ออกแบบ ‘ข้อเสนอเชิงนโยบาย’ สร้างพื้นที่สีเขียวแนวใหม่

เครือข่ายพื้นที่สีเขียว ต่อยอดข้อเสนอจาก ‘สมุดปกขาว’ จัด Policy Lab หาโมเดลเพิ่มการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ตอบโจทย์อนาคต สู่ความยั่งยืน หาก กทม. นำร่องสำเร็จ เตรียมขยายผล สู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.65 เครือข่ายพื้นที่สีเขียว กว่า 31 องค์กร อาทิ มหาวิทยาลัยศรีปุม, we!park, City Cracker ร่วมกับ The Active ThaiPBS ได้มารวมตัวกันในงาน “Green next Generation แนวทางใหม่ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ” เพื่อขับเคลื่อนต่อยอดข้อเสนอจาก สมุดปกขาว ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน โดย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการเพิ่ม และจัดการพื้นที่สีเขียวใน กทม. โดยการระดมความคิดก่อนตกผลึกเป็นโมเดลใหม่เพื่อดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแก้ปัญหาเมืองด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์เมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงง่าย

จารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. กล่าวเปิดงาน “Green next Generation แนวทางใหม่ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ” ว่าเป็นการชวนเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันออกแบบการพัฒนาพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ โดยมองการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งอาจเป็นหัวเมืองสำคัญที่ไม่ได้มีแค่ กทม.เท่านั้น การออกแบบเมืองยังต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ โดยสิ่งที่ทาง สช. กำลังทำคือ การร่วมมือกับ ภาคีเครือข่ายฯ สร้างความร่วมมือ ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่สาธารณะ, การรักษาพื้นที่, การถอดโมเดล องค์ความรู้เพื่อขยายผล ไปจนถึง การพัฒนาต่อยอดสร้างพื้นที่สีเขียวในอนาคต

ตีความใหม่! สร้างพื้นที่สาธารณะในเมือง

รศ.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ระบุ โจทย์สำคัญ คือ การเปลี่ยนกรอบคิดการมองพื้นที่สีเขียว หรือ พื้นที่สาธารณะ ที่ต้องไม่ใช่แค่การมีพื้นที่สีเขียวมากเท่านั้น แต่ต้องดูว่าเป็นพื้นที่สีเขียวของใคร ใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ เพราะแม้ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ จะสะท้อนตัวเลขว่า กทม. เป็นมหานครที่มีความหนาแน่นน้อยติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ในความเป็นจริง พื้นที่สีเขียวมักอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล หมู่บ้านจัดสรร เช่นเดียวกับที่ดินของรัฐที่เข้าถึงยาก และประชาชนก็ไม่สามารถใช้สอยได้อย่างเต็มที่นั่นเอง เมื่อถูกใช้ไปเพื่อความเป็นส่วนตัว จึงมักจะขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ไปด้วย

จึงมีข้อเสนอให้ ตีความคำว่าพื้นที่สาธารณะใหม่ ไม่ใช่แค่การเป็นพื้นที่สีเขียวที่ต้องเพิ่มให้เท่าเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก 9 ตร.ม. ต่อหัวประชากรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมประเภทกลุ่ม หรือ สิ่งที่ไม่สามารถทำที่บ้านได้ ฯลฯ โดยยกตัวอย่าง สวนสาธารณะโยโยกิพาร์ค ในมหานครโตเกียว เป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคน ที่ทำหน้าที่ได้ทุกอย่าง เช่น เล่นดนตรี เลี้ยงสุนัข ฯลฯ ต่างจากส่วนสาธารณะของไทยที่ส่วนใหญ่คนใช้ประโยชน์น้อย

