ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ยันไม่บังคับเพิ่มเงินสมทบ-ขยายอายุเกษียณ

ขณะประชุมบอร์ดประกันสังคมนัดแรก ที่ประชุมรับหลักการ ปรับสัดส่วนอนุกรรมการทำหน้าที่บอร์ดประกันสังคมประจำจังหวัดเพิ่มสัดส่วนผู้ประกันตนและนายจ้าง ขณะข้อเสนอการถ่ายทอดสดการประชุม ที่ประชุมขอไปทีละขั้นตอน

วันที่ 9 มี.ค. 2567 หลังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่ากังวลว่ากองทุนประกันสังคมกำลังเสี่ยงจะล้มละลายในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า จึงมีแนวคิดจะขยายอายุเกษียณผู้ประกันตน พร้อมเพิ่มเพดานการเก็บเงินสมทบ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกันตนผ่านโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนจากกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่าน X โดยยืนยันว่า จุดยืนทีมประกันสังคมก้าวหน้า ไม่มีเรื่องการบังคับเพิ่มเงินสมทบ หรือ การขยายอายุเกษียณ โดยวิธีการที่จะทำให้ประกันสังคมยั่งยืนของกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า จุดยืนคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายเพื่อจูงใจให้แรงงานกลุ่มใหม่ ๆ เข้าประกันสังคมรวมถึงการดึงเงินจากรัฐที่ค้างจ่ายเข้าประกันสังคม

ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เรียกร้องให้ช่วยดูแลเรื่องการลงทุนของเงินประกันสังคม ขณะที่บางคนเสนอให้สามารถใช้สิทธิได้ว่า จะเลือกรับเป็นบำนาญหรือบำเหน็จ ซึ่งต้องรอดูว่า เรื่องนี้จะมีความคืบหน้าอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ รมว.แรงงานระบุว่า เป็นประเด็นเร่งด่วนที่อาจต้องหารือกับบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำหน้าที่หลังได้รับการเลือกตั้ง

ขณะที่การประชุมบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่นัดแรก เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา หลังได้รับการเลือกตั้ง โดยมีวาระสำคัญในการประชุม คือ หลักเกณฑ์การคัดเลือกอนุกรรมการจังหวัด ซึ่งจะเป็นโครงสร้างหลักในการขับเคลื่อนประเด็นด้านนโยบายของประกันสังคม รวมถึงประเด็นเรื่องการเปิดเผยให้กองทุนมีความโปร่งใส ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ

เกศนคร พจนวรพงษ์ โฆษกทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้กล่าวสรุปการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมครั้งที่ 1 ประจำวันที่ 8 มี.ค. 2567 ซึ่งมีประเด็นการประชุมที่สำคัญที่สุดสองเรื่อง คือ

1.) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม

ในส่วนของการแต่งตั้งอนุกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยคณะอนุกรรมการนี้จะทำหน้าที่เป็นบอร์ดประกันสังคมประจำจังหวัด ทำหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆที่บอร์ดประกันสังคมมอบหมาย สะท้อนปัญหาภายในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาด้านการบริการ การวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพของผู้ประกันตน การจ่ายประโยชน์ทดแทน รวมถึงข้อเสนอในระดับจังหวัด

โดยในสูตรเดิมของการแต่งตั้งอนุกรรมการ จะใหึผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและจะมีสัดส่วนฝั่งผู้ประกันตนต่อนายจ้างต่อภาครัฐ โดยประมาณอยู่ที่ผู้ประกันตน 15% นายจ้าง 15% ภาครัฐและหน่วยงานภายนอก 70% โดยจำนวนอนุกรรมการจะขึ้นอยู่กับขนาดของจังหวัด

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเห็นชัดว่าสัดส่วนตามสูตรนี้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสัดส่วนของภาครัฐและหน่วยงานภายนอกค่อนข้างมากกว่าผู้ประกันตนและนายจ้างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งน่ากังวลว่าจะไม่สามารถสะท้อนความต้องการของผู้ประกันตนและนายจ้างได้ตามวัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมการ

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ให้มีการปรับสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้างให้เพิ่มมากขึ้น โดยมติที่ประชุมรับหลักการ 1 – 3 คน เพิ่มขึ้นเป็น 3 – 5 คน โดยฝ่ายผู้ประกันตนจะเปลี่ยนเงื่อนไขให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่สังกัดอยู่ในสมาชิกองค์กรแรงงานหรือในสหภาพแรงงาน

2.) การเปิดเผยและถ่ายทอดสดการประชุมบอร์ดประกันสังคมต่อสาธารณชน

การเปิดเผยและถ่ายทอดสดการประชุมบอร์ดประกันสังคมให้แก่สาธารณะ ทางทีมประกันสังคมก้าวหน้ามีการเสนอให้มีการเปิดเผยการประชุมให้โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ การถ่ายทอดสดการประชุม เปิดเผยมติในการประชุม และแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้าให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ

โดยเบื้องตนที่ประชุมรับหลักการ แต่จะค่อย ๆ ขยับไปทีละขั้นตอน เช่น อาจจะมีการทำสื่อเผยแพร่การประชุม และอาจจะมีการแถลงหลังการประชุม เพื่อจะรับทราบผลตอบรับแล้วค่อยปรับไปตามความเหมาะสม

ด้าน นลัทพร ไกรฤกษ์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกคณะอนุกรรมการ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เวลามาก เพราะสามารถกำหนดโดยคณะอนุกรรมการ และสามารถปรับได้เลยในการแต่งตั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งก็หวังว่าจะมีสัดส่วนได้ตามที่กำหนดใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสมเพิ่มขึ้น

ชลิต รัษฐปานะ บอกว่า ในฐานะที่ได้รับเลือกมาจากผู้ประกันตน ไม่ว่าทำสิ่งใดก็จะมีผู้ประกันตนจับตา และถือว่าการทำงานนี้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทีม ที่เวลาดำเนินการอะไรจะต้องบอกผู้ประกันตน

“ทางที่ประชุมค่อนข้างกังวลหลายเรื่อง เพราะต้องพูดชื่อบริษัท ต้องพูดชื่อคน ก็เกรงว่าจะไปผิดข้อกฎหมายอะไรสักอย่าง ก็คล้ายคลึงกับสภาฯ ดังนั้น ยังมีข้อกังขาอยู่เยอะเรื่องการถ่ายทอดสด แต่ทางทีมก็สนับสนุนให้โปร่งใสที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได ไม่ได้มองแค่ว่ากองทุนเท่านั้นที่จะโปร่งใสอย่างเดียว แต่ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของกองทุนได้อย่างแท้จริงด้วย”

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 19 มีนาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active