ผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหา “น้ำท่วม” ได้อย่างไรบ้าง?

กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าเป็น Water sensitive city ซึ่งปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำของกรุงเทพฯ มีความสลับซับซ้อน ทั้งด้านวิศวกรรม การประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด และภายใน กทม. เอง แม้มีการลงทุนงบประมาณจำนวนมาก แต่ปัญหาน้ำท่วมก็ยังไม่หมดไป

แล้วหากกรุงเทพฯ มี “ผู้ว่าฯ” คนใหม่ จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง?

The Active ร่วมกับเครือข่าย #ปลุกกรุงเทพฯ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและวิศวกรรม รวบรวมสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาและ “คำถามที่สำคัญไม่น้อยกว่าคำตอบ” เพื่อชวนชาว Bangkokian ร่วมติดตามคำตอบจากแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ในกิจกรรม Bangkok Active ฟังเสียงกรุงเทพฯ วันที่ 7 เมษายน นี้ กับเวที “เมืองน่าอยู่”

น้ำท่วม

3 สิ่ง ที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

น้ำเหนือ ระบบคันกั้นน้ำส่งผลให้น้ำไหลไปยังจังหวัดข้างเคียง เช่น นครปฐม หรือน้ำถูกขังไว้นอกคัน กทม. ทำให้มีปัญหากระทบกระทั่งบริเวณพื้นที่นอกและในแนวคันกั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นจุดฟันหลอทั้งหมด 11 จุด ยาวรวม 2 กิโลเมตร ที่รอการแก้ไขมานาน ส่วนความปลอดภัยจากน้ำเหนือขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะ กทม. แล้วเราจะมีหลักประกันอย่างไร รวมถึงค่าชดเชยการเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นทุ่งรับน้ำ

น้ำฝน บึงรับน้ำถูกถมเพราะกระบวนการบังคับใช้พื้นที่ตามที่ผังเมืองกำหนดล่าช้า ท่อระบายน้ำริมถนนและในชุมชนมีขนาดเล็ก ทรุดตัว/ตกท้องช้าง อุดตันจากขยะและดินตะกอน ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำไปที่คลอง หรืออุโมงค์ได้ ส่วนเจ้าหน้า กทม. ก็ไม่เพียงพอต่อการดูแลบ่อสูบน้ำ การกำจัดขยะที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบเป็นปัญหาที่เสียกำลังเจ้าหน้าที่ กทม. เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาชุมชนริมคลอง ทำให้ไม่สามารถพร่องน้ำเพื่อรอฝนได้ ถึงแม้จะมีการแก้ไขแล้วในหลายพื้นที่ โดยการไล่รื้อและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยหน่วยงาน เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. แต่ในหลายพื้นที่ การไล่รื้อส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มคนเปราะบาง

น้ำทะเล น้ำในเขื่อนน้อยลง น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น สร้างปัญหาให้น้ำกับการผลิตประปาใน กทม. อย่างแน่นอน เช่น ปรากฏการณ์น้ำประปาเค็มที่เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง

จากปัญหาเหล่านี้ (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. มองเห็นโอกาสอะไรภายใต้ปัญหานั้นบ้าง นโยบายของผู้สมัคร เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะให้น้ำหนักกับเรื่องใด และเรื่องใดบ้างที่คิดว่า “แก้ไม่ได้”

การระบายน้ำที่ประสิทธิภาพต่ำ ส่งผล “น้ำรอระบาย”

ในหลายพื้นที่ ท่อระบายน้ำข้างถนน ก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี มีการทรุดตัว ตกท้องช้าง ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพต่ำ ต้องใช้เครื่องสูบ สูบทอยเป็นทอด ๆ เพื่อระบายน้ำลงคลอง อุโมงค์ และแม่น้ำเจ้าพระยา บางพื้นที่ก่อสร้างท่อใหม่คู่ขนานโดยใช้วิธีการดันท่อขนาดเล็ก ก็สามารถบรรเทาปัญหาเฉพาะพื้นที่นั้นลงได้ แต่ก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งในปัจจุบัน จะมีการลดลงของจุดอ่อนไหวน้ำท่วมขังจาก 300 กว่าจุด ลงลงเหลือประมาณ 20 จุด แต่ก็ยังพบปัญหา

ปัญหาการระบายน้ำในหลายพื้นที่ เกิดจากท่อระบายน้ำข้างถนน ระบายน้ำลงสู่คลองต่าง ๆ ไม่ทัน เมื่อฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

กลไกและความร่วมมือที่สำคัญ รอผู้ว่าฯ “กล้า” เปลี่ยน

ระบบการจัดการน้ำทั้งหมดที่ กทม. ดำเนินการและมีแผนที่จะดำเนินการต่อไป อาจจะไม่เท่าการที่ประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ข้อมูลทางวิชาการพบว่าหากแต่ละพื้นที่ใน กทม. สามารถสร้างระบบหน่วงน้ำ เช่น ถังน้ำ บ่อน้ำ พื้นที่รับน้ำใต้ดินในพื้นที่ของตัวเองหรือในชุมชนตัวเองเพื่อรับปริมาณฝนในช่วง 15 นาทีแรก ก็จะทำให้ช่วยลดปริมาณน้ำมหาศาลที่จะลงสู่ถนนและระบบระบายต่าง ๆ ได้

ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ท่านกล้าที่จะออกกฎหรือขอความร่วมมือด้วยกลไกอย่างไร เพื่อให้ทุกพื้นที่ร่วมกันดำเนินการ

บางเรื่องผู้ว่าฯ อาจไม่มีอำนาจ แต่วิสัยทัศน์ก็เป็นสิ่งสำคัญ

ระบบทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นระบบที่เหมาะสมสำหรับปริมาณน้ำฝนหรือน้ำหลากระดับหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนจะตกหนักขึ้น น้ำจะหลากมากขึ้น น้ำทะเลอาจจะหนุนมากขึ้น

วิสัยทัศน์เรื่องนี้ในอนาคตเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. จะจัดการได้ลำพัง

นอกจากคำถามเหล่านี้ คนกรุงเทพฯ มีคำถามใดที่อยากส่งถึงแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกันแชร์และติดตามการแสดงวิสัยทัศน์พร้อมกัน พฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 19.00 – 21.00 น. ถ่ายทอดสดผ่านเพจ The Active Thai PBS และนักข่าวพลเมือง


หมายเหตุ รวบรวมข้อมูลและคำถามโดยเครือข่ายปลุกเทพฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active