ตัวอย่างเช่น ศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์ภาษีเจริญ จากเดิมคนใช้งานเพียง 20 คน หลังปรับพื้นที่โดยเพิ่มพื้นที่ดาดแข็ง ให้มีองค์ประกอบร่วมอยู่ในพื้นที่สีเขียวพบมีประชาชนมาใช้เพิ่ม 300 คนต่อวัน สะท้อนถึงการตีความพื้นที่สีเขียวใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น, โครงการลานสุขภาพใกล้บ้าน, ลานจอดรถสถานที่ราชการ ถูกปรับใช้หลังเวลาราชการด้วยวิธีการขีดสีตีเส้นใหม่ ก็จะช่วยให้คนในชุมชนมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น, รวมถึงถนนสีลม ที่ปรับปรุงให้มีสัญลักษณ์ เพื่อให้คนขับรถมองเห็นทางข้ามถนน ก่อนถึงทางข้ามระยะทาง 50 เมตร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนน, หรือแม้แต่การปรับพื้นที่ลานวัดให้เชื่อมโยงกับตลาดชุมชน ฯลฯ ดังนั้นพื้นที่สาธารณะ ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ 24 ชม. แต่ต้องตีความใหม่ ทดสอบ ทดลองใหม่ให้เหมาะกับผู้ใช้จริง โดยต้องตีความใหม่ทั้งมิติการได้มา การรักษา และต่อยอด

พื้นที่รกร้าง คือ โอกาสสำหรับพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะ

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park ระบุ พื้นที่รกร้าง มีโอกาสมากขึ้นที่จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียว แต่โจทย์สำคัญ คือ จะพัฒนาอย่างไรให้พื้นที่มีความยืดหยุ่นรองรับความเสี่ยงมิติต่างๆ ของเมืองได้ด้วย วิกฤตอุทกภัยชี้ชัดว่า พื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่การพักผ่อน แต่ต้องมองมิติอการเป็นพื้นที่รับน้ำ, การบำบัดสุขภาพ, พื้นที่ทางสังคม เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศของเมือง ที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ที่เริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น บางกระเจ้า สวนลุม สวนเบญจกิตติ หรือแม้แต่ คอนโดมิเนียม ที่สามารถสร้างเป็นอาคารสีเขียว (green building)ได้, สวนสุขภาพ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์, สวนสาธารณะ เช่น ลานกีฬาพัฒน์ 1, สวนรับน้ำ สวนป่าเบญจกิตติ, G garden ฟาร์มอาหารปลอดสารพิษ และกรีนลิ้งค์ ฯลฯ แต่คำถาม คือ จะทำอย่างไรให้สามารถถอดบทเรียนสิ่งที่ทำมาแล้วและต่อขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เครือข่าย we!park ยังมองว่าพื้นที่สาธารณะยังต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบางด้วย โดยหลังจากนี้ยังได้วางเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่สาธารณะในเมืองจากเดิม 6.9 ตร.ม. ต่อหัวประชากร เป็น 10 ตร.ม. ต่อหัวประชากร และเพิ่มการเข้าถึงจาก 13% เป็น 50% ตั้งเป้าเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นพื้นที่สีเขียวจาก 17% เป็น 30% โดยจะมีขั้นตอนแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การทำฐานข้อมูล, ร่วมหาพื้นที่, ร่วมคิด, ร่วมหางบประมาณ ระดมทุน, ร่วมแรงก่อสร้าง, ร่วมดูแลและบริหารจัดการ ผ่าน 5 โมเดลการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจากบทเรียนทดลองทำงานกว่า 2 ปี แบ่งเป็น

  • โมเดลที่ดินของรัฐ ดำเนินการ และดูแลโดยรัฐ เช่น สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศ์
  • โมเดลที่ดินรัฐ และงบประมาณเอกชน เช่น สวนชุมชนโชฎึก
  • โมเดลรัฐ และเอกชนค่อย ๆ ขยับพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน เป็นสวนสาธารณะ
  • โมเดลที่ดิน ดำเนินการ และดูแลโดยเอกชน เช่น G Garden, Sansiri Backyard
  • โมเดลที่ดินของเอกชน งบประมาณเอกชน ดูแลโดยรัฐ ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่ยังเกิดขึ้น แต่เป็นความหวังที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะในที่ดินของเอกชน โดยเอกชน

