ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับความหวังและบรรทัดฐานใหม่นักการเมือง

หากไม่นับปรากฎการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ เวลานี้สิ่งที่เรายังคงเห็น คือ การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าที่ผู้ว่า ฯ กทม. พร้อมโชว์การประสานงานควงว่าที่ ส.ก. และอดีตผู้สมัครของพรรคและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ไปร่วมงานด้วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ นี่อาจไม่ใช่ภาพลักษณ์เดียว ที่ชัชชาติพยายามสื่อ แต่ตลอด 2 ปี กับการลงพื้นที่ พบปะพูดคุย สำรวจปัญหา จนได้รับคะแนนอย่างถล่มทลายในวันนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทย

The Active ชวนวิเคราะห์กระแสนี้ไปกับ สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อไม่ให้กระแสนี้จบเพียงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่อาจเป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่เข้าสู่การเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่นอื่นด้วย

ทำไมกระแส ‘ชัชชาติ’ ถึงฟีเวอร์ได้ขนาดนี้ ?

สติธร กล่าวว่า ดูจากคะแนนที่ทำลายสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา และการเข้าสู่ตำแหน่งพร้อมความแข่งขันที่คนส่วนใหญ่คนให้ความสนใจ ดังนั้น จึงไม่แปลกนักหากความคาดหวังของประชาชนจะมีสูง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจากการเมืองก่อนหน้านี้แบ่งข้างชัดเจน คนที่ได้เป็นผู้ว่าฯ อาจแบกรับความหวังเพียงฝ่ายที่เลือกตนเองเท่านั้น แต่ในตอนนี้ชัชชาติต้องแบกความคาดหวังทั้ง 2 ฝ่าย เพราะมีคนที่ข้ามขั้วมาเลือกชัชชาติด้วย คนที่ไม่ได้เลือกก็จะยิ่งจับตาดูว่าจะทำได้สักกี่น้ำ หรือจะทำได้ตามที่พูดหรือไม่

“ตอนนี้ ก็จะเห็นว่า ยังไม่ได้รับตำแหน่งเลย คนเริ่มบ่นกันแล้ว ว่าทำไมรถยังติด น้ำยังท่วมอยู่เลย แต่บังเอิญว่าเป็นชัชชาติ ที่เขาพร้อมรับกับแรงกดดัน และแอคทีฟพร้อมทำงาน ยิ่งคาดหวังมาก ก็จะยิ่งลงมือทำมาก แต่ต้องไม่ลืมว่ามีอุปสรรคหลายเรื่อง ที่ผู้ว่าฯ ควบคุมไม่ได้ด้วย ต้องให้เวลาเขาหน่อย…”

สติธร วิเคราะห์ต่อว่า ส่วนหนึ่งของกระแส มาจากการที่ผ่านมานั้น คนกรุงเทพฯมักจะผิดหวังการทำงานของผู้ว่าฯ หลายท่านไม่สามารถทำได้ตามที่หวัง แต่เมื่อรอบนี้มีคนใหม่เข้ามา เหมือนความผิดหวังนั้น จะมีความหวังมาเล็กๆ เนื่องจากเขาจะเปรียบเทียบกับคนเก่า แต่อย่างน้อยๆ ชัชชาติ ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงรายละเอียดของปัญหาหลักๆ และปัญหารายวัน ต้องห้ามต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ถ้าทำได้ไม่ดี จะไปกันใหญ่ 

ตัวตน และเส้นทางการเมือง ‘ชัชชาติ’ นำมาสู่ชัยชนะ

สติธร กล่าวว่า ตัวตนของชัชชาติ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผลการเลือกตั้งนำห่างคู่แข่งอันดับ 2 อย่างไม่เห็นฝุ่น ก่อนหน้านี้ประชาชนทราบในเรื่องความสามารถ การศึกษา และประสบการณ์การทำงานมาอยู่แล้ว แต่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้คนเห็นภาพชัดขึ้น และเมื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การทำงานที่เปิดกว้าง และพร้อมทำงานกับคนอื่น บวกกับศักยภาพ และความสามารถ ทำให้คนเชื่อว่าจะทำงานได้

