สำรวจวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว ‘รสนา โตสิตระกูล’ ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ กับความตั้งใจทำให้กรุงเทพฯ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง
The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ รสนา โตสิตระกูล เจ้าของแนวคิด พื้นที่สีเขียวกินได้ พร้อมแนวทางจัดการพลังงาน แก้ปัญหาขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมของเมือง
เปลี่ยนพื้นที่ว่าง – ไร้ทางเข้าออก เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่
ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป จะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมในเมืองเป็นอย่างแรก? รสนา โตสิตระกูล ตอบว่า เรื่องสำคัญที่สุด คือ การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมที่ทำงานในแต่ละด้าน เข้ามาร่วมงานกับ กทม.ให้มากที่สุด เพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 9 ตร.ม. ต่อคน และส่งเสริมให้มีพื้นที่สวนขนาดเล็กในชุมชนให้มากขึ้น เพราะพื้นที่สีเขียวเป็นตัวช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และรักษาสภาพจิตใจของคนจากโรคขาดธรรมชาติในปัจจุบัน พร้อมยืนยันว่า พื้นที่ว่างในกรุงเทพมหานครยังมีเยอะมาก
พื้นที่สีเขียวยังสามารถถูกจัดสรรเพื่อทำเกษตรในเมือง เพื่อช่วยทำให้ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มชนชั้นกลางที่สนใจเรื่องการปลูกต้นไม้ มาช่วยกันทำ ทั้งพื้นที่อาหารและพื้นที่สีเขียว
“หากเราขอความร่วมมือจากเอกชน หาพื้นที่ว่างมาทำเป็น CSR ขององค์กร ปลูกต้นไม้ด้วยกัน และร่วมช่วยดูแล อาจจะทำเป็นทั้งพื้นที่สวนฯ พื้นที่สนาม ให้กับเด็กเยาวชนในการเล่น และยังมีพื้นที่ตาบอดใน กทม. อีกเยอะ หากเราเจรจาว่าจะช่วยทำให้มีเส้นทางเชื่อมต่อกับข้างนอกได้ โดยขอแบ่งพื้นที่มาทำเป็นสวนสาธารณะอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง น่าจะเป็นสิ่งที่เจ้าของที่ดินน่าจะพอใจ”
พร้อมแนวคิดการขยายเปิดให้บริการของสวนสาธารณะของ กทม. โดยระบุว่า สวนสาธารณะสามารถเปิดดึกกว่าเดิมได้ และติดไฟโซลาร์เซลล์ให้ความสว่างแทน
“ดึกสักเที่ยงคืน สามารถให้ประชาชนมาเป็นอาสามัครแล้วจ่ายเงิน เพื่อมาร่วมกันดูแลสวนได้ หรือเราขยายพื้นที่ให้คนอยากมาใช้สวน 24 ชั่วโมงได้ไหม แต่คงต้องดูความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ก่อน”
จัดหลักสูตรอบรมรุกขกรรม ตั้งเป็น KPI มาตรฐานต้นไม้ประจำเขต
รสนา กล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญ คือ ต้นไม้ริมถนนที่ถูกตัดเหี้ยน ควรที่จะมีรุกขกร โดยควรจะจัดฝึกฝนให้มีเจ้าหน้าที่รุกขกรมีมากขึ้น และสามารถตั้งเป็นนโยบายไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขต ให้กำหนดเป็น KPI ได้ว่า ในแง่ของการดูแลต้นไม้จะต้องดูแลโดยถูกวิธี และถ้าเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ สามารถเข้ามาช่วยในการร่วมจับตาตรวจสอบ ป้องกันการตัดผิดได้ โดยย้ำว่าต้นไม้มีความสำคัญมาก ต้องใช้เวลามากในการเติบโต