คุณยศพล เล่าต่อว่า เวลานี้กำลังทำฐานข้อมูลเปิดพื้นที่สีเขียวใน กทม. โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยชี้เป้าชุมชน และรัฐก็จะช่วยให้คะแนนได้อย่างเป็นระบบ โดยจะมีขั้นตอนแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การทำฐานข้อมูล, ร่วมหาพื้นที่, ร่วมคิด, ร่วมหางบประมาณ ระดมทุน, ร่วมแรงก่อสร้าง, ร่วมดูแล และบริหารจัดการ โดยทางเครือข่ายมีความหวังอยากจะเห็นอีกหลาย ๆ โมเดลที่จะช่วยสร้างพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นให้กับเมืองได้

ความท้าทายการใช้ประโยชน์พื้นที่เอกชน

กรกช อรรถสกุลชัย Senoir Executive Director และ Chief Non-Capital Maket Solution Private Banking Group ธนาครกสิกรไทย ระบุ ภาคเอกชนน่าจะมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ เพราะในไทยต่างจากหลายประเทศ ตรงที่เอกชนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่ ขณะที่หลายประเทศพบว่า รัฐมักเป็นเจ้าของพื้นที่ และให้สิทธิเอกชนเช่าใช้ประโยชน์

สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจะมี 2 ประเด็น คือ รายได้ และมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเห็นว่า หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ เป็นส่วนที่ผู้ลงทุนคาดหวังมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันยังพบว่าอัตราการเจริญเติบโตของราคาที่ดิน อหังสาริมทรัพย์ 4% ต่อปี ซึ่งจะเห็นว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นการเพิ่มมูลค่าที่หลายคนนิยม ยกตัวอย่าง การจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ที่คิดจาก ฐานภาษี X อัตราภาษี = ภาระภาษี ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งที่เจ้าของที่ดินคิดตอนนี้ คือ การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อจ่ายภาษีให้น้อยลง คนที่มีที่ดิน หากเป็นไปได้สิ่งที่อยากเปลี่ยนเป็นอย่างแรกคือ

  1. การนำมาพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ได้ แต่ที่ยังพัฒนาไม่ได้เพราะความไม่พร้อม และความต้องการของตลาด
  2. ที่อยู่อาศัย
  3. การเกษตร เช่นการปลูกกล้วย ทำสวนสาธารณะ
  4. พื้นที่ว่างเปล่า จะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี

สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเกษตร และสวนสาธารณะ ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนี้

  • การเกษตร : ลงทุนน้อย ภาษีต่ำ ได้ผลผลิต ข้อเสียคือการดูและรักษา และอาจจะไม่ได้ผลผลิต
  • สวนสาธารณะ : ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องดูแลรักษา ยืดหยุ่นในการใช้ประโยชน์ พัฒนาส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์กับเจ้าของที่ได้ด้วย

โดยมีข้อเสนอให้ เจ้าของที่ดิน ลงทุนเอง โดยให้รัฐช่วยดูแล เช่น ที่ดิน 10 ไร่ นำมาทำที่ดินเป็นสวนสาธารณะ และดึงคนมาใช้ได้ หรือ สามารถตัดที่ดินอีกครึ่งมาใช้เพื่อธุรกิจได้หรือไม่? เพื่อเป็นประโยชน์กับเจ้าของที่ดิน โอกาสที่สวนจะเกิดขึ้นได้ก็จะมีมากขึ้น จากการร่วมมือกันระหว่างรัฐ กับเอกชน

สวนสาธารณะโดยเอกชน จำเป็นต้องมีที่ดินราคาประเมินสูงมาก จะมีค่าพัฒนาไม่แพงมาก มีประโยชน์อื่น ๆ และไม่ต้องมีค่าดูรักษา โดยให้รัฐ หรือ กทม.เข้ามาช่วยจัดการดูแลให้ เพราะที่ดินเป็นการลงทุนสำหรับเขา

