โค้งสุดท้ายก่อนเลือกบอร์ดประกันสังคม พบตัวเลขคนลงทะเบียนยังไม่ถึงเป้า

สพท. ย้ำ การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นความหวังและโอกาสของผู้ประกันตน มีส่วนร่วมเลือกคนที่เป็นตัวแทน เข้ามาพัฒนาประกันสังคม เพื่อสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมและโอกาสพัฒนาด้านเศรษฐกิจการลงทุน ทำกองทุนให้เติบโตยิ่งขึ้น

วันนี้ (7 พ.ย. 2566) มนัส โกศล ในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ให้สัมภาษณ์กับ The Active ถึงกรณี การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม โดยเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่มีประกันสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 ได้ลงทะเบียนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ได้มีการขยายเวลาลงทะเบียนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2566 ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 วัน แต่ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนไม่ถึง 7 แสนคน จากที่ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน ทั้งที่หากดูสัดส่วนผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เป็นในส่วนของพนักงานราชการ ในหน่วยราชการต่าง ๆ พนักงานในมหาวิทยาลัย ก็มีมากถึง 700,000 คนแล้ว 

ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโรงงานต่าง ๆ มีประมาณ 5,000,000 คน, ผู้ประกันตน ที่เป็นแรงงานอิสระ มาตรา 33 อยู่ที่ 1,300,000 คน และมาตรา 40 อีกประมาณ 2,000,000 คน 

ซึ่งแม้จะมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่จำนวนผู้มีสิทธิลงทะเบียนน่าจะมากกว่านี้ ทั้งนี้มองว่าอาจจะเป็นเพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก บางส่วนไม่ทราบข้อมูล และบางส่วนก็ยังไม่รู้รายละเอียดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างไร 

ตนเอง จึงอยากจะย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นทั้งความหวังและโอกาส เพราะที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคม จะมาจากการแต่งตั้ง จากตัวแทนสภาองค์กรลูกจ้าง ส่วนนายจ้าง ก็มาจากตัวแทนสภาองค์กรนายจ้าง เป็นฝ่ายละ 5 คน แต่พอกฎหมายประกันสังคมปี 2558 ให้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมฯ เพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน แต่ที่สำคัญคือกำหนดไว้เลยว่า ไม่ใช่ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง แต่ใช้คำว่า ผู้แทนจากฝ่าย ”ผู้ประกันตน“ ซึ่งก็จะครอบคลุมผู้ประกันตนทุกมาตรา 

“คือในส่วนที่แก้ไข เป็นผู้ประกันตนสำคัญ เนื่องจากผู้ประกันตนจะดูแลทั้งหมด 3 มาตรา  คือ มาตรา 33, 39 และ 40 คือเดิมจะดูแลแค่เฉพาะลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้น แต่ในความจริงหลายคนพอหลุดจากมาตรา 33 มาเป็นมาตรา 39, 40 เป็นอาชีพอิสระซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มใหญ่จำนวนมาก ซึ่งก็จะครอบคลุม และถ้าเรามีการปฏิรูปประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เราก็สามารถให้ผู้ประกันตนอาชีพอิสระทุกอาชีพ ที่เป็นคนทำงาน สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เลย“

มนัส ย้ำอีกว่า เมื่อผู้ประกันตนเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาเป็นบอร์ด หรือคณะกรรมการบริหารที่มีคุณภาพ ก็จะสามารถไปแก้ไขกฎหมายลูกหรือระเบียบต่าง ๆ ของประกันสังคมที่เป็นกฎหมายลำดับรอง เช่น กรณีการลงทุนก็สามารถแก้ไขได้ ระเบียบต่าง ๆ ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน รวมถึงในกรณีที่ขยายสิทธิอื่น ๆ ที่เพิ่มในเรื่องของกองทุนบำเหน็จบำนาญชราภาพ ก็ล้วนสามารถทำได้ 

“ผมมองว่าเป็นโอกาสและความหวัง ที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการแต่งตั้งก็พัฒนารักษาผลประโยชน์ให้ผู้ประกันตนได้ค่อนข้างดี มีความระมัดระวังในการลงทุน แต่ก็ทำให้กองทุนเติบโตช้า แต่ผมเชื่อว่า การได้บอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง จะส่งผลดี ทั้งในแง่การกล้าตัดสินใจการลงทุนพัฒนากองทุนให้เติบโตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การตรวจสอบนำเสนอความโปร่งใสต่าง ๆ ที่อาจถูกตั้งคำถามก็จะรวดเร็วมากขึ้น ไปจนถึงการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่จะมีความครอบคลุมตรงกับความต้องการและสอดคล้องในแต่บริบทมากขึ้นด้วย“ 

ดังนั้น ยังพอมีเวลาถึงวันที่ 10 พ.ย. นี้ อยากให้ผู้ประกันตนที่เข้าเงื่อนไข ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกบอร์ดประกันสังคม ส่วนร่วมในการพัฒนาประกันสังคมให้เติบโตยิ่งขึ้นทุกด้าน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active