7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ประชันวิสัยทัศน์ “เมืองน่าอยู่”

5 ประเด็นใหญ่ ภาคประชาชนชวน #ปลุกกรุงเทพฯ เป็นเมืองสุนทรี ผ่านการแก้ปัญหาทั้งเรื่องพื้นที่สีเขียว ขยะ น้ำท่วมฝุ่น และพื้นที่ของเมืองแห่งอนาคตที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากย้ายประเทศ

วันนี้ (7 เม.ย. 2565) ไทยพีบีเอส และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “เมืองน่าอยู่“ ภายใต้แคมเปญ “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” ตั้งคำถามจากภาคประชาชนและผู้เชี่ยวชาญ 6 คำถามใน 5 ประเด็น ทั้งเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วม การจัดการขยะในเมืองใหญ่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การจัดการฝุ่น และพื้นที่ของเมืองแห่งอนาคต

โดยผู้ที่ตั้งคำถาม คือ ผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนภาคประชาชนที่ทำงานเชิงประเด็นนั้น ๆ พร้อมอภิปรายให้เห็นรายละเอียดที่มาที่ไปของปัญหา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเชิงลึก จากนั้นจะให้ผู้สมัครทั้ง 7 คน คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคก้าวไกล, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์,วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5 ในนามอิสระ,พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6 ในนามอิสระ, รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 ในนามอิสระ, น.ต. ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย และ อุเทน ชาติภิญโญ หมายเลข 17 ในนามอิสระ เลือกตอบคำถามที่ตนเองมีความสนใจ หรือตรงกับนโยบาย คนละ 4 คำถาม

นโยบายการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะให้น้ำหนักกับเรื่องใด และเรื่องใดบ้างที่คิดว่าแก้ไม่ได้?

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ตัวแทนเครือข่ายการจัดการน้ำและนักวิชาการจากโครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 อธิบายถึงปัจจัยน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่มีอิทธิพลมาจากน้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ซึ่งกระบวนการจัดการและรองรับยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จากนั้นถามคำถามแรกว่าในบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหาโดยเน้นหนักในเรื่องใด?

สำหรับคำถามแรกเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. ผู้สมัครทุกคนเลือกตอบคำถามนี้ เช่น

“ก่อนที่ฝนจะมา พยายามพร่องน้ำในแต่ละลำคลอง และทำให้คลองเป็นแก้มลิงรับน้ำรอระบาย ทดลองระบบระบายน้ำทั้งระบบ เพื่อเห็นการไหลของน้ำ ขุดลอกคูคลอง ตรวจสอบว่ามีประสิทธิภาพได้ไหม มั่นใจว่าจะช่วยทำให้ปัญหาน้ำท่วมได้ 50% แน่นอน”

น.ต. ศิธา ทิวารี

“การจัดสรรงบประมาณต้องชัดเจน ที่ผ่านมาประเคนไปที่โครงการขนาดใหญ่ เช่น อุโมงค์รับน้ำ ต้องจัดงบฯ ใหม่ ลอกท่อทั่วเมืองลอกคลองทั่วกรุง ใช้งบประมาณ 3,000 ล้าน เพื่อทำให้ระบายน้ำมีประสิทธิภาพ สถานีสูบน้ำต้องมีการสำรองไฟ ทำงานได้แม้ไฟดับ ทำอุโมงค์ได้แต่ต้องเหมาะสม การลงทุนกับโครงสร้างขนาดยักษ์ที่ต้องเวนคืนที่ดินสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องจะทำเป็นลำดับสุดท้าย”

วิโรจน์ ลักษขณาอดิศร

“การก่อสร้างโครงสร้างป้องกันน้ำ มีการทำอีไอเอเสร็จแล้วเพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งป้องกันน้ำทะเลหนุน เรื่องน้ำเหนือได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ในจังหวัดต่างๆ ร่วมมือแก้ปัญหาน้ำเหนือ ส่วนน้ำฝนที่ตกลงมามากคือ ต้องพัฒนาของใหม่ เช่น ทำท่อผลักดันน้ำ วอเตอร์แบงค์ หลายส่วนทำไปแล้ว จะทำเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับจุดน้ำท่วมซ้ำซาก เปราะบาง กรณีฟันเหลอต้องประสาน จัดสรรงบประมาณลงไป เชื่อว่าเดือนมิถุนานี้จะไม่ท่วมแล้ว ขุดลอกคลองต่างๆ เราทำไปหมดแล้ว”