พื้นที่สีเขียว กับ บทบาทการบริหารจัดการน้ำ

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ชวนย้อนมองอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี อย่าง มหาอุทกภัยปี 2554 มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน ส่งกระทบกว่า 4 ล้านครัวเรือน 64 จังหวัด และหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ไทยทุ่มเทงบประมาณเป็นเท่าตัว เพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง การสร้างพนังกั้นน้ำ แต่สุดท้ายโครงสร้างดังกล่าวก็กลายเป็นทางด่วนให้น้ำเดินทางเร็วขึ้น สะท้อนการบริหารจัดการน้ำที่ต่อสู้กับธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็สู้กลับทั้งปริมาณน้ำฝนไม่สามารถคาดการณ์ได้ สภาพอากาศที่แปรปรวน

อ.สิตางค์ ยังได้ตั้งคำถามกับการใช้งบประมาณ บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และน้ำ โดยพบว่า สำนักการโยธา, สำนักสิ่งแวดล้อม, และสำนักการระบายน้ำ ได้รับงบประมาณสูง Top 3 จากทั้งหมด 22 สำนักฯ แต่ผลลัพธ์กับพบปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง


ผลการศึกษาการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ ของ กทม. ของศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัย ภาควิชาทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินความเสี่ยง กทม. ที่มีต่อการเกิดน้ำท่วม FVI : Flood Vulnerability Index = ExS/R โดย E = Exposure หมายถึง สิ่งมีชีวิต สิ่งของ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ความล่อแหลม S = Susceptibility หมายถึง ความอ่อนไหว โอกาสความถี่ ความรุนแรงของน้ำท่วม และ R = Resilience มาตรการป้องกัน การรับรู้ เตือนภัย การปรับตัว รวมถึงการฟื้นตัวจากน้ำท่วม

ซึ่งพบว่า ระบบระบายน้ำ กทม. เหลืออยู่เพียง 43.5% สะท้อนว่ามีอีกหลายพื้นที่เสี่ยง และเปราะบางต่อน้ำท่วม หรือ การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำให้ดีขึ้นก็ยังมีอีกหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพราะ ศักยภาพการระบายน้ำ กทม. ทำได้เพียง 60 มม./ ชม. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำเป็นเพียงการบรรเท่าเท่านั้น สิ่งที่จะทำได้ ควบคุมตัวแปรต่างๆ ซึ่งทำได้ยาก แต่สิ่งที่ทำได้ คือ ตัว R หรือ Resilience มาตรการป้องกัน การรับรู้ เตือนภัย การปรับตัว รวมถึงการฟื้นตัวจากน้ำท่วม ทำวิธีนี้จะง่ายกว่าการทุ่มงบประมาณไปที่โครงสร้าง และการแก้ปัญหาระบบระบายน้ำ อ.สิตางค์ ยกตัวอย่าง การปรับ กทม. ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ

อาจารย์ทิ้งท้ายว่า เรายังมีความหวังที่เหลือ คือ การเพิ่มพื้นที่รับน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง เพราะเป็นสิ่งที่งานวิจัย และวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเป็นทางรอดที่จะช่วยบริหารจัดการน้ำใน กทม. ให้สามารถปรับตัวได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

จากนโยบายต้นไม้ล้านต้น กทม. สู่ ความหวังมหานครสีเขียว

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษผู้ว่าราชการ กทม. ระบุโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ กทม. คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พื้นที่สีเขียวได้ง่าย และรวดเร็ว เช่น โมเดลสวน 15 นาที หรือระยะทางไม่เกิน 800 เมตร ซึ่งเป็นโมเดลจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งประกอบไปด้วยสวนถนน สวนระดับเมือง สวนเฉพาะทาง สวนหย่อม สวนชุมชน ขณะที่ กทม. จะเน้นไปที่การทำสวนขนาดเล็ก หรือ Pocket park เหมือนเป็นโมเดลที่ใช้หลบฝุ่น PM 2.5, หลบมลพิษทางเสียงได้ โดยสวนเล็ก ๆ จะสามารถเป็นได้ทั้ง สวนระดับชุมชนที่สามารถรองรับน้ำ เก็บน้ำได้, สวนใต้ทางด่วนที่สามารถเชื่อมโยง และใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้าง บวกการเดินทางเข้ามาได้สวน หรือพื้นที่ตาบอดได้, สวนกินได้ อาหารปลอดภัย, และสวนเพื่อสร้างการเรียนรู้ เป็นต้น

