เสนอเก็บ​ VAT เพิ่ม​ 3% หักเข้าระบบเงินออมประชาชน รับสังคมสูงวัย

ห่วงคนรุ่นใหม่แบกรับภาระหนัก แนะหางานให้ผู้สูงอายุ เลิกกำหนดวัยเกษียณใช้ระบบดิจิทัลรองรับคนแก่ในเมือง หนุนกระจายอำนาจจัดการสุขภาพสู่ท้องถิ่น

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส

วันที่ 1​ ต.ค.​ 2565​ ศาสตราภิชาน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Digital Health for aging Society กับเยาวชนไทย” ที่ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ว่า​ ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยโครงสร้างประชากรที่มีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปสัดส่วน 18% แต่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อโครงสร้างประชากรไทยในปี 2579 จะมีผู้สูงอายุมากถึง 30% ในช่วงเวลานั้นผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปีในตอนนี้ และคนรุ่นใหม่จะต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวมากกว่า 1 คน ขณะที่อัตราการเกิดที่น้อยลง คนพร้อมไม่ท้อง คนท้องไม่พร้อม กันมากขึ้น

สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับ มีใน 3 มิติหลักคือเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพกล่าวโดยรวมเฉพาะด้านสังคมและเศรษฐกิจ  ทำอย่างไรให้คนแก่ช้าลง โดยไม่ได้ดูในมิติของตัวเลขแต่ดูในมิติของสังคมและเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุทำงานยาวนานที่สุด และเจ็บน้อยที่สุดเมื่อเจ็บแล้วเสียชีวิตไปเลย เพราะฉะนั้นการเกษียณในช่วงอายุ 60 ปี อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว​ 

อีกปัญหาคือเรื่องเงินออมของคนไทย จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันชาวบ้านมีเงินพอรายวัน แต่ไม่พอเก็บ รัฐจึงควรออกแบบนโยบาย เพื่อเสริมสร้างเงินออมของประชาชน โดยตนมีข้อเสนอให้เก็บเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 7% เพิ่มมา อีก 3% เป็นเงินออมของประชาชนทางอ้อม และรัฐสมทบเท่าตัวจะทำให้เกิดเงินออมและแก้ปัญหาคนจนสูงอายุ เพราะการให้บำนาญถ้วนหน้า ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการจัดหางบประมาณมาจ่าย​ ขณะที่กองทุนการออมแห่งชาติก็ยังมีสัดส่วนผู้เข้าร่วมการออมน้อย เพราะเป็นการออมแบบสมัครใจ 

ส่วนมิติสุขภาพอนาคตผู้ป่วยจะล้นโรงพยาบาล แต่สามารถใช้ระบบดิจิตอลมารองรับ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงแพทย์ได้ง่าย ใกล้บ้าน และช่วยด้านการเชื่อมต่อข้อมูลการรักษา รวมถึงการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งส่วนนี้จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มาก​

“ผู้สูงอายุในเมืองน่าเป็นห่วง มากกว่าต่างจังหวัด เพราะไม่มีชุมชนร่วมดูแล จุดอ่อนนี้เทคโนโลยีจะช่วยได้มาก หากประเทศยังไม่มีการวางอนาคตจะแย่” 

ขณะเดียวกัน ยิ่งต้องมีกายกระจายอำนาจการจัดการสุขภาพไปให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ซึ่งปัจจุบันการโอนถ่าย รพ.สต.ถือว่ามาถูกทางเพราะที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณจัดการสุขภาพที่ซ้ำซ้อนกับกระทรวงสาธารณสุข

 

ขณะที่ทีดีอาร์ไอได้เปิดผลศึกษาวิจัยค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทยในอนาคตพบเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ งบรักษาพยาบาลบานปลายทั้ง 3 กองทุน ป่วย 5 โรคเรื้อรังต้องใช้งบสูงถึง 1.4 ล้านล้าน ซึ่งเกือบครึ่งของงบประมาณแผ่นดินต่อปี จึงหามาตรการส่งเสริมป้องกันโรคมาใช้ เพื่อควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล 

Author

AUTHOR