เปิดแผนพัฒนาบางกะปิ-บึงกุ่ม-วังทองหลาง ต้นแบบยกระดับย่านเมืองขนาดกลาง

ร่วมสร้าง กรุงเทพฯ สู่มหานครน่าอยู่ เสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการสัญจรของทุกคนในเมือง จากการระดมความคิดเห็นของคนในพื้นที่ สะท้อนข้อกังวลถึงการจัดสรรงบประมาณและการรับช่วงดำเนินการต่อของหน่วยงานภาครัฐ

วันนี้ 30 ส.ค. 66 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กรุงเทพมหานคร สสส. City co-create และภาคี ร่วมจัดกิจกรรมเวทีนำเสนอแผนการพัฒนาเมืองย่านบางกะปิ ‘ร่วมสร้าง กรุงเทพฯ สู่มหานครน่าอยู่ : Make Livable Bangkok’ ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อวางแผนการพัฒนาเมืองบางกะปิให้เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือ smart district bangkapi ‘ย่านเมืองขนาดกลางน่าอยู่อัจฉริยะ’ โดยพัฒนาภูมิทัศน์ของเมืองให้มีความรื่นรมย์ เหมาะกับทุกคนในย่าน มีการสัญจรดี เป็นย่านน่าอยู่ด้วยทุกคน เพื่อทุกคน

พงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ กรรมการบริษัทไอซอร่าดีไซน์ กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่าพื้นที่สาธารณะหลายจุดมีสภาพทรุดโทรมขาดการปรับปรุงมาเป็นเวลานาน พื้นที่ทางเท้าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยจากการจัดการ พื้นที่ริมน้ำขาดการดูแล ขาดความปลอดภัย มีพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาเพื่อใช้เกิดการใช้งานมากขึ้นได้ ไม่มีพื้นที่เหมาะสมต่อการสัญจรด้วยเท้า และทางจักรยาน มีพื้นที่รกร้างเช่น พื้นที่ใต้สะพาน จึงมีแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ 8 แห่ง ดังนี้ สวนทวีสุข ทางเท้าถนนศรีบูรพา ใต้สะพานข้ามคลองแสนแสบ บนถนนศรีบูรพา สวนพฤกษชาติ คลองจั่น สวนบางกะปิภอรมย์ ทางเดินริมคลองแสนแสบ จากท่าเรือบางกะปิ-ร.ร.พร้อมมิตร ซอยสุขาภิบาล2 บึงน้ำและพื้นที่รอบบึงน้ำ สวนนวมินทร์ภิรมย์

โดยพื้นที่สวนสาธารณะและทางเท้าใน 8 พื้นที่ อยู่ในเขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง เขตบึงกุ่ม ซึ่งการออกแบบเกิดขึ้นจากการระดมความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ แล้วประมวลความคิดบูรณาการร่วมกับแนวคิดเชิงสถาปัตยกรรม สอดรับกับอัตลักษณ์วัฒนธรรม ภูมิทัศน์ชุมชน สิ่งแวดล้อม เช่น สวนป่าชุ่มน้ำกุ่ม มีระบบนิเวศที่ชัดเจนและหายากในเมือง มีสัตว์น้อยใหญ่จำนวนมากอาศัยอยู่ เราก็ประเมินว่ามนุษย์จะเข้าไปทำกิจกรรมเหล่านั้นโดยไม่รบกวนกันได้อย่างไร เราเรียกว่าระบบการสร้างความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม โดยเราใช้แนวคิดเดียวกันนี้กับการออกแบบในทุกจุด

“sky walk เขตบางกะปิ ก็มีคอนเซ็ปต์เป็นสวนลอยฟ้า เราเห็นว่าพื้นที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกยกระดับ เราจึงตั้งใจฟื้นคืนกลับมา เมื่อเรามีระบบการสัญจรคือสถานีรถไฟฟ้า เราก็พยายามจะใช้โอกาสนี้ สร้างพื้นที่สาธารณะเชื่อมต่อ สร้างลานพื้นที่สีเขียว green area และให้ประโยชน์กับชุมชนเช่นกัน ชุมชนสามารถดูแลได้ รัฐสามารถดูแลได้ ไม่เป็นภาระซึ่งกันและกัน ตอยโจทย์การพัฒนาทั้งรัฐและชุมชนด้วย”

ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นมาหลายครั้งวันนี้ได้แบบการก่อสร้างทางเท้าสาธารณะ แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ และแผนการปรับปรุงสวนสาธารณะ ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งแบบบางส่วนได้มีการประเมินงบประมาณแล้วและหารือร่วมกับกรุงเทพมหานครแล้ว เช่น ทางเท้าในเขตบางกะปิ โดยมีระยะราวๆ 3 กิโลเมตรจากบริเวณแฟลตคลองจั่น นิด้า ยาวไปถึงบริเวณห้างสรรพสินค้า และไปถึงสี่แยกลำสาลี ควรเป็นทางเท้าที่ทุกคนเดินได้ บางส่วนเป็นรถไฟฟ้าผ่าน และเอาสายไฟฟ้าลงดิน หรือในบางส่วนก็จะปรับให้ทางลาดที่มีใช้งานได้ดี มีขนาดที่เหมาะสม ส่วนที่มีการบรรจุงบประมานแล้วคือ พื้นที่สวนบางกะปิภิรมย์ ซึ่งจะมีทั้งการปรับปรุงกายภาพ และห้องหนังสือสาธารณะ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่กายภาพของวัดสามัคคีธรรม เขตวังทองหลางด้วย ซึ่งในอนาคตก็ยังมีแผนที่จะปรับปรุงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น ใต้ทางด่วน เขตวังทองหลาง ก็ได้มีการสอบถามทาง กทม. ​ถึงความพร้อมในเรื่องนี้ด้วย คาดหวังว่าจะมีการสนับสนุนงบประมานเพื่อจัดสร้างตามแบบที่ภาคประชาชนออกแบบ

“เราพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเดินทางของคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย อันดับแรกคือทางเท้า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของทางเท้าก่อน คนต้องสำคัญกว่ารถ ต้องเร่งปรับปรุงและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ หลังจากนี้เราจะต้องประสานความร่วมมือ และขอความคิดเห็นจากผู้บริหารกรุงเทพมาหนคร ในการบรรจุโครงการของเราเข้าไปเป็นวาระดำเนินการต่อของเขตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เราจะเริ่มทำให้เห็นจริงก่อนที่เขตบางกะปิเพื่อที่พื้นที่อื่นๆ จะได้เห็นเป็นต้นแบบ ช่วยกันขับเคลื่อนในเชิงภาคประชาคมต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active