สูงวัยไร้ญาติขาดมิตร แก่ไปใครดูแล…

“สังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมที่ไร้ญาติขาดมิตร”

หากพูดคำนี้เมื่อ 60 ปีก่อน หรือในยุคประชากรรุ่นเกิดล้าน อาจจะถูกมองว่าเป็นคำที่เกินจริงไปเสียหน่อย เพราะอัตราการเกิดที่ค่อนข้างสูง หลายครอบครัวมีลูกมากกว่า 2 คน รวมถึงบริบทการอยู่กันแบบเครือญาติ ความกตัญญู จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สถานการณ์จะแตะไปถึงขั้นนั้น

แต่ปัจจุบัน ไทยกำลังต้องเร่งวางแผนช่วยเหลือคนในกลุ่ม “ไร้ญาติขาดมิตร” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่พบจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอัตราการเกิดที่ลดต่ำลง การย้ายถิ่นฐาน ความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงนิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ และ ‘กตัญญู’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ส่งผลถึงโครงสร้างทางประชากร ในวันที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2564 ระบุว่า จากทั้งหมด 21.9 ล้านครัวเรือน มีถึง 1.3 ล้านครัวเรือน ที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพัง “คนเดียว” ขณะที่อีก 1.4 ล้านครัวเรือน มีเฉพาะผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยไม่มีคนวัยอื่นอาศัยอยู่ในบ้าน นั่นหมายความว่า มากกว่าร้อยละ 12 ที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่อย่างลำพัง

“หากเจาะลึกลงไปยังกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ตอนนี้เรายังไม่มีนโยบายหรือสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจริง ๆ เราสามารถที่จะยกระดับประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังว่าต่อไป เพราะถ้าไม่ตระหนักในวันนี้ก็อาจจะเกิดความตระหนกได้ว่า ต่อไปเราจะดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มอยู่คนเดียวอย่างไร้ญาติขาดมิตรได้อย่างไร”

รศ.ศุทธิดา ชวนวัน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ศุทธิดา ชวนวัน จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงประสบการณ์จากการทำงานวิจัย “การเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม” ศึกษาผู้สูงอายุในกลุ่มที่อาศัยอยู่คนเดียวมาประมาณ 4-5 ปี พบว่า การดำเนินงานของภาครัฐ ยังมองในภาพรวมของตัวผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีการจำแนกความเปราะบางของผู้สูงอายุออกเป็นประเภท เนื่องจากมีความต้องการได้รับการดูแล ส่งเสริม ที่เร่งด่วนแตกต่างกัน

ข้อมูลจากการสำรวจระดับชาติ ยังพบว่า ประชากรกลุ่มนี้แม้อยู่คนเดียวก็ยังมีความต้องการมีรายได้เพื่อจะยังมีอาชีพอยู่ เพราะการอยู่คนเดียวยิ่งทำให้ไม่มีรายได้จากทางไหนอื่นนอกจากเบี้ยยังชีพในแต่ละเดือน โดยเฉพาะในเมืองที่ค่าครองชีพ วิถีชีวิตหากินลำบากกว่าผู้สูงอายุในชนบทรวมถึงลักษณะที่อยู่อาศัยแบบ “ตัวใครตัวมัน” เช่น คอนโด หรือทาวน์เฮาส์ ยิ่งเหมือนถูกปิดตายอยู่คนเดียวในห้องซึ่งเป็นสิ่งน่ากังวลมากกว่า

ขึ้นทะเบียนคนโสด ฐานข้อมูลระยะยาวสร้างระบบดูแลสูงวัยไร้ญาติขาดมิตร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินคือปัจจัยสำคัญหากคุณวางแผนที่จะอยู่ลำพังในอนาคต และวางแผนสำหรับการออมเงินไม่ให้ลำบากเมื่อเวลานั้นมาถึง แต่ไม่ใช่กับคนส่วนใหญ่ที่รายได้เดือนชนเดือน หรือมีภาระดูแลคนในครอบครัว กว่าที่เวลาและความพร้อมจะมาถึง คุณก็อาจล่วงเลยเข้าสู่วัยที่หมดกำลังในการหาเงิน และกลายเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มเปราะบาง ตอนนั้นคุณอาจถามหาเงินสงเคราะห์ หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐ เพื่อใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละเดือน

รศ.ศุทธิดา จึงเสนอให้รัฐทำให้เกิดระบบข้อมูลให้ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่นเดียวกับคนพิการที่มีเบี้ยสำหรับความพิการเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 1,000 บาท เพราะหากรัฐมองไปในอนาคตว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงเปราะบาง เป็นกลุ่มที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษเช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ อาจจะต้องมีสวัสดิการเฉพาะผู้สูงอายุโสด แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีประเด็นว่าอยู่โสดจริงหรือไม่ เพราะบางคนอยู่คนเดียวจริงแต่อาจจะมีญาติอยู่ข้าง ๆ รวมถึงจำนวนเงินที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบากควรอยู่ที่เท่าไหร่

