Thailand Talks ปี 2 ทลายกำแพงอัลกอริทึม เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนเห็นต่างมาพูดคุย ในหัวข้อต่าง ๆ แบบตัวต่อตัว ความคิดต่อความคิด หวังเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาว ปีนี้มีผู้สนใจเข้าลงทะเบียนทั่วประเทศ 298 คน 149 คู่
ปัญหาที่ซับซ้อน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เราต้องอยู่ในโลกของตัวเอง มีกำแพงเป็นระบบอัลกอริทึม กรองแต่สิ่งเราสนใจ สิ่งนี้มีส่วนสำคัญ ผลักให้คนความเห็นต่างห่างออกจากกันเรื่อย ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ คนเห็นต่างมาคุยกันภายใต้ชื่อ “Thailand Talks” ปี 2
วันนี้ (24 ก.ย.65) เป็นวันแรกที่ทุกคู่ที่ลงทะเบียนร่วมงานได้มาเจอกัน “Thailand Talks” ปี 2 ซึ่งพิเศษกว่าครั้งแรก เพราะมีคู่เห็นต่างมาโชว์ในงาน 2 คู่ คือ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กับ เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง และ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กับ จ๊อบ-สามารถ เจนชัยจิตรวนิช พูดคุยกันเรื่อง การเมือง การศึกษา สวัสดิการ อนาคตประเทศไทย ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ แบบตัวต่อตัว ความคิดต่อความคิด ที่ชั้น 9 อาคารสยามสเคป กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่าน เพจ Thailand Talks, The Active
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ VS เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง
คู่แรกที่ขึ้นโชว์วิสัยทัศน์บนเวที “Thailand Talks” ปี 2 คือ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กับ เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง โดยคำถามแรกคือให้พูดถึงมุมมองในมิติเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งทั้ง 2 คนต่างมีความเห็นที่คล้ายกัน คือ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ไอติม-พริษฐ์ มองถึง 3 เป้าหมายเคลื่อนประเทศ คือ การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ ภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่สังคมเคารพสิทธิ และความเสมอภาค
สอดคล้อง เอิร์ธ-พงศกร คู่เห็นต่างที่มองว่า รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงให้การช่วยคนยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีนโยบายให้สามารถแข่งขันด้านเศรษฐกิจได้อย่างเสรี และเท่าเทียม โดยมองถึง 3 ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คือ การมีนโยบายที่ดี, มีคนทำนโยบายที่ดี สามารถทำให้นโยบายไปถึงการปฏิบัติได้, และจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง
ตัวอย่างคำถาม ยอมจ่ายภาษี เพิ่มเพื่อสวัสดิการที่ดีขึ้น ?
หนึ่งคำถามที่น่าสนใจ คือคำถามว่า “จะยอมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการที่ดีขึ้น ?” ซึ่งทั้ง 2 คน ตอบคล้ายกันว่า ประเทศไทยควรจัดสรรงบประมาณใหม่ ให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่ม
“แม้ไม่จ่ายภาษี สวัสดิการก็เพิ่มได้ เพราะเวลานี้สังคมมีความไม่แน่นอนสูง มีวิกฤตที่คาดการณ์ไม่ได้ เช่น โควิด-19 ทำให้ชีวิตผู้คนพลิกผัน โลกไม่แน่นอน รัฐจำเป็นต้องมีหลักประกันคุณภาพชีวิตประชาชน
งบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท จึงควรจัดสรร และสร้างความโปร่งใส เต็มประสิทธิภาพ ก่อนเพิ่มการลงทุน เพราะการจ่ายภาษีมีผลกระทบและภาระของคนหมู่มาก…”
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ
“ผมไม่จ่ายภาษีเพิ่ม แต่จัดสรรงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง และใส่สวัสดิการให้ประชาชนแทน
ผมสนับสนุนเพิ่มสวัสดิการตำรวจ และทหาร ซึ่งเป็นคนละส่วนกับงบประมาณ การจ่ายภาษีเพิ่มจำเป็นต้องทำให้ประชาชนผู้เสียภาษี รู้ด้วยว่าจ่ายไปไหน จ่ายไปกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่.. ส่วนตัวผมยังไม่พร้อมจ่าย ตอนนี้งบประมาณที่มียังสามารถจัดสรรได้ใหม่…”
เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง
เอิร์ธ-พงศกร และ ไอติม-พริษฐ์ ย้ำว่า คนเห็นต่างกันไม่จำเป็นต้อง ปรับให้มีจุดยืนตรงกัน แต่หัวใจสำคัญคือ สามารถคุยกันได้บนจุดยืนที่ต่างกัน ที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม แต่ยังมีข้อเสียตรงที่ประชาชนเข้าถึงยาก การเปิดพื้นที่แบบนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการค่อยสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม
ช่อ-พรรณิการ์ วานิช VS สามารถ เจนชัยจิตรวนิช คำถาม “การแสดงออก ควรมาพร้อมกาลเทศะหรือไม่ ? “
ทั้ง 2 คนตอบคำถามตรงกันแทบทุกข้อยกเว้นคำถาม ข้อที่ 7 คือ “การแสดงออกควรมาพร้อมกาลเทศะหรือไม่ ?” โดย ช่อ-พรรณิการ์ ตอบว่า ไม่ใช่ ขณะที่ สามารถ ตอบว่า ใช่ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ระบุ ไทยมีรากเหง้า วัฒนธรรม อยากจะประท้วงก็สามารถแก้ผ้า โดยไม่เคารพสถานที่ ก็ต้องถามว่าเหมาะสมไหม อีกทั้ง เรามีสิทธิจะพูดแสดงความคิดเห็นได้ โดยคำว่าเหมาะสม จะมีสังคมเป็นตัวกำหนดว่า ใช่หรือไม่ ?
