กรีนพีซไทย จับตาใช้คาร์บอนเครดิตแก้เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหลังเอเปก

ชี้ ทั่วโลกทำมา 30 ปี ยังไม่ถึงเป้าหมายลดอุณหภูมิโลก หากทำจริงต้องเดินหน้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ต้นทาง พร้อมคำนึงถึงผลกระทบประชาชนในพื้นที่ป่า 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย ระบุว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนของไทย รวมถึงรัฐบาล เสนอในเวทีการประชุมผู้นำเอเปก ( กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก )  คือการไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero หรือ การลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป้าหมายนี้ ก็เป็นวาระหนึ่งที่อยู่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว 

ข้อเสนอที่ชัดเจนมาก ก็คือการเปิดให้มีตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งรัฐบาลไทยก็เล็งเห็นว่า พื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจของไทย จำนวนหลายสิบล้านไร่ จะสามารถใช้ปลูกป่า เพื่อมาทำการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตได้ โดยก่อนหน้านี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ไปแถลงจุดยืนบนเวที COP 27 เรื่องการตั้งเป้า Net Zero เป็นเรื่องของวาระแห่งชาติ ที่ผสมผสานไปกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยคิดว่าในแง่หนึ่งข้อจำกัดประเด็นเรื่อง Net Zero ก็คือ มีรายละเอียดที่ต้องเข้าไปดูว่าจริงๆแล้วการไปถึง Net Zero ในปี 2608 จะไปได้ถึงหรือไม่ อย่างไร มีอุปสรรค ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายตรงนี้อย่างไรบ้าง 

เพราะข้อจำกัดหนึ่งที่สำคัญ คือขีดจำกัดระบบนิเวศ ยกตัวอย่าง เช่น  ถ้าเราจะต้องขยายการทำโรงไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าออกไป โดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วโจทย์ของมันคือเราต้องการพื้นที่ธรรมชาติที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากภาคพลังงาน ภาคการผลิตไฟฟ้า ผมคิดว่าขณะนี้เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากในประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องทำไปด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ในประเทศไทย ก็คือ ภาคผลิตไฟฟ้า ภาคคมนาคมขนส่ง ที่พยายามในเรื่องของการมียานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์อีวี-รถไฟฟ้า เรื่องของการเปลี่ยนเชื้อเพลิง หรือเปลี่ยนระบบจากการพึ่งพาฟอสซิล ไปเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนแต่ว่าสิ่งที่สำคัญต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ถึงจะทำให้เกิดการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้  

“ คือในบ้านเรามีความย้อนแย้งกัน เช่น ก็ยังเปิดให้มีการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม หรือว่ามีการนำเข้าก๊าซ LNG ที่เป็นก๊าซเหลวเข้ามาอยู่ ซึ่งมันก็คือฟอสซิล คือเราเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ แล้วก็ต้องการจะดูดซับ แต่ว่าระบบธรรมชาติ ระบบนิเวศของประเทศไทย มันไม่สามารถรองรับการขยายตัวของเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกต่อไปแล้ว “

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย

“ เป้าหมายดูดซับคาร์บอน กับความกังวลประชาชนในพื้นที่ป่า ข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ วิถีที่เปลี่ยนไป “ 

ธารา กล่าวว่า ตัวเลขที่ไทยเราเสนอให้ทางยูเอ็น เราจะต้องใช้พื้นที่ป่า และการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ดูดซับคาร์บอน 120 ล้านตัน ภายในปี 2580 และก็อันนี้คือเป้าของ Net Zero ในปี 2608  แต่ว่าข้อมูลที่มีอยู่ เช่น ข้อมูลของ global forest watch ที่มอนิเตอร์ป่าในประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาบอกว่าจริงๆแล้วป่าของไทย เป็นทั้งแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก และก็เป็นแหล่งดูดซับด้วย คือเป็นทั้ง 2 อย่าง 

ทีนี้การปล่อยคาร์บอนจากป่า กับการดูดซับคาร์บอนจากป่า หักลบกลบหนี้แล้ว จะสามารถดูดซับได้เพียงแค่  5 ล้านตัน ป่าชายเลน ก็เหมือนกัน ก็จะดูดซับได้ราวๆ 4 ล้านตัน นี่คือ 20 ปีที่ผ่านมา  รวมกันตัวเลขกลมๆแค่ 10 ล้านตัน เพราะฉะนั้นตัวเลข 20 ล้านตัน ยังเป็นคำถามใหญ่ ว่าจะทำได้ยังไง เพราะว่านี่คือตัวเลขที่มีการประเมิน เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นอันแรกในเรื่องเป้า Net Zero   

