เครือข่ายสวัสดิการเด็กเล็กอีสาน เรียกร้องรัฐกระจายอำนาจเพื่อปากท้องประชาชน

เครือข่ายติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก ฯ ​ จัดประชุมติดตามนโยบายรัฐ ย้ำ ต้องกระจายอำนาจ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน วิธีการแก้ปัญหาต่างกัน หากใช้วิธีเดียวกันหมด หรือใช้คนกลางแก้ปัญหาเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 67 เครือข่ายขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายขับเคลื่อนพื้นที่ภาคอีสาน ณ โรงแรม Gallery Lake view จังหวัดขอนแก่น 

อรนุช ผลภิญโญ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวว่า ตอนนี้ได้ตั้งคณะกรรมการและจัดทำข้อเสนอยื่นต่อ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้มีการหารือเข้าพบแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมมีมติรับรองเงินสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาทแล้ว โดยลำดับต่อไปคือการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ และเน้นย้ำว่า ไว้ใจได้แต่อย่าวางใจ จะยังคงขับเคลื่อนติดตามอย่างไม่ปล่อยเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง

อรนุช ผลภิญโญ 
ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

ด้าน ว่าที่ร้อยเอกพงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นและผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญและถูกให้ความสำคัญอย่างมากในยุครัฐธรรมนูญปี 2540 มีการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น พอในยุคปี 2550 เรียกได้ว่าเสมอตัว จนกระทั่งในปี 2560 กลับถอยหลัง ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนนโยบายทำได้ยาก รวมถึงเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าด้วย

“การกระจายอำนาจจะเป็นยาหม้อที่อาจจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เสน่ห์ของท้องถิ่นคือความแตกต่าง แต่ละที่มีบริบทสังคมต่างกัน วิธีการแก้ปัญหาก็ต่างกันด้วย หากใช้วิธีเดียวกันหมดหรือใช้คนกลางแก้ไขก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน”

พงเจตน์ พรกุณา
ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 

สอดคล้องกับ ผศ.สุนี  ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กร ที่ชี้ว่าที่ผ่านมา แต่ละพื้นที่มีการดำเนินการที่ต่างกัน บางพื้นที่ทำได้ บางพื้นที่บอกว่าทำไม่ได้ นั่นหมายความว่าอาจมีข้อจำกัดเรื่องการตีความข้อสั่งการและข้อปฏิบัติ การกระจายอำนาจจึงสำคัญมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด

ผศ.สุนี  ไชยรส
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กร

อิทธิพล ชลธราศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม และสส.ก้าวไกล เขต 2 ขอนแก่น ชี้ว่า ตอนนี้จำนวนการเกิดประชากรลดลงสวนทางกับการเกิด และในจังหวัดขอนแก่น มีผู้สูงอายุมากกว่า 300,000 คน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กค่อนข้างสูง ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่มีลูก 

ด้านงบประมาณปี 2567 มีคำขอเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท และในปี 2567 จะมีการจัดสรรงงบฯ เพิ่มอีกเป็น 4 ล้านล้านบาท ด้านเงินสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุ ไม่แน่ใจว่ารวมอยู่ในส่วนงบฯที่อนุมัติมานี้หรือไม่ หรือจะเป็นการใช้งบฯกลาง 

อิทธิพล ชลธราศิริ 
ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม และสส.ก้าวไกล เขต 2 ขอนแก่น

โดย เด็กตอนนี้ เด็กอายุ 0-6 ขวบ มีจำนวน 4 ล้านกว่าคน จะต้องใช้งบสวัสดิการเด็ก ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท แต่งบที่อนุมัติมามีเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท แสดงว่าจะมีเด็กที่ไม่ได้เงิน 1.5 ล้าน ในส่วนของ กมธ.และสส. สิ่งที่สามารถทำได้คือ จะไม่ตัดงบประมาณสวัสดิการรายหัวทิ้ง

“เราจะพิทักษ์ รักษางบประมาณรายหัว ที่ไม่ควรตัด ส่วนเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า สามารถให้ท้องถิ่นดำเนินการได้ เพราะท้องถิ่นจะรู้เรื่องของประชาชนในพื้นที่ได้ดี”

ปริญดา เอียสกุล ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า จะเกิดคำว่า “ถ้วนหน้า” ได้นั้น ต้องมาจากประชาชน สังคม ช่วยกัน ไม่ได้มาจากทางการเมือง หากประชาชนไม่ผลักดันการขับเคลื่อน การเคลื่อนไหวจะไม่เกิดขึ้น

ปริญดา เอียสกุล
ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เทศบาลนครขอนแก่น

ท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการผลักดันแต่กลับถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย การกระจายอำนาจจึงไม่เกิดขึ้นจริง เช่น  กรณีการเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ท้องถิ่นสามารถจ่ายได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับถูกตรวจสอบและระบุว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับอบจ. เช่นเดียวกัน กรณีเงินสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า หากท้องถิ่นทำเองจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อกฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นมีหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อพมจ.เท่านั้น จึงไม่เป็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active