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง

รศ.สุทธิศักดิ์ ยังถามต่อไปอีกว่า ระบบการจัดการน้ำทั้งหมดที่ กทม. ดำเนินการและมีแผนที่จะดำเนินการต่อไป อาจจะไม่เท่าการที่ประชนชนในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหา จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าหากแต่ละพื้นที่ใน กทม. สามารถสร้างระบบหน่วงน้ำ เช่น ถังน้ำ บ่อน้ำ พื้นที่รับน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ของตัวเองหรือในชุมชนตัวเองเพื่อรับปริมาณฝนในช่วง 15 นาทีแรก ก็จะทำให้ช่วยลดปริมาณน้ำมหาศาลที่จะลงสู่ถนนและระบบระบายต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะกล้าที่จะออกกฏหรือขอความร่วมมือด้วยกลไกอย่างไร เพื่อสร้างระบบหน่วงน้ำ และให้ทุกพื้นที่ร่วมกันดำเนินการ ซึ่งมี พล.ต.อ. อัศวิน และ อุเทน เป็นผู้เลือกตอบคำถามนี้

“จูงใจให้พี่น้องประชาชนทำบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน คือ การให้ FAR (Floor Area Ratio หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดินใต้ดิน) แต่ไม่ใช่ทำได้ทุกที่ แต่ทำได้บางที่ที่เหมาะสม บางที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ก็ใช้เครื่องผลักดันน้ำไปเลย เราต้องใช้ความสมัครใจ บังคับไม่ได้ จะเป็นการลิดรอนสิทธิ ปัจจุบันมีภาคเอกชนให้ความร่วมมือ นับ 145 แห่ง เพื่อช่วยกันสร้างที่กักเก็บน้ำ 8.1 หมื่น ลบ.ม. และเตรียมทำต่อไป”

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง

จะสร้างความร่วมมือ เพื่อทำให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร แล้วอะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่ต่างไปจากเดิม?

ยศพล บุญสม จากกลุ่ม We Park และกรรมการสมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง สะท้องถึงนโยบายที่มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณ โดยระบุว่า อยากให้มี 9 ตารางเมตรต่อคนตามที่อ้างว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่จะทำอย่างไรให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวตอบโจทย์กับความท้าทายของสิ่งแวดล้อมและตรงใจความต้องการของประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง?

ในประเด็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว มีผู้สมัคร 4 คน เลือกตอบคำถาม คือ วิโรจน์ พล.ต.อ. อัศวิน รสนา และ น.ต. ศิธา

“ให้กติกาของเมืองเป็นธรรม ภาษีที่ดินว่างเปล่า 7,000 แปลงใน กทม. หลายแปลงอยู่ในที่กลางเมืองธุรกิจ แต่เราจะเห็นนายทุนแบ่งย่อยเป็นบริษัทลูก ปลูกกล้วย มะนาว เลี่ยงภาษีที่ดิน ถ้าเรากำหนดออกข้อบัญญัติชัดเจนว่าพื้นที่ใจกลางธุรกิจ ห้ามทำแบบนั้นแต่มอบสิทธิ์ให้กับ กทม. ​เพื่อทำพื้นที่สีเขียวได้ และมอบเงินให้กับ สำนักงานเขตกระจายให้ประชาชนชุมชนสามารถพัฒนาสวนใกล้ชุมชนได้ คนที่ซื้อที่ดินสร้างตึกจะต้องแรงจูงใจด้วยทำให้ FAR ฐานต่ำลง เพื่อส่งเสริมสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้น จึงจะสร้างอาคารสูงขึ้นได้ การประเมินพื้นที่สีเขียวตามความต้องการที่คนจะใช้”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

