กสม. เล็งสอบเหตุสลายชุมนุม ‘ราษฎรหยุดเอเปก’

ย้ำทุกฝ่ายหยุดพฤติกรรมยั่วยุ สร้างเงื่อนไขความรุนแรง ขณะที่ สลัม 4 ภาค และ ครป. แถลงการณ์ ระบุ ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ เรียกร้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (19 พ.ย.65) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.65) โดย ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค อธิบายว่า การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนหลายภาคส่วน เพื่อคัดค้านการประชุม และการลงนามของรัฐบาลในข้อตกลง APEC 2022 เพราะกังวลว่า เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ กับกลุ่มทุนผูกขาด เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ ผ่านเวทีระดับนานาชาติ ภายใต้นโยบายที่เรียกว่าตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นการเปิดโอกาสด้านเศรษฐกิจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ซ่อนความหายนะที่จะเกิดกับประชาชน ทั้งชาวนา แรงงาน และประชาชนทั่วไป   

ประณามสลายชุมนุม ย้ำทำเกินกว่าเหตุ

แต่ระหว่างการชุมนุม ถูกขัดขวางจากตำรวจ ฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุม สร้างเงื่อนไขความรุนแรงให้เกิดการกระทบกระทั่ง และการปะทะกัน พร้อมทั้งเห็นว่า ครั้งนี้ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส

“เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้ ประชาชนชุมนุมโดยมีเหตุผล และเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ  จึงไม่มีเหตุผล และความชอบธรรมใด ๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมีสิทธิมาใช้ความรุนแรงกับประชาชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงขอประณามการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และไม่สามารถยอมรับได้ และเรียกร้องให้อารยประเทศที่เข้าร่วมการประชุม APEC 2022 ครั้งนี้ ต้องร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐบาลไทย ที่กระทำต่อประชาชน และให้รัฐบาลไทย”

จึงเรียกร้องให้ 1. หยุดการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าวในทุกข้อกล่าวหา 2. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบต่อการกระทำ ที่ทำร้ายประชาชน โดยการยุติบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน และ 3. ขอให้ประเทศสมาชิก APEC ร่วมกดดันให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย รับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ครป. ชี้ตำรวจปฏิบัติการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกหนังสือแถลงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรราษฎร หยุด APEC 2022 เช่นกัน โดยยืนยันว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้ และยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นอกจากนั้นผู้ชุมนุมยังได้แจ้งการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งผู้ชุมนุมไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขที่ตกลง หรือที่กำหนดไว้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลง หรือกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลผู้ชุมนุมสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ยุติการชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม จึงจะมีอำนาจในการสลายการชุมนุม โดยต้องปฏิบัติตามหลักสากล

“การเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงและจับกุมผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว จึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ครป. ยังมีคำถามว่า การใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นการปฏิบัติอย่างผิดขั้นตอน มิได้เป็นไปตามหลักสากล ไม่เป็นสัดส่วน และใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ ครป.เห็นว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการกับการชุมนุม ทั้งที่สามารถจัดการให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี”

แถลงการณ์ของ ครป. จึงเรียกร้องให้ สังคมร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นการสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้นยังขอให้รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไขโดยทันที และรัฐบาลต้องดูแล ชดเชย เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย

กสม. เดินหน้าตรวจสอบความจริง ขอทุกฝ่ายไม่สร้างเงื่อนไขรุนแรง

ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ออกแถลงการณ์ เรื่อง ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีความรุนแรงจากการสกัดกั้นการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม โดย กสม. ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 มาโดยตลอด และจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ มีความกังวล ห่วงใยต่อการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบของทุกฝ่าย

จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่แสดงพฤติกรรมยั่วยุ หรือสร้างเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงต่อกัน การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ คฝ. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและหลักปฏิบัติสากล ต้องเคารพในสิทธิการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสิทธิอื่น ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและการสูญเสียของทุกฝ่าย

กสม. ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักสิทธิมนุษยชน และการไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันในทุกรูปแบบ โดยจะได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบ และเสนอมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อไป

“อนุทิน” ชี้ประสบความสำเร็จ เอเปกช่วยขยายความร่วมมือการค้า ลงทุน

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงภาพรวมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก 2022 ว่า เป็นไปด้วยดี ผู้นำชาติต่าง ๆให้ความเชื่อมั่นไทย และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ห่างหายไปกว่า 30 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุน เช่น การนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบีย แลกเปลี่ยนกับการซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น และการส่งแรงงานไทยไปทำงาน โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งทางซาอุดิอาระเบีย ก็ยินดีจากขยายความร่วมมือทดแทนช่วงเวลาที่สูญเสียไปกว่า 30 ปี ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก

นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความร่วมมือกับจีน และฝรั่งเศส โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ฝรั่งเศส สนับสนุนให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Health Expo ที่ภูเก็ต ในปี 2028 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์สุขภาพในฝั่งทะเลอันดามัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active