เปิดข้อเสนอ ‘ปฏิญญาประชาชน’ ถึง COP 27 – APEC 2022

ภาคประชาชน เรียกร้องรัฐ เอกชน รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนผ่านนโยบายที่เป็นธรรมด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้

มูลนิธิมานุษยะ ร่วมกับ Thai Climate Justice for All และมูลนิธิภาคใต้สีเขียว จัด การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างภาคีขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม พร้อมข้อเสนอแนะ และทิศทางขององค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ต่อการประชุม COP 27 และ APEC 2022 โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลไทยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ภาคีเครือข่าย ยังได้อ่านแถลงการณ์ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายชุมชนที่หลากหลาย เช่น ไครียะห์ ราหมันยะ เยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นักปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อม, นิตยา ม่วงกลาง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และแกนนำชุมชนเครือข่ายไทรทองรักษ์ป่าหมู่บ้านซับหวาย, อัญชลี อิสมันยี ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่ถูกรับรองเป็นมรดกโลกโดย UNESCO, นารี วงศาชล นักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคใต้ และเครือข่ายชาวเลอันดามัน เป็นต้น โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อการประชุม COP 27

1. ประกาศให้วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศเป็นภัยฉุกเฉินและกำหนดนโยบายให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด กำหนดเป้าหมายอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สามารถควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2573 ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางของพลังงานสะอาดและยังยืน

2. ประเทศพัฒนาแล้วและบรรษัทข้ามชาติต้องสนับสนุนการเยียวยาด้านสภาพพูมิอากาศโดยทันทีโดยให้ทุน 1 แสนล้านเหรียญตามที่สัญญาเมื่อปี 2552 งบประมาณนี้ควรสนับสนุนชุมชนและภาคประชาสังคมเพื่อชดเชยกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพวกเขา และเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับตัวโดยไม่ให้มีเงื่อนไขผูกกับหน่วยงานของรัฐกลุ่มบรรษัท หรือองค์กรภาคประชาสังคมขนาดใหญ่

3. กำหนดนโยบายมาตรการและกลไกสนับสนุนทุนให้กับความสูญเสียและความเสียหายที่เหมาะสม และเป็นองค์รวมโดยมีเป้าหมายเป็นผู้เสียหายและการเตรียมให้กับกลุ่มเสี่ยง สามารถพัฒนาการปรับตัวเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม พายุ ภัยพิบัติ ที่เป็นผลมาจากสภาพพูมิอากาศอื่นๆ เครื่องมือใหม่เหล่านี้ต้องจัดทำขึ้นตามแนวทางที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นกับหลักการของความโปร่งใส การไม่เลือกปฏิบัติความเท่าเทียม โดยสาระบัญญัติและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

4. ทบทวนกลไกคาร์บอนออฟเซท ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลาดคาร์บอน และนโยบายคาร์บอนเครดิต ประกันว่ากลไกเหล่านี้จะไม่สนับสนุนให้เกิดการฟอกเขียว ของประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มบรรษัทหากมีการดำเนินงานตามกลไกนี้ให้มีข้อรับประกันว่าจะเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

5.ให้นำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาใช้ในการจัดทำข้อมติระดับพหุภาคี ที่มีการรับรองในการประชุม cop รวมทั้งการยอมรับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองโดยชนเผ่าพื้นเมือง และความยินยอมที่ต้องบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระในการตัดสินใจ การคุ้มครองกับนักปกป้องสิทธิมนุษชนด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพพูมิอากาศ ข้อบทที่เข้มแข็งเพื่อประกันให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม เกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบและปรับตัวด้านสภาพพูมิอากาศ และประกันให้ใช้แนวทางสตรีนิยมเชิงทับซ้อน ให้มีความเท่าเทียมในเชิงสาระบัญญัติสำหรับผู้หญิงทุกกลุ่ม และสนับสนุนความเป็นผู้นำของผู้หญิง

ข้อเรียกร้องต่อการประชุม APEC 2022

1. ขอประณามแม่แบบเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ซึ่งเน้นเฉพาะการเติบโตและผลกำไรของบรรษัท โดยไม่คำนึงถึงโลกธรรมชาติซึ่งได้กลายเป็นเพียงยุทธวิธีเพื่อฟอกเขียวผู้ก่อมลพิษและบรรษัท ในทางตรงกันข้ามต้องมีการกระจายอำนาจการดำเนินงานตามแม่แบบเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว และควรให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนนำ APEC ต้องออกแบบและดำเนินงานตามกลไกเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติด้านสภาพพูมิอากาศ และกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง ในทุกปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวและการรับมือกับความสูญเสีย และความเสียหายเพื่อให้เกิดผลในเชิงบวก แม่แบบเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว ควรสนับสนุนการดำรงชีวิตของเศรษฐกิจระดับรากหญ้า โดยทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ แทนที่จะมุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของบรรษัท และทำลายสิ่งแวดล้อมของพวกเรา

2. ประกันให้มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมอย่างรวดเร็ว โดยการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด การจัดทำระบบพลังงานที่มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใสทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและระบบการกระจายพลังงานเพื่อประกันการเข้าถึงได้และการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ลดกำลังผลิตส่วนเกินและลดภาระการเงินที่มีต่อประชาชน ยุติการลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหิน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

1. ประกันว่านโยบายและกรอบกฎหมายระดับประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพลังงานสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย และตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังสอดคล้องตามข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยในระหว่างกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระรอบสาม (UPR) ของประเทศไทยในส่วนของ ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอแนะจากฟิจิ, ไซปรัส, มัลดีฟส์ และคอสตาริกา ประกันการมีส่วนร่วมอย่างเป็นผลในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของชุมชนที่เกี่ยวข้องรวมทั่งผู้หญิงคุ้มครอง บทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนษุยชน ด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการในเชิงรุก เพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก โดยกำหนดเป็นกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก กาหนดให้ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ที่กำลังจัดตั้งขึ้นใหม่มีบทบาทที่เข้มแข็ง

2. ประกันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมอย่างรวดเร็วโดยการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด การจัดทำระบบพลังงานที่มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ทบทวน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและระบบการกระจายพลังงานเพื่อประกันการเข้าถึงได้และการใช้ไฟฟ้าของ ประชาชนลด กำลังผลิตส่วนเกินและลดภาระการเงินที่มีต่อประชาชน ยุติการลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติใหม่ รวมทั้งการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่หลอกลวง ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อโรงไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและสิ่งแวดล้อมและงดเว้นจากการเปิดโรงไฟฟ้าใหม่ในลักษณะนี้ สนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ชุมชนเป็นแกนนำ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แทนที่จะเป็นการตอบสนองต่อหน่วยงานธุรกิจ

3. เปลี่ยนผ่านจากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบรรษัท ไปเป็นเกษตรเชิงนิเวศภายในปี 2573 ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยชนเผ่าพื้นเมืองชุมชนท้องถิ่น และประชาชนในเขตเมืองให้มีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อนรักษ์เมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น และที่หลากหลายและส่งเสริมการปรับตัวความมั่นคงด้านอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ

4. สอดคล้องตามข้อสังเกตเชิงสรุปกรณีประเทศไทย ของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ปี 2564 ประกาศใช้กฎหมายเพื่อรับรองความเป็นชนพื้นเมืองของกลุ่มที่จำแนกตนเองว่าเป็นชนพื้นเมือง และประกันให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ ตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งการทำไร่หมุนเวียน และรับรองและส่งเสริมบทบาทของพวกเขาในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ และ ‘ผู้พิทักษ์ทะเล’ ประกันให้มีการขอความยินยอมที่ต้องบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระในการตัดสินใจก่อนการจัดทำนโยบายและมาตรการด้านกฎหมาย และโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

5. ทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่า และประกันว่านโยบายระดับชาติใด ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าโดยรวม ต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อาศัยอยู่ หรือดำรงชีพในพื้นที่ดังกล่าว เคารพคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการป่า ชายฝั่งทะเล และระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ปฏิรูปกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับป่าไม้ เพื่อยอมรับสิทธิในที่ดินของชุมชน และยกเลิกข้อบทใดที่เอาผิดทางอาญากับชนเผ่าพื้นเมือง และชุมชนที่พึ่งพาป่าและอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 ตุลาคม 2565 และระเบียบของกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้เพื่อไม่สนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิต / การฟอกเขียวของภาคเอกชนในการทำโครงการในพื้นที่สาธารณะและป่าชุมชนให้ความสำคัญกับการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอน แทนที่จะพึ่งพาโครงการปลูกป่า

6. ยุติการฟอกเขียวโดยการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับตลาดคาร์บอน ความเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต เนื่องจากนโยบายเหล่านี้มีแต่จะสนับสนุนการฟอกเขียว โดยไม่สามารถลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างจริงจัง ควรมีการปฏิรูปนโยบายความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง (CBDR) เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และผลักดันการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนของแต่ละบริษัท หากมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหาย รัฐบาลควรกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติเหล่านี้โดยไม่ผูกพันกับคาร์บอนเครดิต หรือเงื่อนไขใด ๆ ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปล่อยให้บรรษัทสามารถสร้างผลกำไรได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

7. เพิ่มความเข้มแข็งของกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับโครงการของรัฐบาลและภาคเอกชน รวมทั้งโครงการพัฒนา อนุรักษ์ หรือโครงการบรรเทาภัยพิบัติใด ๆ หรือโครงการใด ๆ ที่อ้างว่าแก้ปัญหาหรือเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศประกาศใช้กฎหมายที่บังคับให้มีการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีผลผูกพันต่อหน่วยงานธุรกิจทุกแห่งรวมทั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อจำแนก ป้องกัน และบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วจากโครงการของพวกเขา

8. จัดทำความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างพลเมืองในภูมิภาค รวมทั้งภูมิภาคแม่น้ำโขงหรืออาเซียน เพื่อการเรียนรู้และรณรงค์ด้านนโยบายและปฏิบัติการ เพื่อรับมือและเยียวยาภัยพิบัติ และเพิ่มความสามารถในการปรับตัว

9. จัดทำการพยากรณ์ในอนาคต การออกแบบ และแผนการโดยทันที โดยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและจริงจังของประชากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง พื้นที่ที่มักประสบภัยพิบัติ ผลกระทบต่อสุขภาพ ที่พักอาศัย ความเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ โดยต้องมีการดำเนินงานอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งข้อบทในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

10. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองและชนบท ที่เหมาะสมกับยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การวางผังเมือง การขนส่งสาธารณะ ระบบะลังงานหมุนเวียน ระบบความมั่นคงด้านอาหารพื้นที่เพื่อการฟื้นคืนธรรมชาติ การปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากร การศึกษา ฯลฯ จัดทำโครงการเหล่านี้ในระบบสวัสดิการสาธารณะ โดยประชาชนได้รับความคุ้มครองและได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

11. ลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียม และสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ เพศสภาพ สังคมและการเมือง เนื่องจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของการผูกขาดอำนาจ ทรัพยากร เศรษฐกิจและสังคมกำหนดนิยามของ ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เป็นสตรีนิยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วม’ ที่ยอมรับบทบาทของชุมชนระดับรากหญ้าในการแสวงหาและดำเนินการตามทางออกเพื่อแก้ไขวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ และดำเนินการในลักษณะดังกล่าว

ข้อเรียกร้องต่อภาคเอกชน

1. ภาคเอกชนต้องยุติการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และยุติการละเมิดสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม ภาคเอกชนต้องเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย และต้องกำหนดกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นผล รวมทั้งกลไกรับข้อร้องเรียนสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการแสวงหาการเยียวยาจากผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานของธุรกิจ

2. ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจจนส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดในประเทศ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนโดยการลดและยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิตและกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ โดยให้ลดลงอย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 และลดลง 20% ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับข้อมูลฐานในปี 2563 โดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดคาร์บอน หรือการดูดจับคาร์บอน เพื่อเบี่ยงเบนจากเป้าหมายนี้ และไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสังคมและระบบนิเวศ จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อจัดทำกองทุนให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และการปรับตัวสำหรับผู้เสียหายจากสภาพภูมิอากาศ

แถลงการณ์นี้ไม่เพียงเป็นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนอื่น ๆ หากยังเป็นคำมั่นต่อปฏิบัติการ พร้อมเชิญประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ และผลักดันวาระนี้ให้เป็นเป้าหมายเพื่อรับมือกับหายนะด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นและไม่อาจแก้ไขได้  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active