สังคมมีกฎหมาย มีกติการ่วมกัน ไม่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจ เป็นเรื่องของกติกา เช่น เพศสภาพ สมัยก่อนคนรักเพศเดียวกันถูกประหาร การทำอะไรต้องไม่ละเมิดคนอื่น จะระบุว่าเป็นร่างกายของฉันแต่อีกฝั่งก็จะบอกว่าตาเห็น เกิดความขัดแย้งโดยสภาพ ทำแล้วถูกจับดำเนินคดี ประเด็นนี้ต้องมาสู่การตกผลึกร่วมกันของสังคมเพื่อความยินยอม
“ไทยมีรากเหง้า วัฒนธรรม จะประท้วงก็สามารถแก้ผ้า โดยไม่เห็นด้วยกับการไม่เคารพสถานที่ต้องถามว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยคำว่า เหมาะสม จะมีสังคมเป็นตัวกำหนดว่า ใช่หรือไม่ ?”
สามารถ เจนชัยจิตรวนิช
ขณะที่ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ยกตัวอย่าง กลุ่มเคลื่อนไหวสตรี รัสเซีย หรือ “FEMEN” เป็นกลุ่มที่ใช้วิธีประท้วงด้วยการเปลือยหน้าอกประท้วง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะต้องการประท้วงรัฐบาลปูติน ที่มีความเป็นชาย กดขี่ ผู้หญิงจึงออกมาประท้วงด้วยการเปลือยหน้าอก เพื่อจะบอกว่า ไม่ยอมรับในอำนาจด้วยการใช้ร่างกายแสดงออก
โดยต้องถามกลับว่าใครในสังคมเป็นผู้กำหนดว่า “อะไรถูก เวลา และ ถูก สถานที่” โดยยกตัวอย่างโรงเรียน ผู้กำหนดความเหมาะสมส่วนใหญ่เป็นครู ไม่ใช่นักเรียนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโรงเรียน สะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดความเหมาะสมโดยผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ ดังนั้น การปล่อยให้กาลเทศะ ครอบงำสิทธิเสรีภาพ สะท้อนถึง การเป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ และเผด็จการ แต่ไม่ใช่การแสดงสิทธิเสรีภาพ โดยเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
การปล่อยให้ “กาลเทศะ” ครอบงำ “สิทธิเสรีภาพ” สะท้อนถึง การเป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ และเผด็จการ แต่ไม่ใช่การแสดงสิทธิ เสรีภาพโดยเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน…
ช่อ-พรรณิการ์ วานิช
นอกจากดู “คู่ตัวอย่าง คนเห็นต่าง” แล้ว Thailand Talks 2022 ยังเป็นพื้นที่ “คนเห็นต่าง” ได้มา “จับคู่คุย” โดยครั้งมี ผู้สนใจเข้าลงทะเบียนทั่วประเทศ 298 คน 149 คู่ เฉพาะที่ลงทะเบียนจาก กรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 48 คู่ ปีนี้ Thailand Talks ได้ขยายพื้นที่การพูดคุยไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จ.เชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, ระยอง, อ่างทอง, และภาคใต้จัดเป็นออนไลน์
ความพิเศษอีกอย่างของปีนี้ คือ ชุดคำถามที่ได้เกิดขึ้นจากการออกแบบคำถามผ่านการทำ work shop ของหลากหลายเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และสื่อสารมวลชน ออกมาเป็น 7 คำถาม โดยระหว่างการพูดคุยก็ยังมีการ์ดรูปภาพ เป็นตัวช่วยในการคิด และตอบคำถามระหว่างกัน
พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation) เปิดเผยว่า Thailand Talks เป็นแพลตฟอร์ม หรือกลไกใหม่ที่ไร้คนกลาง มีเฉพาะแค่คู่เห็นต่างมานั่งคุยกันแบบตัวต่อตัว พัฒนาต่อยอดมาจาก โมเดลจาก My Country Talks เยอรมนี ซึ่งเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกพยายามใช้วิธีนี้ในการเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างได้มาเจอกัน
สำหรับประเทศไทย จัดงาน เป็นครั้งที่ 2 โดยพบว่า ผลลัพธ์จากปีที่ผ่านมา สอดรับกับงานวิจัยจากหลายประเทศ ที่พบว่า คนเห็นต่างไม่ได้แตกต่างกันสุดขั้ว บางคู่มีความเห็นคล้ายกันในหลายประเด็น โดยครั้งนี้จะถูกถอดบทเรียนปรับปรุงในอนาคต ด้วยเชื่อว่า การเปิดพื้นที่ลักษณะนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมล็ดพันธุ์ความเห็นต่างให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย และกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวได้