APEC 2022 ความราบรื่นแบบไทย? กับ บทเรียน ที่ต้องไปไกลกว่า “ภาพลักษณ์”

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เห็นสอดคล้อง ภาคประชาสังคม ย้อนดูการชุมนุม ในช่วงเวทีการประชุมผู้นำหลายแห่ง ตัวสะท้อนสถานการณ์แตกแยกภายในประเทศ ย้ำรัฐบาลไทย ถึงเวลา รับฟังประชาชนให้มากขึ้น

กรณีการสลายชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุดเอเปก” เมื่อวานนี้(18 พ.ย.65) จนมีผู้ถูกดำเนินคดี และได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นในระหว่างที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก 2022 นั้น

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (กมค.) เปิดเผยกับ The Active ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดเจนถึงการไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกมองถึงปัญหาภายในประเทศ ทั้งฝ่ายรัฐบาล เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และกลุ่มผู้ชุมนุม สะท้อนบรรยากาศที่ยังคงเต็มไปด้วยความแตกแยกอย่างรุนแรงของไทย

โดยเฉพาะในประเด็นการเมือง ที่ผู้ชุมนุมตั้งคำถามต่อบทบาท และความเหมาะสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ถ้ามองให้ไกลกว่าประเด็นการเมือง จะพบว่า ข้อเรียกร้องหลายเรื่องของภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มที่มารวมตัวกัน กลายเป็นข้อเรียกร้องในระดับนานาชาติไปแล้ว อย่างการขอให้ผู้นำประเทศรับฟังปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่คำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

ถ้ารัฐเปิดกว้าง ขัดแย้งน้อย ส่งผลความเรียบร้อยในประเทศ

รศ.ปณิธาน บอกด้วยว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงเวทีประชุมผู้นำระดับชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแน่นอนว่าเป็นจุดสนใจ และน่าจะทำให้ข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมสื่อสารออกมาได้รับการตอบสนองได้ง่ายกว่า ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันถอดบทเรียนอย่างจริงจัง อย่างในหลายประเทศที่จัดเวทีประชุมระดับนานาชาติ ภาคประชาชนคือตัวสะท้อนบรรยากาศทางการเมืองของประเทศเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และหลายประเทศในยุโรป มีความขัดแย้งกันสูง ก็เกิดการชุมนุมประท้วงบ่อย บางที่รุนแรงกว่าในไทย นั่นทำให้การประชุมเอเปก การประชุมว่าด้วยเขตการค้าเสรี ก็ไม่แตกต่างกัน แต่ประเทศที่มีความขัดแย้งน้อย การบังคับใช้กฎหมายเป็นระบบ ประชาชนเคารพกฎหมาย และนโยบายภาครัฐเปิดกว้าง ผ่อนคลาย เป็นประชาธิปไตย การชุมนุมประท้วงก็จะเรียบร้อย อย่างในประเทศแถบสแกนดิเนียเวีย ยุโรปตะวันตก

“ประเด็นของการประท้วงในช่วงการประชุมผู้นำประเทศ ในยุโรปถ้านอกจากเรื่องการเมืองภายใน จะเห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชน สามารถแยกแยะ และชูประเด็นได้ชัดเจน โดยไม่ใช้ความรู้สึกมาเป็นตัวนำ แต่พยายามสื่อสารในเชิงประเด็นให้เกิดความชัดเจน อย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนชาวสวีเดน ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อน ก็เรียกร้องในบทบาทของเยาวชน ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดี แต่การเรียกร้องของไทย ยังปะปน และยึดติดที่ตัวบุคคล สำคัญที่สุดคือบรรยากาศการเมืองก็ยังไม่พร้อมเปิดรับฟัง และเคารพความคิดเห็นของคนที่เห็นต่าง แนวคิดควบคุมของฝ่ายรัฐจึงเกิดขึ้น”

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ย้ำว่า กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมาในหลายเหตุการณ์ดูเหมือนฝ่ายรัฐไม่เคยถอดบทเรียนกันเลย ว่าจะดูแลความเรียบร้อย หรือ ควบคุมอย่างไรไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ การใช้กำลัง ใช้อุปกรณ์ควบคุมทำได้อย่างชำนาญแล้วหรือไม่ เข้าใจว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย แต่ก็ต้องไม่ทำให้ใครเกิดผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาการถอดบทเรียนเรื่องนี้ ยังไม่เคยทำกันอย่างจริงจัง