“พื้นที่รกร้างว่างเปล่า เราสามารถใช้กลไกภาษีให้เอกชนมีส่วนร่วมได้ ไม่ให้เลี่ยงภาษีจากการปลูกกล้วย เราสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานได้ ผมเคยทำพื้นที่รกร้างที่สุวรรณภูมิมาเป็นพื้นที่สนามจักรยาน สนามเด็กเล่น สนามพักผ่อนหย่อนใจ ให้พี่น้องใช้ประโยชน์ได้ เฉพาะจักรยานอย่างเดียว มีคนปั่นมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อปี 30 ล้านเมตรต่อปี มีเอกชนมาร่วมลงทุนเกือบสองพันล้าน สามารถที่จะทำให้คนใช้สวนหย่อมสนามเด็กเล่นน่าจะล้านคนต่อปี ควรจะทำกับพื้นที่อื่น ๆ ผมจะทำไปทั้งหมดทุกพื้นที่ของ กทม. งบประมาณปลูกสร้างราคาแพงในสวนลุม ใช้งบประมาณจำนวนมาก หากไปใช้กับพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอาจจะได้สวนอีกมากมาย”

น.ต. ศิธา ทิวารี

จะมีนโยบาย ลดการสร้างขยะ และแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในเชิงระบบอย่างไร ?

สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามว่า การบริหารจัดการขยะปัจจุบัน ของ กทม. คือเน้นเก็บขนและกำจัด ไม่ให้ขยะตกค้าง งบประมาณลงไปที่ปลายทาง ในการสร้างระบบกำจัดขยะ ทั้งเตาเผา MBT (ขยะมูลฝอยจากการบำบัดขยะโดยวิธีทางกลและชีวภาพ) เสียงบประมาณสูงถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี แต่จะให้ยั่งยืน ต้องสร้างระบบที่ให้แหล่งกำเนิดลดการสร้างขยะ และคัดแยกขยะที่ต้นทาง แต่ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่แยกขยะ โดยให้เหตุผลว่า “แยกไป พนักงานก็เอาไปรวมกันอยู่ดี”  ท่านจะมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรในเชิงระบบ?

ในประเด็นนี้ ผู้สมัครเกือบทุกคนเลือกตอบคำถามของ ดร.สุจิตรา ยกเว้นเพียง พล.ต.อ. อัศวิน เช่น

“กระบวนการจัดเก็บขยะต้องเฝ้าระวังไม่ให้ขยะลงไปในพื้นที่น้ำคลอง จะมีมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยให้คนได้แยกขยะจากต้นทางจริง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการปล่อยขยะลงทะเลอันดับ 5 ของโลก ซึ่งต้องแก้ไข เราสามารถ กลับมาเป็นรายได้ ประหยัดงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้ กทม. ได้เอาสวัสดิการเหล่านี้ มาทำประโยชน์ให้ประชาชนได้”

รสนา โตสิตระกูล

“ปฏิรูปการจัดเก็บขยะ ปัยหาขยะ กทม. เก็บไม่ได้ทั่วถึง เพราะเก็บไปก็ไม่ถึง รถขยะทำให้มีขนาดที่เหมาะกับพื้นที่ กทม. มีหลายขนาดเพื่อให้สามารถเข้าถึงซอยเล็ก ๆ ได้ ข้อแรกที่ทำได้ทันทีคือรถขยะเหมาะสมกับพื้นที่ รถขยะและคนเก็บขยะต้องมีมากขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บขยะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้มีข้อบัญญัติที่ชัดเจนว่าแต่ละหมู่บ้านจะต้องมีศูนย์รวมขยะที่เข้าไปเก็บได้สะดวก เก็บให้ถึง เก็บให้ถี่ขึ้น และตั้งข้อบัญญัติใหม่”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