“ ประเด็นสำคัญคือป่าชายเลนหลายที่ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวเล ของชุมชนประมงชายฝั่ง คือป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ชุมชนต้องพึ่งป่าชายเลนในการดำรงชีวิต มีการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน อันนี้เป็นกรณีที่จะต้องให้เอกชนมาทำป่าชายเลน 600,000 ไร่ ก็เท่ากับว่าพื้นที่ตรงนั้นจะถูกกีดกันจากการใช้ประโยชน์ของประชาชน เช่นเดียวกันกับชาวบ้านในพื้นที่ป่า ที่เขาดูแลป่าชุมชนถ้าพื้นที่ตรงนั้นกำหนดเข้าโครงการ อาจเข้าไปหาเห็ดหน่อ ไข่มดแดงผึ้ง เอาไม้ใช้ประโยชน์เพื่อความจำเป็นวิถีชีวิตไม่ได้  “ 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย

คือการเอาป่าเข้าตลาดคาร์บอน มีหลักเกณฑ์ขั้นตอนเยอะ ต้องมีคนกลางมาดูว่าป่าผืนนี้ ดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่ หรือต้องมีการจ้างฝ่ายที่ 3 มาดูพื้นที่ ต้องมีการติดตามตรวจสอบเป็นรายปี ไปจนถึง 5 ปี 10 ปี 20 ปี ว่าป่าผืนนี้ จะต้องไม่ถูกรบกวน อยู่ในมาตรฐานที่เป็น gold standdard ของตลาดคาร์บอน 

“ ควรศึกษาโมเดลต่างประเทศ และฟังเสียงประชาชน คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน “ 

ธารา ยกตัวอย่างกล่าวถึงโมเดลตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือตลาดในสหภาพยุโรป  แต่ส่วนใหญ่ตลาดที่นั่นจะซื้อขายคาร์บอนจากภาคต่างๆ ส่วนภาคป่าไม้จะมาเอาจากประเทศกำลังพัฒนา ก็คือเขาจะไปดูเรื่องพลังงานหมุนเวียน เพราะตลาดคาร์บอนในยุโรป จะเน้นไปที่การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อย อันนี้จะชัดเจนมาก แล้วก็เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ราคาคาร์บอนจะอยู่ที่ 7-8 พันบาท ต่อตันคาร์บอน ในเกาหลีใต้ก็มีตลาดคาร์บอนที่เพิ่งตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ก็เน้นไปที่เรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน แต่ของประเทศไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ถึงแม้ว่าเราจะพยามยามเปิตลาดคาร์บอนให้เป็นตลาดที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่คำถามใหญ่คือ ป่าที่จะใช้มากถึง 55 % เลยเป็นคำถามใหญ่ ว่าภาคพลังงานลงมือทำอย่างเพียงพอหรือยัง เพราะว่าในแผน Net Zero ยังไม่ได้พูดถึงระบบพลังงานหมุนเวียนเต็ม 100% 

ธารา บอกว่า คาร์บอนเครดิตมีมานานแล้ว ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย และจะโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยมูลค่าหลายหมื่นหลายแสน หลายล้านบาทในอนาคตข้างหน้า  แต่คำถามคือว่า หากคิดว่ากลไกนี้จะช่วยทำให้อุณหภูมิผิวโลกคงตัว ไม่เพิ่มไปอีก 1.5 องศา แต่ทำกันมา 30 ปีแล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก ควรจะสมดุลได้แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรจะชะลอลง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น 

“ แสดงว่า โมเดลการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ไม่น่าทำงานภายใต้กรอบนี้ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งดีใจกับตลาดคาร์บอน เพราะยังมีเรื่องซ่อนเงื่อนอยู่อีกมาก “ 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย

ธารา กล่าวต่อถึงข้อเสนอภาพรวมที่สำคัญ ว่านโยบาย หรือการดำเนินการใดๆ  ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะต้องเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับประชาชน ยึดโยงกับเรื่องการขับเคลื่อนระดับรากหญ้าของประชาชนต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และเป็นการมีส่วนร่วมแท้จริงของกลุ่มคนต่างๆที่อยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะคนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการเรื่องนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active