หมดยุคทัวร์ท่องเที่ยวราคาถูก ท่องเที่ยวอย่างไรให้ยั่งยืน

‘นิด้า’ จัดสัมมนากระตุ้นภาคธุรกิจสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในคอนเซ็ปต์ ‘รักเรา=รักโลก’ เมื่อนักท่องเที่ยวยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

วันนี้ (22 มิ.ย. 66) สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดการประชุมสัมมนา โครงการพัฒนาศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลบัญชีประชาชาติด้านต้นทุนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการระบบนิเวศการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG

ผศ.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดี คณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันเริ่มฟื้นคืนหลังซบเซาไปในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่บริบทเปลี่ยนไป จำนวนนักท่องเที่ยวมีน้อยลง และการแข่งขันสูงขึ้น โจทย์สำคัญคือต้องเพิ่มคุณค่าทางการท่องเที่ยวให้สามารถสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นได้ ที่ผ่านมาเราอาจมองในเรื่องของการท่องเที่ยวราคาถูกให้ดึงดูดใจ แต่อาจจะต้องคิดใหม่ให้ยกระดับทั้งเรื่องการออกแบบเชิงประสบการณ์มากขึ้น พร้อม ๆ กับการคำนึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องต้องเห็นภาพเดียวกันก่อนเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน

“เราต้องใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน โจทย์หลังจากนี้จะต้องมองในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาคนเพื่อให้มีทักษะการบริการ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างแรงกระตุ้นการแข่งขัน และการมีส่วนร่วมของผู้คนต่าง ๆ เพราะการท่องเที่ยวทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการกระจายรายได้ หน้าที่ภาครัฐก็ต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อยากเห็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ลงมาในการท่องเที่ยว เพื่อทำให้เห็นมิติใหม่ ๆ อยากเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนให้ความสำคัญ

พัทรียา หลักเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย นิด้า กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งระบบเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร สามารถใช้จุดแข็งตรงนี้มาบูรณากับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งส่วนของผู้ผลิตอาหาร วัตถุดิบต้นน้ำ ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบอาหาร เพื่อส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยว และภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่า ในแนวทางของ BCG Model หรือการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทั้งนี้ต้องมีการให้องค์ความรู้กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบธุรกิจมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ในมุมของเศรษฐกิจมองได้ชัดเจนในส่วนของรายได้จีดีพีหรือค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ แต่การวัดผลทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะการบริโภคการท่องเที่ยวนั้นใช้ทรัพยากร แม้เราจะสร้างมูลค่าทางการเงินมาก แต่หากมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ก็จะไม่สมดุลกัน หมายความว่าประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนควรไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณโดยไม่คิดถึงขีดความสามารถในการรองรับ ต้องคำนึงถึงผลกระทบ แนวทางการลดผลกระทบที่ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม”

ผู้อำนวยการสำนักวิจัย นิด้า กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีการจัดทำเพื่อวัดระดับศักยภาพของทรัพยากร ทั้งด้านชีวภาพ ด้านทุนวัฒนธรรม ภูมิปัญญา แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญที่ต่อพัฒนาต่อจากนี้ เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการวางแผนว่าเราควรพัฒานาการท่องเที่ยวต่อไปอย่างไร จำเป็นต้องดึงเอาต้นทุนความหลากหลายที่มีมาทำฐานข้อมูล และนำไปยกระดับเป็นกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อไป และสุดท้ายคือมีการวัดประเมินผลลัพธ์หลังการดำเนินงาน

นวรัตน์ แววพลอยงาม ตัวแทนชุมชนบ้านนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. และผู้ก่อตั้ง COMMUNITY LAB เล่าว่า ชุมชนนางเลิ้งเป็นชุมชนเก่าในเขตนอกเมือง (หลังกำแพงเมือง) มีต้นทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน นับ 100 ปี มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่และเรื่องเล่าต่าง ๆ จึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวและพื้นที่เดินเมือง โดยมีวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้งธนาคารขยะรับแลกเปลี่ยนขยะพลาสติกกับน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ กระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะ กำจัดขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยพลาสติกที่ได้ยังถูกนำมาแปรรูปเป็นสินค้า โดยการทำงานร่วมกับศิลปิน ออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ นำเสนอผ่าน COMMUNITY LAB และยังเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมที่คนนอกสามารถมาร่วมเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำสวนกินได้ หรือพื้นที่สีเขียวที่ปลูกพืชผักสวนครัวให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์คือสร้างความเข้มแข็งของชาวบ้าน รายได้ชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร และสิ่งแวดล้อมของชุมชนดีขึ้นชัดเจน ที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมพื้นที่ชุมชนเก่าควบคู่กับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้ตลอด

น้ำฝน บุญยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ ททท. ได้มียุทธศาสตร์เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวคิด BCG Model หรือ Gastronomy Tourism : Organic Tourism โดยการเล่าเรื่องการท่องเที่ยวผ่านอาหาร และความสำคัญของภาวะโลกรวนที่มีผลกระทบต่อทุกชีวิต ชวนสังคมตั้งคำถามใหม่ว่าจะวิถีการท่องเที่ยวแบบไหนที่จะช่วยรักษาสมดุลของโลกยุคใหม่ โดยเราทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างกลุ่มนำร่องเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดี ๆ ที่ผ่านการกลั่นกรอง การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศ ให้นักท่องเที่ยวได้ทราบว่าท้ายที่สุดแล้วการท่องเที่ยวแบบใหม่จะให้ประโยชน์กับเราอย่างไร ทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รูปแบบการท่องเที่ยวต่อจากนี้จะต้องจับต้องได้ว่ามีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการอย่างไร เราจึงต้องทำงานร่วมกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่มีความสนใจเดียวกัน และร่วมสอบทานกระบวนการท่องเที่ยวยั่งยืนด้วยกัน อยากให้ทุกคนเห็นว่านี้คือสิ่งจำเป็น ให้ทั่วโลกมองประเทศไทยว่าเรากำลังให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“เรามีโพรเจกส์ร่วมกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ผู้ประกอบการที่สนใจจะผลักดันเรื่องสังคมอินทรีย์ โดยมองว่าวัตถุดิบอินทรีย์เป็นสิ่งสะท้อนถึงระบบนิเวศและโยงถึงการรักษาความหลายทางชีวภาพ เราจะนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าเป็นเส้นทางการเดินทางเพื่อนำเสนอนักท่องเที่ยวให้เห็นว่า แม้จะท่องเที่ยวด้วยความตั้งไปใจรับประทานอาหารแต่จะได้ทราบที่มาและบริบทรอบข้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่าง และการบริโภคจะมีส่วนช่วยชุมชนสิ่งแวดล้อมอย่างไร ถ้าต้องการกินอาหารที่สะอาด อาหารอินทรีย์ นั่นคือการช่วยรักษาโลกอยู่นะ โดยมีการออกแบบแพลตฟอร์มใหม่เพื่อประเมินผลความยั่งยืน วัดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นคะแนนสะสม earth point ให้สามารถวัดผลได้ว่าช่วยโลกแค่ไหน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้มีกำลังใจ ให้ความสนใจผลักดันเรื่องนี้ด้วยความร่วมมือกันต่อไป”

รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า วัตถุดิบอินทรีย์ในตลาดยังคงมีจำนวนน้อย เพราะมีกระบวนการผลิตที่ยากกว่าวัตถุดิบทั่วไป เมื่อการผลิตไม่มีปริมาณที่มากพอ ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการที่มากขึ้น แต่เราก็ไม่ได้มุ่งเป้าเพียงเรื่องของอาหารเพียงอย่างเดียวต้องการสร้างความตระหนักในภาพรวมว่าการท่องเที่ยวก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยโลกได้ อาจจะช่วยเปลี่ยนหลักคิดการดำรงชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น อย่างน้อยคือกินอาหารให้หมด เรียนรู้การเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ย หรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

“รัฐบาลเองอาจจะต้องเข้ามาร่วมสนับสนุน ผู้ประกอบการ หรือภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจการ การปรับความคิดการลงทุน ให้เป็นแรงจูงใจ แรงผลักดัน และให้เห็นว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพราะเป็นเรื่องจำเป็นระดับโลก ต้องดูทั้งเรื่องความเป็นไปได้ในการกฎระเบียบ เงินทุนช่วยเหลือที่เหมาะสมโปร่งใส ต้องพูดคุยกับการปฏิบัติว่าความเป็นจริงติดจัดตรงไหนต้องช่วยเหลือตรงไหนเพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจที่จะให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active