“ควรมีรุกขกรประจำ ส่งเสริมให้คนมาเรียนรู้ เรื่องการตัดต้นไม้ให้ถูกวิธี ควรที่จะมีวิชาชีพในการตัดต้นไม้ให้ถูกต้องด้วย สิ่งเหล่านี้ใช้เงินไม่มาก หากเทียบกับต้นไม้ที่มีความสำคัญมากกว่า ต้นไม้บางต้นมีอายุนับร้อยปีที่จำเป็นต้องมีวิธีรักษาดูแล การที่มีกลุ่มนักอนุรักษ์ และดูแลต้นไม้อยู่แล้ว กทม. ก็ควรที่จะตอบรับ ให้มาร่วมดูแลจะมีประโยชน์มาก”
รสนาเปรียบเทียบรายได้การตัดต้นไม้ ต้นละ 4,000 บาท ใช้เวลาครึ่งวัน นับเป็นงานที่มีรายได้ดีมาก และช่วยให้เกิดการตัดได้สวยงาม มองว่าถ้าหากว่าคนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับการฝึกให้สามารถตัดต้นไม้ได้ถูกวิธี นอกจากจะสามารถมาเป็นรุกขกรของ กทม. ได้แล้ว ก็สามารถไปหาเพิ่มรายได้ของตัวเองได้ พร้อมข้อเสนอถึงโรงเรียนสารพัดช่าง สามารถร่วมกำหนดหลักสูตรตามความต้องการเรียนรู้ของคนในชุมชนนั้น ๆ ได้
“มันสามารถที่จะกำหนดวิธีการเนื้อหาที่ชาวบ้านอยากเรียนรู้ และเราก็เปิดหลักสูตรตรงนี้ หาคนมาอบรม หาคนมาเรียน คนอบรมก็ได้เงินดี เราก็อาศัยเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้เข้ามาให้ความรู้กับประชาชน แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันท่วงที ถ้าเราเปิดกว้างว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง และฟังผู้มีความรู้ หยิบเอาไอเดียที่ใช้การได้ เราก็ทำเลย”
กระจายงบประมาณ 50 ล้านบาท 50 เขต
สำหรับแนวทางการจัดการงบประมาณกระจายลงสู่ประชาชน เป็นเรื่องที่รสนาให้ความสำคัญ โดยย้ำว่า ให้มีการกระจายงบประมาณ 50 ล้านบาทต่อเขต เพื่อให้เขตทำงานร่วมกับชาวบ้านได้ และสามารถใช้เงินตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เช่น หากต้นไม้ล้ม ต้องรีบดูแลเร่งด่วน หรือหากชาวบ้านแต่ละพื้นที่อยากให้ทำโครงการอะไร ก็สามารถที่จะมาใช้เงินในส่วนนี้ แต่จะต้องไปคิดเรื่องกลไกการจัดสรรด้วยว่าทำอย่างไรให้ถูกระเบียบ และไม่ใช่เงินทั้งหมดไปอยู่ในมือของสำนักงานเขตเท่านั้น
“50 ล้านเราลงไปก่อน เพื่อดูว่าประชาชนในเขตไหนต้องการอะไรบ้าง แล้วอาจจะมีการปรับงบประมาณตามความเหมาะสมเป็นลำดับต่อไป และระเบียบการจ่ายเงินภาครัฐ”
แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครบมิติ พื้นที่สีเขียว-ขยะ-พลังงาน
รสนา มองว่า ภัยพิบัติ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมองว่า หากทำให้มีศักยภาพเป็นพื้นที่สีเขียวที่สามารถผลิตอาหารใกล้บ้านได้ จะช่วยลดการใช้พลังงานด้านการขนส่ง และลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรด้วย ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ มีแผนจะเพิ่มพื้นที่อาหารในเมืองให้ได้ 30% ใน 8 ปีข้างหน้า ซึ่งกรุงเทพฯ มีศักยภาพทำได้ง่ายกว่า และการเพิ่มพื้นที่อาหารยังช่วยให้คนสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารได้ด้วย
“เอาพื้นที่ใกล้ชุมชนของแต่ละเขต ให้เขาปลูกและนำไปกินเป็นอาหารได้ ส่วนที่เหลือสามารถทำตลาดอินทรีย์ ที่เวลานี้คนเมืองก็มีความต้องการมาก โรงเรียน กทม. โรงพยาบาล กทม. สามารถเป็นแหล่งซื้อได้ หากเราเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงาน หรืออาจจะให้พื้นที่เช่าในราคาถูกเพื่อปลูกผักได้…ในแต่ละพื้นที่มีคนที่สนใจเยอะที่จะมาช่วยกันได้”
