BKK First voter “เดินเมือง” สำรวจปัญหา พิสูจน์ 350 บาท/วันใน กทม. พอใช้ ?

เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ระดมอาสาสมัคร ออกเดินสำรวจปัญหาเชิงโครงสร้างเมืองผ่าน 2 เส้นทาง ฝั่งพระนครและธนบุรี พร้อมหาคำตอบค่าแรงขั้นต่ำวันละ 350 บาท เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตใน กทม. หรือไม่ ก่อนประมวลข้อเสนอส่งต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 16 พ.ค. นี้ ย้ำ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมเปลี่ยนเมืองได้

เดินเมือง กทม.

“ออกไปเดินเท้า ขึ้นรถลงเรือ พูดคุยกับผู้คนระหว่างทางตลอดเส้นทางร่วมกัน…เพื่อให้ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ร่วมที่จะเกิดขึ้นนั้น นำเราทุกคนไปสู่การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ ด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายที่เราจะร่วมกันเป็นเจ้าของ”

วันนี้ (15 พ.ค. 2565) เครือข่ายคนรุ่นใหม่รวมตัวกันที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง ทดลองทำกิจกรรม “เปิดห้องเรียนรู้มหานครกรุงเทพ” โดยมีเงินคนละ 350 บาทเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ และเดินทางสำรวจ กทม. ผ่าน 2 เส้นทาง คือ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนฯ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการมองปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม. และ มองความเป็นไปได้ของการใช้ค่าแรง 350 บาท ว่าตอบโจทย์คนเมืองมากแค่ไหน

พวกเขาระบุว่า ที่ผ่านมา สังคมไทยโดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย หลายมิติ ทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จนลืมไปว่า หลายเรื่องที่ต้องจ่ายไปนั้น จริง ๆ แล้วคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี และคือหน้าที่ของรัฐและท้องถิ่น เช่นเดียวกัน นี่คืออำนาจร่วมของพลเมือง ที่ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ ตามทะเบียนราษฎร์ แต่คือผู้คนหลากหลายที่มีชีวิต เข้าถึง และใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้ร่วมกัน

เดินเมือง กทม.

กิจกรรมครั้งนี้ มีการแบ่งการเดินสำรวจของกลุ่มเยาวชน BKK First voter GEN Z 30 คน ออกเป็น 2 เส้นทาง คือฝั่งพระนคร ตั้งแต่ หัวลำโพง – สามย่าน – บรรทัดทอง – สยาม และ Night Trail นานา เยาวราช

อีกเส้นทาง คือ ธนบุรี ตั้งแต่ คลองสาน – เจริญนคร – กรุงธน – ตลาดพลู และ Night Trail สะพานพุทธ ปากคลองตลาด ออกเดินทางตั้งแต่ 9.00-18.00 น. โดยตั้งใจจะให้เยาวชนได้ใช้เส้นทาง กทม. เป็นแหล่งเรียนรู้ แสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ การสานความร่วมมือ การร่วมออกแบบเมือง และพัฒนาไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาเมืองได้อย่างตรงจุด โดยหัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายของการเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่คือปัญหาการพูดคุยร่วมกับชุมชน ระหว่างการเดินทาง หลังสิ้นสุดการเดินทาง ก็จะเป็นการสะท้อนข้อมูล และตกผลึกเป็นข้อเสนอในวันที่ 16 พ.ค. 2565 เพื่อนำไปถามกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

โดยภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ ริทัศน์บางกอก (RTUS-Bangkok), Feel Trip, แค่พูดมันออกมา – Just say it, GeoChangers, มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกันเปิดพื้นที่รับสมัครเหล่า ”นักทดลอง” ทุกคน…มาร่วมกิจกรรม ‘ห้องทดลองสามห้าศูนย์’ กิจกรรมที่จะให้ทุกคนมาร่วมผจญภัยเอาชีวิตรอดในเมืองหลวง ด้วยเงิน 350 บาท

เดินเมือง กทม.

ภาริศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ สมาชิกกลุ่มริทัศน์บางกอก และ Geochangers เป็นหนึ่งใน New Voter มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นกับการใช้สิทธิ์ โดยมองว่า ที่ผ่านมาเสียงสะท้อนของเด็ก และเยาวชนมักไปไม่ถึง ผู้กำหนดนโยบาย

ปกรณ์วิศว์ มองว่า ค่าครองชีพในเมืองไม่สอดคล้องกับ ค่าแรงขั้นต่ำ การเดินเมืองด้วยเงิน 350 บาท จึงช่วยสะท้อนปัญหาเรื่องนี้ เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบผังเมือง ที่เชื่อมโยงอยู่กับผู้คน

ตัวอย่างเช่น การเดินเมืองในช่วงสั้น ๆ จากสถานีหัวลำโพง – ชุมชนดวงแข – บรรทัดทอง ก็ได้รู้ถึงความเหลื่อมล้ำของเมือง เยาวชนสะท้อนว่า กทม. ยังจัดการพื้นที่ตามประโยชน์ใช้สอยของชุมชนได้ไม่ดีพอ เช่น ชุมชนวัดดวงแข ห่างจากจุดศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่กลับมีชุมชนแออัด ที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดีนักอยู่ในซอยเล็ก ของมหานคร แถมยังเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อเพื่อปรับปรุงที่ดินเป็นเชิงพาณิชย์

เดินเมือง กทม.

ขณะที่ย่านบรรทัดทอง ก็ผ่านสวนสาธารณะที่คนในชุมชนแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีข้อเสนอ จากเด็กและเยาวชนให้ทำเป็นสวนเล็ก ๆ ตามชุมชน เพื่อให้คนใช้สอยประโยชน์ได้มากขึ้น

เดินเมือง กทม.
เดินเมือง กทม.
อินทิรา วิทยาสมบูรณ์

อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณะศึกษา หรือ feel trip (โครงการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้) ผู้เชื่อว่า การเดิน คือ เครื่องมือหนึ่งของการเห็นและเปลี่ยนเมืองได้ เล่าถึงภาพรวมของการเดินในครั้งนี้ว่า สะท้อนถึงปัญหาของเมือง ที่ซุกซ่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งคำถามถึงคำว่า การมีส่วนร่วมของเมือง อยู่ตรงไหนในพื้นที่ความเจริญของเมืองหลวงบ้าง โดยพวกเขาจะนำข้อเสนอทั้งหมดนี้ส่งตรงถึงเวทีการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายของการระดมเสียง “ปลุกกรุงเทพฯ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นวันพรุ่งนี้(16 พ.ค. 65) ที่ไทยพีบีเอส เพื่อหวังให้เสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชน เป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนเมืองใหญ่ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน