โพลชี้ ‘ผู้สูงอายุ’ ยังหวังพึ่ง ‘ลูก’ – บ้านพักคนชรา ดูแลชีวิตบั้นปลาย

ประธานกรรมการบริหารสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ แนะรัฐ เร่งสร้างกลไก เสริมความเข้มแข็งสถาบันครอบครัว ไม่ผลักผู้สูงอายุออกจากบ้าน สร้างระบบอาสาดูแล ติดตาม ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงในชุมชน หลังพบผู้สูงอายุอยู่อย่างโดดเดี่ยวเฉียด 7 แสนคน

วันนี้ (13 เม.ย.66) เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุ นิด้าโพล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ใคร? ควรดูแลผู้สูงอายุไทย ให้อยู่ดีมีสุข ปี 2566” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2566 จากผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 1,310 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความต้องการของผู้สูงอายุกับการบริการและดูแลผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ

พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 53.05 ระบุว่า สถาบันครอบครัว รองลงมา ร้อยละ 41.91 ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐ เช่น บ้านพักคนชรา ร้อยละ 3.59 ระบุว่า วัด มูลนิธิ สมาคม องค์กรเอกชน (NGOs) และร้อยละ 1.45 ระบุว่า หน่วยงานภาคธุรกิจ/เอกชน 

นิด้าโพล ยังพบว่า บุคคลในครอบครัวที่ควรเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ มากที่สุด ร้อยละ 35.96 ระบุว่า ลูกสาวคนโต/ลูกสาวคนรอง รองลงมา ร้อยละ 23.89 ระบุว่า ลูกชายคนโต/ลูกชายคนรอง ร้อยละ 19.08 ระบุว่า ลูกทุกคน  ร้อยละ 8.40 ระบุว่า ญาติ พี่ น้อง หรือลูกพี่ ลูกน้อง ร้อยละ 5.88 ระบุว่า หลาน ร้อยละ 3.74 ระบุว่า คู่สมรส และร้อยละ 3.05 ระบุว่า ดูแลตัวเอง

ในขณะที่ผลสำรวจความต้องการเกี่ยวกับการให้บริการดูแลผู้สูงอายุจากหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ร้อยละ 84.81 ระบุถึง บริการทางการแพทย์/การรักษาพยาบาล รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่า บริการด้านการเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งกิจกรรมที่ต้องการไป (รถบัส รถตู้ หรือรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ) ร้อยละ 31.60 ระบุว่า บริการด้านการฟื้นฟูบำบัดทางกายภาพ (รวมทั้งสถานที่ออกกำลังกาย) ร้อยละ 26.03 ระบุว่า บริการด้านโภชนาการ (เช่น จัดส่งอาหารสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะของการผูกปิ่นโต หรืออาหารกล่องถึงบ้านผู้สูงอายุ) ร้อยละ 24.05 ระบุว่า บริการบ้านพัก/ที่อยู่อาศัย (เช่น คอนโด หรือบ้านสำหรับครอบครัวผู้สูงอายุ) ร้อยละ 22.90 ระบุว่า บริการด้านการปรึกษาทางการเงิน (เช่น ให้คำแนะนำการออม การซื้อกองทุน เป็นเคาน์เตอร์พิเศษเฉพาะผู้สูงอายุ) และร้อยละ 21.91 ระบุว่า บริการด้านการปรึกษาทางจิตใจ (เช่น มีจิตแพทย์เฉพาะทาง)

ส่วนการใช้บริการหน่วยงานภาครัฐของผู้สูงอายุ พบว่า ร้อยละ 85.11 ระบุว่า เคยใช้บริการ และร้อยละ 14.89 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการ เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เคยใช้บริการ (จำนวน 1,115 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับปัญหาจากการใช้บริการ พบว่า ร้อยละ 56.86 ระบุว่า ทุกอย่างดี ไม่มีปัญหา รองลงมา ร้อยละ 31.66 ระบุว่า ขาดความเอาใจใส่ในการดูแล/ให้บริการของบุคลากร ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่มีมาตรฐาน ล่าช้า ร้อยละ 22.60 ระบุว่า หน่วยงานที่ให้บริการไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง และร้อยละ 3.50 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป 