ส่วนเรื่องน้ำท่วม รสนามองว่า มาจากหลายสาเหตุ จากการแก้ปัญหาที่ไม่ได้รู้จักภูมินิเวศของไทย เช่น แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยไปทำอุโมงค์แต่ไม่ได้สนใจเรื่องคูคลอง จึงคิดว่าถ้าหากขุดลอกคลองให้เป็นที่รับน้ำ ระบายน้ำได้ ขณะเดียวกันจะช่วยฟื้นวิธีชีวิตการท่องเที่ยวแบบเวนิสตะวันออกกลับมา กระจายรายได้สู่พื้นที่มากขึ้น เรื่องขยะก็สำคัญมาก เพราะเป็นตัวขัดขวางการเดินทางของน้ำ กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลายน้ำ แต่เวลานี้น้ำมีขยะอุดตันทำให้ระบายไม่ได้ จึงต้องทำงานเชิงบูรณาการหลายเรื่อง
“ถ้าเราส่งเสริมการแยกขยะอาหารออกมา ก็จะเอาไปทำปุ๋ย ส่วนพลาสติกก็เอาไปรีไซเคิลได้ อยากจะเสนอไอเดียชาวบ้านให้แยกขยะมาก ๆ โดยให้เขามีแรงจูงใจ เช่น ได้ก๊าซหุงต้มเดือนละถังเป็นสิ่งตอบแทน กรณีที่แยกขยะมากพอ ถ้าเราให้ทุกคนร่วมใจแยกขยะ ก็จะสามารถเอาขยะมาทำประโยชน์ได้ ประหยัดเงินในการกำจัดขยะ และเอาเงินเหล่านั้นมาสร้างพื้นที่สีเขียว หรือทำสวัสดิการทางสังคมได้มากขึ้น เวลานี้ขณะพลาสติกที่ลงในทะเลก็มีเยอะมาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่รองมาจากเรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง”
ด้าน พลังงาน มีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในเรื่องของโซลาร์เซลล์ ต้องเจรจากับรัฐบาล ว่าเปิดให้มีการใช้งานในบ้านของประชาชนได้มากขึ้น สามารถหักลบกลบหน่วย หรือ มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) เพื่อช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้
“กทม. มี บริษัท กรุงเทพธนาคม ควรจะตั้งกองทุนขึ้นมาในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และทำให้เป็นธนาคารพลังงานบนหลังคา ติดได้มากประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายของตัวเองลงไปได้ เช่น ติด 1.5 กิโลวัตต์ ลดค่าไฟได้ 500 บาท หลังคาทั้งหมดของสำนักงาน กทม. ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ โรงเรียน โรงพยาบาล ก็ทำได้ ลดค่าใช้จ่ายกับหน่วยงานด้วย เอาเงินที่ประหยัดมาเพิ่มค่าแรงให้พนักงานแทน กลับมาเป็นสวัสดิการในแต่ละพื้นที่”
พร้อมทั้งเล่าว่า ในช่วงโควิดที่มีโรงไฟฟ้าผลิตขายให้ กฟผ. แม้ไม่ได้เปิดการเดินเครื่อง แต่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ปีละ 49,000 ล้านบาท (คือต้นทุนการมีอยู่ของโรงไฟฟ้า) โดยมองว่า คนที่ไม่ได้ขายของ ไม่ได้เงิน แต่กลุ่มทุนที่มีเงินสร้างโรงไฟฟ้ามาขายไฟให้กับเหมือง แม้ไม่เดินเครื่องแต่ได้เงินจากประชาชน ผิดกับแสงแดดที่เป็นประชาธิปไตย แสงแดดให้กับทุกคน
“เมื่อเทคโนโลยีมาถึงแล้ว ทุกคนสามารถเป็น Co-Consumer ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ได้ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดคือ Mass production ซึ่งมันไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ ต้อง Production by the Mass คือจะต้องผลิตโดยคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่การผลิตขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการสะสมทุนของคนกลุ่มหนึ่ง และทำให้คนกลุ่มอื่นเป็นแค่ผู้ซื้อ และเราก็จนลง น้ำมันฟอสซิลคือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งเราต้องพยายามลดด้วย”
ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ‘รสนา โตสิตระกูล’ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast