ฟื้นวิถีเกษตรดั้งเดิม ผ่านการอนุรักษ์สวนลิ้นจี่ 100 ปี

เรียนรู้วิถีเกษตรยั่งยืนกับพื้ันที่สีเขียวชานเมือง สวนลิ้นจี่รุกขมรดกของแผ่นดิน เริ่มจากวิสัยทัศน์สร้างคุณค่าสู่สังคม เชื่อมโยงการพัฒนาย่านธรรมชาติดั้งเดิม ฟื้นการเดินทางเชิงอนุรักษ์ผ่าน ‘คลอง’

สวนภูมิใจการ์เด้น เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เป็นสวนเกษตรผสมผสาน มีต้นลิ้นจี่เก่าแก่กว่า 100 ต้น ส่วนหนึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน และได้รับรางวัลในการเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล และการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากกระทรวงวัฒนธรรม แม้ว่าปีนี้ลิ้นจี่จะไม่ออกผลมากนัก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนไม่เอื้อต่อการให้ผลผลิต แต่วิถีการทำเกษตรผสมผสานทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากพืชผักผลไม้อื่น ๆ ได้ เช่น ตะลิงปลิง ซึ่งอยู่ในฤดูกาลที่ให้ผลผลิตดี

พรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของสวนภูมิใจการ์เด้น เล่าถึงที่มาที่ไปว่า สวนนี้เป็นเหมือนสวนหลังบ้านซึ่งเราเกิดที่นี่โตที่นี่ เราเป็นลูกหลานชาวสวนโดยกำเนิด วันหนึ่งเราพบว่าบริเวณย่านนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงคิดเรื่องการเก็บรักษาอัตลักษณ์ความเป็นชาวสวนเอาไว้ ในปี พ.ศ.2548-2549 จึงได้ซื้อที่ดินริมแม่น้ำ ด้วยความตั้งใจอยากรักษาพื้นที่ธรรมชาติ และตระหนักเรื่องปัญหาโลกร้อน มีหลักคิดที่ว่า ‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ สิ่งที่มีอยู่ต้องรักษาและเก็บรักษาเอาไว้ เหมือนอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่าทำสิ่งที่ใกล้ตัว สิ่งที่คุ้นเคยก็จะประสบความสำเร็จได้ เราเป็นคนย่านนี้ก็มีทั้งที่มรดกและที่ซื้อใหม่รวม 7 ไร่ และตั้งชื่อว่า ‘ภูมิใจการ์เด้น’ เพราะเราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ จนได้สวนมาเป็นอย่างวันนี้

อันดามัน โชติศรีลือชา ลูกชาย เจ้าของสวนภูมิใจการ์เด้น กล่าวเสริมว่า เขาได้เห็นคุณแม่เข้าสวนทำสวนมาตั้งแต่เด็ก และซึมซับวิถีชีวิตชาวสวนมาเรื่อย ๆ แม้คุณแม่ไม่เคยบอกว่าเรียนจบมาแล้วให้มาช่วยทำสวน แต่เราเห็นว่าคุณแม่มีความรัก ความตั้งใจที่จะรักษา ดูแลที่ดินนี้ไว้เป็นมรดก รักษาเป็นพื้นที่ธรรมชาติของแผ่นดิน ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรกับที่นี่ แต่เมื่อคุณแม่ต้องต้อนรับแขกเยอะ ๆ ตนจึงเข้ามาช่วยคุณแม่ ทั้งเรื่องวิสัยทัศน์ยั่งยืน การสร้างคุณค่าสู่สังคม และเริ่มฟื้นบรรยากาศ ทั้งคำบอกเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนโบราณ พื้นที่สวนริมคลอง การพายเรือไปวัด ความเป็นไทยดั้งเดิมในอดีต

