รมว.แรงงาน-บอร์ดประกันสังคม ประชุมนัดแรก

‘พิพัฒน์’ เสนอแนวทางต่อคณะกรรมการฯ หวังนายจ้างตระหนักถึงหน้าที่ ขึ้นทะเบียน จ่ายเงินสมทบครบถ้วน ด้าน ‘ษัษฐรัมย์’ ชี้ เห็นตรงกันเรื่องการเคลื่อนสิทธิประโยชน์ เพื่อยกระดับกองทุนโปร่งใส

วันนี้ (4 มี.ค. 2567) เวลา 9.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม ภายใต้นโยบาย “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่นเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมี ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์กองทุนประกันสังคม คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมฯ 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณา ดังนี้

คณะกรรมการประกันสังคม พิจารณาแนวทางให้นายจ้างตระหนักถึงหน้าที่ในการสร้างหลักประกันสังคมให้กับลูกจ้างโดยขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างครบถ้วน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามกฎหมายครบถ้วน รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้สำนักงานประกันสังคมพัฒนาการทำงาน และระบบเทคโนโลยี เพื่อให้การบริการนายจ้างและลูกจ้างดียิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

คณะกรรมการการแพทย์ พิจารณาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของลูกจ้างหรือผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิไม่ด้อยกว่าหรือดีกว่ากองทุนอื่น เนื่องจากลูกจ้างและนายจ้างได้ร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมรวมถึงศึกษานวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ เพื่อใช้สำหรับการตรวจคัดกรองและ รักษาโรคแก่กลุ่มผู้ประกันตน

คณะกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาคำอุทธรณ์ของลูกจ้าง นายจ้าง หรือผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยความรวดเร็วแต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย และการวินิจฉัยสิทธิประโยชน์ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน พิจารณาเรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน พัฒนามาตรการหรือสร้างแรงจูงใจในการลดอุบัติเหตุจากการทำงาน

และ คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน พิจารณาแนะนำแนวทางการกำกับ ตรวจสอบ และวางระบบการบริหารกองทุน ให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเชื่อมั่นให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำแนวทางการพัฒนาสำนักงานประกันสังคม โดยขอให้คณะกรรมการฯ ร่วมเร่งรัด ขับเคลื่อน ผลักดันสำนักงานประกันสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างถึงที่สุด ภายใต้นโยบาย “มุ่งเน้นการบริการที่ได้มาตรฐาน วินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว สะดวกสบาย และมีการติดตามผล พร้อมคุ้มครอง ดูแล และสร้างสวัสดิการที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน” โดยนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ข้อนโยบาย คือ 1. นโยบายด้านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้ประกันตน สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสอดคล้อง กับมาตรฐานสากล พร้อมพัฒนาและยกระดับสิทธิการรักษา รวมถึง สวัสดิการของงานด้านประกันสังคม ที่มีความทันสมัย และตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน ผ่านโครงการ MICRO FINANCE : ลดหนี้ เติมทุนสร้างสุขแรงงาน

2. นโยบายเชิงรุกเพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีสำหรับผู้ประกันตน โครงการตรวจสุขภาพเชิงรุก ณ สถานประกอบการ ที่มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองโรคที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เพื่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้ประกันตน โดยการนำนวัตกรรมด้านการคัดกรองโรคที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาใช้เพื่อการคัดกรองโรคอันตราย ณ สถานประกอบการ

3. นโยบายด้านการยกระดับงานด้านการบริการ “รวดเร็ว สะดวกสบาย และ มีการติดตามผล” สู่การพัฒนา BEST E-SERIVCE ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตนในการรับบริการ มีการพัฒนาระบบ TELE – MEDICINE เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการได้รับการบริการด้านการรักษาพยาบาล และช่วยลดความแออัดณ สถานพยาบาล และการพัฒนาระบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าบริการของผู้ประกันตน ณ สำนักงานประกันสังคมและโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการพัฒนาและระดับงานด้านการบริการและรักษาพยาบาล

4. นโยบาย “กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน” เพื่อการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส และยั่งยืน โดยส่วนแรก คือ การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน พร้อมเร่งศึกษาพัฒนา PACKAGE ด้านประกันสุขภาพ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตนยุคใหม่ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกันตนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระ หรือมาตรา 40 ส่วนที่สอง คือ พัฒนาด้านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่มากกว่าปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนจำนวน 5.0%

ด้าน บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ว่า วัตถุประสงค์ของงานในวันนี้เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาระบบงานประกันสังคมเป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และได้รับความไว้วางใจในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง และ ผู้ประกันตน โดยคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม มีทั้งสิ้น 7 คณะ ซึ่งในวันนี้มาร่วมประชุม จำนวน 5 คณะโดยอีก 2 คณะ คือ คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์กองทุนเงินทดแทนอยู่ระหว่างการสรรหาเนื่องจากหมดวาระ

“สำนักงานประกันสังคมพร้อมยกระดับกองทุน และพร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายๆ ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงทาง สังคมต่อไป”