เวลานี้มี ศูนย์กีฬาฯ ศูนย์เยาวชน 1,034 แห่ง มองว่าตรงนี้สามารถส่งเสริมเป็นสวนได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีมิติที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สีเขียว ประกอบกับนโยบายต้นไม้ 1 ล้านต้นที่ทยอยปลูกก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพของลานกีฬาให้เป็นพื้นที่สีเขียวได้

ถัดมาคือ สถานที่ราชการนอกเวลา เช่น เขตหลักสี่ มีพื้นที่สีเขียวเยอะ แต่ส่วนที่ประชาชนใช้ได้จริงน้อยมากเพราะอยู่ในสถานที่ราชการมากกว่า หากพูดคุยปลดล็อกสถานที่เหล่านี้ก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้เยอะมากขึ้น

ที่ดินของหน่วยงานภาครัฐอื่น เช่น ที่ดินการรถไฟ, ที่ดินใต้ทางด่วน และสุดท้ายคือ ที่ดินเอกชน กทม.ยังไม่เคยเจอมิติของการมีนโยบายภาษีที่ดินใหม่ ตอนนี้กลายเป็นว่ามีที่ดินเข้ามาเยอะมาก ในมิติที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ผู้ว่าราชการ กทม. ให้โจทย์มาว่าไม่ควรมีสิทธิ์รับพื้นที่ ถ้าไม่มีประโยชน์ และประชาชนไม่ใช้ก็อาจจะไม่รับ และคุ้มกว่าถ้าจะเก็บภาษีมาใช้ในมิติอื่น จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีสำนักการคลังฯ นั่งเป็นประธาน หรือหากพิจารณาว่ารับแล้ว ควรนำไปจัดสรรทำอะไรต่อ โดย กทม. มีเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนปรับพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียว

ความท้าทายในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวใกล้ประชาชน ทั้งระยะเวลาในการอนุญาตให้ กทม.เข้าใช้พื้นที่, การดูแลรักษาพื้นที่ให้สามาาถใช้ดำเนินการในระยะยาว, งบประมาณการพัฒนาและดูแลพื้นที่ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. ทิ้งท้าย วันนี้มีทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนงาน กทม. มีบทบาทสำคัญสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาจัดการพื้นที่ร่วมกัน และต้องการให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ที่ผ่านมาหลายโครงการรวมถึงสวนที่ไม่มีคนใช้ กลายเป็นเน้นสร้างสวน แต่ไม่คำนึงถึงการใช้ แต่ กทม. อยากเน้นผลสัมฤทธิ์ เปิดไปแล้วยั่งยืน มีโมเดลที่ชุมชนช่วยการดูแลอย่างต่อเนื่อง

หลังจาก Speaker ได้พูดครบแล้ว ภายในเวทียังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น และความหวังการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง และในช่วงบ่าย ยังมีการระดมสมอง ผ่าน 4 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย

  • กลไก และแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวยั่งยืน
  • มาตรการทางภาษี กองทุน กระตุ้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • ความเป็นไปได้ใหม่การสร้างพื้นที่สีเขียว
  • สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนสร้างพื้นที่สีเขียว

หลังจากได้ข้อเสนอคาดว่าจะถูกต่อยอดไปสู่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวใน กทม. และหัวเมืองใหญ่ในมหานครต่อไปเพื่อให้การสร้างพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวตอบโจทย์ผู้ใช้ ตอบโจทย์ความหลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเมืองได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active