“วิสัยทัศน์ของผมคือสวนต้องหาเลี้ยงตัวเองได้ ถ้าวิถีชีวิตไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่เราจะทำยังไงให้มันตอบโจทย์ทั้งสองอย่าง ทำให้เป็นภาพชัดเจนขึ้นมา และจากรากฐานที่คุณแม่สร้าง อีกความประทับใจคือเราสามารถสร้างการรับรู้ของพื้นที่ตรงนี้ ให้คนจากต่างถิ่น ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ต่างทวีปมาหาเรา ซึ่งทุกอย่างเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ และเราสามารถขยายไอเดียนี้ ไปสู่ย่านของเรา สังคมของเรา ให้ทุกคนกลับมาประกอบอาชีพแบบดั้งเดิมอย่างภาคภูมิ ไม่ว่าจะเป็นคนสวน คนในพื้นที่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกหลายภาคส่วน โดยที่เรามองว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่งที่จะช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนของพวกเรา”

อันดามัน กล่าวต่อว่า พอสวนของเราเริ่มเป็นที่รู้จัก คนก็อยากจะเข้ามาพื้นที่ตรงนี้ มีคำถามว่าแล้วจะมาอย่างไร ถ้ามาทางเรือ แล้วไปทางไหนได้บ้าง ก็มีความเชื่อมโยงพื้นที่ในละแวก และชวนให้คนหันมามองความเป็นย่านมากขึ้น ก่อนหน้านี้คนหันหลังให้คลองโดยสิ้นเชิง มีคลองแล้วไปไหน เชื่อมต่อการสัญจรอย่างไร เพราะเดิมมุ่งแต่เรื่องคมนาคม ทีนี้คนก็เริ่มที่จะหันมา และพูดถึงการเดินทางเชิงอนุรักษ์มากขึ้น

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park ในฐานะนักออกแบบสะท้อนว่า ปัจจุบันแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และพื้นที่ธรรมชาติ เป็นไปตามระบบทุนนิยม ค่านิยม การปลูกฝัง การเรียนรู้สมัยใหม่ที่ไม่ได้อิงกับเรื่องของความเป็นพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิม จึงคิดว่าอยากให้ค่านิยมนี้เข้ามาอยู่ในการพัฒนาของรัฐ เอกชน ทั้งการพัฒนากระแสหลักและกระแสรอง

อย่างเรื่องภาษีที่ดิน ที่รกร้าง หลายพื้นที่ถูกถมและปลูกต้นกล้วยเพื่อลดหย่อนภาษี แต่ที่จริงแล้วมันสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ในอีกมุมหนึ่งคือถ้าอยากจะฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติ แต่ไม่มีทรัพยากรจะทำอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศมีแนวคิดการพัฒนามากมายที่ให้ประโยชน์กับทั้งเจ้าของที่ดิน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระบบ จึงคิดว่าเราต้องทำงานในหลายระดับ หลายมิติ เพื่อเปลี่ยนระบบความคิดของคน ตั้งแต่ระบบบริหารถึงคนทั่วไป ไม่เช่นนั้นเราก็จะเสียทรัพยากรไปอย่างสูญเปล่าอย่างที่เป็นอยู่

“สิ่งที่เมืองกำลังพัฒนาตรงข้ามกับที่นี่ แม้กรุงเทพฯ จะมีนโยบายพัฒนาพื้นที่สีเขียว จัดทำสวน 15 นาที แต่ทุกสวนที่ทำไม่มีเฟรมเวิร์ก หรือไกด์ไลน์ในแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ คือพื้นที่เดลต้าอยู่ปากแม่น้ำเหมือนกัน ทุกวันนี้ที่เราพยายามทำเพื่อสร้างระบบนิเวศทางธรรมชาติ เปลี่ยนความคิด ตั้งแต่นโยบาย สร้างไกด์ไลน์ เพื่อทำให้เห็นว่านโยบายสีเขียวต่าง ๆ ทำไปทำไม และมันจะเกี่ยวข้องกับความท้าทายในอนาคตอย่างไร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active