สถานการณ์ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ ยังน่าห่วง – เด็ก เยาวชน ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น

เผยอิทธิพลโซเซียลฯ ทำปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวหายไป มีสภาพต่างคนต่างอยู่ พบผู้สูงอายุถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว แนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เดินหน้านโยบาย สวัสดิการ หนุนครอบครัวเข้มแข็ง

วันนี้ (14 เม.ย. 67) เนื่องใน ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ ฐาณิชชา ลิ้มพานิช กรรมการบริษัทส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม จำกัด เปิดเผยกับ The Active  ว่า รูปแบบครอบครัวไทยในปัจจุบัน เป็นครอบครัวไซส์เล็กลง มีทั้งครอบครัวที่อยู่คนเดียว, ครอบครัวอยู่กัน 2 คน, ในขณะที่ครอบครัวขนาดใหญ่ที่อยู่กัน 3 คนขึ้นไปมีจำนวนน้อยลง 

ขณะที่สถานการณ์ของครอบครัวที่น่าห่วงกังวลอย่างมาก ยังคงเป็นรูปแบบครอบครัวแหว่งกลาง คือครอบครัวที่คนวัยแรงงาน หรือ พ่อแม่ ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น แล้วต้องให้ลูกหลาน อยู่กับ ปู่ย่า ตายาย ที่มีช่วงวัยห่างกันอย่างมาก   

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช กรรมการบริษัทส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคมจำกัด

และในเทศกาลสงกรานต์ ได้ฉายภาพของสถานการณ์นี้ค่อนข้างชัด โดยคนวัยแรงงานแห่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อได้กลับไปอยู่กับครอบครัวในช่วงเทศกาลวันหยุด แต่การกลับไปอยู่กับครอบครัวในยุคที่โซเชียลมีเดีย หรือสื่อเข้ามามีอิทธิพล ทำให้แทนที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็กลายเป็นต่างคนต่างอยู่มากขึ้น คืออยู่ด้วยกัน แต่คุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกเสมือนจริงมากกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า บางคนใช้โทรศัพท์ หรือไอแพดเลี้ยงลูกแทน ที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาที่ล้วนมีความเชื่อมโยงกัน 

“พอเราพูดถึงเด็ก พูดถึงวัยกลางคน และผู้สูงอายุก็ถูกปล่อยปะละเลยเช่นกัน ปัญหาสำคัญของสังคมไทย คือคนวัยแรงงานจำเป็นต้องออกมาทำงาน ต้องทิ้งผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจริงๆ  ที่กระทบครอบครัวไทย  ยิ่งพอมีปัจจัยภายนอก อย่างสื่อ โซเชียลมีเดีย ยิ่งเข้ามายิ่งกระทบ ก็รับมือลำบาก“

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช 

ฐานิชชา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ตัวเลขของเด็กเยาวชนในครอบครัว ที่เป็นโรคซึมเศร้าและมีปัญหาสุขภาพจิต มีตัวเลขมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสัมพันธ์ที่ห่างเหินคุยกันน้อยลงในครอบครัว เด็กต้องพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น กลายเป็นฟังคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว รู้จักกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อบายมุข ความรุนแรงต่าง ๆ รอบบ้านก็เข้าหาเข้าถึงลูกหลานเรามากขึ้น

“ตอนนี้กลายเป็นว่า ครอบครัวอาจต้องช่วยเหลือตัวเอง เพราะตอนนี้นโยบาย สวัสดิการที่มีนอกจากไม่เอื้อและยังส่งผลกระทบกับความเป็นครอบครัว เพราะเวลาทำงานมากเกินไป ปัญหาเศรษฐกิจที่มารุมเร้าครอบครัว การย้ายถิ่นของคนที่เข้ามาทำงานในเมือง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้องทำงานส่งเงินกลับบ้านกระทบกับครอบครัวไทยมากขึ้น“

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช 

สำหรับข้อเสนอสำคัญ ประกอบด้วย  

  1. ครอบครัวที่มีเด็กในบ้านจะต้องมีการส่งเสริมการทำงานในพื้นที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ไม่ถูกปล่อยกลับชนบทให้ปู่ยาตายายดูแล นโยบายการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ ที่อยู่หรือภูมิลำเนาอันนี้สำคัญ 

  2. สำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ควรมีสวัสดิการเอื้อครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ไม่ว่าจะพ่อหรือแม่ จะทำให้เขาดูแลครอบครัวได้ ทั้ง การศึกษา ที่อยู่อาศัย หรือทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งจริงๆเราผลักดันเรื่องนี้มานานเรื่องครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เขาจำเป็นที่ต้องได้สวัสดิการสนับสนุนการดูแลเด็ก

  3. สำหรับครอบครัวผู้สูงอายุ คำถามสำคัญคือจะกลับไปดูแลผู้สูงอายุได้อย่างไร ซึ่งสวัสดิการเรื่องอาชีพ และรายได้สำคัญ แต่พอไปเกี่ยวกับงบประมาณด้วย กลายเป็นเรื่องยากที่จะสนับสนุน 

“การสนับสนุนสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในชุมชน หรือการที่เรามองว่าชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงดูแลแลเด็ก ครอบครัวด้วยกัน คืออย่างที่เราพูดเสมอ การเลี้ยงเด็ก 1 คน ไม่ใช่ลูกใครลูกมัน เด็กคนนึงต้องช่วยกันดูแลเลี้ยงกันทั้งชุมชน  หรือกลไกบ้านที่รับเลี้ยงเด็ก เช่น ใน กทม. อย่างบ้านฝากเลี้ยง เราควรส่งเสริมให้เขามีความรู้ ส่งต่อความรู้ในการดูแลถึงพ่อแม่ ทั้งหมดคือไม่ให้ครอบครัวโดดเดี่ยว”

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active