โดยงานวิจัยของ รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทดลองว่าทรัพย์สินที่ควรมี และควรออมก่อนเข้าสูงวัยสูงอายุ เพื่อที่จะยังชีพของผู้สูงอายุจะอยู่ที่เท่าไหร่ พบว่า อยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุที่มีคู่หรือมีครอบครัว แต่สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวแบบไร้ญาติขาดมิตร จะต้องเตรียมตัวเพิ่มขึ้นอีก 1 ใน 4 ของเงินออมทั้งหมด

“ถ้าลองดูจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่แต่ละคนได้ลดหลั่นไปตามช่วงวัย ควรที่จะได้เพิ่มเติมอยู่ที่ 400 กว่าบาท จึงจะทำให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างสบายมากขึ้นในเรื่องของการดำรงชีวิต ซึ่งถ้ารัฐมองว่าผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเป็นกลุ่มเสี่ยงเปราะบาง เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะมีเบี้ยอะไรเพิ่มเติมให้กับพวกเขาช่วยเหลือในยามบั้นปลายชีวิต”

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

ในวัย 60 ปี แม้คุณจะยังมีแรง มีไฟ ในการทำงาน แต่เมื่อพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ บอกว่าคุณคือผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณ ทั้งตำแหน่ง รายได้ ความสามารถของคุณ ก็อาจจะสิ้นสุดที่ตรงนี้ บางองค์กรอาจให้เงินก้อนคุณได้นอนใช้สบาย ๆ อยู่สักระยะหนึ่ง หรืออาจจ้างงานต่อในตำแหน่งอื่น ๆ รวมถึงวันและเวลาที่ลดลง สิ่งนี้อาจทำให้คุณค่าในชีวิตของผู้สูงอายุบางคนลดลงอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องอยู่คนเดียว

โดย 11 % ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่ต้องอยู่คนเดียว และไม่มีคนดูแล พบปัญหามีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้าถึง 23.3 % ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ชมรมผู้สูงอายุ 10.7 % ไม่มีการออม 10.5 % และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้ เช่น กินอาหาร ใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ ฯลฯ 2.8 % สิ่งนี้จึงสะท้อนระหว่างการทำงาน การมีสังคม ที่เชื่อมโยงถึงสุขกาย สุขภาพใจ ของผู้สูงอายุที่ต้องการสนับสนุนให้ยังทำงานต่อไปได้

รศ.ศุทธิดา ตั้งคำถามนี้ต่อหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงความพยายามในการเพิ่มเพดานเกษียณอายุราชการ เพื่อที่จะให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในตลาดแรงงานให้ได้นานที่สุด แต่ไม่แน่ใจว่าติดปัญหาตรงไหนทำไม่จึงผลักดันกันไม่ได้สักที ซึ่งในปัจจุบันเราเห็นเอกชนบางแห่งยืดอายุ หรือเพิ่มตำแหน่งในกับคนในวัยเกษียณ โดยระยะเวลาในการทำงานอาจจะลดหลั่นกันไป ไม่เท่ากับวัยแรงงานทำใน 1 วัน เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ผู้สูงอายุทดลองเป็นอาสาสมัคร ช่วยให้ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเข้ามาในประเทศ ถือเป็นการวางตำแหน่งงานให้เหมาะสมกับคน

ในทางกลับกันการจ้างงานผู้สูงอายุ ยังช่วยส่งเสริมทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ผู้สูงอายุถ้าร่างกายยังได้เคลื่อนไหว ไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเองก็จะเป็นการช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นภาวะติดเตียงค่าใช้จ่ายหมดไปกับการรักษา มีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างวัย จึงไม่อยากให้มองแค่มูลค่าของตัวเงินที่รัฐจะต้องสูญเสีย แต่มองไปในเรื่องของคุณภาพชีวิตว่าจะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร

ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย โอกาสรัฐ เอกชน รองรับแนวโน้มสูงวัย (ไม่) ไร้ญาติขาดมิตร

ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สะท้อนว่า 26% ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวไม่มีผู้พาไปรับการรักษา ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญทำให้ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และสังคม ดังนั้นแม้ระบบสาธารณสุขจะมีเทคโนโลยีลำหน้า หรือช่วยยืดอายุให้แข็งแรงออกไปเพียงใด อาจไม่มีประโยชน์เลยหากไม่จัดให้บริการที่เป็นประโยชน์เหล่านี้เข้าไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านเพียงลำพัง