“การเลือกตั้งได้คะแนน 1.3 ล้านเสียง ในสภาวะการเมืองแบบนี้ เป็นไปได้เพราะคนลงสมัครชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะตัวตนที่ผ่านการรับรู้ ว่าเป็นคนเก่ง มีประสบการณ์ การศึกษา และแบกกราวด์ดี ยิ่งทำให้คนเห็นภาพชัดขึ้นในช่วงการหาเสียง บุคลิกที่เป็นคนเปิดรับ ประนีประนอม ไม่เถียงกับคนอื่น จึงทำให้กระแสฟีเวอร์ขึ้นมา”

สติธร ชวนมองประเด็นสำคัญ ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง คือ การสร้างผู้นำทางการเมือง ไม่สามารถได้มาแบบก้าวกระโดด เพราะ ชัชชาติผ่านมาแล้วทุกอย่าง ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองเกือบ 10 ปี เป็นอดีตรัฐมนตรี เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เว้นวรรคไปบริหารบริษัทมหาชน แม้แต่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทย ประสบการณ์ที่หลากหลาย เส้นทางการเมืองชัดเจน ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะสร้างกันง่ายๆ 

“หลายคนอาจมองความสำเร็จผ่านคะแนนเสียง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่มันมีเส้นทางของมันที่เดินมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาเป็นภาพสุดท้ายวันนี้ กรณีนี้จึงเป็นบทเรียนว่าพรรคการเมืองจะอาศัยแบรนด์ ชูความขัดแย้ง ให้เลือกข้าง แล้วส่งเสาไฟฟ้าลงมาให้ประชาชนเลือก เพราะกลัวอีกฝ่ายชนะไม่ได้แล้ว นโยบายต้องดี และมีคนที่เหมาะสมสามารถสร้างความมั่นใจได้”

คาดหวังเห็นการขึ้นสู่ตำแหน่งของ ‘ผู้นำระดับชาติ’

สติธร มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดช่วงของผู้นำ และการสร้างผู้นำในพรรคการเมือง ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญ ที่พรรคการเมืองต้องสร้างผู้นำรุ่นต่อรุ่น แต่วันนี้หลายพรรคมีปัญหา เนื่องจากสภาวะการเมืองในบ้านเรา ที่คนระดับนำถูกเว้นวรรคทางการเมืองไป หรือพรรคต้องถูกยุบ จะเห็นว่าพรรคเก่าแก่ ก็จะมีคนรุ่นเก่าอยู่ชุดหนึ่ง และมีคนรุ่นใหม่มาเสนอตัวตลอด แต่คนกลุ่มกลางๆ จะหาได้ยาก

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบในการเมืองบ้านเรา คือ พรรคการเมืองมักส่งต่อความเป็นผู้นำให้ลูกหลานตัวเอง หรือคนในตระกูลตัวเอง ทำให้พื้นที่ทางการเมืองวนอยู่ในหมู่ชนชั้นนำของพรรค แต่ไม่ถูกส่งต่อไปให้กับคนที่พร้อม มีความสามารถ และกระหายอยากทำเพื่อส่วนรวม นี่จึงเป็นความท้าทายของทั้งผู้อาสาตัวเข้ามาเป็นผู้นำ และประชาชนในฐานะผู้เลือกตัวแทนที่จะร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่นี้ขึ้น

ก่อนจะปิดท้ายว่า วันนี้ชัดเจนที่ ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. แบกความคาดหวังของคนที่มาใช้สิทธิ และคนที่ติดตามการทำงาน คนที่อยู่ในตำแหน่งจึงต้องเดินหน้าเต็มที่ อะไรที่สัญญาไว้ ต้องทำตามนั้น ในขณะที่ประชาชนต้องติดตามการทำงาน และสิ่งไหนที่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วม ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ให้สิ่งที่คาดหวังสำเร็จไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้