13 ปี พีมูฟ การต่อสู้ “จากภูผา ถึงทะเล” สู่สังคมที่เป็นธรรม

“ธนาธร” ชี้ 4 บทบาท พีมูฟช่วยผลักดันกลไกภาคประชาชน ขณะที่ นักวิชาการ-ภาคประชาชน มองการเคลื่อนไหวพีมูฟ จุดประเด็นกระตุ้นสังคมตื่นตัว ความเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำ แนะรวบรวมหลากหลายประเด็นปัญหา เดินหน้าสู่การเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม

วันนี้ (2 ธ.ค.66) ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ จัดกิจกรรม พีมูฟ 13 ปี “จากภูผาถึงทะเล” ของการต่อสู้  สู่สังคมที่เป็นธรรม” โดยมีกิจกรรมรำลึกถึงนักต่อสู้สามัญชน กิจกรรมระดมทุนผ้าป่าสามัคคี ซุ้มอาหารเครือข่าย และงานวัฒนธรรม

จากนั้นยังมีวงเสวนา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต พีมูฟ” โดย จำนงค์ จิตรนิรัตน์ กรรมการมูลนิธิชุมชนไท เล่าถึงการเกิดขึ้นขององค์กรภาคประชาชนในไทยช่วงปี 2520 ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละเครือข่ายทำประเด็นที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เรียกร้องมาจากการถูกกดทับของประชาชนทั้งสิ้น

จำนงค์ จิตรนิรัตน์ กรรมการมูลนิธิชุมชนไท

จากนั้นในปี 2535 ภาคประชาชนก็รวมตัวกันต่อต้าน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนพัฒนาต่อยอดไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มองว่าเป็นความร่วมมือของภาคประชาชนที่เอื้อมไปถึงระดับนโยบาย

ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของสมัชชาคนจน ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในรอบหลายทศวรรษของสังคมไทย ซึ่งได้วางรากฐานหลาย ๆ อย่างไว้ให้การต่อสู้ยุคหลัง แม้ในรัฐบาลที่ผ่านมาจะทำให้กำลังของสมัชชาคนจนอ่อนกำลังลง แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดข้อเรียกร้องได้ตลอด

สำหรับจุดกำเนิดของพีมูฟ เกิดขึ้นในปี 2553 ได้รับความสนใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีข้อตกลงกันของภาคประชาชนหลายเครือข่าย จนเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานพีมูฟ

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานพีมูฟ มองว่า การต่อสู้ของพีมูฟทั่วประเทศตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ได้เจรจามาหลายรัฐบาล ทั้งที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการรัฐประหาร ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ยืนยันว่าจะต่อสู้ และพูดคุยกับทุกรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นธรรม ทั้งนโยบายโฉนดที่ดิน, นโยบายเรื่องป่า, เรื่องสิทธิ สวัสดิการ ต่าง ๆ ส่วนการผลักดันเรื่องงบประมาณ ได้เปิดกว้างให้กับทุกเครือข่าย ทุกชุมชน หลังจากมีการผลักดันก็สามารถมีระบบไฟฟ้า และประปาฟรี จากงบประมาณดังกล่าว

โดยในปี 2562 ได้เสนอนโยบายให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ถ้านโยบายของพีมูฟได้บรรจุในรัฐบาลใดก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแน่นอน

”พีมูฟมีคนทุกรุ่น ทุกหน่วยงานที่จะผลักดันไปด้วยกัน เราจะยืนหยัดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ“

จำนงค์ หนูพันธ์

ขณะที่ พชร คำชำนาญ กองเลขานุการพีมูฟ ขอบคุณเครือข่ายต่าง ๆ ที่ยังยืนหยัดต่อสู้ แม้จะเกิดสถานการณ์พลิกผันทางสังคมมากมาย และในฐานะที่เติบโตมาในสถานการณ์ทางเมืองในยุครัฐประหาร และร่วมเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย ในปี 2557 มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ ม.44 ในเรื่องที่ดินเช่นกัน

จึงคิดว่าบรรยากาศการทำงานกับพีมูฟ ช่วยเติมเต็มความฝันร่วมกัน ซึ่งเกิดขึ้นในตลอด 5 ปีที่ร่วมทำงานด้วย เป็นเครือข่ายที่ยังเชื่อมั่นในข้อเรียกร้องของประชาชน สำหรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทำให้พีมูฟได้อยู่ในจุดการเรียกร้องที่ใหญ่ขึ้น โดยการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเรียกร้องปัญหาร่วมกัน ให้มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย

“อนาคตของพีมูฟยังคงดำเนินบทบาทเดิม แต่อาจรุกหนักกับการเชื่อมร้อยเครือข่ายประชาชน และยึดมั่นว่าจะใช้ข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหา มีการต่อสู่รุ่นสู่รุ่น แม้จะไม่อยากส่งต่อความเจ็บปวดให้กับลูกหลาน แต่การต่อสู้นั้นย่อมต้องใช้เวลา”  

พชร คำชำนาญ

นอกจากนั้นยังมีเวทีเสวนา “สู่อนาคตประชาธิปไตย สู่สังคมไทยที่เป็น” โดย ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ พูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่รากฐาน ทั้งความเป็นอยู่ และโอกาสทางการศึกษา มองว่าปัญหาของเด็กไทยยังขาดการคิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ แต่จำนวนที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนก็ต้องเร่งแก้ไข

