วิพากษ์นโยบาย ‘ค่าแรงขั้นต่ำ หรือ แค่ขายฝัน?’ แรงงานไทย

หลายภาคส่วนเปิดเวทีวิพากษ์นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการชี้ค่าจ้างต้องเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจและไตรภาคี ขณะนักวิชาการเชื่อการปรับค่าแรงช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ด้านตัวแทนผู้ใช้แรงงานอยากเห็นการให้สิทธิรวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรอง และไม่ละเลยแรงงานนอกระบบ

วันนี้ (18 มี.ค. 2566) ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 โดยสถาบันอิศรา ได้จัดงานสัมมนาสาธารณะ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝันแรงงานไทย?’ ณ ห้อง Convention Hall อาคาร D สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน ต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่แต่ละพรรคการเมืองทยอยประกาศออกมา

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึง นโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของพรรคการเมืองว่า เป็นกลยุทธ์ของพรรคการเมือง แต่ค่าจ้างนั้นนายจ้างเป็นคนจ่าย ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือรัฐบาล นายจ้างมีหลายสถานะ โดยมีผู้ค้ารายย่อย และ SME รวม 90 % ของจำนวนนายจ้าง ซึ่งมีการแข่งขันสูง ขาดอำนาจในการต่อรอง ถ้าค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกของเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อ ก็จะส่งผลให้ต้นทุนของประเทศสูงขึ้น เรื่องของราคาก็สำคัญ

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

“การที่พรรคการเมืองนำเรื่องค่าจ้างมาเป็นนโยบายในการหาเสียง อาจเป็นอันตรายต่อประเทศ ถ้าทำไปแล้ว สร้างต้นทุนที่สูง อาจทำให้นายจ้าง สถานประกอบการจำนวนมากอยู่ไม่ได้ หากพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ตามนโยบายก็จะเกิดปัญหาต่อการหาเสียงในอนาคต ซึ่งต้องฝากไปถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่า เรื่องค้าจ้างต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ของคณะกรรมการไตรภาคี ลูกจ้าง นายจ้าง ตัวแทนของรัฐ ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่”

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ด้าน สาวิทย์ แก้วหวาน มองว่าค่าจ้างเป็นสิ่งที่ทำให้แรงงานสามารถดำรงอยู่ได้ และค่าจ้างที่จะสามารถทำให้แรงงานอยู่ได้ควรเป็นเท่าไหร่ จะต้องพิจารณาจากความเป็นจริงทางสังคมทางด้านเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ก็ยืนยันว่าค้าจ้างที่เป็นอยู่แรงงานไม่สามารถที่จะอยู่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันได้

การเสนอตัวเลขของค่าจ้างโดยไม่มีผลอะไรมารองรับก็อาจจะเป็นปัญหา แต่อยากให้มองภาพเป็นจริงว่าค่าจ้างปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้หรือไม่ และค่าจ้างที่ควรจะเป็นในการเริ่มต้นควรเป็นเท่าไหร่ ย้ำว่าทุกงานทุกประเภทควรเข้าสู่ระบบ โครงสร้างการจ้าง เพื่อให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ ซึ่งจะต้องขึ้นอัตราค่าจ้างโดยอัตโนมัติโดยมีความสอดคล้องกับค่าครองชีพ จึงขอเสนอแนวทางนี้ให้กับพรรคการเมือง และที่สำคัญที่สุดคือต้องให้แรงงานมี สิทธิในการรวมกลุ่มรวมตัว มีอำนาจในการต่อรอง เพราะการเสนอขึ้นค่าจ้างเวลานี้เป็นข้อเสนอของพรรคการเมือง ที่ยังมีข้อถกเถียง แต่ก็ขอบคุณพรรคการเมืองที่เสนอนโยบาย ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อพูดแล้วก็ต้องทำให้ได้ เพื่อสร้างจริยธรรมทางการเมือง

“วันนี้กระบวนการของลูกจ้างในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน วันนี้มันต่ำมาก อำนาจการต่อรองจึงไม่มี ก็เลยเป็นปัญหาเรื่องของนักการเมือง พรรคการเมือง พยายามเสนอตัวเลข เพื่อที่จะเอาใจคนทำงาน เพื่อไปเลือกพรรคของตน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎหมายต้องเอื้อประโยชน์ เพื่อให้คนงานในทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ สามารถรวมกลุ่มรวมตัวกันได้เพื่อสร้างเสริมอำนาจการต่อรอง”

นภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน

ขณะที่ นภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเสมอภาคนั้นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยนายจ้างต้องสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงาน 1 คน ให้สามารถอยู่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังพบว่า การสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานทั่วไป ซึ่งเป็นแรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม รายได้ทั้งหมดและค่าใช้จ่ายของปี 65 มีค่าใช้จ่าย 418.84 บาทต่อวัน โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายตามอัตราภาพ 319.39 บาท เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าพาหนะ ส่วนค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ 334.81 บาท เช่น ค่าผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ค่าทำบุญ และค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง

“โดยผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นนั้นมีทั้งปัจจัยลบและบวก โดยปัจจัยบวก คือ แรงงานรายได้เพิ่มขึ้น มีกำลังในการจับจ่ายใช่สอย ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยลบ คือ ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้นทั้งด้านการผลิตและแรงงาน ส่งผลให้สินค้าราคาเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่าย”

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัย นโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัย นโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทว่า ปัจจุบันไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308 ถึง 330 บาทต่อวัน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำควรมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน ซึ่งต้องครอบคลุมการดูแลคู่สมรสและบุตรด้วย

“การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าแรงงานได้มากพอสมควร และไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อสัดส่วนการจ้างงานและสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของแรงงานทักษะต่ำ แต่เป็นภาพลวงตาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต ทั้งนี้ผลกระทบการเคลื่อนย้ายที่น่ากังวลที่สุดอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในวัยหนุ่มสาว อายุ 15-24 ปีมากกว่า”

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)

ในส่วนของแรงงานนอกระบบ สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนจำนวนมากอาจไม่รู้ว่าแรงงานนอกระบบคืออะไร หลายคนคิดว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานที่ทำงานธุรกิจสีเทา แต่แท้จริงแล้วความหมายของแรงงานนอกระบบคือ คนทำงานกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ถูกจ้างอย่างเป็นทางการ เช่น คนทำงานอยู่ที่บ้าน ผู้ผลิตเพื่อขาย คนขับแท็กซี่ ร้านหาบเร่แผงลอย หรืองานบริการต่าง ๆ

ผลสำรวจของสํานักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 พบว่า ผู้มีงานทำของประเทศไทย ตอนนี้มี 39.6 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบไปแล้ว 20.2 ล้านคน เป็นในระบบ 19.4 ล้านคน โดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ไม่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วงโควิด-19 จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นแบบประจำ ต้องนำทรัพย์สินออกมาขาย และต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว บางอาชีพต้องขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น งานหัตถกรรม ร้านค้าริมทาง แม้วิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแต่ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เหมือนเดิม

“คำถามคือ ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ แรงงานนอกระบบ อยู่นอกระบบการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ จึงเสนอให้ภาครัฐคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ซึ่งต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบ กลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้ที่เท่าเทียมค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active