ร่วมวาดอนาคตบางกะปิ สู่การเป็นสมาร์ตซิตี้

นิด้า ร่วมกับภาคี เปิดเวทีรับฟังความเห็น ร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะ รองรับการเดินเท้า จักรยาน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะที่ดีของชาวบางกะปิ

วันนี้ (9 ก.พ. 66) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำนักงานเขตบางกะปิ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เวทีสมาร์ทบางกะปิ #1 สวนใกล้บ้าน x ลานคนเมือง” ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่เขตบางกะปิให้เป็นสมาร์ทซิตี้ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบางกะปิ

ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการวิจัย Bangkapi Smart District คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า โครงการบางกะปิสมาร์ตซิตี้ ได้รับทุนสนับสนุน สสส. เพื่อส่งเสริมการเดินทางของกลุ่มเปราะบาง และเงินจากสำนักงานงบประมาณ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และออกแบบการก่อสร้าง สวนลอยฟ้ายกระดับเชื่อมต่อรถไฟฟ้า เป็นเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือวัดศรีบุญเรือง – สถานีรถไฟฟ้าบางกะปิ – แยกลำสาลี และมีองค์ประกอบของสวนสาธารณะขนาดย่อม มีต้นไม้ให้ร่มเงา และรถรับส่งด้วยชัตเตอร์ไฟฟ้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง

แต่นอกจากนี้ยังต้องการให้เกิดการกระตุ้นย่านในพื้นที่ด้านล่างด้วย จึงระดมความคิดเห็นเรื่องส่งเสริมการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เพื่อลดฝุ่น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจจากร้านค้ารายทาง โดยเชื่อว่าเมื่อชาวบ้านรวมตัวกันสร้างรวมตัวกันร่วมพัฒนาจะเป็นแนวทางสู่ชุมชนยั่งยืน

“วันนี้ระดมพลติดตามการก่อสร้างของสกายวอล์กบางกะปิ และเราวางแผนเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนใกล้บ้าน สวน 15 นาที วางแผนออกแบบเพิ่มพื้นที่สวน 8-9 แห่ง ในย่าน ส่งเสริมการเดินแบบไร้รอยต่อบนทางเท้า โดยทำงานร่วมกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะเพิ่มเสน่ห์ย่านเมือง ให้เกิดการใช้ขนส่งมวลชนให้คุ้มค่า การเน้นใช้จักรยานเชื่อมโยงสกายลิ้งค์บางกะปิ และการใช้จักรยานเดินทางท่องเที่ยว เลียบคลอง เข้ามัสยิด ต่าง ๆ วันนี้เรามาระดมความคิดและรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การออกแบบร่วมกัน ซึ่งตอนนี้มีกลุ่มสถาปนิกที่ทำงานร่วมกันด้วยหลายกลุ่ม เมื่อได้ข้อสรุปและชุมชนเห็นพ้องกันแล้ว ก็จะเสนอต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป”

สว่าง ศรีสม ตัวแทนกลุ่ม ขนส่งมวลชนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า หากจะมองหาเมืองต้นแบบเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การตามหามาตลอด 20 ปี ยังไม่เจอสักเมือง รู้สึกผิดหวังมาตลอด และหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในบางกะปิจะตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งการที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเมืองที่อาจจะทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นการเอาคนที่เคยถูกทิ้งกลับมามีบทบาทร่วมในการพัฒนาเมือง แม้แบบการพัฒนาจะต้องใช้เวลา แต่จะเป็นทิศทางที่ดีในการพัฒนาเมืองในอนาคต

“สำหรับเมืองอัจฉริยะ และที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครอบคลุมถึงเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเมือง แต่ต้องมั่นใจว่าทุกคนใช้ได้ เข้าถึงได้ เข้าใจได้ และเมืองต้องน่าอยู่ คือเมืองมีรถยนต์น้อย ทางเท้ากว้าง ส่งเสริมการเดินเท้าในเมือง แต่ตอนนี้ คนขับรถก็รถติดคนจะเดินก็ไม่มีทางจะเดิน อย่างตัวผมต้องเสียเงินหลายร้อยเพื่อเรียกรถเดินทางในแต่ละวัน ดังนั้นจำเป็นต้องพิจารณาว่าเมืองบางกะปิจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ย้ำว่าเมืองที่ไม่ทิ้งใคร ตัวอย่างง่าย ๆ คือไม่ปล่อยให้คนพิการถูกทิ้ง เพราะเดินทางไม่สะดวก”

ประยงค์ ศรีโพธิประเสริฐ สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ ชาวบ้านรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ มีโอกาสสร้างส่วนร่วมในการพัฒนา และเรียนรู้ร่วมกันว่าควรพัฒนาไปในทิศทางไหน ที่ผ่านมาเราเคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาลานกีฬาพัฒน์ในเขตบางกะปิ โครงการนั้นมีการชวนให้ชาวบ้านและภาคีพัฒนาทำงานร่วมกัน มีการออกแบบทั้งในพื้นที่และทางเท้า เพื่อสร้างสุขภาวะในแง่ของการส่งเสริมการเดินถนน น่าจะเป็นโอกาสที่จะนำแนวทางต้นแบบมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่แห่งใหม่ด้วย

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park มองว่า เมื่อพูดถึง smart city อาจไม่ได้มองจากเทคโนโลยีเป็นฐานแต่มองถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ กับโมเดลการพัฒนาใหม่ ๆ ในการร่วมลงทุนระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่เข้าถึงได้ อาจจะต้องหาตัวชี้วัดก่อนว่า สวนแบบไหนใกล้แค่ไหนที่คนบางกะปิต้องการ และภาคีความร่วมมือ เช่น ชุมชน ร่วมลงแรงแสดงความคิดเห็น เอกชนร่วมลงทุน ภาควิชาการลงทุนเรื่ององค์ความรู้ ฯลฯ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่า มูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากพื้นที่สีเขียว ต้องสื่อสารร่วมกัน และนำทรัพยากรมาลงขัน

ธีรเมศร์ เลิศเศวตพงศ์ ผู้ก่อตั้งร้าน cafe’ velodome และกลุ่มปั่นต่อ เล่าว่า เขาขี่จักรยานมาร่วม 10 ปี พบว่าจักรยานช่วยอำนวยการสัญจรได้อย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่รถติดหนาแน่น จักรยานอาจจะขับแซงรถยนต์ได้ ซึ่งแม้ว่ากรุงเทพฯ จะถูกมองว่าร้อน แต่ถ้าขี่ด้วยความเร็วไม่มาก ระยะคงที่ จะทำให้อุณภูมิทางความรู้สึกน้อยลงหลายองศา จักรยานยังเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อยมาก แต่มาพร้อมกับประสบการณ์ใหม่ที่จะได้จากการเดินทาง ถ้าอยากจะพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นมีทางจักรยาน คนในพื้นที่ก็อาจจะต้องเริ่มใช้จักรยานเองด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active