เพราะความเหลื่อมล้ำสูง การหลอกลวงจึงสำเร็จ! โคแฟคและภาคี จัดงานวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

สสส. ร่วมกับโคแฟค และ กทม. จัดงานสัมมนาวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 หวังกระตุ้นคนตื่นตัวภัยกลลวงออนไลน์ ชี้ การมาถึงของ AI ทำให้เส้นแบ่งโลกจริง-โลกออนไลน์รางเลือน แนะวิธีระวังภัย หวังให้หน่วยงานรัฐสร้างฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงง่ายสำหรับประชาชน

2 เม.ย. 2567 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีโคแฟค ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงาน “สัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024) ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” เนื่องจากเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล กำหนดให้ วันที่ 2 เม.ย. ของทุกปี เป็นวัน “ตรวจสอบข่าวลวงโลก” โดยมีเป้าหมายกระตุ้นให้คนทั่วโลกตื่นตัวกับภัยข่าวลวงทางโลกออนไลน์ที่กำลังพัฒนาไปทุกวัน

ช่วงเสวนาหัวข้อ ”จาก ‘ชีพเฟค’ ถึง ‘ดีพเฟค’ การตรวสอบ-รู้เท่าทัน ยังเพียงพอหรือไม่” ร่วมพูดคุยโดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) Professor Masato Kajimoto ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วารสารศาสตร์และสื่อศึกษา มหาวิทยาลัยฮ่องกง Forth Chen จาก APAC NEWs Pertnerships, Google News initiative (GNI) ฐิตินันท์ สุนธินราพรรณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook และ Whoscall ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร. เจษฎา ศาลาทองอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
และ จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ อธิบายความแตกต่างของการหลอกลวงแบบ ชีฟเฟค (cheapfakes) และ (ดีพเฟค deepfakes) ว่า ชีฟเฟค คือ การหลอกลวงแบบง่าย ๆ ที่สังเกตได้ไม่ยาก เช่น การตัดต่อภาพหรือคลิป แต่ทำโดยเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น คลิปคนใส่ชุดตำรวจ แต่หน้านิ่ง ขยับแต่ปาก ซึ่งแบบนี้จะสังเกตได้ง่าย

ส่วน ดีพเฟค เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่า แนบเนียนทั้งภาพและเสียง โดยคนมีชื่อเสียงมีโอกาสจะถูกนำไปแอบอ้างได้ง่ายเพราะมีฐานข้อมูลทั้งภาพและเสียงบนโลกออนไลน์มาก ดีพเฟคมีความน่ากังวล เพราะสร้างความเสียหายสูงมาก โดยคดีที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือการซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้รับของ ในขณะที่คดีที่สร้างความเสียหายสูงสุดคือการหลอกให้ลงทุนโดยการใช้คลิปปลอมเป็นผู้มีชื่อเสียงชักชวนที่ดูน่าเชื่อถือ

ด้าน ฐิตินันท์ สุนธินราพรรณ กล่าวว่า ทั้งชีพเฟค และ ดีพเฟค เป็นเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพเล่นกับอารมณ์และความรู้สึก ได้แก่ ความกลัว (เจ้าหน้าที่รัฐ หรือความลำบากของคนใกล้ชิด) ความโลภ (หลอกให้ลงทุน) และความรัก (romance scams) สำหรับมิจฉาชีพแล้ว แม้เทคโนโลยีดีพเฟคจะมีราคาแพงกว่า แต่คุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าเพราะสามารถหลอกลวงแล้วได้กำไรมหาศาล และในอนาคต ดีพเฟคมีแนวโน้มจะมีราคาถูกลงด้วย

Professor Masato Kajimoto ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วารสารศาสตร์และสื่อศึกษา มหาวิทยาลัยฮ่องกง 
และ Forth Chen จาก APAC NEWs Pertnerships, Google News initiative (GNI)

ด้าน Professor Masato Kajimoto ย้ำว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เส้นแบ่งของความเป็นชีพเฟคและดีพเฟคเบลอมาก OpenAI ประกาศแล้วว่า สามารถนำเสียงต้นแบบไป generate เป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกได้แล้วโดยเจ้าของเสียงไม่จำเป็นต้องพูดภาษานั้นได้เลย ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็น่ากลัวมากเช่นกัน

ในขณะที่ Forth Chen เห็นด้วยว่าตอนนี้เส้นแบ่งระหว่างชีพเฟคและดีพเฟคแคบมาก ทาง google จึงร่วมกับ Deepmind พัฒนาเครื่องมือระบบฝังลายน้ำในภาพหรือคลิปที่สร้างด้วย AI เพื่อป้องกันปัญหาภาพปลอมหรือการบิดเบือน ซึ่งน่าจะช่วยได้มากตอนนี้ และย้ำว่าผู้ใช้ AI ในการผลิตสื่อก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย

