ห่วง ! พรรคการเมืองแข่งหาเสียงเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการฯ

สภาพัฒน์ ชวนปชช.ตั้งคำถามใช้เงินจากไหน แก้จนยั่งยืนหรือไม่ด้านนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรส่งเสริมตามฝีมือแรงงานให้กลุ่มมีทักษะมากขึ้น

บรรยากาศที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หลายสาขา มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 ทยอยเข้ายืนยันตัวตนกันอย่างคึกคัก ทำให้ ธนาคาร ต้องกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องรูดบัตร EDC ไปตามหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ผ่านเกณฑ์ฯ  ให้ยืนยันตัวตน ลดความแออัด บริเวณสาขาธนาคาร 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า  ขณะนี้ มีผู้ยืนยันตัวตนสำเร็จมากกว่า 1.8 ล้านคน และอุทธรณ์ผลการคัดกรองคุณสมบัติ ประมาณ 5 แสนคน ส่วนที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายเดิมสามารถใช้สิทธิ์ได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้ ก่อนถูกระงับสิทธิ์ หลังกระทรวงการคลัง ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์รายใหม่ จำนวน 14.59 ล้านคน ซึ่งเริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป 

ขณะที่การดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 กำลังจะเริ่มขึ้น พรรคการเมืองบางพรรคประกาศจะเพิ่มวงเงินใช้จ่ายในบัตรฯ จากปัจจุบันเดือนละ 300 บาท เป็น 700 และ 1,000 บาทนั้น ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขอให้ประชาชน ตั้งคำถามกลับไปยังพรรคการเมือง ถึงความเป็นไปได้ของนโยบายนี้  และช่วยกันตรวจสอบวิธีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการ จากปัจจุบันที่รายจ่ายภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น  พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่จำนวนผู้ผ่านเกณฑ์บัตรสวัสดิการยังคงเพิ่มขึ้น เพราะการแจกเงินสวัสดิการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อย 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปการดำเนินการของโครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติเพื่ออัพเดตฐานข้อมูลทุกปี ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าเป็นรายพื้นที่และรายบุคคล เพื่อทำให้จำนวนผู้มีรายได้น้อยลดลง และออกจากการรับสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้ หลังจากที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่บางพรรคใช้หาเสียงนั้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ปัจจุบันแรงงานในไทยที่รับค่าแรงขั้นต่ำมีเพียง 2 ล้านคน และเป็นแรงงานต่างด้าวมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งทำให้แรงงานที่มีทักษะในไทยมีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องส่งเสริมการให้ค่าแรงตามฝีมือแรงงาน ซึ่งหากแรงงานมีทักษะมากขึ้น จะทำให้นายจ้างยินดีจ่ายค่าแรงระดับสูง ขณะที่การปรับเงินเดือนขั้นต่ำระดับปริญญาตรีนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ต้นทุนของผู้ประกอบการและภาระงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งหากจะเพิ่มส่วนนี้ภาครัฐต้องปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการด้วยก็จะเกิดภาระต่องบประมาณเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นโครงการที่รัฐบาล ดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ถึงรอบล่าสุด  ใช้งบประมาณกว่า 3.3 แสนล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active