ บอกว่า ในกรณีที่เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จนั้น จะต้องใช้เวลาในการเช็คข้อเท็จจริง และสื่อต้องบอกขั้นตอนวิธีการเช็คข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาให้ผู้บริโภครับรู้

ขณะที่ วินน์ วรวุฒิคุณชัย Founder & CEO, BOTNOI Group พูดถึงการนำ AI ไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ มองว่า ในมุมผู้ผลิตสื่อควรแบ่งปันวิธีเพื่อปกป้องข้อมูลเท็จ รักษาสิทธิ์ และไม่ให้กลายเป็นเหยื่อ จากการที่ AI เข้ามามีบทบาทในสื่อ ทั้งการปลอมแปลงเสียงทางโทรศัพท์ และการตัดต่อใบหน้า เป็นต้น

ปิดท้ายด้วยการสนทนาแลกเปลี่ยนของคณะกรรมการเกี่ยวกับมุมมองภาพรวมผลงานส่งประกวด โดยภาพรวมของการคัดเลือกแต่ละประเภทมีเกณฑ์คัดเลือกโดยมีเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้

1.ข่าวต้องมีคุณประโยชนืต่อผู้บริโภคข่าวสาร และจรรโลงสังคม

2.ข่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานทางวารสารศาสตร์

3.ข่าวไม่ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชน และทางกฎหมาย

4.ข่าวมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเนื้อหา

5.ข่าวเลือการนำเสนอได้อย่างเหมาะสม มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน

คณะกรรมการได้ฝากถึงสื่อหลายสำนักว่า ในแง่มุมของธุรกิจสื่อนั้นเข้าใจได้ว่าต้องทำเพื่อความอยู่รอด แต่อีกแง่มุมในสังคมก็จำเป็นต้องในความสำคัญของความถูกต้องของข้อมูล และจริยธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active