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตั้งคำถามกับสังคมไทยที่ปล่อยในเกิดความเหลื่อมล้ำมากขนาดนี้ ส่วนเรื่องการต่อสู้จากการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนที่ผ่านมา เป็นไปได้ที่ต้องใช้เวลานานในการต่อสู้ โดยยอมรับว่า พีมูฟ เป็นเครือข่ายที่สำคัญมากสำหรับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย ที่เรียกร้องเรื่องนโยบาย ดังนั้น พีมูฟจึงเป็นนักปกป้องสิทธิให้กับประชาชน ทั้งคนจน คนไร้บ้าน ชาติพันธุ์ ฯลฯ จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือภาคประชาชนเพื่อให้ได้รับการแก้ปัญหาโดยเร็ว

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวขอบคุณพีมูฟ ที่วางรากฐานให้กับสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่วนสิ่งที่พีมูฟและสังคมไทยกำลังเผชิญคือทางแยกที่ชี้ว่าจะเดินไปในทิศทางไหน พีมูฟ ต้องเคลื่อนไปสู่การเป็นสหภาพ

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

“การเคลื่อนไหวในเขตเมืองได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน และเป็นการเคลื่อนไหวที่กระจายสู่สังคมมากขึ้น พีมูฟต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย”

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ขณะที่ พายุ บุญโสภณ นักกิจกรรมทางการเมือง ยอมรับว่าจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางสังคมของตัวเองเพราะอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนสามารถสร้างแนวทางของตัวเองได้ การลงพื้นที่เพื่อไปเรียนรู้มุมมองของชาวบ้านทำให้เห็นมุมมองและปัญหาที่กว้างขึ้น จนได้เรียนรู้ว่าประเด็นทรัพยากรที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านนั้นไม่ใช่เป็นแค่ประเด็นในพื้นที่ แต่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างสังคมด้วย

“พอเรียนจบผมได้ร่วมทำงานกับพีมูฟ ทำให้เห็นกระบวนการทำงานที่ยาวนาน หลายสิบปี และรู้สึกว่าต้องเคลื่อนไหวให้มากขึ้น ซึ่งมองว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ได้คือ การกระจายอำนาจ อาจเป็นเป้าหมายหลักหลังจากการแก้รัฐธรรมนูญ”

พายุ บุญโสภณ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บอกว่า หากย้อนกลับไปในปี 2553 ที่เกิดพีมูฟขึ้น ถือเป็นช่วงแตกหักของกลุ่มต่าง ๆ มองว่าขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมยังคงจำเป็น มีบทบาทมากกว่าพรรคการเมือง คือการที่ประชาชนมีความไว้ใจมากกว่า ดังนั้น 13 ปีของพีมูฟ มี 4 บทบาท คือ 1. บทบาทการคัดค้าน 2. บทบาทการบรรเทาความเดือดร้อน 3. สร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหา 4. ผลักดันปัญหาที่มากกว่ารายประเด็น นอกจากการช่วยเหลือชาวบ้าน คือเกิดการสร้างคนด้วย ทั้งที่เกิดจากประเด็นสิ่งแวดล้อม และการเมือง

“กลุ่มชนชั้นนำ มีกลไกที่ใหญ่ที่สุดคือระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่รักษาระบบระเบียบเอาไว้ เช่น การผลิตซ้ำค่านิยม การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการพูด แสดงออก และชุมนุม ทำให้ปัญหาทั้งเรื่องที่ดิน ป่าไม้ ไม่สามารถแก้ไขได้”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

กรกนก คำตา สมาชิกกลุ่มทำทาง ระบุถึงการเลือกปฏิบัติของคนหลากหลายทางเพศ และการห้ามทำแท้ง เป็นการจำกัดสิทธิทางเพศและเนื้อตัวร่างกาย ดังนั้น สังคมต้องมีความเป็นธรรมให้กับทุก ๆ คน เมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วต้องให้ความเป็นธรรมกับประเด็นนี้ด้วย

“สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และโอกาส เราต้องการพร้อมกับประชาธิปไตย ต้องตั้งคำถามกับขบวนการภาคประชาชนว่า มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้และมีความเป็นธรรมหรือไม่ ฉะนั้นต้องระบุปัญหาทุกประเด็นลงไปในขบวนการฯ ด้วย เมื่อวันนั้นมาถึงขบวนการฯ จะยิ่งใหญ่ขึ้น โอบอุ้มทุกความหลากหลายเอาไว้”

กรกนก คำตา
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เช่นเดียวกับ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้สรุปถึงความเสมอภาคในสังคมว่า หลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันในเรื่องประเด็นปัญหาแต่ยังติดอยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนตัว มองว่า ความเป็นธรรมทางสังคมต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกปัญหาและแก้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้หากจะขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่เป็นธรรมนั้น มีความเสมอภาคแค่ทางการเมืองไม่พอ แต่ต้องมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการให้งาน ให้โอกาส ดีกว่าการให้เงินแค่ครั้งเดียว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active