ทำกราฟฟิก

งานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย (Social Enterprise : SE.)  ซึ่งเป็นลักษณะของการรวมกลุ่มกันเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ถือเป็นการจัดบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง และครอบคลุมให้กับคนทุกกลุ่มวัย และยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายของคนรุ่นใหม่กลับถิ่นที่อยู่เดิม อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจหนึ่งของคนรุ่นใหม่และช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองแบบครบวงจร เช่น การสร้างระบบว่าผู้สูงอายุบ้านไหนต้องการเดินทางไปที่ไหน ในกรณีต้องการไปโรงพยาบาล นอกจากพาไปส่งต้องพาเดินด้วย เนื่องจากการรับบริการในโรงพยาบาลที่ผ่านมาผู้สูงอายุต้องเดินหลายแผนก และเมื่อเสร็จแล้วต้องพาผู้สูงอายุกลับบ้านด้วย

อีกรูปแบบหนึ่ง คือการนำบริการต่าง ๆ เช่น บริการทางสุขภาพ อาหาร กิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปหาตัวผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัย โดยเสนอว่า รัฐควรจะเป็นคนดำเนินการแต่ร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะในเมืองที่อาศัยในรูปแบบนิติบุคคล รถพุ่มพวงที่จำหน่ายอาหารจะไม่สามารถเข้าไปข้างในได้ แต่ในญี่ปุ่นรถพุ่มพวงจะสำรวจว่าบ้านไหนอยากได้อะไรและเดินเข้าไปส่งถึงหน้าบ้าน ถือเป็นการจัดบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง และครอบคลุมให้กับคนทุกกลุ่มวัย แต่บ้านเรายังติดเรื่องความเป็นส่วนตัว กฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งพบว่าเป็นอุปสรรคอย่างมากในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

“งานวิจัยพยายามเสนอว่าในขณะที่ผู้สูงอายุมีความแตกต่าง บางคนสามารถออกมาได้แต่ยังขาดคนพาไป กับอีกกลุ่มที่ไม่สามารถออกมารับบริการด้วยตนเอง ติดบ้าน ติดเตียง รัฐต้องคิดแล้วว่าจะพาบริการต่าง ๆ เหล่านี้ที่ดีอยู่แล้ว เข้าไปหาตัวผู้สูงอายุในบ้านได้อย่างไร เมื่อแนวโน้มข้างหน้าผู้สูงอายุจะอาศัยอยู่ในถิ่นเดิมมากขึ้น”

สู้กับวิกฤตสังคมสูงวัย แต่โดนสังคมประชากรติดลบสู้กลับ ทำอย่างไรดี?

หากดูสถิติจำนวนเกิดในบ้านเราตอนนี้ เรียกได้ว่าดิ่งต่ำจนน่าใจหาย สํานักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าในปี 2565 จำนวนเกิดแตะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน เทียบกับอัตราการเสียชีวิตเกือบ 6 แสนคน เท่ากับอัตราประชากรติดลบแล้ว ฉะนั้นที่เมื่อก่อนเรามั่นใจว่าเรามีการเกิดสูงกว่า 1 ล้านคน ช่วงปี 2506-2526 แต่เมื่อเทียบดูว่าประชากรกลุ่มนี้กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุในปีนี้ โดยในกลุ่มปี 2506 จะมีอายุครบ 60 ปี และมีคนอีกล้าน ๆ คนกำลังจะตามมา หรือที่เรียกว่า “สึนามิประชากร” ในยุครุ่นเกิดล้าน รัฐจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร

แม้การเพิ่มจำนวนประชากรจะเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามนี้ แต่เมื่อลองดูนโยบายที่สนับสนุนให้คนไทยมีลูกกันมากขึ้น เช่น สวัสดิการกับแม่ที่คลอดบุตรเดือนละ 600 บาท ส่งเสริมการจับคู่ อย่างไรก็ตามบทเรียนจากต่างประเทศการสนับสนุนต่าง ๆ กลับไม่ได้ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นมากนัก นักวิจัยจึงเสนอให้เน้นไปที่คุณภาพการเกิดมากกว่า

อันดับแรกต้องเกิดจากพ่อแม่ที่ตั้งใจ พร้อมเมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ให้การศึกษาอย่างน้อยจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวัยแรงงานต้องส่งเสริมด้านอาชีพให้เป็นวัยแรงงานที่มีคุณภาพ และสุดท้ายคือการเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีพลัง มีสุขภาพที่ดี เพื่อให้ท้ายที่สุดแม้จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในยามมีชีวิต แต่ก็ได้จากไปอย่างมีศักดิ์ศรีที่ได้เลือกวาระสุดท้ายด้วยตัวเอง

อ้างอิง

งานวิจัย “การเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม” โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

วิฑิตา โอชวิช

มนุษย์นอนน้อยแต่นอนนะ มีอีกชื่อคือแฮปปี้เพราะคนต่างชาติเรียกชื่อปลื้มไม่ได้ ผู้ปกครองประชาชนชาวก้อน เชื่อว่าการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นจะทำให้เรามีความสุขด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมให้ความสุขกับตัวเองด้วยนะ