สำหรับมุมมองเรื่องการปรับตัวของสื่อ จีรพงษ์ ประเสริฐพลกัง เห็นว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้เสพสื่อในไทยยังมีความเข้าใจเรื่องข่าวลวงไม่พอ ควรมีการอัปเดตข้อมูลให้สื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขามีบทบาทเหมือนด่านกรองข้อมูลให้ประชาชนอีกทางและจะทำให้อาชญากรออนไลน์ลดลง

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส.
และฐิตินันท์ สุนธินราพรรณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook และ Whoscall

ด้าน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ชี้ว่า การหลอกลวงเหล่านี้สำเร็จได้เพราะสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง คนจำนวนหนึ่งมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือทำตามข่าวแชร์บางอย่างแล้วปัญหาชีวิตจะคลี่คลาย จนสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อ

“คนส่วนใหญ่มีความหวังอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือขอแค่ให้ปัญหาบางอย่างในชีวิตคลี่คลายจนทำให้สุดท้ายกลายเป็นเหยื่อ เช่น เรื่องมะนาวโซดารักษามะเร็ง นั่นเป็นเพราะเขาไม่มีความรู้ ไม่มีเวลา และไม่มีเงินไปหาหมอ เมื่อหลงเชื่อ สุดท้ายกลายเป็นเจ็บหนักกว่าเดิม”

ในด้านของการแก้ปัญหา ฐิตินันท์ ให้ความเห็นว่า มิจฉาชีพพัฒนาไปทุกวัน ประชาชนก็ต้องเท่าทัน และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างช่องทางที่นำเสนอข้อมูลที่เชื่อถือได้ด้วย

“สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนัก คือ ถ้าได้รับสายแจ้งเรื่องแปลก ๆ ต้อง “เอ๊ะ” ไว้ก่อน ตำรวจจะไม่มาจับเรา หรือบัญชีเราจะไม่ถูกระงับภายในชั่วโมงนี้ ขอให้ใจเย็นและตรวจสอบให้แน่ใจก่อน หรือตอนนี้ มิจฉาชีพมีการปลอมเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานรัฐ แต่เขาจะไม่สามารถปลอมได้เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น อ้างว่าโทรมาจากตำรวจด้วยเบอร์ 191 แต่ถ้าสังเกตดูให้ดี จะขึ้นเป็น เบอร์ +191 แทนขอให้สังเกตดูให้ดี”

เช่นเดียวกับที่ Professor Masato ชี้ว่า ตอนนี้โลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริงมีเส้นแบ่งที่เบลอมาก มิจฉาชีพจะเล่นกับจิตวิทยาของเหยื่อ โดยเฉพาะการปลอมเป็นคนสนิทมาขอความช่วยเหลือ และมีเทคนิคใหม่เกิดขึ้นทุกวัน สังคมจึงควรช่วยกันสอดส่อง เช่น ในญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ และเมื่อพวกท่านจะโอนเงินก็ต้องไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่จะมีพนักงานหนุ่มสาวที่คอยสอดส่อง สอบถามว่าจะโอนไปที่ไหน หากเห็นว่าไม่น่าไว้ใจ พวกเขาเองจะช่วยหยุดวงจรนี้ไว้

ภิญโญ เสริมว่า วิธีง่าย ๆ คือ เวลาได้รับสายหรือข้อความแปลก มีสิ่งที่ต้องยึดถือ คือ 1. อย่าเชื่อ : ต้องตรวจสอบที่มาก่อน เช่นโทรสอบถามธนาคารเลย และ 2. อย่าโอน : ต้องเข้าไปตรวจสอบเลขบัญชีได้จาก เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ Blacklistseller ศูนย์กลางการตรวจสอบการฉ้อโกงออนไลน์

สอดคล้องกับที่ Forth Chen บอกว่า วิธีเบื้องต้นง่าย ๆ ก็แค่เพียงค้นหาใน google ว่านี่คือเบอร์มิจฉาชีพหรือไม่ เพราะการทำแบบนี้ นอกจากจะช่วยให้เราตรวจสอบเบื้องต้นได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์สำหรับการช่วยอัปเดตฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ดร.จิรพร สรุปว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็กที่กระทบแค่คนในยุคนี้ แต่มันกระทบต่อคนในเจเนอเรชันถัดไปด้วยจึง ขอฝากความหวังไว้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี พร้อมเน้นให้ยกระดับจิตสำนึกของพลเมือง ทั้งสำนึกในเชิงสิทธิและสำนึกสาธารณะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active