‘ดร.อนุสรณ์’ แนะ พัฒนาประกันสังคม เป็นกองทุนชราภาพรับสังคมสูงวัย

แนะลดเหลื่อมล้ำสิทธิสุขภาพประกันสังคม คาดปี 76 ไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยมากสุดต้องใช้เงินสวัสดิการถึง 1 ล้านล้านบาท

วันนี้ (7 พ.ย. 2566) รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งกรรมการ หรือบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นการเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมครั้งแรกในรอบ 33 ปี นับจากที่มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ก่อนหน้านี้จะใช้วิธีการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ 

การเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม ทั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และผู้แทนฝ่ายนายจ้างเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในระบบประกันสังคมและสถานประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้มีลงทะเบียนผู้ขอใช้สิทธิน้อยเกินไป ไม่ถึง 1% ของผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง การที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกับสังคมขยายเวลาการลงทะเบียนออกไปเป็นเรื่องที่เหมาะสม

รศ.ดร.อนุสรณ์ บอกว่าควรตั้งเป้าให้มีผู้มาลงทะเบียนมาขอใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกให้ได้อย่างน้อย 30% หรือคิดเป็นผู้ประกันตน 3.6 ล้านคน เพื่อให้ผู้ได้รับเลือกตั้งมีความเป็นผู้แทนของผู้ประกันตนได้ดีขึ้น หากมีผู้ไปใช้สิทธิน้อยเกินไป ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการประกันสังคมจะไม่ได้เป็นผู้แทนของเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตน และ อาจจะได้ผู้ที่มีความสามารถจัดตั้งคะแนนเสียงมากกว่าคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งขณะนี้มีเม็ดเงินประมาณ 2.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.96% ของจีดีพีประเทศ ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

แนะรัฐแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำบริการสาธารณสุข

กรณีของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้นถือว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการทางการแพทย์ที่เสียภาษีสองต่อ ต่อแรก คือ การเสียภาษีทั่วไป และต่อที่สอง คือ การหักเงินสมทบกองทุนสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างระบบบริการสาธารณสุข 3 ระบบ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม ระบบบัตรทอง 

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ถูกตอกย้ำทุกครั้งที่ประชาชนไปใช้บริการที่โรงพยาบาล ทุกคนจะถูกถามว่าใช้สิทธิอะไร ถ้าเป็นสิทธิข้าราชการ หรือจ่ายเงินเอง หรือมีระบบประกันเอกชน ก็จะได้บริการอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นระบบประกันสังคม หรือบัตรทองก็จะได้บริการอีกแบบหนึ่ง ตัวตัดสินใจ คือ ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และจริยธรรมของโรงพยาบาล ของธุรกิจยาและของแพทย์เอง ยังโชคดีที่จรรยาบรรณของวิชาชีพทางการแพทย์ในไทยนั้นมีความเข้มแข็ง หลายโรงพยาบาลต้องประสบปัญหาทางการเงินและขาดทุนอย่างหนักจากงบสนับสนุนที่ไม่เพียงพอและต้องทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์เกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่

ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เฉลี่ยปีละ 7.6-7.7 แสนล้านบาท หรือ อย่างต่ำ 4.5% ของจีดีพี โดยมีกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุด แม้นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี คือ อยู่ที่ไม่เกิน 5% ประเทศสแกนดิเนเวียจะอยู่ที่ 29-30% ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการสังคมต่องบประมาณของไทยจะอยู่ที่ 20% กว่า ๆ และมีแนวโน้มสูงขึ้น เรื่อย ๆ ภาวะดังกล่าวสะท้อนรายได้ภาษีต่อจีดีพีต่ำและยังขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก

คาดปี 76 ไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย ใช้เงินสวัสดิการถึง 1 ล้านล้านบาท

คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) จะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ และมีความจำเป็นต้องลดภาระทางการคลังด้วยการดำเนินการในนโยบาย 3 ด้านดังต่อไปนี้ คือ พัฒนาระบบการออมเพื่อชราภาพให้ขยายขอบเขตและเข้มแข็งขึ้น การปฏิรูประบบแรงงาน และ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงานและควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพหรือไม่อย่างไร

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ตนเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะหรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้านหรือ “Work from home” ได้มากขึ้น สามารถทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีจากที่ไหนก็ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ ลูกจ้างก็ต้องได้รับเวลาพัก รวมถึงค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาหรือ “โอที” ตามปกติ และที่สำคัญ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานในแต่ละวันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมแชตหรือโทรศัพท์ก็ตาม

โดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดได้ปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉมจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และ ระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้ แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และ ระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และหลายอย่างสมองกลอัจฉริยะหรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งเป็นงานเฉพาะและมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และ สามารถช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นได้ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดีเป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active