ภาคประชาชน ชูนโยบายพัฒนา ประเด็นร่วมทั้งภูมิภาค

ขณะที่ สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการจัดงานอาเซียนภาคประชาชน ปี 2022 ที่กัมพูชา เปิดเผยว่า นี่คือช่วงเวลาที่หลายประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ มีผู้นำหลายประเทศเข้าร่วม ทั้งการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่กัมพูชา รวมทั้ง การประชุม G20 ที่อินโดนิเซีย แต่จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ และได้มีโอกาสเดินทางเข้าร่วมประชุมภาคประชาชน คู่ขนานกับเวทีอาเซียน ซัมมิท ที่กัมพูชา จะเห็นว่า มีวิธีการรับมือการชุมนุม และส่วนใหญ่แทบไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ต่างจากไทย

ขณะเดียวกันพบว่าในช่วงหลังมานี้ รูปธรรมของนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ พิจารณาร่วมกัน ไม่ต่างจากการเชื่อมโลกกันมากขึ้น นโยบายประเทศนี้ อาจไม่ใช่แค่กระทบประชาชนของประเทศตัวเอง แต่นโยบายการพัฒนา และนโยบายเศรษฐกิจ ถือว่าเชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาค ดังนั้นทำให้การวิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบายเป็นประเด็นร่วมของทั้งภูมิภาค

เสียงชื่นชมไทย แค่ภาพลักษณ์ ย้ำต้องไปให้ถึงการรับฟังปัญหาประชาชน

สุนทรี ยอมรับว่า ไม่แน่ใจภาครัฐจะตีความการจัดประชุมเอเปกครั้งนี้อย่างไร อาจจะเห็นว่าเรียบร้อย ราบรื่น ได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก อาจตีความเสียงชื่นชมจากภาพลักษณ์ การต้อนรับ อาหาร ของที่ระลึก แต่ในมุมของภาคประชาชน ความราบรื่นของการประชุมนั้น รัฐบาลต้องทำให้เกิดความยืดหยุ่น เปิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะตราบใดที่รัฐไม่รับฟังความเห็นของประชาชนด้านนอกห้องประชุม ก็คงไม่ใช่ความสำเร็จที่ทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน

“ที่พนมเปญ จัดอาเซียน ซัมมิท ภาคประชาชนเราก็จัดเวทีคู่ขนาน ก็ทำแบบนี้มาทุกปี ความหมายคือ ไม่ว่าทิศทางของภูมิภาคจะขับเคลื่อนไปทางไหน ประชาชนก็ต้องจับมือไปด้วยกัน การประชุมเอเปก ก็ลักษณะเดียวกัน เมื่อรัฐจะเปิดนโยบายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับการพัฒนาแห่งอนาคต รัฐก็ต้องทำโดยเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย แต่รัฐบาลไทย ยังเข้าใจผิดหลายเรื่อง คิดว่าความราบรื่นของการประชุม อยู่แค่ภาพผู้นำแต่ละประเทศจับมือกัน ยิ้มถ่ายรูป ชื่นมื่น มีเมนูอาหารสร้างสรรค์ โชว์วัฒนธรรม ของดีที่น่าตื่นตาตื่นใจ นั่นคือความราบรื่นในสายตาของรัฐ แต่สำหรับภาคประชาชนไม่ใช่ ความราบรื่นจริง ๆ ต้องมาพร้อมกับการที่รัฐเปิดพื้นที่รับฟังกันให้มากพอ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วยกัน”

กรรมการจัดงานอาเซียนภาคประชาชนฯ ยังมองด้วยว่า บทเรียนการจัดประชุมที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เห็นได้ชัดจากการประชุมอาเซียน ซัมมิท เพราะช่วงหลังมานี้ เวทีอาเซียนได้ปรับให้มีโปรแกรมช่วงหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าพบกับผู้นำประเทศ หรือ นำข้อเรียกร้องต่าง ๆ ไปนำเสนอ แม้ไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดระบาด แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเกิดการรับฟังข้อเสนอกันมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active