บทเรียนสลด พ่อ-ลูก จ.บุรีรัมย์… ไม่ควรมีใครต้องตาย หนีความจน 

นักวิชาการ – เครือข่ายเยาวชน ชี้สังคมผิดเพี้ยน แนะ เปิดพื้นที่เข้าถึงโอกาส สร้างรัฐสวัสดิการ เป็นทางออก แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ

จากกรณี ชายวัย 31 ปี ตัดสินใจ ฆ่าลูกสาววัย 10 ขวบ ก่อนผูกคอตัวเอง และลูกสาว เสียชีวิตอยู่ภายในบ้าน ที่ ต.สาวเอ้ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ คาดว่าสาเหตุจากความยากจน โดยเพื่อนบ้านระบุว่า ผู้ตายมีปัญหาครอบครัว ถูกภรรยาทิ้ง ต้องดูแลลูกสาวตามลำพัง มีความเป็นอยู่อย่างลำบาก บ้านถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่นอกจากจดหมายแล้ว ยังพบแบบฟอร์มขอสนับสนุนทุน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งคาดว่าลูกสาวเตรียมที่จะขอทุนดังกล่าว แต่ไม่ทันต้องจบชีวิตลงเสียก่อน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นำไปสู่การตั้งคำถามจากกลุ่มนักวิชาการ และเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมองว่าไม่ควรมีใคร หรือเด็กคนไหนต้องจบชีวิตเพราะความจน 

อย่าง ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี Sustarum Thammaboosadee อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ และหนึ่งในผู้ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการ โพสต์เฟสบุ๊ค โดยมีเนื้อหาระบุว่า 

เรามีส่วนต่อความตายของเด็กทุกคน ที่ต้องจบชีวิตเพราะความจน มันไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติ มันเกิดจากการออกแบบสังคมที่ผิดเพี้ยน สังคมที่สร้างคนรวย และกำแพงทางสังคมสูงลิ่ว เราแก้ต่างให้คนรวย ที่สูบทรัพยากรทุกอย่างไป และทิ้งให้พวกเราอยู่กับเศษเนื้อที่พวกเขาโยนมาให้ กับศีลธรรมที่พวกเขาสร้างให้เราพอใจและโทษกันเอง”

ษัษฐรัมย์ ยังระบุด้วยว่า ได้มีโอกาสต่อสู้และผลักดัน แนวทางลดความเหลื่อมล้ำสำหรับเด็กหลายครั้ง และทุกครั้งได้คุยกับผู้มีอำนาจ แต่กลับไม่ได้มองชีวิตของผู้คน สำคัญกว่าผลประโยชน์

“พวกเขาถามผมว่า พวกเขาจะได้อะไร จากการทำเรื่องนี้ คะแนนเสียง? ผลประโยชน์ ?  ช่วยคนจนไม่มีเงื่อนไข ถ้าสังคมวิจารณ์หนัก ๆ ผมจะช่วยพวกเขายังไง? มันน่าเศร้า ที่เรามีส่วนสำหรับโศกนาฏกรรมนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีข้อห้ามข้อใดที่เราจะเปลี่ยนแปลงเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ เราถึงสมควรที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ คู่ควรกับรัฐสวัสดิการ”

ขณะที่ ทิชา ณ นคร Thicha Nanakorn ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ก็โพสต์แสดงความเห็น โดยระบุ อยากให้หยุดใช้วาทกรรม ว่า ไม่มีความจนในหมู่คนขยัน เพราะความจริงแล้ว คือคนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงโอกาสต่าง ๆ และถูกเอาเปรียบ พร้อมเชื่อว่า หากพวกเขาสามารถเขาถึงโอกาสได้จริง ทั้งเรื่องการศึกษา ทรัพยากร และมีอำนาจต่อรอง คนกว่าครึ่งก็จะหายจน

“หยุดกล่อม หยุดคำขวัญ หยุดวาทกรรมลวงโลก… ไม่มีความยากจน ในหมู่คนขยัน คนจนซ้ำซาก คนจนข้ามรุ่น คนจนเจ็ดชั่วโคตรเพราะเขาเข้าไม่ถึงโอกาส เพราะเขาเข้าไม่ถึงการศึกษา เพราะเขาเข้าไม่ถึงทรัพยากร เพราะเขาถูกเอาเปรียบ ความขี้เกียจ…ไม่ใช่สาเหตุหลักแห่งความยากจน ไม่เชื่อลองเปิดพื้นที่การเข้าถึงโอกาส การศึกษา ทรัพยากร อำนาจการต่อรอง ฯลฯ คนครึ่งหนึ่งจะหายจน สะเทือนไปหมดทุกอณู ไม่ชินสักทีกับข่าวแบบนี้”  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active