ม.เกษตรฯ ชูประเด็นสิ่งแวดล้อม ผ่านงานเกษตรแฟร์ และ Bangkok Design Week

จัดกระบวนการบำบัดน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก่อนปล่อยทิ้ง หาวิธีดูดซับคาร์บอนกลับคืน หรือ carbon neutral รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (10 ก.พ. 2566) รศ.อนุชัย รามวรังกูร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการ และคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม งานเกษตรแฟร์ ระบุว่า ม.เกษตรมีการจัดจุดแยกขยะทั้งหมด 11 จุดภายในงานเกษตรแฟร์ เพื่อจัดการขยะให้ถูกนำไปกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการแยกประเภทอย่างละเอียด คือ ที่เสียบลูกชิ้น แยกเป็นอย่างแรกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ต่อมาแยกน้ำแข็ง แยกเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และแยกของเปียกออกจากของแห้ง จากนั้นเป็นการแยกพลาสติก ขยะรีไซเคิล นำไปขายหรือใช้ประโยชน์อื่น ส่วนขยะทั่วไปนำไปเผาสร้างชีวมวล และขยะอันตราย ไปกำจัดที่คณะแพทยศาสตร์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการจัดงานเกษตรแฟร์ ด้านคุณภาพน้ำมีการวัดคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำของมหาวิทยาลัย และน้ำในท่อระบายว่าก่อน-หลังการจัดงานเกษตรแฟร์ คุณภาพน้ำแย่ลงมากน้อยอย่างไร รวมถึงการปล่อยคาร์บอนภายในงานด้วย เพื่อเตรียมหาวิธีชดเชยคาร์บอน carbon neutral ต่อไป และเพื่อที่การจัดงานครั้งหน้าจะได้หาแนวทางในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ได้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีกระบวนการบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการปล่อยน้ำทิ้ง ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนเศษอาหารจากการเหลือทิ้งกำจัดได้ทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งยังได้นำไปเป็นอาหารหมูอีกด้วย

ในช่วงนี้นอกจากกิจกรรมภายในงานเกษตรแฟร์ มหาวิทยาลัยยังเข้าร่วมเทศกาล Bangkok Design Week 2023 และมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น workshop ซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยการปักมือ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์

พิธาลัย ผู้พัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความตระหนักว่าปัจจุบันมีเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งจำนวนมากจาก fast fashion ซึ่งชุดเสื้อผ้าบางตัวอาจจะเป็นตัวที่เรายังชอบ ผ้ายังดีอยู่ แต่ผ้าชำรุด มีรอยขาด เปื้อน การนำกลับมาซ่อมน่าจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับเสื้อผ้าและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

“วันนี้มีการสาธิตการเย็บด้วยมือ ปัก ชุน สมมติว่าเรามีรูอยู่บนเสื้อผ้า เราสามารถใช้เทคนิคการปักให้เป็นรูปดอกไม้ หรือสามารถทำเป็นลายต่าง ๆ ได้ เช่น หัวใจ กาว สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ปักแบบสาน หรือถ้ารอยขาดขนาดใหญ่เราสามารถเอาผ้าชิ้นอื่นมาตัดต่อแปะเพิ่มได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผ้า”

ผู้จัดกิจกรรมยังกล่ามเพิ่มเติมว่า ในหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ยังสร้างความตระหนักรู้ให้นักศึกษาได้ผลิตผ้าชิ้นใหม่อย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น การนำผ้าเหลือใช้จากกระบวนการอุตสาหกรรมสิ่งทอมาผลิตใหม่ หรือเศษผ้า เพื่อนำของเก่ามาใช้ใหม่ ลดการใช้ทรัพยากร เป็นการช่วย zero waste รวมถึง การเรียนรู้วิธีสร้างลวดลายด้วยการย้อมสีจากธรรมชาติ เพื่อทำให้สิ่งทอเป็นสื่อที่สร้างความยั่งยืนเป็นมิตรต่อโลกได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active