ด้านความต้องการเกี่ยวกับการให้บริการดูแลผู้สูงอายุจากหน่วยงานภาคธุรกิจหรือเอกชน พบว่า ร้อยละ 65.65 ระบุว่า บริการทางการแพทย์/รักษาพยาบาล รองลงมา ร้อยละ 20.46 ระบุว่า บริการด้านการฟื้นฟูบำบัดทางกายภาพ (รวมทั้งสถานที่ออกกำลังกาย) ร้อยละ 18.09 ระบุว่า บริการด้านการเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งกิจกรรมที่ต้องการไป (รถบัส รถตู้ หรือรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ) ร้อยละ 15.50 ระบุว่า บริการด้านการปรึกษาทางการเงิน (เช่น ให้คำแนะนำการออม การซื้อกองทุน เป็นเคาน์เตอร์พิเศษเฉพาะผู้สูงอายุ) ร้อยละ 13.66 ระบุว่า บริการด้านโภชนาการ (เช่น จัดส่งอาหารสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะของการผูกปิ่นโต หรืออาหารกล่องถึงบ้านผู้สูงอายุ) ร้อยละ 13.21 ระบุว่า บริการบ้านพัก/ที่อยู่อาศัย (เช่น คอนโด หรือบ้านสำหรับครอบครัวผู้สูงอายุ) และบริการด้านการปรึกษาทางจิตใจ (เช่น มีจิตแพทย์เฉพาะทาง) ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 9.08 ระบุว่า ไม่ต้องการให้หน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาดูแล

ส่วนการใช้บริการหน่วยงานภาคธุรกิจหรือเอกชนของผู้สูงอายุ พบว่า ร้อยละ 62.52 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการ และร้อยละ 37.48 ระบุว่า เคยใช้บริการ เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เคยใช้บริการ (จำนวน 491 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับปัญหาจากการใช้บริการ พบว่า ร้อยละ 65.58 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป รองลงมา ร้อยละ 31.57 ระบุว่า ทุกอย่างดี ไม่มีปัญหา ร้อยละ 5.30 ระบุว่า บุคลากรไม่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ และร้อยละ 3.67 ระบุว่า การบริการไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน

แนะรัฐบาลจริงใจ สร้างกลไกดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ทำงานได้จริง

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดเผยกับ The Active โดยมองว่า ผลสำรวจนิด้าโพล สะท้อนได้ตรงประเด็น สอดรับกับข้อมูลผลการศึกษาในหลายภาคส่วน ที่ยืนยันตรงกันว่า ปัญหาผู้สูงอายุ ต้องได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง สิ่งที่ควรเป็นนโยบายคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เพื่อทำให้ให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุได้จะดีที่สุด ต้องทำให้พื้นฐานครอบครัวเข้มแข็ง ที่สำคัญภาครัฐไม่ควรสร้างกลไกดึงเอาผู้สูงอายุออกจากครอบครัว เช่น การเพิ่มบ้านพักคนชรา

นพ.วิชัย ยอมรับด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลก รวมถึงไทย หลายครอบครัวมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ แทนที่อยู่กันแบบครอบครัวขยาย อยู่กันหลายรุ่น แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ลูกหลาน ต้องจากบ้านไปทำงาน ทิ้งผู้สูงอายุเฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน โดยพบว่าในไทย มีสถานการณ์ของผู้สูงอายุที่อยู่กันเพียงปู่ย่า ตายาย เป็นแสนครอบครัว ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว โดดเดี่ยว มีอยู่มากถึงเกือบ ๆ 700,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุผู้หญิงที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว

“สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบการดูแลผู้สูงอายุ ที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนนโยบายยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ส่วนการสร้างสถานสงเคราะห์ให้เอกชนทำ รัฐบาลไม่ควรทำ โดยหน้าที่รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน สร้างกลไกการทำงานให้เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ จัดให้มีอาสาที่ไปดูแล โดยต้องให้ค่าตอบแทนที่อยู่ได้ ไม่ใช่แค่ให้มาเป็นอาสาเท่านั้น ต้องให้องค์ความรู้การดูแลผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง เพราะเป็นงานที่ต้องทำประจำ และเป็นงานที่ยาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังสนับสนุนส่วนนี้ไม่เพียงพอ”  

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active