ต่อมาในเวลา 13.00 น. หลังจากจากเสร็จสิ้นการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและทีมประกันสังคมก้าวหน้า กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคมลำดับที่ 1- 6 นำโดย รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี แถลงถึงภาพรวมทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่และรัฐมนตรี 

โดย เกศนคร พจนวรพงษ์ โฆษกทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้แถลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าชี้แจงต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในการประชุม ดังนี้

  1. คณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน พวกเราเป็นตัวแทนของประชาชน สิ่งใดเกิดในกระทรวงแรงงานที่สร้างความก้าวหน้าก็ส่งผลให้รัฐมนตรีเป็นที่รู้จัก แต่สิ่งใดที่มีปัญหาก็เป็นหน้าตาของรัฐมนตรีเช่นกัน ไม่ต่างจากบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่รู้จักของประชาชน หากเกิดความเสียหายต่าง ๆ ประชาชนเองก็จะจับตาพวกเราไม่น้อยกว่ารัฐมนตรี 

  1. ความคาดหวังของทีมประกันสังคมก้าวหน้าต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า คาดหวังว่าแนวทางของรัฐมนตรีและทีมงานจะเห็นตรงกันกับเราในหลักการที่เชื่อว่า ‘ไม่ควรมีใครที่ต้องมีชีวิตที่ยากลำบากจากการทำงานเต็มเวลา การพัฒนาทักษะ และการสร้างงานในอนาคตที่เป็นงานที่มีคุณค่า งานที่มีชั่วโมงในการทำงานที่เหมาะสม ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นอนาคต’

ดังนั้นการปฏิรูปสิทธิประโยชน์ประกันสังคม การบูรณาการฐานข้อมูล จะสามารถเป็นฐานการสร้างงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะยกระดับสิทธิประโยชน์แรงงานอิสระทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่พวกเราอยากเชิญชวนให้รัฐมนตรีผลักดันร่วมกัน และแน่นอนว่าหากสำเร็จจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สามารถช่วยผู้คนจำนวนมหาศาลไว้ได้ไม่น้อยไปกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 22 ปีก่อน

  1. ก้าวแรกของทีมประกันสังคมก้าวหน้า

สิ่งที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะเดินหน้าทำทันที คือ การทำกองทุนให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมจะต้องถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลการประชุมให้สามารถติดตามย้อนหลัง ในขณะที่งบประมาณบางด้านจะต้องลดลง เช่น งบประมาณในการจัดทำสื่อวารสารที่เกินความจำเป็น

นอกจากนี้การประชุมจะต้องวางแนวทางใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในการประชุมใหญ่ และการทำงานร่วมกันอนุกรรมการต่าง ๆ 

  1. พรบ.ประกันสังคมฉบับใหม่

ในส่วนท้ายสุด ร่างพรบ.ประกันสังคมที่ถูกนำเสนอตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเล็งเห็นว่าตัวพรบ.มีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการที่ร่างดังกล่าวถูกเสนอในช่วงเวลาที่ประกันสังคมยังบริหารโดยคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง พวกเราจึงเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการแบบกำหนดระยะเวลาเพื่อพิจารณา เรื่อง พรบ.ประกันสังคมฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่เราจะปรับปรุง

“พวกเรา ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคม ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเราหวังว่าต่อจากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนทำงาน และประชาชนทุกคน”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี บอกว่า จากการประชุมทางรัฐมนตรีมีทิศทางไปในเชิงบวก พร้อมจะทำงานกับบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง และก็ในอีกด้านหนึ่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่มีการนำเสนอมาจากรัฐบาลชุดก่อน รัฐมนตรีก็ให้ความเห็นว่า ก็จะมีการสกัดหวังในการประชุม ครม. ว่าบอร์ดจะต้องมาจากการเลือกตั้ง การแต่งตั้งต้องมีเหตุสุดวิสัย เช่น สงครามโลกระหว่างประเทศเท่านั้น

“เรามีความเห็นตรงกันในเรื่องการเคลื่อนสิทธิประโยชน์ การทำให้กองทุนโปร่งใส” 

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

รศ.ษัษฐรัมย์ คาดว่าในวันที่ 8 มี.ค. นี้ จะเป็นจุดสำคัญของการประชุมนัดแรก ที่จะพยายามตั้งอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างให้โปร่งใสต่าง ๆ

และพูดถึงประเด็นความเสี่ยงเรื่องงบฯ ของกองทุนประกันสังคมในอนาคตว่า กองทุนมีความเสี่ยงจริง แต่ว่าในอีกด้านหนึ่ง สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ ไม่ว่าจะเรื่องการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดใจให้คนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น การวางแผนการลงทุนในกลุ่มคนที่มีธรรมภิบาลมากขึ้น ในด้านนี้อยากก็ชี้ให้เห็นว่า มันไม่ได้มีเพียงสถานการณ์เดียวที่กองทุนจะเดินหน้า

หลังจากการประชุมร่วมกันวันนี้ ในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. จะเป็นการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมจากการเลือกตั้งครั้งแรก ณ อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะมีการแถลงความคืบหน้าจากการประชุมแก่สาธารณะอีกครั้ง รวมถึงการเผยแพร่เนื้อหาจากการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active