“เราแยกขยะจากครัวเรือน แต่ถูกเทลงในรถ มันอะไรกันหนักกันหนา ที่ญี่ปุ่นมีการแยกรถ แยกประเภทขยะ และจัดเก็บเฉพาะจุดที่มีการแยกไว้แล้วไม่ซ้ำซ้อนกัน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ ไม่เห็นด้วยกับการฝังกลบ ซึ่งทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว ต้องจัดการใหม่ เลิกโลกสวยอย่ากลัวมลพิษ ที่ไหน ๆ ก็ใช้ระบบเผาทั้งนั้น”

อุเทน ชาติภิญโญ

จะมีบทบาทอย่างไร และใช้เครื่องมือใดให้บรรลุค่ามาตรฐานฝุ่นที่กำหนดไว้ และจะต่อยอดพื้นที่มลพิษต่ำ อย่าง ปทุมวันโมเดล สู่การปฏิบัติที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้อย่างไร

ปัญหาฝุ่นควันใน กทม. อภิปรายและตั้งคำถามโดย รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผอ.ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 นี้ เห็นชอบในการปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ เฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากค่าเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2565 และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จากค่าเดิม 50 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2567 ท่านคิดว่าการปรับปรุงค่ามาตรฐานนี้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร กทม. จะมีบทบาทอย่างไรในการสนับสนุนให้บรรลุค่ามาตรฐานใหม่นี้?

ซึ่งมี สุชัชวีร์ วีรชัย รสนา และอุเทน เป็นผู้เลือกตอบคำถามนี้

“กวดขันการปล่อยควัน มลพิษของโรงงานต่าง ๆ ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาของประชาชน ให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น”

รสนา โตสิตระกูล

“การปรับลดมาตรฐานฝุ่น จะเป็นความลำบากของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ปัจจุบันให้ได้ก่อนค่อยปรับลดในอนาคต เราควรจะกำหนดช่วงเวลาการใช้รถเครื่องยนต์สันดาป เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ผู้ประกอบการขนส่งให้เปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า โดยอุดหนุนค่าสัมปทานรถไฟฟ้า”

วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ

“ปลูกต้นไม้ช่วยได้บางส่วน ต้องหยุดที่แหล่งกำเนิด จุดตรวจวัดเรามีน้อยมาก ๆ ควรจะติดสักสองพันจุด วันนี้ วิศวกรไทยทำได้ หลายที่ทำได้ ตั้งใจว่าจะติดสองพันแห่งทั่วกรุงเทพฯ ให้แสดงผลได้ ณ จุดนั้น ผ่านป้ายสัมปทาน กทม. ให้ขึ้นข้อมูล ให้ประชาชนได้ป้องกันตัวเอง ให้ ผอ.​เขต รู้ว่าฝุ่นมาจากไหน และทำให้ ผอ.สำนักงานเขต ต้องรีบเร่งจัดการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพิกถอนชะลอการก่อสร้างที่ปล่อยฝุ่นจำนวนมากได้ ทำให้เป็น KPI ของเขต เพื่อให้เร่งจัดการ แต่ถ้าหลายอาคารป้องกันอย่างดี ค่าใช้จ่ายในการป้องกันฝุ่นเอามาลดภาษีได้”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

“ทำยังไงให้ตึกสูงมีส่วนร่วมจัดการทำลายฝุ่น ถ้าบนอาคารมีสเปรย์พ่นดักจับฝุ่น จะช่วยไหม จะขอความร่วมมือให้ตึกสูงต้องมีหัวฉีดสเปรย์น้ำ เพื่อกำจัดฝุ่นทุกทิศทาง ลดการเผาให้ได้ โดยเฉพาะเขตชานกรุงเทพฯ ต้องปลูกจิตสำนึกให้กับเขา กรุงเทพฯ จะน่าอยู่ ประชาชนต้องน่ารัก มีวุฒิภาวะ ไม่เห็นแก่ตัว”

อุเทน ชาติภิญโญ
เมืองน่าอยู่

จะมีกลไกอะไร สำหรับสร้าง “เมืองน่าอยู่” ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากย้ายประเทศ

อชิระ ศิริมงคลเกษม RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ถามว่า กลไกอะไรที่จะสร้างเมืองแห่งความหวัง “เมืองน่าอยู่” ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอนาคตและเติบโตได้ ทั้งในทางกายภาพ ความสัมพันธ์ทางสังคม โอกาสทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงสร้างความมั่นคงในทางจิตใจ จนทำให้เขาไม่อยากย้ายประเทศ

ซึ่งในประเด็นนี้ มีวิโรจน์ จากพรรคก้าวไกล, สุชัชวีร์ จากพรรคประชาธิปัตย์, น.ต. ศิธา จากพรรคไทยสร้างไทย รวมถึง วีรชัย และ พล.ต.อ. อัศวิน ในนามอิสระเป็นผู้เลือกตอบ เช่น

“การพัฒนาการเรียนรู้พัฒนาทักษะตลอดชีวิต มีนโยบายเรื่องโรงเรียนใกล้บ้าน เรียนสื่อดิจิทัล เมื่อไหร่ก็ได้ ภาครัฐมีบริการเข้าถึงข้อมูล โปร่งใส มีส่วนร่วม รัฐช่วยบอกว่ากำลังจัดการเรื่องไหน ดำเนินการอะไร มีปัญหาอะไรบ้าง เน้นเรื่องเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องความปลอดภัยท้องถนน ให้คนเดินคนขี่จักรยานสัญจรสะดวก จัดการขนส่งมวลชน และจัดการพลังงาน”

วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ

“สวัสดิการต้องมีคุณภาพ ให้คนลุกยืนอยู่ได้เท่ากันก่อน สาธารณสุข หมอมี สาธารณสุขดีใกล้บ้าน โรงเรียนดีใกล้บ้าน อินเทอร์เน็ตฟรี 1.5 แสนจุด มีไวไฟ ปะผุทางเท้าให้ดี ทำให้เป็นเมืองที่มีมาตรฐานสากลทุกอย่าง มุ่งเน้นเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ เปลี่ยนได้ ฟังเสียงน้อง ๆ หากมีข้อเสนออะไรดี ๆ ใหม่ ๆ ยินดีที่จะรับฟัง”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

“ต้องส่งมอบประเทศนี้ให้เด็กมาบริหารประเทศนี้ต่อไป ความขัดแย้งระหว่างวัยต้องมีคนดูแล ร่วมสร้างประเทศไทยให้กับคนรุ่นใหม่ เป็นนั่งร้านให้กับคนรุ่นใหม่ จะทำแซนด์บ็อกซ์ให้ กทม. เป็นสมาร์ท ซิตี้ วางระบบธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสให้คนกรุงเทพฯ เป็นยูนิคอร์น สตาร์ทอัพในกรุงเทพฯ จะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี มีโครงการอื่น ๆ มากมายสำหรับคนรุ่นใหม่”

น.ต. ศิธา ทิวารี

นอกจากนี้ ในช่วงท้าย ยังมีตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดสมุทรปราการ ในนามเครือข่ายสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เข้าร่วมแสดงความเห็นและตั้งคำถามถึงบทบาทความรับผิดชอบของ กทม. ที่มีต่อปริมณฑล จากปัญหาอันเนื่องมาจากการบริหารงานภายใน กทม. เอง เช่น กรณีโรงงานกำจัดขยะอ่อนนุชส่งกลิ่นถึงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ หรือ กรณีที่ต้องนำขยะจาก กทม. ออกไปทิ้งที่จังหวัดนครปฐม ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีการติดตามต่อทั้งจากวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร และผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสหลังจากนี้

สำหรับกิจกรรมการแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. “Bangkok Active: ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ครั้งนี้อยู่ในหัวข้อ “เมืองน่าอยู่” หลังจากนี้จะมีการจัดเวทีในอีก 5 หัวข้อ คือ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองที่มีส่วนร่วม ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม ก่อนนำไปสู่เวทีดีเบตใหญ่โดยไทยพีบีเอส เพื่อเตรียมข้อมูลเชิงนโยบายให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ใช้เป็นเครื่องมือตัดสินใจลงคะแนน และเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์